แนะนำวิธีเดินทางใน "ชั่วโมงเร่งด่วน" ของโตเกียวให้สะดวกยิ่งขึ้น!

คุณเคยเจอรถไฟอัดแน่นเป็นปลากระป๋องเมื่อเดินทางในโตเกียวตอนเช้าๆ ไหม? ขนาดรถไฟจะแน่นเอี๊ยดแล้ว แต่คนบนชานชาลาก็ไม่ลดละความพยายาม ต้องเบียดขึ้นไปให้ได้ จนนายสถานีต้องมาช่วยกันดันคนจนปิดประตูได้ ขนาดชาวญี่ปุ่นยังแทบจะขึ้นกันไม่ได้ แล้วนักท่องเที่ยวสัมภาระรุงรังอย่างเราจะรอดได้อย่างไร!? บทความนี้จะพาคุณไปรู้จักเคล็ดลับการเดินทางด้วยรถไฟในชั่วโมงเร่งด่วน รวมถึงบอกสายรถไฟที่คนแน่นที่สุดในแถบโตเกียวเพื่อให้คุณรอดพ้นจากสถานการณ์เหล่านี้ หากพร้อมแล้วก็ไปอ่านกันเลย!

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

บทความนี้อาจมีลิงก์พาร์ทเนอร์ หากคุณทำการซื้อผ่านลิงก์พาร์ทเนอร์ เราอาจได้รับค่าคอมมิชชั่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับคุณ

ชั่วโมงเร่งด่วน (Rush Hour)

ชั่วโมงเร่งด่วน หมายถึง ช่วงเวลาที่จะมีคนมากมายใช้บริการทั้งรถไฟ รถบัส และรถอื่นๆ บนท้องถนน ชั่วโมงเร่งด่วนยามเช้าที่ทุกคนไปทำงานหรือไปโรงเรียนจะคนแน่นกว่าตอนเย็นที่คนเลิกงานไม่พร้อมกัน

ชั่วโมงเร่งด่วนช่วงเช้า เริ่มที่ 7.00 - 9.30 น. หลัง 9 โมงเช้า คนจะเริ่มลดลง พอถึงช่วง 10 โมง ก็จะมีที่นั่งบนรถไฟพอสำหรับทุกคน

ชั่วโมงเร่งด่วนช่วงเย็น เริ่มที่ 17.30 - 19.30 น. ตั้งแต่ 4 โมงเย็น จำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนเริ่มออกจากออฟฟิศ และรถไฟจะกลับมาโล่งอีกครั้งหลัง 3 ทุ่มเป็นต้นไป

กรุงโตเกียวมีรถไฟทั้งหมด 83 สาย ซึ่งแต่ละสายก็จะมีจำนวนผู้โดยสารแตกต่างกัน ดังนั้น ถึงแม้จะไม่ใช่ชั่วโมงเร่งด่วน ก็ไม่ได้แปลว่าจะได้นั่งบนรถไฟเสมอไป! ตัวอย่างเช่น รถไฟบางสายที่วิ่งระหว่างชานเมืองและตัวเมืองโตเกียวอาจจะมีชั่วโมงเร่งด่วนตั้งแต่ 6 โมงเช้า แถมหลัง 4 ทุ่มเป็นต้นไปก็ยังมีคนแน่นอยู่ดี ขนาดที่ว่าอาจจะหาที่นั่งไม่ได้แม้แต่ในรถไฟเที่ยวสุดท้ายเลยทีเดียว แต่ก่อนที่จะไปดูรถไฟสายที่แน่นที่สุด เราก็มารู้จักกับ “อัตราความแออัด” กันก่อนดีกว่า

"อัตราความแออัด" คืออะไร?

อัตราความแออัด (Congestion Rate) คำนวณจากการนำจำนวนผู้โดยสารบนรถไฟมาหารด้วยปริมาณความจุของรถไฟ ยิ่งตัวเลขนี้ต่ำเท่าไร ก็แปลว่าผู้โดยสารจะมีที่ในรถไฟมากขึ้นและเดินทางได้อย่างสะดวกสบายขึ้นเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ รถไฟหลักหลายๆ สายจึงยอมลงทุนมหาศาลทุกปี เพื่อขยายเส้นทางการเดินรถไฟ เพิ่มจำนวนขบวน และจำนวนตู้รถไฟ ลดเวลารอรถไฟระหว่างขบวน ไปจนถึงขยายชานชาลาและปรับปรุงอุปกรณ์ส่งสัญญาณ เพื่อให้ผู้โดยสารพึงพอใจในการเดินทางมากขึ้นนั่นเอง

มาดูกันว่าอัตราความแออัดส่งผลต่อนักท่องเที่ยวอย่างไรบ้าง:

100%: ผู้โดยสารทุกคนสามารถนั่ง ยืน และจับราวหรือเสาได้

150%: ผู้โดยสารอยู่ใกล้กันแบบไหล่ชนไหล่ แต่ยังสามารถกางหนังสือพิมพ์อ่านได้

180%: ผู้โดยสารอาจสัมผัสกัน แต่ยังสามารถเล่นโทรศัพท์มือถือได้

200%: รถไฟแน่นไปด้วยผู้โดยสารที่ยืนติดกันมาก หน้าชนกับหลังของคนด้านหน้า ผู้โดยสารแทบไม่สามารถใช้โทรศัพท์มือถือได้เลย

250%: ผู้โดยสารไม่ได้เพียงแค่ยืนติดกันมากเท่านั้น แต่ยังต้องยืนในตำแหน่งที่น่าอึดอัด ไม่สามารถขยับตัวได้ และไม่ล้มเมื่อรถไฟสั่น

เราขอให้จำตัวเลขเหล่านี้เอาไว้ให้ขึ้นใจ แล้วตามเราไปดูรถไฟสายที่แน่นที่สุดในแถบโตเกียวกัน!

รถไฟญี่ปุ่นมีความซับซ้อนและครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง เราจึงเตรียมคู่มือมากมายเอาไว้เพื่อช่วยให้คุณสามารถใช้บริการรถไฟญี่ปุ่นได้อย่างคล่องแคล่วมากขึ้น! ตามไปดูสายรถไฟทั้งหมดในญี่ปุ่นได้ที่ บทความนี้ และศึกษามารยาทการขึ้นรถไฟได้ที่นี่

11 สายรถไฟที่แน่นที่สุดในกรุงโตเกียว

รถไฟ 11 สายนี้ เป็นรถไฟในตัวเมืองที่มีอัตราความหนาแน่นสูงกว่า 180% ตามที่กระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐานและการขนส่งญี่ปุ่นได้ระบุไว้!

อันดับ

สายรถไฟ

อัตราความหนาแน่น สถานีที่คนแน่นที่สุด

1

รถไฟใต้ดินสาย Tozai

199%

คิบะ (Kiba) → มงเซ็น-นากะโจ (Monzen-Nakacho)

2

รถไฟ JR สาย Yokosuka

197%

มูซาชิโคสุกิ (Musashi-Kosugi) → นิชิโออิ (Nishi-Oi)

3

รถไฟ JR สาย Sobu (จอดทุกสถานี)

196%

คินชิโจ (Kinshicho) → เรียวโกคุ (Ryogoku)

4

รถไฟ JR สาย Tokaido

191%

คาวาซากิ (Kawasaki) → ชินากาว่า (Shinagawa)

5

รถไฟ Nippori-Toneri Liner

189%

อากาโด โชกักโคมาเอะ (Akado-Shogakkomae) → นิชินิปโปริ (Nishi-Nippori)

6

รถไฟ JR สาย Keihin-Tohoku

185%

โออิมาจิ (Oimachi) → ชินากาว่า (Shinagawa)

7

รถไฟ JR สาย Nambu 

184%

มูซาชิ นากาฮาระ (Musashi-Nakahara) → มูซาชิโคสุกิ (Musashi-Kosugi)

8

รถไฟ JR สาย Saikyo

183%

อิตะบาชิ (Itabashi) → อิเคะบุคุโระ (Ikebukuro)

9

รถไฟ JR สาย Chuo (รถเร็ว)

182%

นากาโนะ (Nakano) → ชินจูกุ (Shinjuku)

9

รถไฟ Tokyu สาย Den-en-toshi 

182%

อิเคะจิริ โอฮาชิ (Ikejiri-Ohashi) → ชิบูย่า (Shibuya)

11

รถไฟ JR สาย Sobu (รถเร็ว)

181%

ชินโคอิวะ (Shin-Koiwa) → คินชิโจ (Kinshicho)

สายรถไฟที่ขึ้นชื่อว่าแน่นที่สุดก็คือ รถไฟใต้ดินสาย Tozai นั่นเอง สายนี้เริ่มต้นที่สถานีนิชิฟุนาบาชิ (Nishi-Funabashi) จังหวัดชิบะ และจะเคลื่อนที่ผ่านสถานีเปลี่ยนรถใหญ่ๆ หลายสถานี เช่น สถานีนิฮงบาชิ (Nihombashi) และสถานีโอเทมาจิ (Otemachi) (สถานีโตเกียว) รถไฟสายนี้ยังเป็นสายหลักที่ชาวชิบะใช้เดินทางเข้าโตเกียวอีกด้วย รถไฟสายนี้จะแน่นมาก ขนาดที่เคยมีเหตุการณ์หน้าต่างรถไฟพังเพราะคนจำนวนมากอัดกันในรถไฟเลยทีเดียว!

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

สายรถไฟที่ล่าช้าบ่อยที่สุดในโตเกียว

รถไฟในญี่ปุ่นส่วนใหญ่ตรงเวลามาก แต่ในช่วงเวลาเร่งด่วนก็อาจมีการล่าช้าด้วยเหตุผลหลายประการ อาทิเช่น ประตูรถไฟปิดไม่ได้เพราะมีผู้โดยสารพยายามขึ้นรถไฟมากเกินไป, มีคนตกลงไปในราง, ตารางรถไฟแน่นเกินไปและต้องจัดตารางใหม่ เป็นต้น ในรายงานของกระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐานและการขนส่งญี่ปุ่นปี 2019 ได้มีการคำนวณจำนวนวันเฉลี่ยต่อเดือน (20 วันทำงาน) ที่มีการออก “เอกสารแจ้งความล่าช้าของรถไฟ” (Delay Certification) ในปี 2017 แล้วจัดอันดับ 10 สายรถไฟที่มักจะเกิดความล่าช้าระหว่างเข้า-ออกสถานีไว้ดังนี้

อันดับ

สายรถไฟ

จำนวนวันที่เกิดความล่าช้า (เฉลี่ย)

1

รถไฟ JR สาย Chuo-Sobu (จอดทุกสถานี)

19.2

2

รถไฟ JR สาย Utsunomiya และ Takasaki 

19

3

รถไฟใต้ดินสาย Chiyoda 

18.4

4

รถไฟ JR สาย Saikyo-Kawagoe 

18.2

5

รถไฟ JR สาย Yokosuka-Sobu 

18.1

6

รถไฟ JR สาย Tokaido 

17.8

7

รถไฟ JR สาย Keihin-Tohoku-Negishi 

17.7

8

รถไฟใต้ดินสาย Tozai 

17.1

9

รถไฟ JR สาย Yamanote 

17

10

รถไฟ JR สาย Joban (จอดทุกสถานี)

15.1

รถไฟในโตเกียวหลายๆ สายนั้นเชื่อมต่อกันและสามารถเปลี่ยนไปมาได้อย่างสะดวกสบาย อย่างไรก็ตาม นั่นหมายความว่าหากรถไฟสายหนึ่งล่าช้า สายอื่นๆ ก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย นอกจากอุบัติเหตุที่เกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์แล้ว ภัยธรรมชาติอย่างฝนตกหนัก พายุไต้ฝุ่น หรือแผ่นดินไหว ก็สามารถทำให้เกิดความผิดปกติของรถไฟซึ่งก่อให้เกิดความล่าช้าหรือทำให้รถไฟหยุดวิ่งได้ ดังนั้น เราจึงขอแนะนำให้คุณตรวจสอบสภาพอากาศและสภาพการเดินรถผ่านช่องทางออนไลน์ทุกครั้งในกรณีที่จำเป็น

รถไฟในตัวเมืองมีความล่าช้าทุกวัน ความล่าช้านี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อคนในท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังทำให้นักท่องเที่ยวตกเที่ยวบิน ตกเที่ยวรถไฟชินคันเซ็น หรือไปสถานที่ท่องเที่ยวที่จองไว้ไม่ทันได้อีกด้วย ดังนั้นหากเป็นไปได้ เราก็อยากให้คุณวางแพลนเที่ยวโดยหลีกเลี่ยงช่วงเวลาเร่งด่วนเอาไว้ แต่หากไม่สามารถเลี่ยงได้จริงๆ ก็ขอแนะนำให้เผื่อเวลาเดินทางเอาไว้ให้ดีๆ แทน!


หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !

 

ภาพหน้าปก: Aleksander Todorovic / Shutterstock.com

มนต์เสน่ห์คันโต

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

รับส่วนลดมากมายในญี่ปุ่น ที่นี่!

เกี่ยวกับนักเขียน

Ying
Ying Lu
เป็นคนไต้หวัน ปัจจุบันอาศัยอยู่ในญี่ปุ่น ชอบซับคัลเจอร์อย่างวัฒนธรรม 2D และการชมดนตรีสด เดินทางไปอิเคะบุคุโระอยู่บ่อยครั้ง
  • แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

ค้นหาร้านอาหาร