10 สิ่งต้องห้ามในการใช้ตะเกียบแบบญี่ปุ่น เกร็ดสั้นๆ ควรรู้ก่อนมาญี่ปุ่น!

"ตะเกียบ" สิ่งที่ขาดไม่ได้ในวัฒนธรรมอาหารของญี่ปุ่น นอกจากอาหารญี่ปุ่นแล้ว คนญี่ปุ่นยังสามารถใช้ตะเกียบได้อย่างคล่องแคล่วกับอาหารอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหารสไตล์ตะวันตกหรืออาหารจีน ปัจจุบันวัฒนธรรมการใช้ตะเกียบของชาวเอเชียเริ่มที่จะฝังแน่นในต่างประเทศ รวมถึงประเทศทางแถบยุโรปด้วยเช่นกัน แต่ก็ยังมีการใช้ตะเกียบที่ทั้งถูกและผิดวิธี โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นนั้นมีมารยาทในการใช้อยู่หลากหลาย จึงควรที่จะทราบมารยาทนี้ไว้เพื่อไม่ให้เป็นการเสียมารยาทกับคนรอบข้าง มาดูกันว่า "10 สิ่งต้องห้ามในการใช้ตะเกียบแบบญี่ปุ่น" นั้นมีอะไรบ้าง

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

บทความนี้อาจมีลิงก์พาร์ทเนอร์ หากคุณทำการซื้อผ่านลิงก์พาร์ทเนอร์ เราอาจได้รับค่าคอมมิชชั่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับคุณ

"Kiraibashi (嫌い箸)" มารยาทในการใช้ตะเกียบที่ไม่ควรทำ

ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่จัดอยู่ในกลุ่ม "ประเทศที่มีวัฒนธรรมการใช้ตะเกียบ" โดยตะเกียบได้เข้ามามีบทบาทในญี่ปุ่นในช่วงศตวรรษที่ 7 จากการที่คณะฑูตญี่ปุ่นที่เดินทางไปศึกษาที่ประเทศจีนได้นำตะเกียบกลับมา โดยว่ากันว่าเจ้าชาย Shotoku (聖徳太子) ผู้เป็นนักการเมืองในสมัย Asuka (ปี 592 - 710) นั้นเป็นผู้เผยแพร่วัฒนธรรมการใช้ตะเกียบอย่างกว้างขวาง

ด้วยประวัติความเป็นมาเช่นนี้ การรับวัฒนธรรมการใช้ตะเกียบเข้ามาจึงมาพร้อมกับแนวคิดเรื่องวิธีการใช้ที่ถูกต้อง ซึ่งก่อตัวขึ้นจากรสนิยมด้านความงามและมารยาทที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของญี่ปุ่น ในขณะเดียวกัน "Kiraibashi" ซึ่งเป็นแนวคิดเกี่ยวกับสิ่งที่ผิดมารยาทต่อวัฒนธรรมการใช้ตะเกียบ ก็ได้เกิดขึ้นมาด้วยเช่นกัน

"Kiraibashi" หมายความว่า "มารยาทในการใช้ตะเกียบที่ไม่ควรทำ" เป็นคำทั่วไปที่ใช้เรียกวิธีการใช้ตะเกียบที่ผิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ตะเกียบที่ไร้มารยาท การใช้ตะเกียบที่ทำให้ผู้ที่ร่วมรับประทานอาหารด้วยรู้สึกอึดอัด หรือการใช้ตะเกียบที่เสียมารยาทต่อคนทำอาหาร เป็นต้น

"10 สิ่งต้องห้ามในการใช้ตะเกียบแบบญี่ปุ่น" ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในบทความนี้ ทั้งหมดถือเป็นการกระทำที่จัดอยู่ใน "Kiraibashi" ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถใช้ตะเกียบได้อย่างคล่องแคล่วเหมือนคนญี่ปุ่น แต่ก็ควรจำมารยาทพื้นฐานไว้เพื่อไม่ให้เป็นการเสียมารยาทต่อคนญี่ปุ่นได้

1. [Tatakibashi (叩き箸)] ไม่ใช้ตะเกียบเคาะภาชนะอาหาร!

การจับตะเกียบเหมือนไม้ตีกลองแล้วนำมาเคาะหรือตีกับภาชนะอาหารหรือแก้วน้ำนั้น ถือเป็นการกระทำที่เสียมารยาทที่เรียกว่า "Tatakibashi" เพราะนอกจากเสียงดังที่ทำให้เกิดความรำคาญแล้ว ยังให้ความรู้สึกถึงความเป็นเด็กที่ยังไม่โตอีกด้วย จึงควรที่จะหลีกเลี่ยงการกระทำนี้

นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อมาตั้งแต่สมัยโบราณว่า "วิญญาณร้ายจะมาหาเมื่อเคาะชามข้าว" และจากความเชื่อนี้ "Tatakibashi" จึงถูกจัดให้เป็นเป็นการกระทำที่เสียมารยาทอย่างหนึ่งในญี่ปุ่น

2. [Watashihashi (渡し箸)] ห้ามส่งอาหารต่อกันด้วยตะเกียบ

การส่งอาหารต่อกันจากตะเกียบหนึ่งไปยังอีกตะเกียบหนึ่ง (ส่งไปให้อีกฝ่ายหนึ่ง) เรียกว่า "Hashiwatashi" ในเวลาที่รับประทานอาหารร่วมกัน บางครั้งก็อาจจะเผลอส่งอาหารไปยังตะเกียบโดยตรง แต่การกระทำนี้เป็นการกระทำต้องห้ามเลยทีเดียว เพราะ "Hashiwatashi" นี้เป็นการเคลื่อนไหวที่เหมือนกับ "การเก็บกระดูกผู้ตายที่เผาแล้ว" ดังนั้น เวลาที่ต้องการแบ่งอาหาร จึงควรรักษามารยาทโดยการคีบไปวางบนจานแทนจะดีกว่า

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

3. [Kosuribashi (擦り箸)] ไม่นำตะเกียบไม้มาถูกันเพื่อเอาเสี้ยนออก

ในร้านอาหารญี่ปุ่นมักจะวาง "Waribashi (割り箸)" หรือตะเกียบไม้แบบใช้แล้วทิ้งไว้บริการลูกค้า ซึ่งการใช้ตะเกียบไม้นี้ก็มีกฎในการใช้ของมัน คือ เมื่อหักตะเกียบออกจากกันในแนวตั้ง ตะเกียบทั้ง 2 แท่งนั้นก็อาจจะมีเสี้ยนยื่นออกมา การเอาเสี้ยนออกด้วยการถูตะเกียบทั้ง 2 ข้างเข้าด้วยกันนี้เป็นการกระทำที่เรียกว่า "Kosuribashi" ซึ่งการกระทำนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นการกระทำที่เสียมารยาทแล้ว ยังอาจถูกตีความว่า "ร้านอาหารร้านนี้ให้บริการตะเกียบคุณภาพแย่" หรือ "ร้านอาหารร้านนี้ให้บริการอาหารคุณภาพแย่" ได้อีกด้วย ถือเป็นการกระทำที่เสียมารยาทต่อร้านอาหารเป็นอย่างมาก จึงควรหลีกเลี่ยงและใช้มือหยิบเสี้ยนออกไปแทนจะดีกว่า

Klook.com

4. [Tatebashi (立て箸)] ปักตะเกียบไว้บนข้าว การกระทำต้องห้ามที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง

การนำตะเกียบปักลงบนชามที่ตักข้าวไว้แล้ว เรียกว่า "Tatebashi" หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "Butsubashi (仏箸)" เป็นการกระทำที่เสียมารยาทและไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่งในญี่ปุ่น เพราะธรรมเนียมการไหว้ผู้ล่วงลับในศาสนาพุธญี่ปุ่นนั้นจะไหว้อาหารด้วยการ "ปักตะเกียบลงในข้าว" 

การกระทำนี้จึงเป็นการกระทำที่นอกจากจะทำให้นึกถึงคนตายแล้ว ยังเป็นการกระทำที่ถือเป็นลางร้าย จึงห้ามทำเป็นที่สุด หากทางร้านไม่มีที่วางตะเกียบมาให้ ขอแนะนำให้วางลงบนจานแทน

การวางตะเกียบไว้บนชามช้าวก็ไม่ใช่การกระทำที่สมควรนัก เพราะจะมีความหมายเป็นนัยว่า "ไม่รับข้าวแล้ว" ดังนั้น จึงควรระมัดระวังเกี่ยวกับจุดที่จะวางตะเกียบด้วย 

5. ไม่ไขว้ตะเกียบ

ในประเทศแถบเอเชียรวมไปถึงประเทศจีนนั้น การถือตะเกียบหรือวางตะเกียบไขว้กันเป็นการกระทำที่ "ทำให้นึกถึงความตาย" สำหรับประเทศญี่ปุ่นก็เช่นกัน การกระทำนี้เป็นการกระทำที่ให้ความรู้สึกถึงลางร้าย และเป็นการกระทำที่เสียมารยาท จึงควรถือและวางตะเกียบในแนวขนานกันอยู่เสมอ

6. [Ogamibashi (拝み箸)] ไม่ยกตะเกียบพร้อมกับพูดว่า "Itadakimasu"

ในวัฒนธรรมการรับประทานอาหารของญี่ปุ่นนั้น จะมีธรรมเนียมของการพนมมือขึ้นพร้อมกับพูดว่า "Itadakimasu" ก่อนการรับประทานอาหารทุกครั้ง ในปัจจุบันที่อาหารญี่ปุ่นกำลังเป็นที่นิยมอยู่ทั่วโลก ก็คงจะมีคนที่รู้จักคำว่า "Itadakimasu" หรือคำว่า "Gochisosama" อยู่ไม่น้อย

ในการพูดคำเหล่านี้ ไม่ควรที่จะหยิบตะเกียบขึ้นมาพร้อมกับพนมมือแล้วพูดว่า "Itadakimasu" เพราะการกระทำนี้จะถือเป็นการทำ "Ogamibashi" ที่ชาวญี่ปุ่นหลีกเลี่ยง เพราะถือว่า "เป็นการเสียมารยาทการที่จะโชว์ปลายตะเกียบให้คนอื่นเห็น" จึงควรพูดว่า "Itadakimasu" ก่อน แล้วค่อยหยิบตะเกียบขึ้นมารับประทานอาหาร จึงจะเป็นการกระทำที่ถูกต้องตามลำดับ

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

7. [Yosebashi (寄せ箸)] ไม่ใช้ตะเกียบเลื่อนภาชนะอาหาร

การจิ้มตะเกียบลงในภาชนะอาหารแล้วเลื่อนเข้ามาหาตัวนั้น เรียกว่า "Yosebashi" ซึ่งเพียงแค่การจิ้มตะเกียบลงไปในภาชนะนั้นก็ถือว่าเป็นการเสียมารยาทอยู่แล้ว การเลื่อนที่อาจทำให้เกิดเสียงดังหรือทำให้อาหารหรือน้ำซุปหกเลอะเทอะนั้นจึงถือว่าเป็น "Kiraibashi" อย่างหนึ่ง ควรใช้มือหยิบเลื่อนภาชนะทีละอันดีกว่า

8. [Sashibashi (差し箸)] ไม่หันตะเกียบไปหาคนอื่น

การใช้ตะเกียบชี้ไปยังคนหรืออาหารนั้น เรียกว่า "Sashibashi" การส่งสัญญาณด้วยการชี้ด้วยตะเกียบ หรือการชี้ไปยังอาหารเพื่อที่จะบอกว่า "อันนี้อร่อย!" ก็ถือเป็น Sashibashi เช่นกัน ซึ่งปัญหาอยู่ที่การใช้ตะเกียบแทนนิ้วมือ เป็นการทำให้คนรอบข้างรู้สึกว่า "เป็นคนไร้มารยาทไม่มีระดับ"

9. [Nigiribashi (握り箸)] ไม่จับตะเกียบเหมือนช้อน

สำหรับชาวต่างชาติที่ไม่เคยชินกับวัฒนธรรมการรับประทานอาหารด้วยตะเกียบ ก็อาจจะเป็นเรื่องยากที่จะใช้ตะเกียบให้ชำนาญ แต่การจับตะเกียบแบบช้อนส้อมนั้นเป็นการกระทำต้องห้ามที่เรียกว่า "Nigiribashi" เพราะอาจจะทำให้ผู้ร่วมรับประทานอาหารหรือผู้ทำอาหารนั้นรู้สึกอึดอัดได้ จึงควรที่จะหลีกเลี่ยง แม้ว่าจะดูไม่ชำนาญก็ไม่เป็นไร แค่ขอให้ไม่จับผิดวิธีก็เพียงพอแล้ว

10. [Tsukibashi (突き箸)] ไม่ใช้ตะเกียบจิ้มอาหาร

การใช้ตะเกียบจิ้มอาหารแทนการคีบอาหารนั้นเรียกว่า "Tsukibashi" เป็นการใช้ตะเกียบเหมือนส้อมที่ถือเป็นการกระทำที่เสียมารยาท อีกทั้งการจิ้มอาหารด้วยตะเกียบนั้นยังถูกมองว่าเป็นการ "ตรวจดูว่าอาหารสุกดีหรือไม่" ซึ่งถือเป็นการกระทำที่เสียมารยาทต่อผู้ทำอาหารเป็นอย่างมาก

Klook.com

เข้าใจถึง "Kiraibashi" และใช้ตะเกียบอย่างถูกต้องสวยงาม

ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนี้ คือกฎของคนญี่ปุ่นที่เกิดจากความเกรงใจที่จะ "ไม่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามรู้สึกอึดอัดจากการรับประทานอาหาร" บางคนอาจรู้สึกว่า "วัฒนธรรมในการใช้ตะเกียบของญี่ปุ่นจุกจิกเกินไป!"  หรือ "จำเยอะขนาดนี้ไม่ไหวหรอก!" คุณไม่ต้องจำให้ได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็ควรที่จะรู้เกี่ยวกับ "Tatebashi" และ "Hashiwatashi" ซึ่งเป็นข้อห้ามที่ค่อนข้างร้ายแรงกว่าข้ออื่นๆ ไว้

มามุ่งสู่การใช้ตะเกียบที่สง่างามโดยเริ่มจากการจดจำวิธีใช้ตะเกียบขั้นพื้นฐาน และ "สิ่งที่ห้ามทำ" เอาไว้ให้แม่นกันเถอะ!

มนต์เสน่ห์คันโต

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

รับส่วนลดมากมายในญี่ปุ่น ที่นี่!

เกี่ยวกับนักเขียน

tsunagu
tsunagu Japan
นี่คือแอ็คเคาท์ทางการของ tsunagu japan
  • แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

ค้นหาร้านอาหาร