คนไทยก็ได้แสนเยน! วิธีการลงทะเบียนและ 10 ข้อควรรู้ในการรับเงินช่วยเหลือ 1 แสนเยน

ปัจจุบันโรคโควิด19 ยังคงสร้างความเสียหายให้กับญี่ปุ่นรวมถึงทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลญี่ปุ่นจึงมีมติออกมาตรการช่วยเหลือ 'เงินเยียวยาในกรณีพิเศษ' เพื่อรับมือกับความเสียหายทางเศรษฐกิจ กล่าวง่ายๆ ก็คือ 'การมอบเงินให้กับทุกคนที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นคนละ 1 แสนเยนอย่างเท่าเทียมกัน' รวมไปถึงชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นเช่นกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาก็คือการลงทะเบียนและยื่นเรื่องไม่รองรับภาษาอื่นนอกจากภาษาญี่ปุ่น แถมยังมีขั้นตอนลงทะเบียนไม่เหมือนกันในแต่ละกรณี ทำให้คนไทยในญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยต้องปวดหัว เราจึงขออธิบายข้อมูลอย่างคร่าวๆ และขั้นตอนลงทะเบียนขอเงินเยียวยา 1 แสนเยน ที่กำลังจะเริ่มแจกจ่ายในเดือนพฤษภาคม 2020 นี้ รวมไปถึงนำเสนอข้อควรรู้ 10 ข้อสำหรับชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นให้ได้ทราบกัน

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

บทความนี้อาจมีลิงก์พาร์ทเนอร์ หากคุณทำการซื้อผ่านลิงก์พาร์ทเนอร์ เราอาจได้รับค่าคอมมิชชั่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับคุณ

10 ข้อควรรู้ ไม่พลาดโอกาสรับเงินช่วยเหลือ

1. ความแตกต่างระหว่างผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินและผู้มีสิทธิ์ขอรับเงิน? ครอบคลุมถึงชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นทุกคน?

ผู้มีสิทธิ์ได้รับเงิน (給付対象) คือ ผู้อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นทุกคนที่มีรายชื่ออยู่ในสมุดทะเบียนราษฎร์ (*) ณ วันที่ 27 เมษายน ปีเรวะที่ 2 (ค.ศ. 2020) รวมไปถึงชาวต่างชาติที่มีวีซ่าอยู่อาศัยมากกว่า 3 เดือน และได้ส่งข้อมูลทะเบียนบ้านให้กับหน่วยงานของรัฐในพื้นที่ ในกรณีของผู้ที่ปัจจุบันกำลังพักอาศัยอยู่ในต่างประเทศด้วยเหตุผลบางประการ หากมีชื่ออยู่ในสมุดทะเบียนราษฎร์ ก็ถือว่ามีสิทธิ์รับเงินช่วยเหลือด้วยเช่นกัน

ในส่วนของผู้มีสิทธิ์ขอรับเงิน (受給権者) นั้นคือเจ้าบ้านของทะเบียนราษฎร์ที่คุณมีรายชื่ออยู่ ตัวอย่างเช่นในกรณีที่เป็นครอบครัว 3 คน สามี ภรรยา และลูก โดยที่สามีเป็นเจ้าบ้าน สามีจะมีสิทธิ์ในการดำเนินเรื่องเพื่อขอรับเงินช่วยเหลือของทุกคนในครอบครัว ในกรณีนี้คือ [1 แสนเยน × 3 = 3 แสนเยน]

ในส่วนของการแชร์บ้านที่มีผู้อยู่อาศัยหลายคน (แชร์เฮาส์) เนื่องจากทุกคนมีสถานะเป็นเจ้าบ้านเหมือนกัน แต่ละคนจึงจำเป็นต้องทำการเดินเรื่องด้วยตัวเอง นอกจากนี้ ในกรณีที่เจ้าบ้านมีเหตุขัดข้องไม่สามารถดำเนินเรื่องได้ ผู้ที่เป็นตัวแทนสามารถลงทะเบียนและรับเงินแทนได้ด้วยเช่นกัน ควรทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่างผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินและผู้มีสิทธิ์ขอรับเงินให้ดี เพื่อป้องกันความสับสนที่อาจจะเกิดขึ้น


* สมุดทะเบียนราษฎร์ (住民基本台帳) คือสมุดรวบรวมข้อมูลทะเบียนบ้านที่อยู่ในความดูแลของเทศบาลในแต่ละพื้นที่

ข้อมูลอ้างอิง ลิงก์ภาษาอังกฤษ

2. วิธีลงทะเบียนเพื่อขอรับเงินช่วยเหลือ

วิธีลงทะเบียนมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท ลงทะเบียนทางไปรษณีย์ หรือ ลงทะเบียนทางออนไลน์ ในกรณีของการลงทะเบียนทางไปรษณีย์ ทางเทศบาลของแต่ละพื้นที่จะส่ง 'เอกสารลงทะเบียน เงินเยียวยาในกรณีพิเศษ' (特別定額給付金 申請書) ไปยังที่อยู่ตามทะเบียนราษฎร์ จากนั้นก็ให้เจ้าบ้านหรือตัวแทนเจ้าบ้านกรอกชื่อ-สกุล ที่อยู่ปัจจุบัน วันเดือนปีเกิด ลายเซ็น และบัญชีธนาคาร แนบด้วยเอกสารยืนยันตัวตน จากนั้นก็ทำการส่งกลับก็จะถือว่าเสร็จสิ้นการลงทะเบียน

เอกสารยืนยันตัวตนคือสำเนาใบขับขี่ บัตรมายนัมเบอร์ บัตรประกันสุขภาพ หรือบัตรผู้พักอาศัย (Residence card) พร้อมแนบด้วยหลักฐานยืนยันบัญชีธนาคาร เช่น สำเนาของสมุดบัญชีหรือบัตรกดเงินสด

 สิ่งที่ควรระวังไว้ก็คือ มีระยะเวลาในการลงทะเบียน 3 เดือนนับตั้งแต่ได้รับเอกสารลงทะเบียนทางไปรษณีย์ ดังนั้นจึงควรลงทะเบียนโดยทันทีหลังได้รับเอกสาร

ในส่วนของการลงทะเบียนทางออนไลน์นั้นทำผ่านทาง 'Myna Portal (マイナポータル)' เว็บไซต์ของรัฐบาลญี่ปุ่น รายละเอียดในการกรอกเอกสารไม่ต่างไปจากแบบทางไปรษณีย์ แต่จำเป็นต้องใช้บัตรมายนัมเบอร์ และเครื่องอ่านบัตร IC และต้องอัพโหลดหลักฐานยืนยันบัญชีธนาคาร โดยสามารถลงทะเบียนได้จากสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ ทั้งยังไม่จำเป็นต้องใช้เอกสารยืนยันตัวตน จึงเป็นวิธีที่เราขอแนะนำสำหรับผู้ที่มีบัตรมายนัมเบอร์

อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้จำเป็นต้องใช้รหัสผ่านเพื่อเป็นหลักฐานยืนยันแทนลายเซ็น (*) ที่คุณได้กำหนดไว้ในตอนรับบัตรประชาชน (อักษรอังกฤษหรือตัวเลข 6 ถึง 16 หลัก)

* หากใส่รหัสผ่านผิดติดต่อกัน 5 ครั้งรหัสจะถูกล็อก โดยคุณต้องไปติดต่อขอปลดล็อกที่เคาน์เตอร์ของทางอำเภอที่เป็นผู้ออกบัตร พร้อมกับรีเซ็ตและตั้งรหัสใหม่อีกครั้ง
นอกจากนี้ ในกรณีที่ใช้สำเนาบัตรกดเงินสดเป็นเอกสารระบุปลายทางการรับโอนเงิน หากมีข้อมูลอื่นๆ นอกเหนือจาก 'ชื่อธนาคาร' 'รหัสสาขา' 'ประเภทของบัญชี' 'เลขบัญชี' และ 'ชื่อบัญชี' ปรากฎอยู่ (เช่นรหัสเครดิตในกรณีของบัตรกดเงินที่รองรับระบบเครดิต) ก็สามารถปกปิดส่วนดังกล่าวให้ทึบด้วยสีดำได้โดยไม่มีผลกระทบต่อการลงทะเบียน

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

3. วิธีการรับเงิน 1 แสนเยน

เงินช่วยเหลือจะถูกโอนเข้าไปยังบัญชีธนาคารของผู้มีสิทธิ์ขอรับเงิน ในกรณีที่ผู้มีสิทธิ์ขอรับเงินไม่มีบัญชีธนาคาร สามารถติดต่อได้ที่เคาน์เตอร์ของหน่วยงานรัฐในพื้นที่ นอกจากนี้ในกรณีที่บัญชีธนาคารเป็นบัญชีต่างประเทศ อาจมีโอกาสที่จะไม่สามารถรับการโอนเงินได้ หากพบปัญหาดังกล่าวสามารถติดต่อได้ที่เคาน์เตอร์ของหน่วยงานรัฐในพื้นที่เช่นเดียวกัน

Klook.com

4. จะได้รับเงินเมื่อไร?

ช่วงเวลาที่เงินจะถูกโอนเข้าบัญชีนั้นแตกต่างไปตามเขตเทศบาล หากเป็นเขตที่มีประชากรน้อยก็จะได้รับเงินเร็ว หากมีประชากรมากก็จะได้รับเงินช้า แม้ในปัจจุบันจะไม่มีการกำหนดเวลาไว้อย่างชัดเจน แต่ก็คาดการณ์ไว้ว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือนนับตั้งแต่ที่ทำการลงทะเบียน ขอแนะนำให้คอยตรวจสอบช่วงเวลาที่ชัดเจนตามเว็บไซต์หรือโซเชียลเนตเวิร์คของเขตเทศบาลที่คุณมีทะเบียนบ้านอยู่

5. สามารถปฏิเสธรับเงินก็ได้ด้วย?!

ในเอกสารลงทะเบียนตรงบริเวณด้านข้างของส่วนที่ให้กรอกชื่อ-สกุลจะมีช่องสำหรับกาว่า 'ไม่ประสงค์ที่จะรับเงินช่วยเหลือ (給付金の受給を希望しない)' ในกรณีที่คุณไม่ต้องการรับเงิน เมื่อทำเครื่องหมายลงไปก็จะไม่ได้รับเงิน นอกจากนี้ ในกรณีที่ทุกคนในทะเบียนบ้านไม่ต้องการที่จะรับเงิน ก็ไม่จำเป็นต้องทำการลงทะเบียนใดๆ เลยก็ได้

อย่างไรก็ตาม เงิน 1 แสนเยนนี้เป็นเงินที่ผู้อยู่อาศัยในญี่ปุ่นทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้รับ จึงควรตรวจสอบให้ดีก่อนส่งเอกสาร เพื่อป้องกันกรณีที่เผลอไปทำเครื่องหมายโดยไม่ได้ตั้งใจ

6. หากมีปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ควรทำอย่างไรเพื่อรับเงินแยกจากเจ้าบ้าน

แน่นอนว่าต้องมีผู้ที่ไม่สะดวกกับการรับเงินร่วมกับเจ้าบ้าน เนื่องจากอยู่อาศัยแยกกับเจ้าบ้านด้วยเหตุผลบางประการ กรณีที่พบมากที่สุดก็คือเป็นผู้เสียหายจากการใช้ความรุนแรงภายในครอบครัว นโยบายมอบเงินช่วยเหลือในครั้งนี้ได้คำนึงถึงกรณีดังกล่าว และกำหนดข้อยกเว้นพิเศษขึ้นสำหรับผู้ที่ได้รับความรุนแรงจากคู่สมรสโดยเฉพาะ โดยมีรายละเอียดของผู้ที่เข้าข่ายดังต่อไปนี้

[เงื่อนไขของผู้ที่เข้าข่าย]
*1. ได้รับคำสั่งคุ้มครองตามกฎหมายป้องกันความรุนแรงจากคู่สมรส
*2. มีการออก 'เอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้ที่ได้รับความรุนแรงจากคู่สมรส' (配偶者からの暴力の被害者の保護に関する証明書) จากศูนย์ให้คำปรึกษาเพื่อผู้หญิง หรือเอกสารรับรองจากหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือด้านความรุนแรงจากคู่สมรส (เช่น หน่วยงานเทศบาล และศูนย์ปรึกษาปัญหาความรุนแรงจากคู่สมรส)
*3. ย้ายทะเบียนมายังเขตเทศบาลที่อาศัยอยู่ในปัจจุบันภายหลังวันที่ 28 เมษายน ปีเรวะที่ 2 และอยู่ภายใต้ 'มาตรการคุ้มครอง' เช่น จำกัดสิทธิ์ของคู่สมรสในการขอดูสมุดทะเบียนบ้าน
อ้างอิง: กระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสาร - ประกาศเกี่ยวกับการมอบเงินเยียวยาในกรณีพิเศษ

ผู้ที่เข้าข่ายเงื่อนไขด้านบนแม้แค่เพียงข้อเดียว ก็มีสิทธิ์ไปติดต่อขอรับเงินจากเขตเทศบาลที่ตนเองอาศัยอยู่ในปัจจุบันได้โดยไม่ต้องผ่านเจ้าบ้าน ในกรณีที่มีลูก ผู้มีสิทธิ์สามารถขอรับเงินช่วยเหลือในส่วนของลูกได้ด้วยเช่นกัน และหากดำเนินการดังกล่าวแล้ว แม้ว่าทางเจ้าบ้านจะทำการลงทะเบียนในส่วนของผู้เสียหายหรือคู่สมรส เจ้าบ้านก็จะไม่ได้รับเงินในส่วนดังกล่าวแต่อย่างใด

*1……คำสั่งคุ้มครอง คือคำสั่งที่ศาลออกเพื่อคุ้มครองผู้เสียหายจากการใช้ความรุนแรงในครอบครัว โดยอ้างอิงตาม 'กฎหมายว่าด้วยการป้องกันความรุนแรงจากคู่สมรส' มีเนื้อหาเช่นห้ามเข้าใกล้ผู้เสียหายหรือสั่งให้ออกห่างจากผู้เสียหาย
*2……มี 'เอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้ที่ได้รับความรุนแรงจากคู่สมรส' ที่ออกโดยศูนย์ให้คำปรึกษาเพื่อผู้หญิงแห่งใดก็ตามทั่วญี่ปุ่น รวมถึงผู้ที่มีเอกสารหลักฐานแสดงการได้รับความรุนแรงในครอบครัว
*3……ผู้ที่ย้ายทะเบียนบ้านไปยังเขตเทศบาลใหม่ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน ปีเรวะที่ 2 เป็นต้นไป ยื่นเรื่องขอมาตรการคุ้มครองการใช้ความรุนแรงในครอบครัวไปยังเขตเทศบาลที่ตนย้ายไป และได้รับการคุ้มครอง

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

7. คนไร้บ้านและผู้ที่อาศัยตามอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ก็มีสิทธิ์ได้รับหากมีทะเบียนบ้าน

ไม่ว่าจะเป็นคนไร้บ้านหรือผู้ที่อาศัยอยู่ตามอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ หากมีรายชื่อปรากฏอยู่ในทะเบียนราษฎร์ก็ถือว่ามีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือ กรณีที่รายชื่อถูกลบออกไป หากทำการบันทึกใหม่อีกครั้งภายหลังวันที่ 27 เมษายน 2020 เป็นต้นไป ก็จะมีสิทธิ์ได้รับเงินเช่นกัน

8. ผู้ที่เกิดหลังวันที่กำหนดและผู้ที่เสียชีวิตก่อนวันที่กำหนดจะมีสิทธิ์ได้รับเงินไหม?

นโยบายในครั้งนี้มีการกำหนดวันไว้ที่ 27 เมษายน 2020 ดังนั้น แม้ว่าจะเป็นผู้ที่มีสิทธิ์ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น แต่หากเกิดภายหลังหรือเสียชีวิตก่อนวันดังกล่าว ก็จะไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือ

ในกรณีของผู้ที่เกิดหลังวันนี้ เสียชีวิตก่อนวันนี้ หรือเสียชีวิตลงในวันนี้ มีความเป็นไปได้สูงที่จะถือว่ามีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือ

9. มีการเก็บภาษีจากเงินช่วยเหลือไหม?

กฎหมายกำหนดให้เงินเยียวยาในกรณีพิเศษนี้ได้รับการยกเว้นภาษี จึงไม่ต้องทำการเสียภาษีแต่อย่างใด

10. หากมีข้อสงสัยโปรดติดต่อคอลเซ็นเตอร์สำหรับชาวต่างชาติ!

กระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสารของญี่ปุ่นได้จัดตั้งคอลเซ็นเตอร์รองรับหลายภาษาขึ้นเพื่อตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับการมอบเงินช่วยเหลือในครั้งนี้ โดยรองรับ 11 ภาษา ได้แก่ ญี่ปุ่น อังกฤษ จีน เกาหลี สเปน โปรตุเกส เวียดนาม ไทย อินโดนีเซีย ตากาล็อก และเนปาล

・Navi Dial: 0570-066-630
・เบอร์โทรศัพท์: 03-6436-3605
・เวลาทำการ: 8:30 - 17:30 น. (หยุดวันเสาร์อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์)

Klook.com

เนื้อหาของเอกสารลงทะเบียนและวิธีการกรอกที่ถูกต้อง

หลังจากที่ได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเงินเยียวยาในกรณีพิเศษนี้ไปอย่างคร่าวๆ แล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนจะเป็นอุปสรรคอันใหญ่หลวงสำหรับชาวต่างชาติ สิ่งนั้นก็คือการที่เอกสารลงทะเบียนเป็นภาษาญี่ปุ่นทั้งหมด 

เราจึงขอยกตัวเอกสารลงทะเบียนจริงๆ มาให้คุณได้เห็น พร้อมอธิบายขั้นตอนการกรอกข้อมูลในแต่ละส่วน ก่อนอื่นมาดูกันว่าด้านหน้าและหลังของเอกสารนี้มีลักษณะอย่างไร

ด้านหน้าเป็นส่วนสำหรับกรอกข้อมูลเจ้าบ้าน ข้อมูลผู้มีสิทธิ์รับเงิน เลขบัญชีธนาคาร และอื่นๆ โดยพื้นฐานแล้วข้อมูลที่จำเป็นต้องกรอกจะอยู่ที่ด้านหน้าทั้งหมด
ส่วนด้านหลังนั้นเป็นพื้นที่สำหรับแปะเอกสารยืนยันตัวตน เอกสารยืนยันบัญชีธนาคาร และอื่นๆ โดยไม่มีส่วนให้กรอกข้อมูลใดๆ

ส่วนบนซ้ายมือเป็นพื้นที่สำหรับกรอกวันลงทะเบียนและที่อยู่ปัจจุบัน โดยกรอกลงในช่องที่มีอักษรตัวหนาเขียนอยู่

ตัวอย่าง:
วันลงทะเบียน (申請日): 1 พฤษภาคม ปีเรวะที่ 2 (令和2年5月1日)
ที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน ณ วันที่ 27 เมษายน ปีเรวะที่ 2 (令和2年4月27日時点の住民票所在市区町村): เขตชิโยดะ (千代田)

ส่วนถัดมาด้านล่างคือพื้นที่สำหรับกรอกชื่อเจ้าบ้าน (และคำอ่านฟุริกานะ) วันเดือนปีเกิด ที่อยู่ปัจจุบัน และเบอร์ติดต่อ หลังจากที่กรอกชื่อแล้วจำเป็นต้องปั๊มตราลงบนจุดที่มีคำว่า '印' เขียนอยู่ด้วย

ตัวอย่าง:
ชื่อสกุล (氏名): ชิโยดะ ทาโร (千代田 太郎)
วันเดือนปีเกิด (生年月日): 1 มกราคม 1980 (1980年1月1日)
* สามารถใส่ปีเป็นเมจิ ไทโช โชวะ หรือเฮเซได้ แต่สำหรับชาวต่างชาติขอแนะนำให้ใส่เป็น ค.ศ. เพื่อป้องกันการสับสน
ที่อยู่ (現住所): 0-0-0, Nagatacho, Chiyoda-ku, Tokyo
เบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ (日中に連絡可能な電話番号): 090-1111-2222

ด้านล่างของช่องใส่ชื่อเป็นข้อตกลงในการรับเงินช่วยเหลือ โดยมีเนื้อหาดังนี้
1. สามารถตรวจสอบสิทธิ์ในการรับเงินได้จากช่องทางต่างๆ ของรัฐ
2. หากไม่พบสิทธิ์ในช่องทางของรัฐ ขอให้แนบด้วยเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
3. ในกรณีที่ทางเขตเทศบาลไม่สามารถโอนเงินไปยังบัญชีธนาคารที่ระบุไว้เนื่องด้วยสาเหตุต่างๆ เช่น กรอกข้อมูลผิดพลาด รวมถึงภายในระยะเวลา 3 เดือนหลังจากการลงทะเบียนทางเขตเทศบาลไม่สามารถติดต่อหรือระบุตัวผู้ลงทะเบียนและผู้มีสิทธิขอรับเงิน (รวมถึงตัวแทน) ได้ ทางเขตเทศบาลจะถือว่าการลงทะเบียนในครั้งนี้เป็นโมฆะ
4. ในกรณีที่ได้รับเงินเยียวยาในกรณีพิเศษจากเขตเทศบาลอื่นแล้ว ทางเขตเทศบาลจะขอทำการเรียกคืนเงินดังกล่าว

ส่วนต่อไปเป็นชื่อ-สกุลของผู้มีสิทธิ์รับเงิน สถานะที่ข้องเกี่ยวกับเจ้าบ้าน วันเดือนปีเกิด และจำนวนเงินทั้งหมด ที่เห็นอยู่นี้คือตัวอย่างที่ได้รับการกรอกแล้ว แต่ในเอกสารจริงจะเว้นว่างไว้ ในส่วนกล่องสี่เหลี่ยมทางด้านขวามือมีไว้สำหรับผู้ที่ไม่ประสงค์จะรับเงิน หากต้องการรับเงินจึงควรระวังอย่ากาลงในช่องนี้

ตัวอย่าง:
ชื่อสกุล (氏名): ชิโยดะ ทาโร (千代田 太郎)
สถานะ (続柄): เจ้าบ้าน (世帯主)
วันเดือนปีเกิด (生年月日): 1 มกราคม 1980 (1980年1月1日)
* สามารถใส่ปีเป็นเมจิ ไทโช โชวะ หรือเฮเซได้ แต่สำหรับชาวต่างชาติขอแนะนำให้ใส่เป็น ค.ศ. เพื่อป้องกันการสับสน

ชื่อ: ******
สถานะ: ภรรยา (妻)
วันเดือนปีเกิด: 3 มีนาคม 1980 (1980年3月3日)

ชื่อ: ******
สถานะ: ลูก (子)
วันเดือนปีเกิด: 5 พฤษภาคม 2000 (2000年5月5日)

จำนวนเงินทั้งหมด (合計金額): 300,000 เยน (300,000円)

ส่วนต่อไปเป็นการระบุวิธีรับเงิน โดยมีให้เลือก 2 วิธีคือ

A รับโอนเงินเข้าบัญชีที่ระบุ
B ยื่นเอกสารลงทะเบียนที่เคาน์เตอร์และไปรับเงินโดยตรงในภายหลัง

มาดูที่วิธี A กันก่อน จะเห็นว่ามีกล่องอยู่ 2 กล่อง กล่องด้านบนมีไว้สำหรับบัญชีธนาคารทั่วๆ ไป และด้านล่างมีไว้สำหรับบัญชีของธนาคาร JP Bank (ゆうちょ銀行) ที่บริหารโดยการไปรษณีย์ญี่ปุ่น

・กรณีบัญชีธนาคารทั่วไปอย่าง MUFG Bank หรือ Mizuho Bank: กรอกในกล่องด้านบน โดยประกอบไปด้วยชื่อธนาคาร ชื่อสาขา ประเภทของบัญชี (สะสมทรัพย์ 普通 หรือกระแสรายวัน 当座) และชื่อบัญชี โดยชื่อบัญชีให้เขียนเป็นคำอ่าน
บัญชีที่สามารถกำหนดได้ในจุดนี้จำเป็นต้องเป็นบัญชีของเจ้าบ้านหรือตัวแทนเท่านั้น

ตัวอย่าง:
ชื่อธนาคาร (金融機関名): MUFG Bank (三菱東京UFJ銀行)
สาขา (支店名): สาขาชิโยดะ (千代田支店)
ประเภทบัญชี (分類): 1. ธรรมดา (普通)
* กรณีที่เป็นกระแสรายวัน เลือก 2. กระแสรายวัน (当座)
เลขบัญชี (口座番号): 1234567 (เขียนชิดขวา)
ชื่อบัญชี (口座名義): ชิโยดะ ทาโร (チヨダ タロウ)

・กรณีบัญชีธนาคาร JP Bank: กรอกในกล่องด้านล่าง กรณีนี้ต้องการแค่รหัสสมุดเงินฝาก หมายเลขสมุดเงินฝาก และชื่อบัญชี

ตัวอย่าง:
รหัสสมุดเงินฝาก (通帳記号): 12345
หมายเลขสมุดเงินฝาก (通帳番号): 87654321 (เขียนให้ชิดขวา)
ชื่อบัญชี (口座名義): ชิโยดะ ทาโร (チヨダ タロウ)

ในกรณีที่ไม่ต้องการระบุบัญชีธนาคารโดยตรง แต่ระบุเป็นบัญชีที่ใช้ถอนเงินอัตโนมัติสำหรับจ่ายค่าน้ำ ค่าภาษีที่อยู่อาศัย หรือบริจาคช่วยเหลือเด็กเล็กอยู่แล้ว ก็สามารถทำได้เช่นกัน กรณีเหล่านี้จะทำให้ไม่จำเป็นต้องแนบสำเนาเอกสารยืนยันบัญชีไว้ที่ด้านหลัง

・บัญชีสำหรับจ่ายค่าน้ำ (水道料金引落口座)
・บัญชีสำหรับจ่ายค่าภาษีที่อยู่อาศัย (住民税等の引落口座)
・บัญชีสำหรับบริจาคช่วยเหลือเด็กเล็ก (児童手当受給口座)
→ เลือกเช็คในช่องที่ต้องการ

ในส่วนของวิธี B เป็นการเลือกเดินทางไปยื่นเอกสารลงทะเบียนที่เคาน์เตอร์โดยตรง ทำให้ไม่จำเป็นต้องส่งเอกสารกลับ เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มีบัญชีธนาคารหรืออาศัยอยู่ค่อนข้างห่างไกลจากธนาคาร เป็นวิธีที่กรอกข้อมูลทั้งหมดยกเว้นข้อมูลบัญชีธนาคาร นำไปยื่น ณ ที่ทำการเทศบาลในพื้นที่ จากนั้นก็จะได้รับเงินช่วยเหลือ

ในกรณีที่ลงทะเบียน (หรือขอรับเงิน) ด้วยตัวแทน จะมีกล่องให้กรอกข้อมูลอยู่ที่ส่วนล่างสุดของเอกสาร จากช่องซ้ายบนสุดประกอบไปด้วยชื่อ-สกุลของตัวแทน (พร้อมคำอ่าน) วันเดือนปีเกิด ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ ตัวอย่างเช่นในกรณีที่ภรรยาเป็นตัวแทนขอรับเงิน ข้อมูลจะเป็นดังด้านล่างนี้

ถัดมาที่ช่องด้านล่างเป็นการยอมรับสถานะตัวแทนของคนที่ระบุไว้ด้านบน และยอมรับให้รับเงินเยียวยาในกรณีพิเศษแทน โดยจำเป็นต้องกรอกชื่อและปั๊มตราประทับของเจ้าบ้านลงไป

ประเภทของการเป็นตัวแทนมีอยู่ด้วยกัน 3 ประเภทดังด้านล่าง โดยให้ทำเครื่องหมายวงกลมลงล้อมรอบประเภทที่ต้องการ
・ลงทะเบียนและเดินเรื่อง (申請・請求)
・รับเงิน (受給)
・ลงทะเบียน เดินเรื่อง และรับเงิน (申請・請求・受給)

เมื่อจบจากด้านหน้าแล้วมาดูกันที่ด้านหลัง ให้แปะสำเนาเอกสารยืนยันตัวตนลงที่ช่องด้านบน แปะสำเนาเอกสารยืนยันบัญชีธนาคารลงที่ช่องด้านล่าง จากนั้นให้ส่งเอกสารไปยังที่ทำการเทศบาลของตน ขั้นตอนการลงทะเบียนก็จะเสร็จเรียบร้อย

จะเห็นได้ว่ากระบวนการเหล่านี้แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ สำหรับคนที่เกิดและเติบโตในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเชี่ยวชาญภาษาญี่ปุ่นหรือไม่ ก็อาจจะรู้สึกไม่คุ้นเป็นได้ เราหวังอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับผู้ที่ประสบปัญหาดังกล่าว หากคุณมีคนรู้จักหรือเพื่อนที่กำลังมีปัญหาอยู่ ลองแนะนำบทความนี้ให้พวกเขาอ่านดูนะ

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

รับส่วนลดมากมายในญี่ปุ่น ที่นี่!

เกี่ยวกับนักเขียน

Keisuke
Keisuke Tsunekawa
เป็นคนญี่ปุ่นที่ชอบหลีกหนีจากชีวิตในเมืองโตเกียวเป็นครั้งคราว เพื่อค้นพบเส้นทางใหม่ๆ รวมถึงท่องเที่ยวในประเทศอื่นๆ ซึ่งทำให้รู้สึกว่าได้สนุกกับการเชื่อมโยงกับสิ่งที่แตกต่างไปจากที่เคยทำเคยเห็นในชีวิตประจำวัน
  • แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

ค้นหาร้านอาหาร