รวมทุกเรื่องที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับ "การสัก" ในญี่ปุ่น!

ความสัมพันธ์ระหว่าง 'ประเทศญี่ปุ่น' กับ 'การสัก' นั้นออกจะซับซ้อนอยู่สักหน่อย คนญี่ปุ่นมักไม่ค่อยชอบใจเวลาเห็นนักท่องเที่ยวที่มีรอยสักอยู่ตามตัว แม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปมากแล้ว แต่หลายคนก็ยังเข้าใจว่ารอยสักมักเกี่ยวข้องกับยากูซ่าอยู่เสมอ แต่รู้ไหมว่าที่จริงแล้ว เรื่องราวของการสักนั้นได้รับการบันทึกว่ามีบทบาทอยู่ในสังคมญี่ปุ่นมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์และยังมีความผูกพันกับชาวญี่ปุ่นอย่างลึกซึ้งอีกด้วย

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

บทความนี้อาจมีลิงก์พาร์ทเนอร์ หากคุณทำการซื้อผ่านลิงก์พาร์ทเนอร์ เราอาจได้รับค่าคอมมิชชั่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับคุณ

ญี่ปุ่นกับ "การสัก" ในยุคก่อนประวัติศาสตร์

เรื่องราวของรอยสักในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นมีมาตั้งแต่สมัยยุคโจมง (14,000 - 300 ปีก่อนคริสตกาล) หลักฐานเก่าแก่ที่สุดถูกสันนิษฐานว่ามีถูกทำขึ้นราว 5,000 ปีก่อนคริสตกาล นักประวัติศาสตร์ได้ขุดพบรูปปั้นดินเหนียวที่ทำเป็นรูปใบหน้าและร่างกายของคน บนนั้นมีรอยสักถูกวาดและขีดเขียนอยู่มากมาย

บันทึกที่กล่าวถึงการสักอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรฉบับแรกถูกเขียนขึ้นราวๆ ปีคริสตศักราช 300 ในหนังสือประวัติศาสตร์ของราชวงศ์จีน มีการพูดถึงชายชาวญี่ปุ่นที่มีรอยสักอยู่บนใบหน้าและร่างกาย

รอยสักและโทษทัณฑ์

หลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าประเทศญี่ปุ่นมีการใช้รอยสักเป็นบทลงโทษปรากฏขึ้นในปีคริสตศักราช 720 ผู้ที่ทำความผิดอย่างร้ายแรงจะถูกสักที่หน้าผากเพื่อประจานให้คนทั่วไปได้รับรู้ถึงความเลวร้ายของคดีที่เจ้าตัวเป็นคนก่อ ถึงแม้ว่ากลวิธีในการสักจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา แต่รอยสักก็ถูกมองเป็นสัญลักษณ์ของอาชญากรตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ในยุคเอโดะ (ปี 1603 - 1868) รอยสักได้กลายเป็นเทรนด์การแต่งตัว โดยส่วนหนึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากนวนิยายจีนชื่อ "Suikoden (แปลไทยชื่อ ซ้องกั๋ง)" ซึ่งมีตัวละครที่มีรอยสักเต็มตัวปรากฏอยู่ นี่นับว่าเป็นยุคทองของการสักเลยทีเดียว

ยุคเอโดะเป็นยุคที่รุ่งเรืองของศิลปะญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นคาบุกิ (Kabuki) ภาพวาดอุคิโยะเอะ (Ukiyo-e) การพิมพ์บล็อกไม้ ไปจนถึงการสัก การเติบโตของศิลปะแขนงหนึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์ศิลปะอีกแขนงหนึ่งตามมาเสมอ และดูเหมือนว่าในช่วงนี้เอง ศิลปินภาพพิมพ์บล็อกไม้หลายคนก็ได้นำพิมพ์ไม้ของตนมาใช้เป็นแบบของรอยสักเพื่อให้ผู้ติดตามผลงานได้รู้สึกเหมือนกับว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะนั้นๆ นอกจากนี้ทั้งศิลปินภาพพิมพ์บล็อกไม้และนักสักลายก็ได้ใช้คำว่า "Hori (การสลัก)" ในการอธิบายวิธีการสร้างสรรค์งานของตนด้วย

เมื่อรอยสักอยู่นอกกฎหมาย

ในหนังสือนวนิยายเรื่องซ้องกั๋ง ตัวเอกซึ่งเป็นกลุ่มชายที่มีรอยสักนั้นเป็นชนชั้นล่างที่ลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจของรัฐบาล นี่เป็นแนวคิดที่ขัดแย้งกับระบบการปกครองแบบเผด็จการในยุคเอโดะอย่างรุนแรง ชนชั้นปกครองในสมัยนั้นจึงพยายามจะผลักดันให้การสักกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

อิทธิพลจากวัฒนธรรมตะวันตกในช่วงศตวรรษที่ 19 ก็เป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ทำให้มุมมองของชาวญี่ปุ่นที่มีต่อการสักเปลี่ยนไป ในเวลานั้นประเทศอื่นๆ ในทวีปเอเชียกำลังตกเป็นเหยื่อของการล่าอาณานิคมตะวันตก ทางรัฐบาลญี่ปุ่นจึงออกกฎหมายสั่งห้ามการสัก ด้วยเกรงว่ามันจะทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศดูป่าเถื่อนและล้าหลังและอาจทำให้ถูกรุกรานจากประเทศตะวันตกได้

กฎหมายต่อต้านการสักในเวลานั้นจะถูกใช้อย่างเข้มงวดเป็นพิเศษในพื้นที่แถบฮอกไกโดและโอกินาว่าซึ่งเป็นพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการถูกรุกราน นอกจากนี้พื้นที่บริเวณนี้ยังมีวัฒนธรรมชนเผ่าที่มีการสักบนร่างกายผู้หญิงอยู่ด้วย ในขณะที่พื้นที่บนเกาะหลักของญี่ปุ่นจะค่อนข้างหละหลวมกว่า แต่กระนั้น กฏหมายเหล่านี้ก็ทำให้กลุ่มผู้ปกครองประสบความสำเร็จในการทำให้วัฒนธรรมการสักกลายเป็นสิ่งนอกกฎหมายได้ในที่สุด

กฎหมายนี้ถูกใช้มาเรื่อยๆ จนกระทั่งทางการถูกสหรัฐอเมริกาสั่งให้ยกเลิกในปี 1948

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

1960 อันธพาลครองเมือง

หลังจากกฎหมายห้ามการสักถูกยกเลิกไปในปี 1948 ญี่ปุ่นก็เข้าสู่ยุคทองของภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับยากูซ่า และในช่วงปี 1960 ก็เป็นช่วงที่ความนิยมพุ่งสูงถึงขีดสุด

แม้ว่ารอยสักกับค่านิยมแบบยากูซ่าจะไม่ได้ส่งผลต่อกันโดยตรง แต่ภาพยนตร์เหล่านี้ก็ทำให้มันกลายเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในฐานะของแฟชั่นแนว "ชีวิตจริงยิ่งกว่านิยาย" โดยเมื่อได้เห็นพระเอกในภาพยนตร์อย่าง Showa Zankyo-den (Brutal Tales of Chivalry ปี 1965) ที่ร่างกายเต็มไปด้วยรอยสัก เหล่าเด็กๆ เกเรและแก๊งอันธพาลก็จะพากันไปสักตาม และก็เป็นเพราะความวุ่นวายที่เกิดจากอิทธิพลของวัฒนธรรมการสักเหล่านี้เองที่ทำให้ชาวญี่ปุ่นรุ่น Baby Boomer หลายๆ คนฝังใจว่ารอยสัก = ข่าวร้าย

แม้ว่ามุมมองเกี่ยวกับรอยสักจะเปลี่ยนไปบ้างแล้ว แต่หากพิจารณาเหตุการณ์ความวุ่นวายต่างๆ ในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่ต้องเกิดขึ้นเพราะรอยสักเหล่านี้แล้ว ก็นับว่าไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรหากจะมีคนญี่ปุ่นที่ยังตะขิดตะขวงใจเรื่องรอยสักอยู่

Klook.com

ที่ญี่ปุ่นมีคนสักเยอะแค่ไหน ?

เมื่อญี่ปุ่นเปิดประเทศและรับเอาวัฒนธรรมต่างๆ เข้ามา เทรนด์การสักในฐานะแฟชั่นก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น แม้ว่าจะไม่มีสถิติหรือตัวเลขที่ระบุแน่ชัดว่ามีชาวญี่ปุ่นกี่คนที่สักร่างกาย แต่เราก็สามารถพบเห็นร้านสักได้ทั่วไปตามเมืองใหญ่ๆ

หากคุณอยากรู้ว่ามีคนญี่ปุ่นที่สักอยู่เยอะแค่ไหน ก็ลองแวะไปที่ชายหาดดังๆ นอกเขตโตเกียวอย่างในชิบะ (Chiba), เอโนะชิมะ (Enoshima) หรือฮายามะ (Hayama) ดูสิ แล้วคุณจะพบว่ามีเยอะจนน่าตกใจเชียวล่ะ! ยิ่งการแข่งขันกีฬา Olympic 2020 และ Rugby World Cup ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ แบบนี้ ก็ดูเหมือนว่าการสักจะยิ่งได้รับความนิยมเข้าไปอีก

ซันจะมัตสึริ : เทศกาลรอยสักในโตเกียว

ในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคมของทุกปี ที่โตเกียวจะมีการจัด "ซันจะมัตสึริ (Sanja Matsuri)" ขึ้นที่ "วัดเซนโซจิ (Sensoji Temple)" ซึ่งเป็นวัดที่ดังที่สุดในโตเกียว และเทศกาลนี้ก็เป็นเทศกาลอวดรอยสักที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่นเสียด้วย

ในงานเทศกาลจะมีผู้คนมากมายแวะมาอวดรอยสักแบบญี่ปุ่นให้เราได้ชม รอยสักที่เราได้เห็นส่วนมากจะครอบคลุมเกือบทั้งร่างกายของผู้สัก โดยลากยาวตั้งแต่ช่วงไหล่ลงมาจนถึงเข่าหรือข้อเท้า แม้ว่ารอยสักในรูปแบบนี้จะถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับยากูซ่าอยู่บ่อยๆ แต่หากมองดีๆ ก็จะเห็นได้ว่า รอยสักก็เป็นเพียงงานศิลปะชิ้นหนึ่งที่ถูกรังสรรค์ขึ้นมาอย่างประณีตบรรจงเท่านั้นเอง

การห้ามแสดงรอยสักในพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนตัว

นักท่องเที่ยวที่มีรอยสักตามร่างกายมักจะสงสัยว่าพวกเขาต้องซ่อนรอยสักของตัวเองไหม? และคำตอบสำหรับคำถามนี้ก็คือ "บางครั้ง"

บ่อน้ำร้อนสาธารณะบางแห่งยังไม่อนุญาตให้ผู้ที่มีรอยสักลงแช่น้ำได้อย่างเปิดเผย หากเป็นเพียงรอยสักเล็กๆ ที่พอจะใช้พลาสเตอร์หรือผ้าพันแผลปิดไว้ได้ก็มักจะไม่มีปัญหา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ควรสอบถามเจ้าหน้าที่เสียก่อน ส่วนคนที่มีรอยสักใหญ่ๆ แต่อยากจะแช่น้ำแบบสบายๆ ทางเราขอแนะนำให้ไปบ่อน้ำร้อนที่เขียนอนุญาตไว้อย่างชัดเจนเลยดีกว่า คุณสามารถดูรายชื่อได้จากบ่อน้ำร้อนสำหรับผู้ที่มีรอยสักได้ที่ เว็บไซต์นี้ หรือหากคุณอยากรู้รายละเอียดเกี่ยวกับบ่อน้ำร้อนเหล่านี้ ก็สามารถตามไปอ่าน บทความของเรา ได้เช่นกัน

หลายคนอาจจะบอกว่านี่เป็นกฎที่ดูหัวโบราณและไม่ยุติธรรม แต่สำหรับคนญี่ปุ่นแล้ว รอยสักก็ยังคงมีภาพจำที่เกี่ยวพันกับคำว่า"ข่าวร้าย" และ "ยากูซ่า" มากอยู่ดี ขนาดที่ว่ามีการคำใช้แยกระหว่างรอยสักแบบธรรมดา (Tattoo) ที่สักเพื่อแสดงความเป็นตัวเองเฉยๆ กับรอยสักขนาดใหญ่ (Irezumi) ที่เป็นรอยสักของยากูซ่าเลยทีเดียว สาเหตุที่ธุรกิจบ่อน้ำร้อนส่วนใหญ่ต้องทำเช่นนี้ก็เพื่อความสบายใจของลูกค้าขาประจำซึ่งส่วนมากก็มักจะเป็นผู้สูงอายุนั่นเอง

นอกจากบ่อน้ำร้อนแล้ว สวนสนุกบางแห่งก็อาจไม่ให้คุณเข้าด้วย หากคุณมีรอยสักที่ถูกพิจารณาว่า "ไม่เหมาะสม" อยู่บนร่างกาย ชายหาดและสระว่ายน้ำบางที่ก็เช่นกัน แต่โดยทั่วไปแล้วชายหาดมักจะเข้มงวดน้อยกว่าสระว่ายน้ำ กฎเหล่านี้จะแตกต่างกันไปในแต่ละสถานที่และไม่ได้มีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ แต่เพื่อความแน่ใจ คุณก็ควรหาข้อมูลก่อนไปสักนิดจะดีกว่า

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

คำแนะนำสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีรอยสัก

ทางที่ดีที่สุดก็คือ พยายามหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตเสียก่อน หากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติไปเจอสถานที่ที่ห้ามคนสักเข้าก็มีโอกาสสูงที่พวกเขาจะเขียนรีวิวทิ้งเอาไว้เพื่อเตือนคนอื่นๆ ต่อไป

เว็บไซต์ Tattoo Friendly ก็เป็นอีกหนึ่งแหล่งข้อมูลที่มีประโยชน์มากสำหรับใครที่จะแวะไปบ่อน้ำร้อน และหากเป็นไปได้ก็ควรพกพลาสเตอร์ติดตัวเอาไว้สักหน่อยเผื่อต้องใช้ หรืออีกทางเลือกหนึ่งก็คือ ตามหาบ่อน้ำร้อนที่มีบ่อส่วนตัวไปเลย รับรองว่าไม่โดนบ่นแน่นอน!

นอกจากนี้หากคุณมีแพลนจะเข้าพักที่เรียวกัง (ที่พักแบบญี่ปุ่น) ก็ควรตรวจสอบข้อกำหนดเกี่ยวกับรอยสักไปก่อนเช่นกัน เพราะเรียวกังส่วนมากมักจะมีบ่ออาบน้ำสาธารณะ ดังนั้นจึงอาจมีบางที่ที่ไม่ต้อนรับแขกที่มีรอยสัก

อย่างไรก็ตาม เราขอแนะนำว่าให้พยายามปกปิดรอยสักไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ (ในระดับที่ตัวคุณเองก็ไม่รู้สึกลำบากใจ) ก็พอแล้ว แน่นอนว่าคุณไม่ใช่อันธพาลที่ไหน และสังคมญี่ปุ่นก็เปิดรับการสักมากขึ้นเรื่อยๆ ขอแค่คุณปฏิบัติตัวอย่างสุภาพและเป็นมิตรก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ไม่แน่ว่าคุณอาจจะเป็นคนหนึ่งที่ช่วยเปลี่ยนมุมมองแย่ๆ ที่คนท้องถิ่นหัวเก่าทั้งหลายมีต่อรอยสักก็ได้!

 

สรุปแล้วคนญี่ปุ่นคิดยังไงกับการสักกันแน่ ?

นี่เป็นหนึ่งในประเด็นที่ถูกถามอยู่บ่อยๆ ทว่าไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ผู้สูงอายุและคนในรุ่น Baby Boomer อาจจะมองรอยสักในแง่ลบอยู่สักหน่อยเพราะเป็นกลุ่มที่ต้องเผชิญกับยุคของภาพยนตร์ยากูซ่ามาก่อน และเป็นกลุ่มที่มักจะมีแนวคิดไปทางอนุรักษนิยมกันเสียมาก แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากระแสต่อต้านรอยสักจะยังคงมีอยู่ แต่แนวคิดเกี่ยวกับการสักในประเทศญี่ปุ่นในช่วงปีหลังๆ มานี้ก็นับว่ากำลังพัฒนาไปในทางที่ดีทีเดียว

 

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !

 

แหล่งอ้างอิงรูปภาพ: Eyesonmilan / Shutterstock.com

 

มนต์เสน่ห์คันโต

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

รับส่วนลดมากมายในญี่ปุ่น ที่นี่!

เกี่ยวกับนักเขียน

Lucy
Lucy Dayman
Lucy เป็นนักเขียนอิสระอยู่ในโตเกียว เป็นคนออสเตรเลีย ชอบเรื่องเพลง เคยเป็นบรรณาธิการของนิตยสารเพลงในเมลเบิร์น แต่ชอบงานใหม่ของเธอที่แบ่งปันมุมที่ไม่ค่อยถูกมองข้าม และมีคนชื่นชมน้อยกว่า ของญี่ปุ่นกับส่วนอื่นๆ ของโลก ปัจจุบันเธอเขียนให้กับสิ่งพิมพ์ต่างๆ มากมาย ทั้งในญี่ปุ่นและทั่วโลก เว็บไซต์: https://www.lucydayman.com/ อินสตาแกรม: https://www.instagram.com/lucy.dayman/
  • แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

ความสนใจที่เกี่ยวข้อง

ค้นหาร้านอาหาร