รู้ไว้ก่อนไปญี่ปุ่น! 12 ประโยคประจำร้านสะดวกซื้อที่ควรจำให้ขึ้นใจ

คุณเคยเข้าร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่นแล้วงงกับสิ่งที่พนักงานพูดไหม? ตอนเข้าร้านเขาพูดอะไรกันนะ? แล้วหลังจากคิดเงินล่ะเขาถามอะไร? เชื่อว่าคงมีคนไม่น้อยที่กังวลใจและไม่รู้จะตอบอะไรกลับไปดี วันนี้เราจึงจะมาแนะนำประโยคพื้นฐาน 12 ประโยคที่พบบ่อยในร้านสะดวกซื้อญี่ปุ่นพร้อมกับวิธีการตอบรับ แล้วคุณจะสามารถใช้บริการได้สบายใจยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน!

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

บทความนี้อาจมีลิงก์พาร์ทเนอร์ หากคุณทำการซื้อผ่านลิงก์พาร์ทเนอร์ เราอาจได้รับค่าคอมมิชชั่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับคุณ

คูปอง ดองกี้

บทบาทของร้านสะดวกซื้อต่อคนญี่ปุ่น

ร้านสะดวกซื้อ หรือที่ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า "คอมบินิ (コンビニ)" เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญในการใช้ชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่น ข้อมูลเมื่อต้นปี 2019 เผยว่า ปัจจุบันมีร้านสะดวกซื้อกว่า 57,000 ร้านที่เปิดให้บริการอยู่ทั่วประเทศ และยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย

จุดเด่นของร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่นอยู่ที่ความหลากหลาย โดยไม่ได้หมายถึงเพียงประเภทของสินค้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบริการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการขายตั๋วงานดนตรี นิทรรศการ สวนสนุก ฯลฯ การถ่ายเอกสาร พิมพ์รูป ส่งแฟกซ์ ชำระค่าสาธารณูปโภค รับส่งพัสดุ จำหน่ายสุรา บุหรี่ ไปจนถึงของจำเป็นในชีวิตประจำวันอย่างอาหารและเครื่องดื่มที่มีคุณภาพ เรียกได้ว่าบริการครบวงจรสุดๆ การมีอยู่ของร้านสะดวกซื้อจึงไม่เพียงช่วยอำนวยความสะดวกในการซื้อหาสิ่งของเท่านั้น แต่ยังผลักดันให้บริการพื้นฐานเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนอีกด้วย

ร้านสะดวกซื้อเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงตลอด 365 วันโดยไม่มีวันหยุด และมีสาขาอยู่จำนวนมากขนาดที่ว่าตามเมืองใหญ่ๆ อย่างโตเกียวหรือโอซาก้าแทบจะมีร้านสะดวกซื้ออยู่ในทุกบล็อคถนนเลยก็ว่าได้ แม้กระทั่งเมื่อญี่ปุ่นเริ่มก้าวสู่สังคมไร้เงินสด กลุ่มที่ปรับตัวรับมือได้อย่างฉับไวก็คือวงการธุรกิจร้านสะดวกซื้อนี่เอง ร้านสะดวกซื้อจึงสามารถต้อนรับลูกค้าชาวต่างชาติที่นิยมชำระเงินด้วยบัตรเครดิตได้เป็นอย่างดี

ก้าวแรกสู่คอมบินิ - มารู้จักประโยคภาษาญี่ปุ่นที่มักได้ยินในร้านสะดวกซื้อกันดีกว่า!

ร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่นมีสินค้าหลากหลายชนิดวางเรียงรายอย่างเป็นระเบียบและสะอาดสะอ้าน แถมเพียงคุณก้าวเข้าไปในร้านก็จะได้ยินเสียงพนักงานต้อนรับอย่างสดใส กระตุ้นให้คันไม้คันมืออยากซื้อของขึ้นมาทันที

ทีนี้ เรามาลองซื้อของกันจริงๆ กันเถอะ จะลองหยิบขนมที่หน้าตาญี่ปุ๊นญี่ปุ่นดูก็ได้ จะซื้อโอนิกิริมารองท้องเบาๆ ก็ดี จะเป็นข้าวกล่อง สลัด ขนม หรือเครื่องดื่มก็มีมากมายให้คุณเลือกสรร เมื่อตัดสินใจได้แล้วว่าจะซื้ออะไร ก็มุ่งหน้าไปที่แคชเชียร์กันเลย

เอาล่ะ เรามาดูคำพูดและท่าทางของพนักงานตั้งแต่เราหยิบสินค้าไปที่แคชเชียร์จนถึงตอนคิดเงินจริงกันเลยดีกว่า

1. Otsugi de omachi no kata (dozo) | お次でお待ちの方 (どうぞ)

ร้านสะดวกซื้อเป็นเสาค้ำจุนในการใช้ชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่นจึงมักมีลูกค้ายืนต่อแถวรอคิดเงินเป็นปกติ เราจะได้ยินคำว่า "โอะสึงิ เดะ โนะ โอะมาจิ โนะ คาตะ (โดโซะ)" หมายถึง (เชิญ) ลูกค้าท่านถัดไปครับ/ค่ะ ซึ่งพนักงานจะใช้เรียกลูกค้าที่ยืนอยู่หัวแถว โดยอาจยกมือขึ้นประกอบด้วยให้เราสังเกตได้ง่าย ระหว่างที่ต่อคิวรอจ่ายเงินก็คอยมองแคชเชียร์เอาไว้ พอได้ยินเสียงเรียกก็เดินไปหาได้เลย

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

2. Pointo caado wa omochi desu ka? ❘ ポイントカードはお持ちですか?

โดยทั่วไป พนักงานร้านสะดวกซื้อเจ้าหลักๆ อย่างแฟมิลี่มาร์ท ลอว์สัน หรือเซเว่นอีเลฟเว่นมักจะถามหา "บัตรสะสมแต้ม" กับคุณก่อนจะแสกนสินค้าที่แคชเชียร์ เรียกว่าเป็นคำถามแรกที่คุณจะได้ยินเมื่อไปถึงแคชเชียร์เลยก็ว่าได้ 

กรณีร้านลอว์สัน : Ponta caado wa omochi desu ka? / ポンタカードはお持ちですか? แปลว่า คุณมีบัตร Ponta หรือเปล่า? (Ponta Card คือ บัตรสะสมแต้มที่สามารถใช้กับร้านลอว์สันได้)
กรณีร้านแฟมิลี่มาร์ท : T pointo caado wa omochi desu ka? / Tポイントカードはお持ちですか? แปลว่า คุณมีบัตร T-Point หรือเปล่า? (บัตร T-Point คือ บัตรสะสมแต้มที่สามารถใช้กับร้านแฟมิลี่มาร์ทได้)
ตัวอย่างคำตอบ : "อะริมาเซ็น / ありません" หรือ "(มตเตะ)ไน่ เดส / (持って)ないです" แปลว่า ไม่มีครับ/ค่ะ

บัตรสะสมแต้มส่วนมากมักจะเป็นบัตรแบบที่ได้รับ 1 แต้ม เมื่อซื้อสินค้าทุกๆ 100 เยน และสามารถนำแต้มไปใช้เป็นส่วนลดในร้านสะดวกซื้อเชนเดียวกันรวมถึงร้านค้าพันธมิตรได้ ถ้าใครวางแผนจะมาอยู่ในประเทศญี่ปุ่นสักพักหนึ่ง การทำบัตรพวกนี้ไว้สักใบก็นับเป็นไอเดียที่ดีทีเดียว

อย่างไรก็ตาม หากคุณไม่เข้าใจภาษาญี่ปุ่น การสื่อสารกับพนักงานเพื่อทำบัตรสะสมแต้มก็อาจจะยากอยู่สักหน่อย ดังนั้นเลือกตอบง่ายๆ ไปว่า "Nai (ไม่มี)" ไปก็อาจจะสบายใจกว่า

Klook.com

3. (Nenreikakunin) Botan o oshite kudasai - Gamen no tacchi onegai shimasu | (年齢確認)ボタンを押してください - 画面のタッチお願いします

ร้านสะดวกซื้อของญี่ปุ่นมีทั้งบุหรี่และสุราจำหน่ายตลอด 24 ชั่วโมงแบบไม่มีวันหยุด จึงเป็นเหมือนสรวงสวรรค์ของผู้ที่ชอบสูบบุหรี่และดื่มสุรา โดยประเทศญี่ปุ่นมีกฎหมายกำกับไว้ว่าผู้ที่สามารถซื้อบุหรี่หรือสุราได้ต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไปเท่านั้น ที่แคชเชียร์จึงมึปุ่มกดยืนยันอายุไว้รองรับด้วย ในกรณีนี้ พนักงานจะบอกคุณว่า "เนนเรคาคุนิน โบตัน โอ๊ะ โอชิเตะ คุดาไซ" ซึ่งแปลว่า กรุณากดปุ่ม (ยืนยันอายุ) ด้วยครับ/ค่ะ

พนักงานมักจะประเมินอายุของลูกค้าจากรูปลักษณ์ภายนอกก่อน หากคุณไม่ได้ดูหน้าเด็กจนเกินไปก็แทบจะไม่มีใครขอให้คุณแสดงบัตรประจำตัวประชาชนเลย และให้คุณเป็นกดปุ่มบนหน้าจอเพื่อยืนยันด้วยตัวเอง เป็นกระบวนการที่ทำให้ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าที่ควบคุมอายุได้โดยผ่านการตัดสินใจของทางร้านและความตั้งใจของตัวลูกค้า หากคุณมีอายุเกิน 20 ปีแล้วก็สามารถกดปุ่มและคิดเงินต่อได้เลย แต่ถ้าหากไม่ ก็ขอให้รู้ว่าคุณจะไม่สามารถซื้อบุหรี่หรือสุราในญี่ปุ่นได้ 

 แม้ว่าจะมีหลายประเทศที่อนุญาตให้ผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปีดื่มสุราและสูบบุหรี่ได้ เช่นในประเทศตะวันตกหรือประเทศอื่นๆ ในทวีปเอเชีย แต่ในประเทศญี่ปุ่น การดื่มสุราหรือสูบบุหรี่ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายจนกว่าจะอายุครบ 20 ปี ดังนั้น ขอให้ตระหนักในกฎหมายนี้ไว้ก่อนตัดสินใจซื้อ และกดปุ่มให้ถูกต้องด้วย

4. Obento (Kochira) atatame masuka? | お弁当 (こちら) 温めますか?

ตัวอย่างคำตอบ :

กรณีที่ต้องการ - "ไฮ่ (はい)" แปลว่า ครับ/ค่ะ หรือ "โอเนไกชิมัส (お願いします)" แปลว่า รบกวนด้วยครับ/ค่ะ

กรณีที่ไม่ต้องการ - " ไดโจบุเดส (大丈夫です)" แปลว่า ไม่เป็นไรครับ/ค่ะ

เมื่อซื้อสินค้าพวกข้าวกล่อง ข้าวปั้น หรือซุปอย่างซุปมิโซะ พนักงานมักจะถือสินค้าเหล่านี้ไว้แล้วถามคุณว่า "โอเบนโตะ อะตาตาเมมัสก๊ะ? (お弁当温めますか)" แปลว่า ต้องการอุ่นข้าวกล่องไหมครับ/คะ? หากคุณต้องการให้อุ่นก็สามารถตอบว่า "ไฮ่" หรือ "โอเนไกชิมัส" ได้เลย

อาจมีหลายคนที่สงสัยว่าต้องใช้เวลานานไหมในการอุ่น แม้ว่าร้านสะดวกซื้อจะใช้ไมโครเวฟในการอุ่นอาหารเหมือนกัน แต่ไมโครเวฟเหล่านี้จะมีค่าวัตต์ที่สูงกว่าเครื่องที่ใช้ตามบ้านเรือน ทำให้เวลาที่ใช้อุ่นอาหารลดลงเหลือเพียงประมาณ 1 ใน 3 เท่านั้น กล่าวคือถ้าปกติเราต้องอุ่น 3 นาที ก็จะเหลือเพียงแค่ 1 นาทีเท่านั้นเอง อาหารบางชนิดอาจใช้เวลาเพียงไม่ถึง 20 - 30 วินาทีในการอุ่น หากใครชอบทานอาหารอุ่นๆ เราก็ขอแนะนำให้ตอบตกลงไป ระหว่างรอก็อย่าลืมหลบมาข้างๆ แคชเชียร์เพื่อเปิดทางให้ลูกค้าท่านอื่นสามารถจ่ายเงินซื้อของได้ด้วยล่ะ

5. Shosho omachi kudasai | 少々お待ちください

คุณมักจะได้ยินประโยคนี้เมื่อต้องรออุ่นข้าวกล่อง ซื้อบุหรี่ หรือสั่งอาหารว่างร้อนๆ "โชโช โอมะจิ คุดาไซ" แปลว่า กรุณารอสักค ซึ่งพนักงานมักพูดก่อนจะเดินออกไปจากแคชเชียร์ครู่หนึ่ง หากพนักงานพูดประโยคนี้แล้วเดินออกไป ก็สามารถยืนรออยู่ตรงนั้นได้เลยไม่ต้องกังวล

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

6. Omatase itashimashita | お待たせいたしました

หลังจาก "โชโช โอมะจิ คุดาไซ" เมื่อพนักงานเดินกลับมาแล้ว เขาก็จะพูดว่า "โอมาตาเสะ อิตาชิมะชิตะ" ซึ่งมีความหมายว่า "ขออภัยที่ให้คุณต้องรอ" หรือ "ขอบคุณที่อุตส่าห์รอ" นั่นเอง

7. Ohashi (Spoon/Fork/Straw) wa otsukai ni narimasuka? / Otsuke shimasuka? |お箸 (スプーン/フォーク/ストロー) はお使いになりますか / お付けしますか

ตัวอย่างคำตอบ :

กรณีที่ต้องการ - "ไฮ่", "โอเนไกชิมัส"

กรณีที่ไม่ต้องการ - "อิราไน่เดส (いらないです)" แปลว่าไม่ต้องการครับ/ค่ะ, "ไดโจบุเดส"

 

กรณีที่ซื้อสินค้าหลายชิ้น : นันเซ็น โอะสึเกะชิมัสก๊ะ(何膳お付けしますか) แปลว่ารับ (ตะเกียบ) กี่คู่ดีครับ/คะ?
ตัวอย่างคำตอบ:"◯-เซ็น (หรือ ◯-ปง/ฮน/บง, ◯-โกะ) โอเนไกชิมัส (◯膳(または◯本、◯個)お願いします)" แปลว่า รับ◯คู่ (หรือ ◯อัน, ◯ ชิ้น) ครับ/ค่ะ

เมื่อคุณซื้อข้าวกล่อง เมนูเส้น สลัด หรือซุป ก็จะถูกถามตอนที่ซื้อว่าจะรับตะเกียบ ช้อน หรือส้อมไปด้วยไหม แตกต่างกันไปตามแต่ละร้านหรือพนักงานที่รับรอง บ่อยครั้งพนักงานอาจหยิบตะเกียบสำหรับข้าวกล่อง ส้อมสำหรับพาสต้า หรือช้อนสำหรับซุปให้เลยโดยไม่ถามอะไร ตอนซื้อเครื่องดื่มก็อาจมีถามว่าจะรับหลอดไหม แต่ส่วนมากพนักงานก็จะหยิบใส่ให้โดยไม่ถามเช่นกัน

สำหรับคนที่ไม่ชินกับการใช้ตะเกียบ แล้วต้องการช้อนหรือส้อมแทนก็ให้บอกว่า "Fork/Spoon โอ๊ะ โอเนไกชิมัส (フォーク/スプーンをお願いします)" แปลว่า ขอส้อม/ช้อนครับ(ค่ะ) 

8. Oshibori goriyoni narimasuka? | おしぼりご利用になりますか

ตัวอย่างคำตอบ :

กรณีที่ต้องการ - "ไฮ่", "โอเนไกชิมัส"

กรณีที่ไม่ต้องการ - "อิราไน่เดส", "ไดโจบุเดส"

ในร้านสะดวกซื้อบางแห่ง เมื่อเราซื้อข้าวกล่องจะได้ยินพนักงานถามว่า "โอะชิโบริ โกะริโยนิ นาริมัสก๊ะ? (ต้องการใช้ผ้าเช็ดมือไหมครับ/คะ?)" ก็สามารถเลือกตอบได้ตามสะดวกเลย หากเราตอบว่า "ไฮ่" จะก็ได้เป็นผ้าเช็ดมือแบบใช้แล้วทิ้งมา

9. Fukuro wa owake shimasu ka? | 袋はお分けしますか?

ตัวอย่างคำตอบ:

กรณีที่ต้องการแยกถุง - "ไฮ่", "โอเนไกชิมัส"

กรณีที่ไม่ต้องการแยกถุง - "อิชโช เดะ ไดโจบุเดส(一緒で大丈夫です)" แปลว่า ใส่รวมกันได้เลยครับ/ค่ะ

เมื่อจัดการกับสินค้าและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว บทสนทนาก็จะต่อไปยังเรื่องถุงพลาสติก หรือที่ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า "ฟุคุโระ (袋)"

นอกจากจะมีอาหารร้อนๆ ขายแล้ว ร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่นยังมีเครื่องดื่มอุ่นๆ ใส่กระป๋องหรือขวดพลาสติกขายเป็นปกติด้วย หากเรานำของร้อนเหล่านี้ไปจ่ายเงินพร้อมกับของที่ต้องเก็บในอุณหภูมิปกติอย่างพวกขนมขบเคี้ยว ขนมปัง ช็อกโกแลต นิตยสาร รวมถึงของกินหรือเครื่องดื่มเย็น คุณก็จะได้ยินคำถาม​ "ฟุคุโระ วะ โอวาเคชิมัสก๊ะ? (袋はお分けしますか?) แปลว่า แยกถุงไหมครับ/คะ? นั่นเอง

ถ้าจำเป็นต้องแยกถุงก็ให้ตอบว่า "ไฮ่" ไปตามสมควร แต่ในทางกลับกัน ถ้าจะนำออกมากินหรือใช้เลย ก็สามารถตอบไปว่า "อิชโช เดะ ไดโจบุเดส" เพื่อใส่รวมกันในถุงเดียวได้

Klook.com

10. Fukuro ni oire shimasu ka? ❘ 袋にお入れしますか?

ตัวอย่างคำตอบ :

กรณีที่ต้องการ - "ไฮ่", "โอเนไกชิมัส"

กรณีที่ไม่ต้องการ - "อิราไน่เดส", "ไดโจบุเดส"

หากคุณซื้อของเล็กๆ น้อยๆ อย่างข้าวปั้นสักก้อน เครื่อมดื่มสักกระป๋อง หมากฝรั่ง หรือเครื่องเขียน คุณอาจจะได้ยินพนักงานถามว่า "ฟุคุโระ นิ โอะอิเรชิมัสก๊ะ? (ต้องการรับถุงไหมครับ/คะ?)" ถ้าไม่จำเป็นต้องใส่ถุงก็สามารถปฏิเสธได้เลยเพื่อเป็นการลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกที่ไม่จำเป็น แล้วทางร้านจะติดสติ๊กเกอร์ให้แทนเพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงว่าเป็นสินค้าที่ผ่านการจ่ายเงินแล้ว

หรือถ้าคุณมีกระเป๋าถือหรือกระเป๋าสะพายที่ใส่ของได้อยู่แล้ว ก็สามารถบอกว่า "ฟุคุโระ อิราไน่เดส (袋いらないです)" แปลว่า ไม่รับถุงครับ/ค่ะ ได้เลย เป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมไปด้วยในตัว

11. Shi-ru de yoroshii desu ka? / Kono mama de yoroshii desu ka? |(シールでよろしいですか? / このままでよろしいですか)

หลายครั้งเวลาที่เราซื้อของน้อยๆ อย่างในตัวอย่างก่อนหน้า ทางร้านก็จะใช้สติ๊กเกอร์ที่มีโลโก้ของร้านแปะให้เพื่อแสดงว่าเป็นของที่จ่ายเงินเรียบร้อยแล้ว จะได้ไม่มีใครเข้าใจผิดว่าเราไปแอบขโมยของจากในร้านมานั่นเอง ในสถานการณ์แบบนี้เรามักจะได้ยินคำถาม "ชีรุ เดะ โยโรชี่ เดสก๊ะ?" ที่แปลว่า ติดสติ๊กเกอร์ไหมครับ/คะ? หรือไม่ก็ "โคโนะมามา เดะ โยโรชี่ เดสก๊ะ?" ที่แปลว่า รับไปทั้งอย่างนี้ได้เลยไหมครับ/คะ?  แทน

12. Reshi-to goriyo desu ka? | レシートご利用ですか

ตัวอย่างคำตอบ :

กรณีที่ต้องการ - "ไฮ่", "โอเนไกชิมัส"

กรณีที่ไม่ต้องการ - "อิราไน่เดส", "ไดโจบุเดส"

ลูกค้าชาวญี่ปุ่นที่รับและไม่รับใบเสร็จนั้นมีอยู่ครึ่งต่อครึ่งเลยทีเดียว เราจึงมักจะได้ยินคำถามว่า "เรชีโตะ โกะริโยเดสก๊ะ? (รับใบเสร็จไหมครับ/คะ?)" หลังจากซื้อของเสร็จเรียบร้อย แต่ก็มีบางคนหรือบางร้านที่ไม่ถามแล้วตัดสินใจจากท่าทางของเราเองว่าไม่ต้องการเช่นกัน

ขอเพียงเรียนรู้ประโยคเหล่านี้เอาไว้ รับรองว่าคุณจะสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ในร้านสะดวกซื้อได้อย่างเหมาะสมแน่นอน!


คำตอบในกรณีที่ต้องการ :
・ไฮ่ (Hai)
・โอเนไกชิมัส (Onegai shimasu)

คำตอบในกรณีที่ไม่ต้องการ :
・อิราไน่เดส (Iranai desu)
・เค็กโคเดส (Kekko desu)
・ไดโจบุเดส (Daijobu desu)

นอกจากนี้ เวลาซื้อของเรียบร้อยก็ไม่จำเป็นต้องบอกพนักงานว่า "อาริงาโตะ โกไซมัส (ขอบคุณครับ/ค่ะ)" หรือ "อาริงาโตะ Arigato (ขอบคุณ)" แต่อย่างใด แม้ว่าพนักงานจะต้องกล่าวขอบคุณกับลูกค้าเสมอ แต่โดยทั่วไปคนญี่ปุ่นจะไม่สื่อสารอะไรกันอีกหลังเสร็จธุระแล้วโดยเฉพาะที่แคชเชียร์ อย่างมากก็เพียงโค้งคำนับเบาๆ เท่านั้น

แม้จะเป็นเพียงแค่การซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อ แต่การถูกถามอะไรมากมายในเวลาสั้นๆ ก็อาจสร้างความกังวลใจได้ไม่น้อย เพื่อให้การจับจ่ายใช้สอยเป็นไปอย่างราบรื่นทั้งสำหรับคุณและสำหรับร้าน ก็ลองจำประโยคเหล่านี้ไปใช้กันสิ!

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

รับส่วนลดมากมายในญี่ปุ่น ที่นี่!

เกี่ยวกับนักเขียน

Keisuke
Keisuke Tsunekawa
เป็นคนญี่ปุ่นที่ชอบหลีกหนีจากชีวิตในเมืองโตเกียวเป็นครั้งคราว เพื่อค้นพบเส้นทางใหม่ๆ รวมถึงท่องเที่ยวในประเทศอื่นๆ ซึ่งทำให้รู้สึกว่าได้สนุกกับการเชื่อมโยงกับสิ่งที่แตกต่างไปจากที่เคยทำเคยเห็นในชีวิตประจำวัน
  • แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

ค้นหาร้านอาหาร