พาเที่ยวเขตยามาชินะ ขุมทรัพย์ทางวัฒนธรรมแห่งเกียวโต!

เขตยามาชินะ (Yamashina) อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกียวโต เป็นแหล่งสมบัติทางประวัติศาสตร์มากมายทั้งวัดไดโกจิ มรดกโลก UNESCO ที่มีอนุสรณ์สถานอายุกว่า 1,000 ปี หรือใกล้ๆ ก็มีเตาเผาและแกลลอรี่ Kiyomizu-yaki Danchi อันเป็นแหล่งเครื่องปั้นดินเผาสไตล์คิโยมิสึที่สืบต่อกันมานานหลายช่วงอายุคน ใครสนใจกลิ่นอายวัฒนธรรมเก่าแก่นี้ก็ลองอ่านต่อกันได้เลย!

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

บทความนี้อาจมีลิงก์พาร์ทเนอร์ หากคุณทำการซื้อผ่านลิงก์พาร์ทเนอร์ เราอาจได้รับค่าคอมมิชชั่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับคุณ

วัดไดโกจิ ความยิ่งใหญ่แห่งยุคสมัยที่แตกต่าง

ที่แรกที่เราขอแนะนำคือ วัดไดโกจิ (Daigoji) ซึ่งมีอาณาเขตสามด้านที่แผ่ขยายกว้างไปจนถึงพื้นที่เขาไดโกะ ตัววัดถูกสร้างขึ้นในปีค.ศ. 874 และเจดีย์ห้าชั้นของที่นี่ก็เป็นอาคารไม้ที่โบราณที่สุดของโตเกียวเลยทีเดียว แม้ว่าจะเป็นวัดที่อลังการและเก่าแก่ แต่ก็มีผู้คนไม่คับคั่งนัก เหมาะกับการไปเดินเล่นเป็นที่สุด

เส้นทางชั้นล่างของวัดไดโกจิจะพาเราขึ้นเนินเขาไปเจอกับประตูอันโอ่อ่าและแสงแดดที่ส่องผ่านแมกไม้ ตามทางที่ทอดลึกเข้าไปในเขาก็มีสิ่งก่อสร้างอายุเก่าแก่ที่สุดถึงศตวรรษที่ 10 ขนาบทั้งสองข้างให้เห็นเป็นระยะอีกด้วย

ทางวัดจะครึกครื้นเป็นพิเศษในช่วงงานประจำปี เทศกาลที่ใหญ่ที่สุดจะเป็นเทศกาลโกไดริคิซัง (Godairiki-san) ที่จัดขึ้นในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ของทุกปี โดยช่วงนี้จะมีการแจกเครื่องรางกระดาษให้กับผู้เข้าชม และมีการแข่งขันเล็กๆ ตามหาผู้ที่สามารถยกโมจิขนาดยักษ์ได้นานที่สุดให้เหล่าผู้กล้าได้มาร่วมสนุกกัน

นอกจากนี้วัดไดโกจิยังเป็นสถานที่จัดงานชมซากุระสุดหรูหราของแม่ทัพในศตวรรษที่ 16 อย่างโทโยโทมิ ฮิเดโยชิอีกด้วย และทางวัดก็มีการจัดงานเลียนแบบงานเลี้ยงนี้ขึ้นในฤดูใบไม้ผลิของทุกปี พร้อมมีนักแสดงรับเชิญมาสวมบทบาทเป็นผู้เข้าร่วม

ในฤดูใบไม้ร่วง สีแดงอมส้มของอาคารเบนเทนโดะ (Benten-do) ในวัดก็เข้ากับใบเมเปิ้ลสีแดงสดได้เป็นอย่างดี

คุณนากาดะผู้ทำงานอยู่ในวัดได้บอกเราว่าวิวที่นี่จะสวยงามเหมาะแก่การถ่ายรูปที่สุดในช่วงฤดูใบไม้ผลิและต้นฤดูร้อน โดยเขาได้กล่าวว่า "ส่วนตัวชื่นชอบสีเขียวสดของใบไม้ที่ผลัดใหม่มาก และคิดว่าที่นี่ก็สวยที่สุดแล้วในเกียวโต คุณสามารถสัมผัสกับบรรยากาศวัดได้อย่างแท้จริงในช่วงฤดูใบไม้ผลิ" นั่นเอง

ข้อมูลจากคนพื้นที่ขนาดนี้ ก็อยากให้ได้มาชมด้วยตาคุณเอง

"ซากุระและใบไม้เปลี่ยนสีก็สวยมากนะ อันที่จริงเราเรียกมันว่าสมบัติเลยด้วยซ้ำ แต่ที่สำคัญคือเราควรคิดว่าทำไมมันถึงสวย" คุณนากาดะกล่าวขณะชี้ให้พวกเราดูสวนซันโบอิน (Sanboin) เก่าแก่เบื้องหน้าที่ออกแบบโดยตัวโทโยโทมิ ฮิเดโยชิเอง

"สวนนี้หน้าตาเหมือนเดิมมา 400 ปีแล้ว เป็นประวัติศาสตร์ที่ยังมีอยู่จริงเลยล่ะ" เขากล่าว 

"เราติดตั้งแสงไฟและกล้องวงจรปิดไว้แล้ว แต่เวลาคุณสูดอากาศเข้าไป มันก็คืออากาศเดียวกันกับที่คนเมื่อ 1,000 ปีก่อนใช้หายใจนั่นแหละ"

วัดไดโกจิเต็มไปด้วยวัตถุที่ขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติชาติ สมบัติทางวัฒนธรรม และตัววัดเองก็เป็นมรดกโลก มีของดีขนาดนี้อยู่ คุณนากาดะก็บอกว่าจะเก็บล็อกไว้ในกล่องก็น่าเสียดาย

"สิ่งหนึ่งที่ทำให้วัดนี้ไม่เหมือนใครคือวัตถุโบราณทุกอย่างยังถูกนำมาใช้งานอยู่ แม้ว่าจะมีประวัติยาวนานแค่ไหนก็ตาม"

ในฤดูใบไม้ผลิปี 2018 วัดไดโกจิก็ได้เปิดตัวแอปพลิเคชั่นฟรีให้ผู้เข้าชมได้สำรวจสมบัติของวัดกันอย่างเต็มที่มากขึ้น

เสริมข้อมูลอีกเล็กน้อยว่าเกือบ 400 ปีที่แล้ว งานเลี้ยงน้ำชาได้รับความนิยมมากในกลุ่มผู้ปกครองด้วยโทโยโทมิ ฮิเดโยชิได้เผยแพร่วัฒนธรรมนี้ในกลุ่มผู้สูงศักดิ์ และทำให้เกิดความต้องการภาชนะเคลือบดินเผามากขึ้น เทคนิคการปั้นใหม่ๆ ก็ถูกนำเข้ามาจากประเทศข้างเคียงอย่างประเทศจีนและประเทศเกาหลี สุดท้ายก็ปรับเปลี่ยนพัฒนาจนกลายเป็นเครื่องปั้นดินเผาคิโยมิสึหรือเครื่องปั้นดินเผาเกียวโตในที่สุด

แกลลอรี่ศูนย์รวมฝีมือแห่งช่างเกียวโต

ที่เขตยามาชินะมีแกลลอรี่ Rakuchu-Rakugai ซึ่งมีเครื่องปั้นดินเผาคิโยมิสึจำนวนมากให้เราได้ชม มีตั้งแต่งานศิลปะเซรามิกไปจนถึงเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารสุดประณีตต่างๆ จัดแสดงไว้

คุณคุมางาอิเป็นผู้ขายส่งเครื่องปั้นดินเผาคิโยมิสึและเป็นเจ้าของแกลลอรี่แห่งนี้ อีกทั้งยังใจดีพาเราทัวร์และเล่าประวัติความเป็นมารวมถึงเทคนิคต่างๆ ของงานศิลปะเหล่านี้ให้เราได้ฟังอีกด้วย

การที่เครื่องปั้นเกียวโตเหล่านี้มีชื่อเหมือนกับวัดคิโยมิสึนั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่อย่างใด โดยเล่าว่าแม้ทุกวันนี้ถนนโกโจซากะ (Gojo-zaka) ซึ่งทอดตัวไปยังวัดคิโยมิสึนั้นจะกลายเป็นแหล่งรวมคาเฟ่และร้านขายของฝากไปแล้ว แต่เดิมทีในศตวรรษที่ 16 ที่นั่นเคยเป็นสถานที่ที่ใช้สร้างเตาเผามาก่อน บริเวณนั้นจึงเป็นจุดที่หัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาเจริญงอกงาม และมีผลงานออกมาหลากสีหลายรูปแบบนั่นเอง

แต่เมื่อจำนวนผู้อาศัยเริ่มมากขึ้น กลุ่มช่างปั้นก็จำต้องย้ายไปยังเนินเขาทางใต้ด้านหลังวัด หรือก็คือยามาชินะ บริเวณนั้นจึงกลายเป็นแหล่งสมบัติใกล้ใจกลางเกียวโตไปแทน

คุณคุมางาอิบอกเราอีกว่าชิ้นงานที่จัดแสดงในแกลลอรี่ Rakuchu-Rakugai มีตั้งแต่ถ้วยชามต่างๆ ที่ออกแบบตามฤดูกาล แท่นวางตะเกียบรูปนกกระเรียนสุดประณีต ไปจนถึงจานขนาดใหญ่ที่มีลวดลายของสีเคลือบกระจายอยู่จากปฏิกิริยาของเหล็กที่ใช้เป็นส่วนผสม

ที่ชั้นสองจะมีเครื่องใช้เซรามิกต่างๆ ที่ทำตามแบบของฉากพับอันเป็นสมบัติชาติที่เรียกว่า rakuchu-rakugai ซึ่งเป็นรูปวาดจากมุมสูงของเมืองหลวงเก่าอย่างเกียวโตท่ามกลางมวลเมฆสีทอง เวอร์ชั่นเซรามิกของรูปนี้ใช้เวลาสรรค์สร้างถึง 7 ปี มีศิลปินหญิงเพียงคนเดียวเป็นผู้วาดด้วยต้องการให้สไตล์ของงานเหมือนเดิมมากที่สุด โดยได้รับการสนับสนุนจากช่างฝีมือท่านอื่นๆ อยู่บ้าง

กว่า 400 ปีที่เครื่องปั้นดินเผาคิโยมิสึได้มีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนเทคนิคในการปั้นมากมายจนนับไม่ถ้วน แต่ละเตาเผาและแน่นอนว่าช่างฝีมือแต่ละท่านที่ทำงานอยู่ต่างก็ล้วนมีความถนัดเฉพาะของตัวเอง

งานฝีมือเครื่องปั้นดินเผาจากรุ่นสู่รุ่น

เราสามารถไปเข้าชมกระบวนการผลิตที่สืบทอดต่อกันมากว่า 130 ปีได้ที่เตาเผาและร้านขายเครื่องปั้นดินเผา Unraku-gama

ตระกูลไซโต้เป็นตระกูลช่างฝีมือที่ทั้งสืบทอดเทคนิคแบบดั้งเดิมและพัฒนาวิธีการใหม่ๆ ขึ้นมาหลายต่อหลายรุ่น ในปี 1963 ตระกูลนี้เป็นผู้ริเริ่มการนำเตาเผาพลังงานไฟฟ้ามาใช้กับการเผาในอุณหภูมิสูง นอกจากนี้แม้ว่าน้ำยาเคลือบที่ใช้จะยังคงเป็นแบบดั้งเดิมตั้งแต่เมื่อ 400 ปีที่แล้ว ทางตระกูลก็ได้มีการคิดค้นน้ำยาเคลือบแมทแบบใหม่ที่เรียกว่าอาโอมัตโตะ (aomatto) ซึ่งช่วยให้ตัวภาชนะมีความทนทานมากกว่าเดิมด้วย แน่นอนว่าสูตรนั้นเป็นความลับที่สืบต่อกันภายในตระกูลเท่านั้น จึงนับเป็นจุดขายและเครื่องหมายการค้าของ Unraku-gama ด้วยเช่นกัน

เพียงโทรศัพท์หรือส่งอีเมลไปจับจองล่วงหน้าก่อนเข้าไปที่ร้าน เราก็สามารถเข้าชมกระบวนการผลิตที่เตาเผาได้แล้ว พอได้มองช่างฝีมือเก่งๆ ทำแล้วก็จะรู้สึกเหมือนว่าง่ายเลยล่ะ 

นั่งชมไม่ทันไรคุณช่างปั้นทาเคอุจิผู้มีประสบการณ์ปั้นมากว่า 30 ปีก็ทำกาน้ำชาออกมาได้สมบูรณ์แบบตัวหนึ่งแล้ว ใช้เพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัสโดยไม่ต้องพึ่งมาตรวัดใดๆ เลยด้วยซ้ำ แม้จะเป็นแค่ชิ้นงานสำหรับสาธิต แต่เมื่อเสร็จสมบูรณ์ก็ไร้ที่ติจนน่าทึ่งเลยทีเดียว

"สิ่งที่อยากให้ทุกคนรู้คือเราไม่ใช่แค่ร้านขายของฝาก" ผู้สืบทอดรุ่นล่าสุดของ Unraku-gama กล่าว

"เวลามีคนมาดูงานของเรา เราไม่อยากให้เขามองแค่ราคา แต่อยากให้มองหน้าคนปั้น มองลงไปในประวัติศาสตร์ แล้วเขาจะเข้าใจคุณค่าของมัน งานชิ้นนี้ไม่ได้เก่าแก่อย่างเดียว แต่มีความหมายทางประวัติศาสตร์ด้วย"

หากใครไปเยี่ยมชมยามาชินะในช่วงตุลาคมก็จะได้สนุกกับเทศกาลเซรามิกที่มีทั้งอาหารและงานฝีมือต่างๆ วางขายเรียงรายกว่า 100 เต็นท์

เมื่อเวลาผ่านไป เมืองเกียวโตก็มีการปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่เขตยามาชินะก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของเมืองที่ยังหลงเหลือกลิ่นอายดั้งเดิมอยู่นั่นเอง

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

ดูรายละเอียดสถานที่ต่างๆ เพิ่มเติม

วัดไดโกจิ (ภาษาอังกฤษ)
แกลลอรี่ Rakuchu-Rakugai (ภาษาอังกฤษ)
ร้าน Unraku-gama (ภาษาอังกฤษ)
ทัวร์ชมร้าน Unraku-gama พร้อมประสบการณ์ทำเครื่องปั้นดินเผา

ภาพประกอบและเนื้อหาในบทความนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของ เกียวโตคู่มือท่องเที่ยว <อย่างเป็นทางการ>

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !

มนต์เสน่ห์คันไซ

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

รับส่วนลดมากมายในญี่ปุ่น ที่นี่!

เกี่ยวกับนักเขียน

tsunagu
tsunagu Japan 編輯部
  • แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

ค้นหาร้านอาหาร