มารู้จัก "ภาษาคันไซ" เพื่อความสนุกในการท่องเที่ยวกันเถอะ!

"ภาษาคันไซ" เป็นภาษาท้องถิ่นที่ใช้กันในจังหวัดยอดฮิตอย่างโอซาก้าและเกียวโต มีความแตกต่างจากภาษากลางของญี่ปุ่นเพราะมีคำศัพท์เป็นของตัวเอง อีกทั้งยังมีการออกเสียงสูงต่ำและการใช้คำลงท้ายที่ไม่เหมือนกันด้วย วันนี้เราจะมาแนะนำตัวอย่างภาษาคันไซง่ายๆ ที่สามารถใช้ได้จริงระหว่างท่องเที่ยว พร้อมบอกเคล็ดลับการผูกมิตรกับชาวคันไซที่จะช่วยให้คุณสื่อสารกันได้ง่ายยิ่งขึ้น!

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

บทความนี้อาจมีลิงก์พาร์ทเนอร์ หากคุณทำการซื้อผ่านลิงก์พาร์ทเนอร์ เราอาจได้รับค่าคอมมิชชั่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับคุณ

"ภาษาคันไซ" เป็นภาษาแบบไหน?

ภาษาคันไซ หรือ "คันไซ-เบ็ง" (関西弁) เป็นภาษาถิ่นที่มีชื่อเสียงที่สุดในญี่ปุ่นซึ่งใช้กันในพื้นที่ 2 จังหวัดของภูมิภาคคันไซ ได้แก่ โอซาก้าและเกียวโต กับพื้นที่ในอีก 4 จังหวัด คือ เฮียวโกะ ชิกะ นารา และวากายาม่า คนที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นมักสับสนระหว่างภาษานี้กับ "ภาษาโอซาก้า" (大阪弁) แต่ในวันนี้ เราจะมาพูดถึง "ภาษาคันไซ" ที่ใช้ทั่วภูมิภาคนี้กันก่อน

คำศัพท์และระดับสูงต่ำในการออกเสียงของภาษาคันไซจะแตกต่างจากภาษากลางของญี่ปุ่นอยู่เล็กน้อย และถึงแม้ว่าคนส่วนใหญ่จะเลือกเรียนรู้คำศัพท์ง่ายๆ ไปทีละนิดระหว่างท่องเที่ยว แต่การเตรียมตัวไปล่วงหน้าก็จะทำให้คุณสนุกกับการเดินทางได้มากขึ้น แถมยังช่วยให้คล่องตัวและเที่ยวสบายขึ้นด้วย

คนจังหวัดอื่นมองภาษาคันไซกันอย่างไร?

・「ฟังดูโกรธๆ ออกจะน่ากลัวอยู่นิดหน่อย…」

"ภาษากลาง" ของญี่ปุ่นจะฟังดูลื่นไหล ไม่เน้นระดับเสียงสูงต่ำ ในขณะที่ภาษาคันไซจะดูมีจังหวะจะโคน เมื่อรวมกับวิธีพูดของพวกเขาที่มักจะพูดเสียงดังในพื้นที่สาธารณะจึงทำให้คนญี่ปุ่นในจังหวัดอื่นๆ (ส่วนใหญ่) คิดว่าชาวคันไซกำลังโกรธอยู่นั่นเอง

 

・ 「ภาษาคันไซ (โดยเฉพาะสำเนียงโอซาก้า) ฟังดูตลกดี เหมือนนักแสดงเลย」

โดยทั่วไป ชาวคันไซมักจะมีลีลาในการพูด พวกเขาจะพูดรัวเร็วและมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับ "เสียงหัวเราะ" หลายๆ คนจึงพูดด้วยความสนุกสนานอยู่เสมอ แม้แต่ในบทสนทนาในชีวิตประจำวัน ว่ากันว่านี่เป็นผลจากการที่โอซาก้าเป็นเมืองแห่งพ่อค้าที่เจริญรุ่งเรืองในอดีต พวกเขาจึงให้ความสำคัญกับ "การสื่อสาร" เป็นอย่างมาก ดังนั้น "ความน่าสนใจ" จึงเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า "ความจริงจัง"  นอกจากนั้น โอซาก้าก็ยังมีบริษัทที่ดูแลนักแสดงเก่งๆ ระดับหาตัวยากอยู่มากมายด้วย ทำให้คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่มองว่าภาษาคันไซ "เหมือนนักแสดง" 

ภาษาคันไซแบบง่ายๆ รู้ไว้ก่อนก็เที่ยวได้สบาย!

ต่อไป เราจะมาแนะนำคำพูดในภาษาคันไซกัน! มีทั้งความหมาย คลิปการออกเสียง และตัวอย่างการใช้งานเพื่อให้คุณได้ฝึกฝนก่อนไปเที่ยวด้วย หากพร้อมแล้วก็ไปดูกันเลย

〜 คำศัพท์พื้นฐานสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน 〜

ภาษาคันไซ เสียงอ่าน ความหมาย  ตัวอย่าง
おおきに โอคินิ・ขอบคุณ  (ใช้ในการขอบคุณ)
さいなら ไซนาระ・ลาก่อน  (ใช้ในการบอกลา)
ほんま ฮนมะ・จริงหรือ?  โซเระ ฮนมะ?! = ที่พูดมานั่นเรื่องจริงเหรอ?!
めっちゃ เม็ทฉะ・มาก (ใช้แสดงความรู้สึก)  เม็ทฉะโออิชิ! = อร่อยมาก
ようけ
ぎょうさん
โยเคะเกียวซัง・มาก (ใช้บอกปริมาณ)  เกียวซัง ทาเบตะวะ = กินไปเยอะเลยอ่ะ
ぼちぼち โบฉิโบฉิ・เฉยๆ / พอสมควร  โบฉิโบฉิเด็นนะ (ใช้ตอบเวลามีคนถามว่า 'สบายดีไหม?')
あかん อะกัง・ไม่ดี / ใช้ไม่ได้  โซเระ วะ อะกังวะ = นั่นมันไม่ดีนะ
かまへん คามะเฮ็น・ไม่เป็นไร / ไม่มีปัญหา  คามะเฮ็น คามะเฮ็น! = ไม่เป็นไร ไม่มีปัญหา!
ええ เอ・ดี (ใช้เพื่อยืนยัน)  เอเดะ! = ดีแล้ว!
 โซโนะ คุตสึ เอยัน = รองเท้าคู่นั้นดีออกนะ
はよ ฮาโยะ・เร็วๆ  ฮาโยะอิคุเดะ = ไปกันเร็ว
なんでやねん นันเดะยาเน็น・ไหงงั้นล่ะ?  นันเดะยาเน็น! = ทำไมกลายเป็นแบบนั้นล่ะ!
(คำตอบรับที่แสดงให้เห็นว่าคำของอีกฝ่ายฟังดูน่าขัน)
おもろい โอโมโร่ย・ตลก  เม็ทฉะโอโมโร่ยยัน! = ตลกมาก!
ちゃう ชะอุ・ผิด / ไม่ใช่  ชะอุเดะ = ไม่ใช่ละ

 

〜 คำที่ใช้ในร้านอาหาร (ครอบครัวหรือคนสนิท) คำที่ใช้ในการทำธุรกิจ 〜

ภาษาคันไซ  เสียงอ่าน ความหมาย ตัวอย่าง
まいど                ไมโดะ・ยินดีต้อนรับ / ขอบคุณที่อุดหนุนกันอยู่เรื่อยๆ ไมโดะ! (พูดด้วยน้ำเสียงสดใสกระตือรือร้น)
なんぼ นันโบะ (ใช้ถามราคาและปริมาณอาหาร) โคเระ นันโบะ? = อันนี้ราคาเท่าไร? / ปริมาณเท่าไร?
アテ อะเตะ・กับแกล้ม อะเตะไน่ก๊ะ? = มีกับแกล้มไหม?
突き出し สึคิดาชิ (อาหารต้อนรับที่เสิร์ฟตามนโยบายร้าน ลูกค้าไม่ได้สั่งแต่ต้องรับไว้)
※ภาษากลางญี่ปุ่น เรียกว่า 'โอโตชิ'
โคโนะสึคิดาชิ โออิชิน้า = อาหารต้อนรับของร้านนี้อร่อยดีนะ
炊いたん ไททัน・อาหารต้ม
※ภาษากลางญี่ปุ่น เรียกว่า 'นีโมโนะ'
ไดกอน โนะ ไททัน = หัวไชเท้าต้ม

 

〜 อื่นๆ 〜

ภาษาคันไซ เสียงอ่าน ・ ความหมาย ตัวอย่าง
どんつき ดนสึคิ・ ทางตัน / ตอนท้าย  โคโนะมิจิ โอะ มัตสึกุอิตตะ ดนสึคิ นิ อารุเดะ = ถนนสายนี้ถ้าตรงไปต่อจะเป็นทางตันนะ
しょうみ
ぶっちゃけ
โชมิบุทฉะเกะ・ ความจริง บุทฉะเกะ ดนนะ? = ความจริงเป็นยังไงเหรอ?
しゃあない ชาไน่ (ใช้แสดงความรู้สึกว่าช่วยไม่ได้)  โซระ ชาไน่วะ = เรื่องนั้น...ก็ไม่รู้สินะ
しょうもない โชโมะไน่・ เหลวไหล / ไร้สาระ โชโมะไน่น้า = ไร้สาระน่า
ほかす โฮคาซุ・ทิ้ง (ขยะ) โคโนะโกมิ โฮคาชิโทอิเตะ = เอาขยะนี่ไปทิ้งหน่อยสิ
なおす นาโอซุ・ ทำความสะอาด / เก็บกวาด นาโอชิโทอิเตะยะ = เก็บกวาดให้เรียบร้อยนะ

 

〜 การลงท้ายในภาษาพูด 〜

หากเป็นภาษาสุภาพ หรือที่คนญี่ปุ่นเรียกกันว่า "เคโกะ" (敬語) ชาวคันไซก็จะใช้คำว่า "-เดส" (です) และ "-มัส" (ます) เช่นเดียวกับภาษากลาง แต่เมื่อมาถึงการพูดกับคนสนิทหรือคนใกล้ชิด ก็จะมีการใช้คำอย่าง "-ยะ (や) -ยาโระ (やろ) -ยานะ (やな) -ยาเดะ (やで) -เน็น (ねん) -ยาเน็น (やねん)" ฯลฯ ต่อท้ายประโยคด้วย ถึงแม้คำเหล่านี้จะออกเสียงและให้ความรู้สึกที่แตกต่างจากภาษากลาง แต่ความหมายก็แทบจะเหมือนกันเลย

เอาล่ะ ถึงตรงนี้คุณก็สามารถลองพูดด้วยรูปประโยคแบบ "(คำนาม) + ยะ!" ได้แล้ว อันนี้มีความหมายเดียวกับคำว่า "-ดาเนะ" (だね) ในภาษากลาง หากคุณพูดออกไปล่ะก็ รับรองว่าชาวคันไซที่อยู่รอบๆ จะต้องรู้สึกใกล้ชิดกับคุณมากขึ้น และสร้างเสียงหัวเราะด้วยกันได้แน่ๆ 

〜 ชื่อเฉพาะ 〜

ในบางครั้ง ชาวคันไซก็จะเรียกชื่อเฉพาะต่างๆ ไม่เหมือนกับภาษากลาง ตัวอย่างเช่น

  • McDonald = มะคุโดะ (ภาษากลาง: มัคคุ)
  • Seven-Eleven = เซบุอิเระ (ภาษากลาง: เซบุน อิเระบุน)
  • Universal Studio Japan = ยูนิบะ (ภาษากลาง: ยูเอสเจ) 

นอกจากนั้น ในโอซาก้ายังมีวัฒนธรรมเรียกลูกอมที่ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า "อาเมะ" (飴ちゃん) เป็น "อาเมะจัง" ด้วย ที่นี่มักจะมีผู้หญิงสูงวัยเดินไปเดินมา แล้วยื่นลูกอมให้กับคนแปลกหน้าพร้อมกับถามว่า "อาเมะจัง อิรุก๊ะ?" (ทานคุณลูกอมไหมคะ?) ซึ่งเป็นประเพณีที่สะท้อนถึงความเป็นมิตรและอารมณ์ขันของชาวโอซาก้าได้ดีทีเดียว เรื่องนี้โด่งดังมาก หากคุณโชคดีก็อาจจะได้เจออะไรแบบนี้เวลามาเที่ยวโอซาก้าก็ได้นะ!

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

วิธีสังเกตว่าชาวคันไซแต่ละคนมาจากจังหวัดใด

เมื่อพูดถึงคันไซอย่างคร่าวๆ คนส่วนใหญ่ก็มักจะรู้กันว่าหมายถึงพื้นที่ในบริเวณโอซาก้า เกียวโต เฮียวโกะ ชิกะ นารา และวากายาม่า แต่อย่างไรก็ตาม "ภาษาคันไซ" ในแต่ละจังหวัดจะมีความแตกต่างกันอยู่เล็กน้อย เช่น หากคุณพูดว่า "ไม่มา" (ภาษากลางอ่านว่า โคะไน่ 来ない) ภาษาถิ่นในโกเบจะออกเสียงว่า "โคเฮ็น" (こーへん) ในขณะที่โอซาก้าจะพูดว่า "เคเฮ็น" (けーへん) ส่วนเกียวโตจะพูดว่า "คีฮิน" (きーひん) กันเป็นส่วนใหญ่

เนื่องจากภาษาอาจมีความแตกต่างได้แม้ในจังหวัดเดียวกัน เราจึงไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นความต่างในระดับภูมิภาค แต่หากคุณได้พบชาวคันไซแล้วลองถามว่า "คำว่า 'ไม่มา' ในภาษาคันไซ พูดว่าอะไรเหรอ?" ก็อาจจะทำให้ได้รู้บ้านเกิดของคนๆ นั้นได้เหมือนกัน

Klook.com

แบบทดสอบ: ภาษาคันไซเหล่านี้แปลว่าอะไร?

Q1. คำว่า "อิเคตาระ อิคุวะ" (行けたら行くわ) แปลว่าอะไร?

A)「ถ้าไม่ติดธุระก็จะไปนะ」

B)「อยากไปนะ แต่ยังไม่รู้เลย」

C)「ไม่ไป」

≫ เฉลย (คลิกที่นี่) ≪

คำตอบ:「ไม่ไป」

 

 

Q2. คำว่า "จิบุน" (自分) หมายถึงใคร?

A)「ตัวฉัน」

B)「คู่สนทนาที่อยู่ตรงหน้า」

C)「ครอบครัว」

≫ เฉลย (คลิกที่นี่) ≪

คำตอบ: คำนี้ไม่ได้แปลว่า「ฉัน」เสมอไป ในบางครั้งก็สามารถใช้สื่อถึง「คู่สนทนาที่อยู่ตรงหน้า」ได้เหมือนกัน

 

Q3. "ชุตโตะชิเตรุ" (シュッとしてる) แปลว่าอะไร?

A)「รวดเร็ว, ว่องไว」

B)「เท่ห์, ดูดี」

C)「ผอม」

≫ เฉลย (คลิกที่นี่) ≪

คำตอบ:「เท่ห์, ดูดี」

 

Q4. ในภาษาเกียวโต คำว่า "อาการุ" (上がる) แปลว่าอะไร?

A)「ขึ้นไปเหนือพื้นดิน」

B)「ขึ้นไปด้านบน」

C)「ไปทางซ้าย」

≫ เฉลย (คลิกที่นี่) ≪

คำตอบ:「ขึ้นไปด้านบน」

เคล็ดลับผูกมิตรกับชาวคันไซ

・"โคเระนันโบะ?" (อันนี้ราคาเท่าไร) ประโยคที่ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน!

ชาวคันไซมีวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับราคาของสินค้าที่จะซื้อกันอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลว่าคุณจะถามเรื่องราคามากเกินไป และหากคุณไปเดินเที่ยวตามย่านการค้าแล้วล่ะก็ จะได้ยินบทสนทนาอย่าง "ได้กำไรไหม?" และ "พอสมควรเลย" เป็นการทักทายระดับพื้นฐานกันบ่อยๆ เลยล่ะ


・ใช้คำว่า "อะโฮะ" (โง่) ได้ แต่ห้ามใช้คำว่า "บากะ" เด็ดขาด

ชาวคันไซมักจะใช้วลีอย่าง "อะโฮะจาอุ?" (แปลว่า โง่รึเปล่า?) กันจนชิน ดังนั้น คุณจึงไม่จำเป็นต้องใส่ใจหรือโกรธหากโดนพูดประโยคนี้ใส่บ้าง แต่ในทางกลับกัน คำว่า "บากะ" ที่ความหมายแทบจะเหมือนกันเป๊ะๆ นั้น กลับเป็นคำที่ชาวคันไซไม่ชอบเอามากๆ และหากคุณใช้ก็อาจจะทำให้พวกเขาโกรธได้ จึงควรระวังในจุดนี้ด้วย 

(อย่างไรก็ตาม คำว่า "บากะ" เป็นคำพูดติดปากที่ค่อนข้างแพร่หลายในหมู่ชาวคันโตเลย)


・"ชิรันเคโดะ" (ก็ไม่รู้สินะ) คำพูดเมื่อรู้สึกลำบากใจ

คุณมักจะได้ยินคำนี้หลังจากที่พวกเขาพูดแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับอะไรบางอย่าง เป็นประโยคที่จะใช้เพื่อให้เกิดความรู้สึกที่ขัดกับช่วงก่อนหน้าจนอาจทำให้คุณสับสน แต่หากคุณได้ยินเข้าล่ะก็ ขอให้เข้าใจว่าพวกเขาไม่ได้รู้สึกขัดแย้งกับสิ่งที่ตัวเองพูดไป แต่กำลังสื่อความหมายว่า "ถ้าฉันพูดอะไรผิดไปก็ขอโทษด้วยนะ! แต่ยังไงฉันก็คิดแบบนั้นอยู่ดีแหละ"

วลีนี้มักถูกใช้ในการแสดงความคิดเห็นบนสื่อโซเชียล เพราะนอกจากจะทำให้คอมเมนต์ของตัวเองไม่ดูรุนแรงเกินไปแล้ว ยังมีแนวโน้มที่จะทำให้คนอ่านไม่ถือสาและให้อภัยในตอนจบด้วย

ส่งท้าย

ระหว่างที่คุณท่องเที่ยวในคันไซก็ลองใช้ภาษาง่ายๆ อย่างคำว่า "โอคินิ" เพื่อขอบคุณผู้คนหลังจากที่คุณถามทาง หรือใช้คำว่า "โคเระนันโบะ?" ในการถามราคาจากพ่อค้าแม่ค้าดูสิ ชาวคันไซทั้งเป็นมิตรและมีอารมณ์ขัน หากนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างคุณใช้ภาษาคันไซขึ้นมาล่ะก็ พวกเขาจะต้องบอกคุณว่า "ภาษาคันไซของคุณดีมากเลยนะ!" อย่างแน่นอน

 

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรมได้เลย !

มนต์เสน่ห์คันไซ

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

รับส่วนลดมากมายในญี่ปุ่น ที่นี่!

เกี่ยวกับนักเขียน

ikumiwatanabe
ikumiwatanabe
เป็นคนจังหวัดชิบะ ชื่นชอบสาเกและงานฝีมือประจำภูมิภาคที่แต่ละคนบอกเล่าเรื่องราวของตัวเอง ในช่วงวันหยุดยาวชอบใช้เวลาตกปลาในทะเลเซโตะ
  • แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

ค้นหาร้านอาหาร