รู้ไว้ใช่ว่า ! 8 สิ่งที่ควรระวังแม้จะอยู่ในประเทศญี่ปุ่นที่แสนจะปลอดภัย

「ประเทศญี่ปุ่น」ที่ใครๆ ก็รู้กันว่าปลอดภัยมาก แต่การที่มีความปลอดภัยสูงก็ไม่ได้หมายความว่าจะอาศัยอยู่ได้อย่างสบายใจไปเสียทั้งหมด เวลาที่เราไปเที่ยวก็จะพบว่าแต่ละประเทศต่างก็มีธรรมเนียมปฏิบัติที่แตกต่างกันไป ในบางเรื่องหากพลาดไปนิดเดียวก็อาจเข้าไปพัวพันกับอาชญากรรม อย่างเช่นการโจรกรรมก็เป็นได้ ดังนั้น เราจึงควรทำความเข้าใจธรรมเนียมปฏิบัติ มารยาท และกฎระเบียบของประเทศนั้นๆ ให้ดีเสียก่อน ในคราวนี้เราได้เลือกเฟ้น 8 สิ่งที่นักท่องเที่ยวต่างชาติควรระวังเวลาไปเยือนประเทศญี่ปุ่นมาแนะนำให้เข้าใจไปด้วยกัน ว่าแล้วก็อย่ารอช้า ไปดูกันเลย !

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

บทความนี้อาจมีลิงก์พาร์ทเนอร์ หากคุณทำการซื้อผ่านลิงก์พาร์ทเนอร์ เราอาจได้รับค่าคอมมิชชั่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับคุณ

1. ระวังถูกขโมยร่มโดยเฉพาะในร้านสะดวกซื้อ

มักพบการขโมยร่มในประเทศญี่ปุ่น เพราะว่าร่มนั้นมีราคาถูก และโดยมากจะใช้ร่มจากวัสดุไวนิลที่มีลักษณะคล้ายๆ กัน จึงมีแนวโน้มที่จะถูกขโมยได้ง่าย

ร่มไวนิลในประเทศญี่ปุ่นนั้น ถ้าไม่นับของแบรนด์หรูก็จะจำหน่ายอยู่ที่ราคาประมาณ 300 - 500 เยน ด้วยความที่มีราคาถูกและสามารถใช้ทดแทนกันได้ ทำให้มีหลายคนที่นึกอยากขโมยขึ้นมาซะอย่างนั้น อีกทั้ง ร่มเป็นสิ่งที่แยกออกได้ยากว่าอันไหนเป็นของเราหรือของคนอื่น เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดการขโมยร่มนั่นเอง

สถานที่ที่เกิดการขโมยได้ง่ายเป็นพิเศษก็คือร้านสะดวกซื้อ อาจจะเพราะไม่ได้พกร่มตอนฝนตก ร่มของตัวเองพัง หรือหยิบร่มของคนอื่นผิดไปเพราะนึกว่าเป็นของตัวเอง ซึ่งก็มีทั้งคนที่คิดว่า "ร่มอันนี้ดูดีกว่าของเราอีก" และคนที่หยิบร่มของคนอื่นไปโดยไม่ได้มีเจตนาร้าย

เวลามาเยือนประเทศญี่ปุ่นจึงควรมีวิธีรับมือกับการขโมยร่ม ถ้าเป็นร่มพับได้ก็อาจไม่ต้องกังวลว่าจะถูกขโมย แต่ถ้าต้องใช้ร่มไวนิลในญี่ปุ่น ก็ควรติดอะไรเข้าไปให้มีจุดสังเกตจะดีกว่า จะสติกเกอร์ก็ได้ หรือจะใช้ปากกาเขียนชื่อตัวเองลงไปก็ดี ถ้าร่มนั้นมีความชัดเจนว่าเป็นของใคร โอกาสถูกขโมยก็จะลดลงอย่างแน่นอน

2. "พระปลอม" รีดไถเงินจากนักท่องเที่ยว

"พระปลอม" มักจะเรี่ยไรเงินโดยอ้างว่าเป็นการทำบุญ โดยเฉพาะบริเวณใกล้สถานีรถไฟหรือย่านจอแจอย่างในกรุงโตเกียว ย่านชินจูกุ (新宿) อาซากุสะ (浅草) อากิฮาบาระ (秋葉原) และกินซ่า (銀座) ฯลฯ

โดยมักจะใช้คำพูดเชิญชวนอย่างเช่น "เพื่อนำไปสร้างวัด" หรืออาจจะนำพวกยันต์หรือลูกประคำปลอมมาขายให้ จากความคลาดเคลื่อนทางวัฒนธรรมและแนวความคิด ที่ทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติหลายคนอาจมอบเงินให้พวกเขาไปโดยไม่ทันระมัดระวัง และการตัดสินว่าเป็นพระจริงหรือพระปลอมจากรูปลักษณ์ภายนอกก็ค่อนข้างยาก ข้อมูลต่อไปนี้เป็นลักษณะพิเศษของพวกเขา

・"พระปลอม" มักจะสวม "จีวร (เสื้อผ้าที่พระสงฆ์สวมใส่)" ในโทนสีที่ไม่ค่อยเตะตา อย่างเช่น สีเทาหรือสีเบจ เป็นต้น
・พระจริงจะไม่อยู่ตามสถานีรถไฟหรือสถานที่โดยรอบ
・พระจริงจะมี "ใบอนุญาตบิณฑบาต" อยู่กับตัว

โดยทั่วไปแล้วก็ให้คิดว่าพระที่อยู่ตามย่านตัวเมืองเป็นพระปลอมไปก่อนได้เลย และหากรู้สึกว่าน่าสงสัยก็ไม่ควรเข้าใกล้ เดินห่างออกมาจะดีที่สุด

3. ระมัดระวังเวลาข้ามถนนที่ไม่มีสัญญาณไฟจราจร

จากการลงสำรวจพื้นที่ 94 แห่ง ทั่วประเทศเมื่อปี 2018 โดย "สหพันธ์ยานยนต์แห่งประเทศญี่ปุ่น (JAF)" ผลพบว่ามีสัดส่วนของรถยนต์ที่ไม่หยุดรถชั่วคราวบนทางข้ามถนนที่ไม่มีสัญญาณไฟจราจรสูงถึง 92.4 เลยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองใหญ่อย่างโตเกียวหรือโอซาก้า ไม่ว่าจะเป็นรถแท็กซี่ รถบรรทุก หรือรถยนต์ทั่วไป ก็มีคนขับรถที่เหยียบคันเร่งแบบไม่รอใครอยู่มากมาย

ที่ญี่ปุ่นค่อนข้างให้ความสำคัญกับคนเดินเท้า แต่ในทางกฎหมายก็กำหนดไว้เพียงแค่ว่า "ให้ขับรถในความเร็วที่สามารถหยุดรถได้" เท่านั้น ไม่ได้ถือว่าการหยุดรถชั่วคราวเป็นสิ่งที่ต้องทำ ดังนั้นการจะปล่อยให้คนที่รอข้ามถนนอยู่นั้นเดินหรือไม่นั้น โดยทั่วไปจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคนขับรถ แล้วยิ่งเป็นเมืองใหญ่ ก็ยิ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ แน่นอนว่าคนขับรถที่หยุดรถชั่วคราวให้ก็มีอยู่มาก แต่หากจะข้ามถนนที่ไม่มีสัญญาณไฟจราจร ก็ขอให้ดูเรื่องความปลอดภัยโดยรอบให้แน่ใจก่อนข้ามถนนจะดีกว่า

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

4.ระวังพนักงานเรียกลูกค้า โดยเฉพาะในย่านที่ไม่คุ้นชิน

ไม่ว่าจะในจังหวัดใด ก็มักจะมีพนักงานเรียกลูกค้าที่หมายหัวนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะในย่านจอแจขนาดใหญ่ทั่วญี่ปุ่น ซึ่งมักจะเรียกลูกค้าด้วยคำว่า "ราคาพิเศษ" หรือ "ส่วนลด" แต่เมื่อคิดเงินแล้วกลับถูกเรียกเก็บเงินในราคาที่เกินสมควร ยิ่งในย่านใหญ่ พนักงานเหล่านี้ก็จะยิ่งเซ้าซี้มาก แค่จะไล่ไปก็เหนื่อยเอาเรื่องแล้ว

ถ้าเป็นที่โตเกียวก็จะมีบริเวณรอบนอกเมืองรปปงงิ (六本木) อิเคะบุคุโระ (池袋) และชินจูกุ ส่วนในโอซาก้าก็มีบริเวณรอบนอกเมืองอุเมดะ (梅田) ชินไซบาชิ (心斎橋) และนัมบะ (難波) ที่ต้องระวังเป็นพิเศษ

แรกเริ่มเดิมทีพฤติกรรมการเรียกลูกค้า เป็นเรื่องที่ห้ามทำตามกฎหมายของญี่ปุ่นที่เรียกว่า "กฎหมายด้านธุรกิจบันเทิง" อีกทั้งเมื่อมองในระดับหมู่บ้าน ตำบล เมือง รวมถึงเขตการปกครองแล้ว กฎข้อบังคับที่ระบุเรื่องการห้ามพฤติกรรมการเรียกลูกค้าก็ถูกกำหนดไว้เช่นกัน แม้การควบคุมดูแลจะเข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ ในทุกๆ ปี แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีพนักงานเรียกลูกค้าที่แฝงเจตนาร้ายอยู่ ดังนั้นไม่ว่าคุณจะได้รับฟังอะไรที่น่าสนใจเพียงใดก็ตาม อย่าได้เดินตามพวกเขาไปเป็นอันขาด

Klook.com

5.เดินสูบบุหรี่บนถนนจะถูกปรับ ○○ เยน!?

กฎระเบียบเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ที่ญี่ปุ่นนั้นเข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ที่เข้มงวดขึ้นเป็นพิเศษก็คือ กฎระเบียบเกี่ยวกับการสูบบุหรี่บนท้องถนน ซึ่งนอกจากการเดินสูบบุหรี่แล้ว หากไม่สูบบุหรี่ในพื้นที่สำหรับสูบบุหรี่ที่ทางหน่วยงานท้องถิ่นหรือหมู่บ้าน ตำบล เมืองตั้งไว้ล่ะก็จะต้องถูกคิดค่าปรับ

สำหรับจำนวนเงินค่าปรับจะแตกต่างกันออกไปตามแต่ละหน่วยงาน โดยการเดินสูบบุหรี่มีบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนต่ำสุดอยู่ที่ 2,000 เยน (เขตชิโยดะ กรุงโตเกียว) และสูงสุดอยู่ที่ 20,000 เยน (เมืองมาเอบาชิ จังหวัดกุนมะ) ซึ่งต้องทำความเข้าใจให้ดีไว้ก่อนด้วย อย่างไรก็ตาม กฎระเบียบเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ในกรุงโตเกียวนั้น มีเป้าหมายอยู่ที่ปี 2020 ซึ่งจะมีการจัดงานโตเกียวโอลิมปิกและพาราลิมปิก จึงคาดการณ์ได้ว่าจะเข้มงวดยิ่งขึ้นไปอีก

จากการบุกเบิกเรื่องนั้นเอง เมื่อเดือนมิถุนายน 2018 จึงได้มีการบัญญัติ "กฎระเบียบการป้องกันการสูบบุหรี่มือสอง" ขึ้นที่กรุงโตเกียว คาดการณ์ว่าจะบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบไปจนกว่าจะถึงช่วงโอลิมปิก โดยห่ามสูบบุหรี่ทั้งในสถาบันการแพทย์ ระบบขนส่งสาธารณะอย่างรถบัสและแท็กซี่ รวมถึงร้านอาหารต่างๆ ผู้ใดที่ฝ่าฝืน หรือผู้ประกอบการใดอนุญาตให้สูบบุหรี่จะต้องถูกปรับสูงสุด 50,000 เยน สำหรับคนที่สูบบุหรี่จนเป็นนิสัยอาจจะรู้สึกอึดอัดใจ แต่ไม่ว่าอย่างไรเราก็ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบการสูบบุหรี่ในญี่ปุ่นให้ได้

6. ระวังโจรล้วงกระเป๋าในย่านที่มีคนพลุกพล่าน

ที่ญี่ปุ่นมีอัตราการเกิดเหตุอาชญากรรมต่ำเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องระมัดระวังเหตุอาชญากรรมที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งตอนกลางวันและกลางคืน โดยเฉพาะในบริเวณที่มีคนพลุกพล่านอย่างเช่นรถไฟฟ้าหรือในย่านจอแจ ควรระวังโจรล้วงกระเป๋าและนักฉกชิงวิ่งราวเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะกระเป๋าเดินทางแบบล้อลาก กล้องหรือคอมพิวเตอร์ราคาแพง พาสปอร์ต กระเป๋าสตางค์ บัตรเครดิต ฯลฯ มาวางแผนรับมือตามตัวอย่างต่อไปนี้กันเถอะ

・ระมัดระวังให้ดีหากสวมใส่ของแบรนด์เนมราคาแพง (กล้อง DSLR ก็ควรระวัง)
・ในที่ที่คนพลุกพล่าน ให้สะพายกระเป๋าไว้ด้านหน้า
・ไม่ใส่ของมีค่า เช่นกระเป๋าสตางค์ไว้ในกระเป๋ากางเกง

สำหรับเงินสดที่พกติดตัว เราขอแนะนำให้พกไว้เท่าที่จำเป็น แม้ว่าอาจจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นจากการจัดงานโตเกียวโอลิมปิกในปี 2020 และงาน Osaka-Kansai Japan Expo ในปี 2025 ฯลฯ แต่ปัจจุบันญี่ปุ่นยังไม่เข้าสู่สังคมไร้เงินสดแบบ 100% ดังนั้นยังจำเป็นที่จะต้องพกเงินสดในญี่ปุ่นอยู่ และอย่าพกมากเกินไปจะดีกว่า

7. มีคดีทุบรถเกิดขึ้น 〇〇 คดีต่อปี!?

จำนวนคดีโจรทุบรถในญี่ปุ่นนั้นเกิดขึ้นอย่างน้อย 3,000 คดีต่อปี แม้ว่าจะค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ แต่ข้าวของเงินทองและของมีค่าในรถยนต์ก็ถูกหมายตาได้ง่ายจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ นอกจากการล็อกประตูให้ดีแล้ว ก็อาจเพิ่มความปลอดภัยมากขึ้นไปอีกโดยการใช้กล้องติดรถยนต์ หรือใช้ฟิล์มมืดที่ทำให้ไม่สามารถมองเข้ามาในรถได้

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

8. อย่าจอดจักรยานทิ้งไว้บนถนน อาจโดนขโมยได้ !

มีคดีขโมยรถจักรยานในญี่ปุ่นปี 2018 ทั้งหมด 35,394 คดี คำนวณได้ว่าใน 1 วัน มีรถจักรยานถูกขโมยประมาณ 10 คัน หากจอดอยู่บนถนน หรือจอดโดยไม่ได้ล็อกไว้ก็จะถูกขโมยได้ง่ายๆ สิ่งที่ควรระวังมีดังต่อไปนี้

・เตรียมกุญแจล็อกรถแบบรหัสที่ปลดล็อกได้ยาก
・เตรียมกุญแจล็อกไว้ 2 อันขึ้นไป
・จอดจักรยานไว้ในบริเวณที่มีกล้องวงจรปิด
・ยึดรถจักรยานไว้กับวัตถุที่เคลื่อนที่ไม่ได้ (เอิร์ธล็อก)
・เตรียมตัวล็อกอานจักรยานควบคู่ไว้ด้วย

สำหรับกุญแจควรเลือกแบบที่แข็งแรงและปลดล็อกได้ยากที่สุด โดยเตรียมกุญแจล็อกรถแบบรหัสไว้ 2 อันขึ้นไป ถ้าเป็นไปได้ก็ควรทำเอิร์ธล็อกไว้ด้วย เพียงแต่ว่า ห้ามยึดรถจักรยานไว้กับเสาไฟหรือราวกั้น หรือทำเอิร์ธล็อกในพื้นที่ห้ามจอด จึงควรตรวจสอบให้ดีก่อนว่าพื้นที่รอบๆ นั้นเป็นพื้นที่ที่จอดจักรยานได้หรือไม่

นอกจากนี้ก็อย่าลืมเตรียมวิธีรับมือการขโมยอานจักรยานเพื่อนำชิ้นส่วนไปขายต่อด้วย "โจรขโมยอาน" ซึ่งขโมยเฉพาะอานจักรยานกลายเป็นปัญหาสังคมเมื่อไม่กี่ปีมานี้ คนญี่ปุ่นจึงมักเตรียม "ตัวล็อกอานจักรยาน" ควบคู่ไว้ด้วยนั่นเอง

เตรียมวิธีรับมือไว้ให้ดี เพื่อทริปญี่ปุ่นที่ปลอดภัยของคุณ !

แม้ว่าประเทศญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะเกิดอาชญากรรมหรือการลักขโมยขึ้นทั้งตอนกลางวันและกลางคืน ไม่ว่าจะพฤติกรรมต้มตุ๋นที่ฉวยโอกาสหลอกใช้ความหวังดีของผู้อื่น โจรทุบรถหรือโจรล้วงกระเป๋าที่หมายตาของมีค่า รวมไปถึงการขโมยร่มและจักรยาน เราจึงควรวางแผนรับมือต่างๆ นานาโดยคำนึงถึง "เหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น" ไว้ให้ดี มาเตรียมพร้อมเพื่อป้องกันเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเองให้ดีที่สุดกันเถอะ !

หากคุณมีความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา รวมถึงไอเดียใหม่ๆ หรือคำถามเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่น ก็สามารถทักทายเข้ามาได้ที่ FacebookTwitter, หรือ Instagram ได้เลย ! 

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

รับส่วนลดมากมายในญี่ปุ่น ที่นี่!

เกี่ยวกับนักเขียน

Keisuke
Keisuke Tsunekawa
เป็นคนญี่ปุ่นที่ชอบหลีกหนีจากชีวิตในเมืองโตเกียวเป็นครั้งคราว เพื่อค้นพบเส้นทางใหม่ๆ รวมถึงท่องเที่ยวในประเทศอื่นๆ ซึ่งทำให้รู้สึกว่าได้สนุกกับการเชื่อมโยงกับสิ่งที่แตกต่างไปจากที่เคยทำเคยเห็นในชีวิตประจำวัน
  • แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

ค้นหาร้านอาหาร