เจาะลึก 10 เรื่องของญี่ปุ่นที่แปลกแต่จริง! ทำของหายแล้วได้คืนจริงไหม?

หลายท่านอาจเคยได้ยินความเชื่อเกี่ยวกับญี่ปุ่นที่ฟังดูแล้วไม่น่าเป็นไปได้ในประเทศของตัวเอง ที่ได้ยินกันบ่อยๆ ก็คือเรื่องเกี่ยวกับบ้านเมืองที่ปลอดภัยและผู้คนที่อ่อนโยนของญี่ปุ่น ตัวอย่างเช่น "แค่รถไฟหรือรถบัสมาสายเพียงไม่กี่นาทีก็มีการขอโทษอย่างเป็นเรื่องเป็นราว" หรือ "หากทำของหายในญี่ปุ่นมันจะกลับมาหาคุณเอง" ในบทความนี้ เราจะพาคุณไปหากันตอบกันว่าความเชื่อเหล่านี้เป็นจริงหรือไม่ พร้อมทั้งอธิบายสาเหตุที่อยู่เบื้องหลังโดยละเอียด

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

บทความนี้อาจมีลิงก์พาร์ทเนอร์ หากคุณทำการซื้อผ่านลิงก์พาร์ทเนอร์ เราอาจได้รับค่าคอมมิชชั่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับคุณ

1. คนญี่ปุ่นนั่งหลับในรถไฟโดยวางมือถือไว้บนตัก...ปลอดภัยกันขนาดนั้นเลยหรือ?

รถไฟมีบทบาทสำคัญในระบบการคมนาคมขั้นพื้นฐานในญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองใหญ่ๆ อย่างโตเกียวและโอซาก้า หนึ่งในภาพที่มักเห็นได้ตามรถไฟดังกล่าวคือ ภาพของคนญี่ปุ่นที่นั่งหลับอยู่ในรถไฟ ไม่ว่าใครหากเคยมาญี่ปุ่นแล้วจะต้องพบเห็นสักครั้งอย่างแน่นอน คนญี่ปุ่นหลายคนเลือกที่จะใช้ช่วงเวลาระหว่างการเดินทางอันน้อยนิดนี้ ไม่ว่าจะเป็นจากบ้านไปที่ทำงานหรือจากที่ทำงานกลับมาบ้าน เป็นช่วงเวลาในการพักผ่อนจากชีวิตประจำวันที่แสนวุ่นวาย โดยมีอยู่ด้วยกันหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่นั่งหลับโดยวางสมาร์ทโฟนไว้บนตัก หลับโดยเปิดกระเป๋าไว้อ้าซ่า ยืนหลับท่ามกลางรถไฟที่แน่นเป็นปลากระป๋อง ไปจนถึงนั่งหลับอยู่ตามชานชาลา เป็นสถานการณ์ที่หากอยู่ในประเทศอื่นแล้วจะต้องมีการลักทรัพย์เกิดขึ้นอย่างแน่นอน สำหรับใครหลายคนแล้วภาพเหล่านี้นี้จึงเป็นเหมือนกับสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความปลอดภัยของประเทศญี่ปุ่น

แน่นอนว่าความปลอดภัยของประเทศญี่ปุ่นทำให้สามารถนั่งหลับในสถานที่สาธารณะได้อย่างไร้กังวล แต่ก็มีอีกปัจจัยหนึ่งที่น่าจะเป็นไปได้ คือสภาพแวดล้อมที่แสนสบายของรถไฟญี่ปุ่น ในกรณีของประเทศอื่นที่นั่งในรถไฟมักเป็นที่นั่งพลาสติกแข็งๆ แต่ในกรณีของญี่ปุ่นจะเป็นแบบเบาะที่นั่งสบาย และยังมีเครื่องปรับอากาศอีก เป็นสภาพแวดล้อมที่น่าผ่อนคลาย ทำให้ไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมถึงมีคนนั่งหลับกันเป็นจำนวนมาก อีกเหตุผลหนึ่งคือ ลักษณะของการทำงานในสังคมญี่ปุ่นที่ต้องทำงานจนดึกและออกจากบ้านแต่เช้า อย่างไรก็ตาม หากไม่มีสภาพแวดล้อมที่แสนสบาย ประกอบกับจริยธรรมทางสังคมที่ทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องขโมยแล้วล่ะก็ พฤติกรรมการนั่งหลับแบบนี้ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้อย่างแน่นอน

2. ของหายกลับมาหาเอง!? จริงไหมที่ว่าหากทำกระเป๋าเงินตกแล้วมันจะกลับมาหาคุณเอง?

หนึ่งในเรื่องเล่าที่บอกถึงความสงบเรียบร้อยของสังคมญี่ปุ่น และได้รับการกล่าวขานไปทั่วโลก คือ "หากทำกระเป๋าเงินตกในญี่ปุ่น มันจะกลับมาหาเจ้าของเอง"

ในปี 2019 กรมตำรวจนครบาลโตเกียวได้เผยแพร่ข้อมูลที่ทำให้เรารู้ว่าตลอดช่วงปี 2018 มีเงินสดถูกส่งมายังป้อมตำรวจและสถานีตำรวจทั่วโตเกียวในฐานะของหายรวมทั้งสิ้นกว่า 3,839 ล้านเยน เป็นยอดเงินสูงสุดเท่าที่เคยพบมาเลยทีเดียว หากเทียบกับจำนวนเงินที่มีผู้แจ้งหายประมาณ 8,408 ล้านเยน จะพบว่ามีเงินถึงกว่า 45.7% ที่มีผู้พบและส่งกลับมาให้ตำรวจ ในจำนวนเงินดังกล่าว 2,820 ล้านเยนสามารถส่งกลับไปยังเจ้าของได้สำเร็จ ประมาณ 500 ล้านเยนไม่สามารถระบุเจ้าของได้จึงถูกมอบให้กับผู้ที่เก็บได้ ส่วนอีกประมาณ 560 ล้านเยนที่ไม่สามารถระบุเจ้าของได้และผู้เก็บได้ก็ปฏิเสธที่จะรับนั้น ได้กลายเป็นเงินรายรับของเมืองโตเกียว

ข้อมูลนี้ทำให้เราสามารถกล่าวว่า "ตำนาน" ที่เล่าต่อๆ กันมานั้นอาจเป็นเรื่องจริงก็ได้ แม้แต่ภายในความวุ่นวายของโตเกียวที่เทคโนโลยีพัฒนาไปไกล แออัด และผู้คนดูเหมือนจะไม่ใส่ใจซึ่งกันและกัน มุมมองด้านจริยธรรมของผู้คนก็ยังคงแข็งแรงดีอยู่

เมื่อได้ลองใช้ข้อมูลอ้างอิงเพื่อไขข้อสงสัยแบบนี้ จะเห็นได้ชัดถึงความปลอดภัยของญี่ปุ่น สำหรับญี่ปุ่นแล้วถือเป็นมารยาทที่จะนำของที่พบไปส่งยังป้อมยามที่ใกล้ที่สุดหรือจุดแจ้งของหายตามสถานีรถไฟ ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าเงิน ใบขับขี่ บัตรประกันสุขภาพ กุญแจ กระเป๋า เสื้อผ้า หรืออะไรก็ตาม ในขณะเดียวกันกรณีของร่มหรือส่งของราคาถูกอื่นๆ นั้น แม้ว่าจะมีผู้เก็บได้ถึง 343,725 รายการ แต่ก็มีผู้แจ้งหายรวมถึงผู้ที่มารับของแค่เพียง 6,154 รายการ ในกรณีนี้อาจเป็นเพราะว่าเป็นของที่สามารถหาแทนได้ง่าย คนส่วนใหญ่จึงล้มเลิกที่จะหาก็เป็นได้

3. คนญี่ปุ่นชอบซู๊ดเส้น...ทำไมถึงทำเสียงดังในระหว่างรับประทานอาหาร?

ที่ญี่ปุ่นมีมารยาทบนโต๊ะอาหารอยู่มากมาย ตัวอย่างเช่น วิธีการใช้ตะเกียบ ภายในบรรดามารยาทเหล่านี้สิ่งที่ดูแปลกประหลาดเป็นพิเศษ คือ "การซู๊ดเส้น"

ชาวต่างชาติที่มาเที่ยวญี่ปุ่นหลายคนเมื่อเห็นคนญี่ปุ่นรับประทานเช่นนี้ก็มักจะเกิดความคิดในทำนองว่า "เราควรทำแบบนั้นด้วยหรือเปล่า?" หรือไม่ก็ "ทำแบบนั้นจะช่วยให้อร่อยขึ้นหรือ?" ในความเป็นจริงแล้ว ในระหว่างรับประทานอาหารประเภทเส้นจะรับประทานโดยไม่ส่งเสียงก็ได้ พฤติกรรมนี้ไม่ได้ถูกจัดให้เป็นมารยาทแต่อย่างใด

ในส่วนของข้อสงสัยที่ว่าจะทำให้อร่อยขึ้นไหมนั้น ก็อาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละคนมีทฤษฎีที่กล่าวไว้ว่า เมื่อซู๊ดเส้นแล้วจะทำให้เส้นเข้ากับน้ำซุปได้ดี เป็นการเพลิดเพลินไปกับกลิ่นหอมของน้ำซุป ในขณะเดียวกันก็ทำให้ความอร่อยเพิ่มมากขึ้น คนที่ซู๊ดเส้นส่วนใหญ่มักให้เหตุผลของการกระทำด้วยทฤษฎีดังกล่าวนี้

เมื่อลองศึกษาเหตุผลนี้ลงละเอียดอีกนิด อีกหนึ่งปัจจัยที่น่าจะเกี่ยวข้องก็คือ คนญี่ปุ่นชื่นชอบ "การทำให้ง่ายขึ้น" คนญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะทำให้ทุกอย่างง่าย สั้น และกระชับขึ้น ตั้งแต่ย่อคำว่าสมาร์ทโฟน (スマートフォン) เป็นสุมาโฮะ (スマホ) สตาร์บัคส์ (スターバックス) เป็นสุตาบะ (スタバ) ไม่เพียงแค่คำต่างๆ เท่านั้น คนญี่ปุ่นยังชื่นชอบที่จะ "ย่อ" ทุกสิ่งอย่าง จึงเป็นไปได้เหมือนกันว่าผลของการลองผิดลองถูกจึงทำให้สามารถรับประทานเส้นยาวๆ ได้อย่างรวดเร็ว จนเกิดเป็นวิธีรับประทานที่ไม่ใช่การค่อยๆ ใช้ตะเกียบคีบที่ละนิด แต่เป็นการซู๊ดโฮกอย่างที่เราเห็นกันในทุกวันนี้

จริงๆ แล้วผู้หญิงญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยก็รู้สึกไม่สบายใจกับการซู๊ดเส้นเช่นกัน เนื่องจากมันไม่ได้เป็นทั้งมารยาทที่ควรปฏิบัติ หรือวิธีที่ทำให้อาหารอร่อยขึ้นแต่อย่างใด หากคุณเป็นหนึ่งในคนที่รู้สึกไม่สบายใจในการรับประทานอาหารประเภทราเมงในญี่ปุ่น เราขอแนะนำให้รับประทานในวิธีที่คุณถนัดจะดีที่สุด

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

4. บ้านเมืองญี่ปุ่นสะอาดมาก! ทำไมถึงไม่มีขยะตกอยู่เลยแม้ไม่มีถังขยะให้เห็น?

หนึ่งสิ่งที่ชาวต่างชาติมักสังเกตเห็นเป็นอันดับแรกเมื่อเดินทางมาถึงญี่ปุ่น คือ ไม่มีถังขยะอยู่ตามตัวเมืองเลย ในขณะเดียวกันก็ไม่มีขยะตกอยู่ตามพื้นเช่นกัน หากพูดกันจริงๆ ในกรณีของถังขยะตามตัวเมืองนั้น ก็เห็นจะมีแค่ถังขยะสำหรับใส่ขวดหรือกระป๋องข้างตู้ขายเครื่องดื่มอัตโนมัติ ทำให้หลายคนอาจเกิดข้อสงสัยว่าคนญี่ปุ่นมีวิธีจัดการกับขยะอย่างไรในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีถังขยะเช่นนี้

ถังขยะที่ญี่ปุ่นนอกจากข้างตู้ขายเครื่องดื่มอัตโนมัติแล้ว ก็จะตั้งอยู่ตามสวนสาธารณะ ร้านสะดวกซื้อ ภายในอาคารและบนชานชาลาของสถานีรถไฟเท่านั้น คนญี่ปุ่นมีธรรมเนียมปฏิบัติอยู่ข้อหนึ่ง คือ เมื่อไม่พบถังขยะอยู่ใกล้ๆ ก็จะนำขยะเก็บใส่กระเป๋าไว้แล้วค่อยทิ้งเมื่อพบถังขยะ หากในระหว่างการเดินทางไม่พบถังขยะเลย ก็จะนำกลับไปทิ้งที่บ้านของตัวเอง ด้วยเหตุนี้เองบ้านเมืองญี่ปุ่นจึงสามารถสะอาดได้แม้ไม่มีถังขยะ

การที่คนญี่ปุ่นมีธรรมเนียมปฏิบัติเช่นนี้มีสาเหตุหลักมาจากระบบการศึกษา สถานศึกษาในญี่ปุ่น (ยกเว้นมหาวิทยาลัยและโรงเรียนเฉพาะทาง) จะไม่มีการจ้างพนักงานทำความสะอาด โดยนักเรียนจะเป็นฝ่ายรับผิดชอบความสะอาดของโรงเรียนเอง ตลอดระยะเวลา 12 ปีช่วงการศึกษาภาคบังคับ จะมีการจัดให้ช่วงเวลาต่างๆ อย่างตอนพักกลางวัน เป็นเวลาสำหรับทำความสะอาด แนวคิดว่าตนเองต้องเป็นผู้รับผิดชอบความสะอาดของสถานที่ที่ตนใช้จึงได้รับการปลูกฝังมาอย่างมั่นคง

การได้รักษาความสะอาดของเมืองและสถานที่สาธารณะต่างๆ ภายใต้แนวคิด "สถานที่ที่เราใช้แล้วต้องสะอาดกว่าตอนก่อนที่เราจะใช้" มาอย่างยาวนาน ทำให้สิ่งนี้ติดตัวทุกคนในฐานะจริยธรรมข้อหนึ่ง อีกทั้งคนญี่ปุ่นยังได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของการทำงานเป็นกลุ่มตั้งแต่อยู่ในสถานศึกษา ทำให้เกิดเป็นมุมมองทางจริยธรรมว่า สิ่งที่คนหมู่มากทำคือสิ่งที่ถูกต้อง ปัจจัยนี้เองที่เข้ามามีบทบาทในการจัดการขยะ เนื่องจากเมื่อเห็นว่าคนส่วนใหญ่ไม่ทิ้งขยะลงตามถนน ก็จะทำให้รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำไปโดยอัตโนมัติ

ต้นต่อของแนวปฏิบัติเหล่านี้เริ่มตั้งแต่ปี 1995 โดยมีการรื้อถอนถังขยะทั่วเมืองเพื่อป้องกันการก่อการร้าย นับจากนั้นชาวญี่ปุ่นก็ได้ใช้ชีวิตประจำวันโดยจัดการกับขยะของตัวเองเรื่อยมา

Klook.com

5. คนญี่ปุ่นรักษามารยาทมากๆ! ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ต้องเข้าแถวรอเสมอ

ภาพ "คนรอต่อคิวกันอย่างเป็นระเบียบ" เป็นสิ่งที่มักพบได้ตามหน้าร้านอาหารและคาเฟ่ชื่อดัง รวมไปถึงในขณะที่กำลังจะขึ้นรถไฟ ที่ญี่ปุ่นมีธรรมเนียมว่าต้องต่อคิวเสมอเวลาใช้บริการสิ่งสาธารณะ เป็นมารยาทอย่างหนึ่งที่ได้รับการปลูกฝังมาจากระบบการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นกลุ่ม

แน่นอนว่าการต่อคิวไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร และสามารถมีให้เห็นได้ทั่วโลก แต่การรักษากฎระเบียบอยู่ตลอดเวลานั้นถือว่ามีความสำคัญต่อคนญี่ปุ่นมาก อย่างตอนใช้บริการรถไฟก็มีการต่อคิวให้ผู้มาก่อนได้อยู่หน้า ตอนขึ้นบันไดเลื่อนก็มีการแบ่งเป็นฝั่งสำหรับคนปกติกับฝั่งสำหรับคนที่เร่งรีบ แม้แต่ตามร้านราเมงและร้านขนมชื่อดัง การขายบัตรคอนเสิร์ตศิลปินยอดนิยม ไปจนถึงแอทแทรคชั่นตามธีมปาร์คต่างๆ คนญี่ปุ่นก็ยังรักษากฏระเบียบและเข้าคิวอยู่เสมอโดยที่ไม่ต้องมีใครมาบอก เป็นความพยายามในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ทั้งตัวเองและผู้อื่นสามารถอยู่ได้อย่างสบายใจ หากคุณได้มาญี่ปุ่นแล้ว คุณจะต้องมีโอกาสได้เข้าคิวแบบนี้บ้างอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นบนชานชาลาเพื่อรอรถไฟ หน้าร้านราเมง หรือแม้แต่การต่อคิวรอเข้าห้องน้ำ

6. ดีเลย์เพียงไม่กี่นาทีก็ขอโทษแล้ว? รถไฟและรถบัสของญี่ปุ่นที่มักจะตรงเวลาอยู่เสมอ

ระบบการขนส่งสาธารณะของญี่ปุ่นเรียกได้ว่ามีประสิทธิภาพที่สุดในโลก โดยทั่วไปแล้วการที่รถไฟหรือรถบัสดีเลย์เพียงไม่กี่นาทีก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่ในกรณีของญี่ปุ่น หากรถไฟมาช้าเพียงแค่ 2 หรือ 3 นาที พนักงานรถไฟและนายสถานีจะทำการขอโทษ พร้อมทั้งออกเอกสารแจ้งสาเหตุของการดีเลย์อย่างเป็นทางการ

ในสังคมญี่ปุ่นมีกฎอย่างไม่เป็นทางการว่าต้องมาถึงก่อนเวลาอย่างน้อย 5 นาที การไม่รักษาเวลาถือเป็นเรื่องต้องห้าม ด้วยเหตุนี้เองในกรณีที่รถไฟไม่สามารถมาตามเวลาที่กำหนด จึงมีการประเทศขอโทษพร้อมกับแจ้งสาเหตุของการดีเลย์ให้ผู้ใช้บริการได้ทราบ เป็นระบบที่บริษัทรถไฟเป็นผู้แสดงความรับผิดชอบในทุกกรณี ไม่ว่าสาเหตุของการดีเลย์จะมาจากอุบัติเหตุ การปฐมพยาบาลผู้ป่วย หรือสภาพอากาศที่แย่ก็ตาม

แม้ว่าในปัจจุบันบริษัทรถไฟในญี่ปุ่นหลายรายยังทำการประกาศเป็นภาษาญี่ปุ่นเพียงภาษาเดียวอยู่ แต่ในกรณีของเมืองใหญ่ที่มีชาวต่างชาติใช้บริการเป็นจำนวนมากนั้น จะมีการแจ้งเหตุผ่านหน้าจอแสดงข้อมูลภายในรถไฟ หากรู้สึกว่ามีอะไรผิดปกติ ขอแนะนำให้เช็กที่จุดนี้ก่อนเป็นอันดับแรก

7. ที่ญี่ปุ่นมีแต่คนป่วย!? ความจริงที่อยู่เบื้องหลังการสวมหน้ากากอนามัยของคนญี่ปุ่น

"ที่ญี่ปุ่นมีคนใส่หน้ากากอนามัยเยอะ" เป็นอีกหนึ่งประโยคที่เรามักได้ยินอยู่บ่อยครั้งเกี่ยวกับญี่ปุ่น

หากไม่นับในกรณีของการป้องกันโรคระบาด ในโลกนี้มีเพียงญี่ปุ่นและบางประเทศในเอเชียเท่านั้นที่มีวัฒนธรรมสวมใส่หน้ากากอนามัยในชีวิตประจำวัน สำหรับประเทศที่ไม่มีวัฒนธรรมนี้ ส่วนใหญ่แล้วก็จะพบผู้สวมหน้ากากอนามัยได้ตามโรงพยาบาลหรือในหนังและละครทีวีเท่านั้น

ญี่ปุ่นมีผู้สวมหน้ากากอนามัยในชีวิตประจำวันมากเป็นพิเศษ แน่นอนว่าหลายคนสวมใส่เพื่อป้องกันโรคอย่างไข้หวัด ในขณะเดียวกันก็มีผู้ที่สวมเพื่อป้องกันการแพ้ละอองเกสรในช่วงฤดูใบไม้ผลิถึงฤดูร้อน ผู้หญิงที่สวมเพื่อปกปิดหน้าที่ยังไม่ได้แต่ง คนดังที่สวมเพื่อไม่ให้ผู้อื่นจำได้ หรือแม้แต่ผู้ที่สวมในกรณีเดียวกันกับแว่นแฟชั่น เป็นหน้ากากแฟชั่นที่ไม่มีก็ไม่เป็นไร แต่หากมีแล้วก็จะทำให้ตัวเองดูมีเสน่ห์มากขึ้น นอกจากนี้ การที่หน้ากากอนามัยมีขายอยู่ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือร้านขายยา ก็อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนญี่ปุ่นรู้สึกใกล้ชิดและไม่ตะขิดตะขวงใจที่จะสวมใส่มันในชีวิตประจำวันก็เป็นได้

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

8. จริงไหมที่ว่าคนญี่ปุ่นทำงานหนักเกินไป?

"คนญี่ปุ่นทำงานหนักเกินไป" ...ปัจจุบันคำว่า "คาโรชิ (過労死)" ที่ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า การเสียชีวิตจากการทำงานหนัก ได้กลายเป็นศัพท์ที่รู้จักกันในระดับโลก ไม่ว่าใครก็ต้องเคยได้ยินปัญหาเกี่ยวกับการทำงานหนักของคนญี่ปุ่นผ่านทางอินเทอร์เน็ตหรือสื่อต่างๆ สักครั้งอย่างแน่นอน

แม้ในระยะหลังนี้ สถานการณ์จะค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ธรรมเนียมไม่ดีในด้านการทำงานของญี่ปุ่นก็ยังคงหลงเหลืออยู่ แม้ว่าจะแตกต่างไปตามอาชีพและขนาดของบริษัท บริษัทในญี่ปุ่นหลายแห่งยังคงคิดว่าการทำงานล่วงเวลาเพิ่มเติมนอกเหนือจากเวลางานเป็นระยะเวลานานๆ นั้นเป็นเรื่องปกติ ถึงขนาดที่มีคนพูดกันว่า "หากทำงานล่วงเวลาไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อเดือนก็ยังถือว่าเป็นบริษัทที่ดีอยู่" มีคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องทำงานถึงเที่ยงคืนจนเกือบไม่ทันรถไฟเที่ยวสุดท้าย มิหนำซ้ำยังต้องออกมาทำงานตั้งแต่ 6 หรือ 7 โมงเช้าอีกด้วย บางคนถึงขนาดต้องนอนที่บริษัทเลยก็มี

เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ในกรณีที่ร้ายแรงที่สุดก็อาจทำให้เกิดผู้ที่เสียชีวิตจากการทำงานหนัก หรือไม่ก็ผู้ที่กระโดดลงรางรถไฟเพื่อฆ่าตัวตาย มีข้อมูลที่แสดงให้เราเห็นว่าในวันจันทร์ ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นของสัปดาห์นั้น มีอัตราการฆ่าตัวตายและเสียชีวิตจากการทำงานหนักมากที่สุด หากดูข้อมูลของเมื่อปีที่ผ่านมา จะพบว่าเฉพาะวันจันทร์วันเดียวก็มีผู้ฆ่าตัวตายเฉลี่ยเป็นชาย 80.7 คนและหญิง 27.3 คนต่อวันแล้ว เป็นสภาพความจริงที่น่าเจ็บปวดเอามากๆ นอกจากนี้ ในฤดูใบไม้ผลิที่เป็นช่วงเริ่มไตรมาสใหม่ของญี่ปุ่น ก็มีแนวโน้มของที่จะมีผู้ฆ่าตัวตายสูงกว่าฤดูอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เราสามารถกล่าวได้ว่ามีผู้คนจำนวนไม่น้อยเลยที่รู้สึกกดดันกับสภาพแวดล้อมในการทำงานของญี่ปุ่น
แม้ว่าในระยะหลังนี้จะเกิดการปรับปรุงต่างๆ ภายใต้ชื่อ "การปฏิวัติวิถีการทำงาน (働き方改革)" แต่บริษัทที่มีธรรมเนียมปฏิบัติไม่ดีเหล่านี้ก็ยังคงมีอยู่มากเช่นกัน

9. สุภาพสุดขั้ว! คนญี่ปุ่นโค้งให้กันในทุกสถานการณ์

"การโค้ง" เป็นกริยาหนึ่งใช้กันบ่อยครั้งในสังคมญี่ปุ่นซึ่งให้ความสำคัญกับมารยาทเป็นอย่างมาก การโค้งนี้ไม่ได้เป็นการกระทำในเชิงศาสนา แต่เป็นกิริยาเพื่อแสดงความเคารพต่ออีกฝ่าย นอกจากสามารถใช้ทักทายแล้ว ยังสามารถใช้แสดงความขอบคุณได้อีกด้วย

แม้ว่าการโค้งจะสามารถใช้ได้ในหลากหลายโอกาส แต่คุณรู้ไหมว่าองศาของการโค้งที่ถูกต้องนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละสถานการณ์ด้วย? ในกรณีของการทักทายเพื่อนหรือคนรู้จักจะเป็นโค้งตื้นๆ แค่ประมาณ 15 องศาที่เรียกว่า "เอชัคคุ (会釈)" กรณีทักทายผู้มีสถานะสูงกว่าหรือการขอโทษจะเป็นโค้งประมาณ 30 องศาที่เรียกว่า "เคเร (敬礼)" และในกรณีที่ต้องการแสดงความเคารพต่ออีกฝ่ายมากขึ้นไปอีกก็จะเป็นโค้งลึกประมาณ 45 องศาที่เรียกว่า "ไซเคเร (最敬礼)" จะเห็นได้ว่าการโค้งนั้นแตกต่างไปตามสถานการณ์และระดับความเคารพที่เรามีต่ออีกฝ่าย โดยคนญี่ปุ่นสามารถแยกใช้สิ่งเหล่านี้ได้อย่างเชี่ยวชาญ

นอกจากนี้ สำหรับชาวต่างชาติแล้วเราขอแนะนำการโค้งแบบเอชัคคุ เนื่องจากเป็นการโค้งที่คนญี่ปุ่นใช้กันในชีวิตประจำวันมากที่สุด การโค้งให้กันเบาๆ ตอนพนักงานคิดเงินเสร็จหรือในกรณีที่มีใครเก็บของตกให้เรา เป็นพฤติกรรมที่คนญี่ปุ่นทำกันจนเป็นปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่ทำการซื้อของ ส่วนใหญ่แล้วจะไม่แสดงความขอบคุณออกมาด้วยคำพูด แต่จะใช้เป็นท่าทางแทน

10. บริการละเอียดอ่อนจนน่าทึ่ง! วัฒนธรรมการให้บริการที่ยอดเยี่ยมของญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นมีคำกล่าวที่ว่า "ลูกค้าคือพระเจ้า" เป็นคำพูดอันโด่งดังของนักร้องเอนกะที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก นักร้องท่านนี้ได้กล่าวไว้ว่า "ร้องเพลงโดยมองว่าลูกค้าคือพระเจ้า มองว่าการทำให้ลูกค้าพึงพอใจเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับนักแสดง" ประกอบกับบุคคลิกที่แจ่มใสของผู้พูด คำพูดและแนวคิดนี้จึงแพร่กระจายและเป็นที่รู้จักไปทั่วญี่ปุ่น

แม้ในปัจจุบัน แนวดังกล่าวก็ยังฝังคงรากลึกอยู่ในธุรกิจร้านค้าและร้านอาหารของญี่ปุ่น ในลักษณะที่ว่า "แขกผู้มาใช้บริการเป็นเสมือนกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทางร้านควรมอบสินค้าและบริการที่ดีที่สุดเพื่อทำให้ลูกค้าพึงพอใจ"

อีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยให้แนวคิดเช่นนี้เป็นที่ยึดถือกันอย่างมากมายในญี่ปุ่น คือ คนญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับ First Impression ร้านค้าหลายร้านในญี่ปุ่นมักมีการกำหนดเสื้อผ้า ทรงผม และแนวการแต่งหน้าของพนักงาน เพื่อให้ดูดีในสายตาลูกค้ามากขึ้น แม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะสามารถพบได้ตามกฎเกณฑ์ของสายการบินและธุรกิจโรงแรมทั่วไปเช่นกัน แต่ในกรณีของญี่ปุ่นนั้น จะให้ความสำคัญถึงไปจนถึงความสะอาดและการวางตัวของพนักงานเพื่อให้ลูกค้ารู้สึกสบายใจ ด้านการพูดจาก็สุภาพนอบน้อม เรียกได้ว่าเป็นความพยายามจากทุกทิศทางเพื่อให้ลูกค้ารู้สึกว่า "ร้านนี้ (และการบริการของร้าน) นั้นช่างวิเศษ"

นอกจากนี้แล้วยังมีอีกหลายสถานการณ์ที่ทำให้เรารู้สึกถึง "หัวใจที่รักในการบริการ" ตัวอย่างเช่น เมื่อเข้าร้านแล้วก็จะได้ยินพนักงานพูด "อิรัซไซมาเสะ (ยินดีต้อนรับ)" พร้อมด้วยรอยยิ้มอย่างทันที เมื่อถึงที่นั่งก็จะมีการเตรียมกล่องไว้ให้ที่ปลายเท้าสำหรับวางสัมภาระ มีการแจกผ้าเปียกเพื่อให้สามารถรับประทานอาหารได้อย่างถูกสุขลักษณะ หรือแม้แต่การเสิร์ฟน้ำที่มีน้ำแข็งใส่มาให้แล้ว

บ่อยครั้งที่เราเห็นชาวต่างชาติชมว่า "คนญี่ปุ่นใจดี" ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะมีสาเหตุมาจากลักษณะดังกล่าวนี้เอง หากคุณมีโอกาสได้มาญี่ปุ่น ขอรับรองว่าคุณจะมีโอกาสได้พบกับการให้บริการที่ทำให้รู้สึกถึงความใจดีของคนญี่ปุ่นแบบนี้เช่นกัน

สรุป

วัฒนธรรมญี่ปุ่นที่ทำให้ชาวต่างชาติต้องตกใจ ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นปฏิบัติกันจนเป็นเรื่องปกติทั้งนั้น ความแตกต่างทางวัฒนธรรมอาจทำให้หลายท่านไม่คุ้นเคยในตอนแรกแต่เราก็ขอแนะนำให้ลองปรับตัวและลองเพลิดเพลินไปกับวัฒนธรรมอันมีเอกลักษณ์เหล่านี้ดูสักครั้ง

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

รับส่วนลดมากมายในญี่ปุ่น ที่นี่!

เกี่ยวกับนักเขียน

Keisuke
Keisuke Tsunekawa
เป็นคนญี่ปุ่นที่ชอบหลีกหนีจากชีวิตในเมืองโตเกียวเป็นครั้งคราว เพื่อค้นพบเส้นทางใหม่ๆ รวมถึงท่องเที่ยวในประเทศอื่นๆ ซึ่งทำให้รู้สึกว่าได้สนุกกับการเชื่อมโยงกับสิ่งที่แตกต่างไปจากที่เคยทำเคยเห็นในชีวิตประจำวัน
  • แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

ค้นหาร้านอาหาร