คู่มือแนะนำ "แก้วเอโดะ" งานฝีมือล้ำค่าของญี่ปุ่น

"แก้วเอโดะ" (江戸硝子) เป็นงานฝีมือที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวซึ่งต่างจากแก้วเอโดะคิริโกะ (江戸切子) อันโด่งดังอยู่เล็กน้อย เป็นที่นิยมเนื่องจากมีเอกลักษณ์อันโดดเด่นและมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ ออกมาอยู่เรื่อยๆ เช่น ร่วมมือทำผลิตภัณฑ์กับแบรนด์สตาร์บัคส์ (Starbucks) นอกจากนี้ แก้วเอโดะยังเป็นหนึ่งในงานฝีมือแบบดั้งเดิมที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยรัฐบาลญี่ปุ่นด้วย ในบทความนี้ เราจะมาอธิบายเสน่ห์ ลักษณะเด่น ประวัติศาสตร์ และข้อมูลอื่นๆ ของแก้วเอโดะอย่างละเอียดกัน!

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

บทความนี้อาจมีลิงก์พาร์ทเนอร์ หากคุณทำการซื้อผ่านลิงก์พาร์ทเนอร์ เราอาจได้รับค่าคอมมิชชั่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับคุณ

ประวัติของแก้วเอโดะ

การผลิตแก้วของญี่ปุ่นนั้นเริ่มขึ้นครั้งแรกในสมัยยาโยอิ (弥生時代 ประมาณ 400 ปีก่อนคริสตกาล) ส่วนภาพด้านบนนี้เป็นชามแก้วจากฝั่งเอเชียตะวันตกที่นำเข้ามายังญี่ปุ่นในสมัยโคฟุน (古墳時代 ประมาณ 250 - 538 ปีก่อนคริสตกาล) อย่างไรก็ตาม การผลิตแก้วในโตเกียวนั้นได้เริ่มแพร่หลายในสมัยเอโดะ (江戸時代 ค.ศ. 1603 - 1868) ซึ่งเป็นผลจากอิทธิพลของเนเธอร์แลนด์และโปรตุเกสในช่วงศตวรรษที่ 16 (ค.ศ. 1501 - 1600) ชาวญี่ปุ่นได้รับการถ่ายทอดความรู้เรื่องการผลิตแก้วผ่านทางจังหวัดนางาซากิ และมีการส่งผลิตภัณฑ์ไปขายทั่วประเทศภายใต้ชื่อ "Vidro" (ビードロ) และ "Giyaman" (ギヤマン) ต่อมา ผลิตภัณฑ์แก้วจากจังหวัดนางาซากิก็ได้รับความนิยมไปจนถึงกรุงเอโดะ (โตเกียวในปัจจุบัน) ทำให้เริ่มมีการผลิตแก้วในกรุงเอโดะตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

การผลิตแก้วในเอโดะเริ่มขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 โดยชายสองคน คือ  “คากายะ คิวเบ (加賀屋久兵衛)” จากนิฮงบาชิ และ “คาสุซายะ โทเมะซาบุโร่" (上総屋留三郎) จากอาซากุสะ โดยคากายะประสบความสำเร็จในการทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึง 'แก้ว' ที่มีราคาแพงในสมัยนั้นได้โดยนำไปทำเป็นกระจกและแว่นตา ในขณะเดียวกันคาสุซายะก็ได้นำแก้วไปทำปิ่นปักผม (かんざし ผู้หญิงมักจะใช้ประดับผมเมื่อสวมชุดกิโมโน) กระดิ่งลม และกล้องคาเลโดสโคป* ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในฐานะสินค้าแฟชั่นของยุคเอโดะ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของแก้วเอโดะเลยทีเดียว

*กล้องคาเลโดสโคป (Kaleidoscope) คือ กล้องภาพลวงตาที่เกิดจากการสะท้อนภาพบนแผ่นกระจกหลายๆ แผ่นประกอบกัน

ในช่วงการปฏิรูปฟื้นฟูยุคเมจิ หลังจากที่เกิดขบวนการต่อต้านรัฐบาลในปี ค.ศ. 1853 - 1867 และมีอิทธิพลสมัยใหม่จากประเทศตะวันตกหลั่งไหลเข้ามาในญี่ปุ่น เทคโนโลยีการผลิตแก้วของญี่ปุ่นก็พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วโดยผสมผสานเทคนิคการผลิตแก้วของญี่ปุ่นและตะวันตกเข้าด้วยกัน ใน ค.ศ. 1873 ได้มีการก่อตั้งโรงงานแก้วเอกชน "Kogyosha" (興業社) และต่อมาใน ค.ศ. 1876 รัฐบาลญี่ปุ่นซึ่งกำลังมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงการผลิตแก้วให้ทันสมัยก็ได้เข้าซื้อโรงงาน Kogyosha และเปลี่ยนชื่อเป็น "โรงงานแก้วชินากาว่า" (品川硝子製造所)

นับแต่นั้นเป็นต้นมา เทคโนโลยีการผลิตแก้วก็พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในหมวดสิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และผลิตภัณฑ์แก้วประเภทอื่นๆ เช่น ขวดยา แก้วสำหรับวิทยาศาสตร์ ฯลฯ ในปัจจุบัน เครื่องแก้วไม่ได้เป็นเพียงของใช้ในครัวเรือนเท่านั้น แต่ยังมีส่วนร่วมอยู่ในทุกแง่มุมของการใช้ชีวิต ไม่เว้นแม้กระทั่งหน้าต่างและรถยนต์

ลักษณะเด่นของแก้วเอโดะ

แก้วเอโดะมีจุดเด่นอยู่ที่ความโปร่งใสและการออกแบบอย่างสร้างสรรค์ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความชำนาญของช่างฝีมือ แก้วเอโดะจะถูกผลิตขึ้นโดยช่างฝีมือทีละชิ้น ทำให้ไม่มีชิ้นไหนเหมือนกันแม้แต่ชิ้นเดียว นอกจากนี้ คุณยังสามารถสัมผัสได้ถึงความอบอุ่นของงานฝีมือได้จากการออกแบบที่ใส่ใจในทุกรายละเอียดด้วย

นอกจากผลิตภัณฑ์ “แก้วเอโดะ” แบบดั้งเดิมแล้ว ยังมีงานฝีมืออีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่า "งานแก้วเอโดะคิริโกะ" (江戸切子)" ด้วย คำว่าแก้วเอโดะเป็นคำเรียกทั่วไปสำหรับผลิตภัณฑ์แก้วที่ผลิตในโตเกียว แต่งานแก้วเอโดะคิริโกะหมายถึง "แก้วเอโดะ" ที่ใช้เทคนิค “คิริโกะ" (切子) ในการตัดลวดลายบนพื้นผิวด้วยอุปกรณ์อย่างหินลับมีดหรือเพชร ด้วยเหตุนี้ เราจึงกล่าวได้ว่าเครื่องแก้วเอโดะคิริโกะเป็นงานแก้วเอโดะประเภทหนึ่งนั่นเอง

ในกระบวนการผลิตแก้วเอโดะ ขั้นแรกจะต้องให้ความร้อนแก้วที่อุณหภูมิ 1,400 องศาเซลเซียสเพื่อหลอมแก้วให้มีลักษณะเหลวคล้ายน้ำเชื่อม จากนั้นจึงนำไปขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ วิธีการขึ้นรูปสำหรับแก้วเอโดะสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ "การเป่าด้วยลม" "การเป่าด้วยแม่พิมพ์" และ "การปั๊มขึ้นรูป"

・การเป่าด้วยลม (Air-blowing)
เป็นวิธีการขึ้นรูปแก้วโดยนำแท่งรูปหลอด (ท่อโลหะบางยาวที่มีโพรงด้านใน) จุ่มลงในแก้วหลอมเหลว แล้วเป่าลมเข้าไปเพื่อขึ้นรูป

・การเป่าด้วยแม่พิมพ์ (Mold-blowing)
เป็นวิธีการใส่แก้วที่ติดกับแท่งเหล็กเข้าไปในแม่พิมพ์และเป่าลมเข้าไปในเพื่อขึ้นรูป

・การปั๊มขึ้นรูป (Casting)
เป็นวิธีการเทแก้วลงในแม่พิมพ์แล้วปั๊มให้เข้ารูป

เมื่อเทียบกับการเป่าด้วยแม่พิมพ์แล้ว การเป่าด้วยลมจะทำให้ได้แก้วที่มีรูปร่างอิสระกว่าเพราะไม่มีแม่พิมพ์ที่ตายตัว แต่ก็เป็นวิธีที่ยาก ต้องใช้เทคนิคและความชำนาญสูง เนื่องจากลายแก้วจะแตกหากปล่อยให้เย็นตัวด้วยอุณหภูมิห้อง ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการลดอุณหภูมิลงอย่างช้าๆ ในเตาพิเศษที่เรียกว่า "เตาหล่อเย็นช้า" (徐冷炉)

แก้วเอโดะในปัจจุบัน

แก้วเอโดะซึ่งได้การสืบทอดและพัฒนาเทคนิคแบบดั้งเดิมมาอย่างยาวนานนี้ ได้รับการจดทะเบียนให้เป็นงานฝีมือแบบดั้งเดิมโดยรัฐบาลกรุงโตเกียวใน ค.ศ. 2002 และเมื่อถึง ค.ศ. 2014 แก้วเอโดะก็ได้รับการจดทะเบียนให้เป็นงานฝีมือแบบดั้งเดิมจากกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่นด้วย

ในปัจจุบัน บริษัทแก้วเอโดะได้ผลิตสินค้าหลากหลายรูปแบบ นอกจากแก้วแล้วก็มีจานและของจิปาถะอีกมากมาย อีกทั้งทางบริษัทยังได้เริ่มผลิตแก้วเอโดะรูปแบบใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น แก้วเอโดะเนื้อบางเฉียบ หรือแม้แต่การออกแบบลวดลายร่วมกับร้านกาแฟชื่อดังอย่าง “สตาร์บัคส์”

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

สินค้าแนะนำ!

[แก้วสาเก] แก้วแกะสลักลายภูเขาไฟฟูจิ สีฟ้าและสีแดง พร้อมกล่องไม้ (เซ็ตคู่) | แก้วเอโดะ

จอกเหล้าสาเกรูปภูเขาไฟฟูจิซึ่งถือเป็นเครื่องรางนำโชคและสัญลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่น วัสดุที่ใช้ทำจอก คือ ลาพิส ลาซูลี (Lapis Lazuli) และแก้วคิเสะสีแดง (被せ硝子) ในการทำแก้วนี้ ช่างฝีมือผู้เชี่ยวชาญจะต้องเป่าแก้วใสกับแก้วสีบางๆ ซ้อนเป็นชั้นด้วยความระมัดระวัง และต้องทำทีละใบเท่านั้น จากนั้นจึงทำการพ่นทรายเพื่อให้ได้ส่วนที่เป็นหิมะของภูเขาไฟฟูจิ

[ชามตื้น, จานเล็ก, ขวดโชยุ] Tomi Glass เซ็ตอุกิโยะอิกิ | แก้วเอโดะ

ชุด "อุกิโยะ" เป็นแก้วเอโดะทำมือในโทนสีที่สื่อถึง “วัฒนธรรมเอโดะ” ชุดนี้ประกอบไปด้วยสินค้า 3 ชิ้น ได้แก่ ชามตื้น จานเล็กใส่กับแกล้ม (豆皿 อ่านว่า มาเมะซาระ) และขวดโชยุทรงเหยือก เป็นสินค้าที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างโรงงานผลิตแก้วเอโดะเก่าแก่และแบรนด์ Tomi Glass ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์งานฝีมือที่มีลวดลายสวยงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างแท้จริง อีกทั้งยังใช้เทคนิคลงสีโดยการโรยผงสีด้วย

※สินค้าหมด

【แก้วน้ำ】Mariene XANA | แก้วเอโดะ

แก้วสาเกใบนี้เป็นแก้วเอโดะรูปแบบใหม่ดังที่เคยแนะนำในบทความนี้ ออกแบบโดย Wolf Wagner ดีไซน์เนอร์ชาวเยอรมัน ทำให้ดูมีสไตล์และทันสมัย ​แก้วใบนี้มี​ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 8 ซม. สูง 6.5 ซม. ซึ่งใกล้เคียงกับแก้วสาเกทั่วไป แต่จะมีความลึกมากกว่าทำให้ถือสะดวกและใช้งานง่าย

▶ มองหางานฝีมืออื่น ๆ

บทความที่เกี่ยวข้อง:

▶ 9 แบรนด์ถ้วยชามญี่ปุ่นน่าใช้ในวันพิเศษ

▶ 6 แจกันญี่ปุ่นสำหรับใช้ในทุกโอกาส

▶ 46 ถ้วยชามญี่ปุ่นคุณภาพดี น่าใช้ในร้านอาหาร

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !

* สินค้าบางชนิดอาจไม่สามารถจัดส่งไปยังบางประเทศได้ ดังนั้น กรุณาตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมในเว็บไซต์ของผู้ขายก่อนทำการสั่งซื้อ

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

รับส่วนลดมากมายในญี่ปุ่น ที่นี่!

เกี่ยวกับนักเขียน

tsunagu
tsunagu Japan
นี่คือแอ็คเคาท์ทางการของ tsunagu japan
  • แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

ค้นหาร้านอาหาร