เที่ยว "เดจิมะ (Dejima)" ทางเชื่อมสู่โลกภายนอกแห่งเดียวของญี่ปุ่นสมัยปิดประเทศ

รู้หรือไม่ว่าครั้งหนึ่งประเทศญี่ปุ่นเคยตัดขาดจากโลกภายนอกอย่างสิ้นเชิงเป็นเวลาถึง 218 ปี! ในช่วงเวลานั้นชาวต่างชาติได้รับอนุญาตให้เดินทางมาแค่สถานที่เดียวเท่านั้น ซึ่งก็คือเกาะที่มนุษย์สร้างขึ้นในอ่าวนางาซากิที่มีชื่อว่า “เกาะเดจิมะ” ด้วยความเป็นเมืองท่า เกาะนี้จึงได้รับวัฒนธรรมตะวันตก และมีสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างญี่ปุ่นและตะวันตกที่ยังคงหลงเหลือมาจนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบันเดจิมะเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดนางาซากิ และเป็นร่องรอยของความข้องเกี่ยวระหว่างวัฒนธรรมญี่ปุ่นและตะวันตกที่หาได้ยากในประวัติศาสตร์ จึงมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากมาเยี่ยมชม บทความนี้จะเจาะลึกประวัติศาสตร์และความสำคัญทางวัฒนธรรมของเดจิมะ หรือก็คือสิ่งเตือนใจถึงช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นปิดประเทศนั่นเอง

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

บทความนี้อาจมีลิงก์พาร์ทเนอร์ หากคุณทำการซื้อผ่านลิงก์พาร์ทเนอร์ เราอาจได้รับค่าคอมมิชชั่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับคุณ

"เกาะเดจิมะ" คือที่ไหน?

เดจิมะในปัจจุบันตั้งอยู่ใกล้แถบใจกลางเมืองในจังหวัดนางาซากิใกล้ และอยู่ติดกับอ่าวนางาซากิ แม้ว่าตอนนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินใหญ่ แต่ในสมัยก่อนเดจิมะเป็นเกาะที่มนุษย์สร้างขึ้นในบริเวณนั้นและได้รับการจัดตั้งขึ้นเป็นท่าเรือสำหรับค้าขายระหว่างญี่ปุ่นและโปรตุเกส โดยมีปริมาณที่สามารถค้าได้จำกัด เดจิมะมีชื่อเสียงในอดีตด้วยรูปร่างของเกาะที่เหมือนพัด สร้างขึ้นอย่างสวยงามด้วยน้ำมือของแรงงานผู้ก่อสร้างจำนวนมาก

รัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดให้เดจิมะเป็นโบราณสถานแห่งชาติในปี ค.ศ. 1922 และในปี ค.ศ. 1951 ก็แต่งตั้งให้เป็นโครงการบูรณะสาธารณะซึ่งยังคงดำเนินการมาจนถึงทุกวันนี้ เดจิมะจะมีร่องรอยของวิถีชีวิตของพ่อค้าชาวยุโรปในญี่ปุ่นเมื่อหลายร้อยปีก่อนซึ่งหาได้ค่อนข้างยาก จึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมมาอย่างยาวนาน

ประวัติศาสตร์ของเดจิมะ

แนวคิดในการก่อตั้งเดจิมะเริ่มต้นจากโชกุน (ขุนนางศักดินา) นามโทคุงาวะ อิเอมิทสึ (Tokugawa Iemitsu) โดยเกิดขึ้นเพื่อทำกำไรจากการค้าขายและควบคุมการแพร่กระจายของวัฒนธรรมและศาสนาของชาติตะวันตกในญี่ปุ่นไปพร้อมกัน

หลังจากตัวเกาะสร้างจนเสร็จสมบูรณ์ในปีค.ศ. 1636 พ่อค้าชาวโปรตุเกสและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็ได้รับอนุญาตให้ตั้งร้านค้าบนเกาะได้ ทว่าไม่ได้รับอนุญาตให้ทำธุรกิจนอกพื้นที่เดจิมะ ในทำนองเดียวกัน คนญี่ปุ่นเองก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นไปบนเกาะ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตให้ทำงานหรือทำธุรกิจบางอย่างบนเกาะเดจิมะเท่านั้น

เกาะนี้มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า “สึกิชิมะ (Tsukishima)” หมายถึง “เกาะที่มนุษย์สร้างขึ้น” และสร้างโดยการเวนคืนที่ดินในแถบท่าเรือ การค้าขายระหว่างประเทศในเดจิมะเจริญรุ่งเรืองมากแม้จะถูกจำกัดพื้นที่  อีกทั้งนอกจากสินค้าแล้วก็ยังรับเอาความรู้จากตะวันตกเข้ามาด้วย ไม่ว่าจะเป็นในด้านการแพทย์ เคมี การเดินเรือ หรือถึงการทำอาวุธ กระทั่งนักวิชาการชาวญี่ปุ่นก็ยังพยายามหาทางไปยังเดจิมะเพื่อไปศึกษาวิทยาทานเหล่านั้น

เนื่องจากชาวยุโรปและชาวต่างชาติส่วนใหญ่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปที่อื่นนอกจากเกาะเดจิมะ ชาวต่างชาติหลายคนจึงเข้ามาอาศัยบนเกาะโดยผสมผสานวัฒนธรรมของชาติตัวเองลงไปเพื่อให้รู้สึกเหมือนอยู่ในประเทศบ้านเกิดมากขึ้น

ในเดจิมะอาจมีผู้คนจากหลายอาชีพอย่างพ่อค้าหรือแพทย์ แต่คนส่วนใหญ่ก็ถูกส่งมายังเดจิมะในฐานะผู้ช่วยดำเนินงานของบริษัทการค้าอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ (Dutch East India Trading Company) จึงเกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่างสถาปัตยกรรมสไตล์ยุโรปและการตกแต่งภายในอย่างหรูหราสไตล์ญี่ปุ่นดั้งเดิม

อย่างไรก็ตาม ด้วยความกังวลเกี่ยวกับการแพร่กระจายของศาสนาคริสต์ โชกุนโทคุงาวะจึงได้ขับไล่ชาวโปรตุเกสออกจากประเทศญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1639 ในขณะที่ชาวเนเธอร์แลนด์และผู้เกี่ยวข้องที่ภักดีได้รับสิทธิในการผูกขาดการค้าบนเกาะเดจิมะ

ยุคญี่ปุ่นปิดประเทศ (สมัย Sakoku)

ยุคการแยกตัวเป็นเอกเทศของญี่ปุ่นหรือที่เรียกว่า “Sakokuเริ่มต้นภายใต้บัญชาของโชกุนโทคุงาวะ อิเอมิทสึ โดยคำสั่ง Sakoku รวมห้าฉบับถูกบัญญัติในระหว่างปีค.ศ. 1633 ถึง 1639 และส่วนใหญ่เขียนไว้เพื่อบังคับใช้กับชาวยุโรป โดยคำสั่งทั้งหมดมีดังต่อไปนี้

คำสั่งที่ 1: ห้ามมิให้มีการเดินทางระหว่างประเทศ ยกเว้นแต่จะเป็นเรือค้าขายที่ได้รับอนุญาตจากโชกุนโทคุงาวะ (ค.ศ.1633)

 

คำสั่งที่ 2: ห้ามมิให้ชาวญี่ปุ่นเดินทางไปต่างประเทศ (ค.ศ.1635)

 

คำสั่งที่ 3: ห้ามมิให้ชาวญี่ปุ่นเดินทางไปต่างประเทศ และห้ามมิให้ชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศเดินทางกลับญี่ปุ่น รวมถึงห้ามไม่ให้มีการก่อสร้างเรือขนาดใหญ่ (ค.ศ.1635)

 

คำสั่งที่ 4: ชาวโปรตุเกสได้รับการอนุญาตให้เข้าประเทศได้ที่เกาะเดจิมะเท่านั้น (ค.ศ.1636)

 

คำสั่งที่ 5: ชาวโปรตุเกสไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในประเทศญี่ปุ่นอีกต่อไป (ค.ศ.1639)

ชาวดัตช์ได้ตั้งรกรากบนเกาะ Hirado ซึ่งเป็นเกาะรอบนอกของนางาซากิเป็นเวลาหลายปี ระหว่างนั้นบริษัทการค้าอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์มีการก่อตั้งบริษัทการค้าแห่งฮิราโดะแห่งเนเธอร์แลนด์ (Hirado Dutch Trading Post) ขึ้นมาด้วย แต่ในปีค.ศ. 1641 พวกเขาได้รับคำสั่งให้ย้ายไปที่เกาะเดจิมะเพื่อทำตามนโยบาย Sakoku และตัดขาดญี่ปุ่นออกจากโลกภายนอก 

แม้จะมีการเรียกร้องหลายครั้งจากประเทศอื่นๆ อย่างสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศสที่ขอให้ญี่ปุ่นเปิดการค้าและการแลกเปลี่ยนอีกครั้ง แต่ญี่ปุ่นก็ได้ปฏิเสธไป

นโยบายปิดประเทศมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 218 ปีจนถึงปีค. ศ. 1853 เมื่อพลเรือจัตวาแมทธิว เพอร์รี (Commodore Matthew Perry) เดินทางมาถึงญี่ปุ่นพร้อมกับเรือสีดำอันโด่งดังของเขา และบังคับให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศอีกครั้ง

เดจิมะหลังญี่ปุ่นเปิดประเทศ

หลังจากที่ประกาศ Sakoku ถูกยกเลิกไปแล้วเกือบ 50 ปี ในปีค.ศ. 1904 รูปทรงพัดที่เป็นเอกลักษณ์ของเดจิมะก็ได้หายไปเนื่องจากมีโครงการเวนคืนท่าเรือประจำจังหวัดเพื่อสร้างทางเดิน ทำให้เดจิมะกลับมาติดอยู่กับแผ่นดินใหญ่ของจังหวัดนางาซากิ บริษัทการค้าอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ได้ยกเลิกกิจการไป นอกจากนี้อาคารหลายแห่งก็มีการเปลี่ยนใหม่ เช่น โรงงาน Dejima Dutch ซึ่งเปลี่ยนสภาพเป็นสถานกงสุล

เดจิมะได้กลายเป็นนิคมชาวต่างชาติแห่งนางาซากิ และภูมิประเทศของเกาะก็ถูกปรับเปลี่ยนเพื่อให้เหมาะสำหรับทำการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น แม้ว่าภูมิทัศน์เดจิมะจะเปลี่ยนแปลงไปมากในช่วงเวลานี้ แต่ก็ยังมีอาคารที่รักษาสภาพเดิมแม้จะผ่านมากว่า 100 ปี เช่น มหาวิทยาลัยโปรเตสแตนต์เก่าของเดจิมะที่สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1878 และอาคารสโมสรนานาชาตินางาซากิเดิมที่สร้างขึ้นในปีค.ศ. 1903

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

เดจิมะในปัจจุบัน

ถึงแม้เดจิมะจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินใหญ่นางาซากิและไม่ได้เป็นเกาะอีกต่อไป แต่กลิ่นอายที่หลงเหลืออยู่ในผืนดินเล็กๆ แห่งนี้ก็ชวนให้นึกถึงช่วงเวลาที่มันเป็นเพียงสถานที่เดียวที่ชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติสามารถพบปะกันได้

อาคารเก่าแก่หลายหลังยังคงอยู่ในสภาพเดิมหรือไม่ก็ถูกสร้างขึ้นใหม่ ทั้งยังรักษาบรรยากาศที่เงียบสงบไว้ได้แม้จะอยู่ใจกลางเมืองนางาซากิที่คึกคัก ทางเข้าสู่เดจิมะเป็นประตูขนาดใหญ่ที่เรียกว่า“ ประตูแห่งทะเล (Sea Gate)” ซึ่งสร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบญี่ปุ่นดั้งเดิม ทั้งสวยงามและมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ด้วยในอดีตเดจิมะเป็นเหมือนประตูสู่การค้าและการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการนั่นเอง

จังหวัดนางาซากิดำเนินการบูรณะเดจิมะมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1948 และได้สร้างอาคารหลายหลังขึ้นใหม่เมื่อเร็วๆ นี้ในปีค.ศ. 2016 อาคารเหล่านี้เป็นสิ่งก่อสร้างที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรม อย่างเช่นที่พักของหัวหน้าพ่อค้าคนกลางชาวดัตช์ที่มีชื่อเสียง หรือที่เรียกว่า "ห้องกะปิตัน (Kapitan Room)" เป็นอาคารที่ใหญ่ที่สุดบนเดจิมะซึ่งมีการตกแต่งภายในด้วยเฟอร์นิเจอร์สไตล์ยุโรป

อาคารหลายแห่งสามารถเข้าชมได้ ให้คุณได้เห็นความแตกต่างของการตกแต่งภายในและภายนอกซึ่งสะท้อนถึงชีวิตของผู้อยู่อาศัยในสมัยนั้น ทั้งนี้แผนฟื้นฟูระยะยาวของจังหวัดนางาซากิยังระบุไว้ว่าจะมีการลองสร้างเกาะให้มีรูปร่างคล้ายพัดแบบเดิมอีกด้วย

อาคารส่วนใหญ่ในเดจิมะสร้างจากไม้สีเข้มซึ่งตัดกับผนังสีขาวของญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมอย่างลงตัว แต่สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์อีกสิ่งหนึ่งคือการตกแต่งภายนอกหลายส่วนด้วยสีเขียวอมฟ้า เดิมทีสีนี้ได้มีการนำเข้าโดยชาวดัตช์และเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่สำคัญของการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมดัตช์และญี่ปุ่น

เนื่องจากสีนี้มักถูกใช้กับงานไม้สไตล์ญี่ปุ่นอย่างพวกราวจับบันได อย่าลืมเดินผ่านและเข้าไปในอาคารต่างๆ ดู คุณจะได้เห็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมที่น่าสนใจมากทีเดียว! นอกจากนี้คุณยังสามารถแต่งตัวในชุดกิโมโนและถ่ายภาพสวยๆ เหมือนกลับไปเดินเล่นในสมัยก่อนได้ด้วย

Klook.com

ไปเที่ยวเดจิมะและย้อนเวลาหาประวัติศาสตร์กันเถอะ!

เดจิมะเป็นส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบของวัฒนธรรมตะวันตกที่เข้ามายังสังคมญี่ปุ่น คุณจะได้ดื่มด่ำกับประสบการณ์สมัยก่อน จากอาคารบ้านเรือนที่สามารถเดินเข้าออกได้อย่างเสรี หากมีโอกาสไปยังจังหวัดนางาซากิก็อย่าลืมแวะไปที่เดจิมะสักหน่อย แล้วจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับช่วงเวลาอันมีเสน่ห์ที่สุดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นอย่างแน่นอน!

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !

มนต์เสน่ห์คิวชู
เช่ารถได้ในราคาที่คุณต้องการ รถเช่า หากคุณต้องการเช่ารถในญี่ปุ่น ต้องที่นี่เลย! ดูข้อมูลเพิ่มเติม

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

รับส่วนลดมากมายในญี่ปุ่น ที่นี่!

เกี่ยวกับนักเขียน

Kim
Kim S.
เกิดและโตในอเมริกา ปัจจุบันทำงานอยู่ในละแวกโตเกียว ชอบวัฒนธรรมญี่ปุ่นดั้งเดิมเป็นพิเศษ มักเดินทางไปสถานที่ลับๆ หรือย่านเงียบสงบทั่วญี่ปุ่นเพื่อตามหาบรรยากาศท้องถิ่นหรือย้อนยุคที่ทำให้รู้สึกได้ย้อนเวลาไปในอดีต นอกจากนี้ยังชอบออกตามหาสถานที่พิเศษๆ ที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักและร้านกาแฟอร่อยๆ ทั่ว 47 จังหวัดของญี่ปุ่น
  • แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

ค้นหาร้านอาหาร