คนญี่ปุ่นบ้างานจริงไหม? พาตามติดชีวิตประจำวันของชาวญี่ปุ่นแบบเจาะลึก!

ภาพลักษณ์ของชาวญี่ปุ่นในสายตาคนต่างชาติมักจะวนเวียนอยู่แถวๆ คำว่า "เอาจริงเอาจัง" และ "ขยันสุดๆ" แต่แน่ใจหรือว่านั่นเป็นความจริง? วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับการใช้ชีวิตแบบญี่ปุ่นๆ ผ่านทางชีวิตประจำวันของพนักงานบริษัทกัน

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

บทความนี้อาจมีลิงก์พาร์ทเนอร์ หากคุณทำการซื้อผ่านลิงก์พาร์ทเนอร์ เราอาจได้รับค่าคอมมิชชั่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับคุณ

วันๆ ของชาวญี่ปุ่นก็แบบนี้แหละ (ฉบับพนักงานบริษัท)

ภาพลักษณ์ในด้านความจริงจังและความขยันของชาวญี่ปุ่นนั้นฝังลึกมากถึงขนาดที่คำว่า 過労死 (อ่านว่า Karoshi หมายถึงการเสียชีวิตเพราะทำงานหนัก) กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกเลยทีเดียว และปัญหานี้ก็ยังคงมีอยู่จริงเสียด้วย อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายๆ ปีมานี้ก็เริ่มมีการปฏิรูปการทำงานเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงคุณภาพตลาดแรงงาน หรือการลดชั่วโมงทำงานที่มากเกินความเหมาะสม ซึ่งก็เป็นผลพวงจากความพยายามในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและแรงงานที่ลดลงเนื่องจากอัตราการเกิดต่ำนั่นเอง

แล้วพนักงานบริษัทในญี่ปุ่นในปัจจุบันจริงๆ แล้วใช้เวลาในแต่ละวันกันอย่างไรล่ะ? ถ้าอยากรู้ก็ตามเรามาได้เลย!

6:30 - 7:30 น. : ตื่นนอน

ชาวญี่ปุ่นค่อนข้างจริงจังกับการตื่นนอนมาก คนที่ตื่นสายจะถูกมองว่าไม่สามารถรับผิดชอบตัวเองได้และความไว้วางใจจากที่ทำงานก็จะลดลงทันที นอกจากนี้การรับประทานอาหารก็เป็นความบันเทิงรูปแบบหนึ่งในยามเช้าด้วยเช่นกัน

อาหารเช้าของญี่ปุ่นแต่เดิมจะประกอบด้วยข้าวสวย ซุปมิโซะ ปลาย่าง และไข่ม้วน แต่ด้วยคนเริ่มออกมาใช้ชีวิตอยู่คนเดียวมากขึ้นประกอบกับวัฒนธรรมการทานอาหารที่เปลี่ยนไป ทำให้ผู้คนหันไปหาอาหารที่รับประทานง่ายและรวดเร็วอย่างขนมปังมากกว่า ส่วนใครใส่ใจสุขภาพหรือรักสวยรักงามก็จะนิยมรับประทานผลไม้ โยเกิร์ต หรือกราโนล่า

หลังจากล้างหน้าล้างตาเรียบร้อยแล้ว สาวๆ ก็จะเริ่มลงเครื่องสำอางค์ ส่วนหนุ่มๆ ก็จะเซ็ตผมให้เรียบร้อยก่อนออกจากบ้าน เพราะการแต่งตัวให้ดูเรียบร้อยสะอาดสะอ้านก็นับเป็นมารยาทอย่างหนึ่ง ถ้าหากออกไปข้างนอกโดยไม่แต่งหน้าหรือสวมสูทยับๆ ก็จะถูกว่าว่าเป็นคนไม่มีมารยาทเอาได้

8:00 - 9:00 น. : ออกเดินทาง

ในเมืองใหญ่อย่างโตเกียวหรือโอซาก้า ผู้คนจะนิยมใช้รถไฟเป็นหลักในการเดินทาง สถานีรถไฟในช่วง 8:00 - 9:00 น. ซึ่งคนออกไปทำงานและไปโรงเรียนจึงมักจะวุ่นวายเป็นพิเศษ เรียกว่า 通勤ラッシュ (อ่านว่า Tsukin Russhu) หรือที่เรารู้จักกันดีในนาม Rush Hour นั่นเอง บางเส้นทางในโตเกียวก็มีอัตราคนขึ้นรถไฟสูงกว่าปกติถึง 200% เลยทีเดียว

หากเป็นเมื่อก่อนเราอาจจะเห็นภาพคนถือหนังสือพิมพ์อ่านข่าวการเมืองหรือธุรกิจบนรถไฟ แต่ในปัจจุบันคนก็มักจะใช้เวลาไปกับสมาร์ทโฟนมากกว่า ทั้งเล่นโซเชียลเน็ตเวิร์ค ฟังเพลง เล่นเกม หรือบางคนก็อ่านหนังสือบน Kindle ตามแต่ความสนใจ

นอกจากนี้ คนที่หลับก็มีไม่น้อยเช่นกัน ไม่ว่าจะนั่งหรือยืนอยู่เราก็สามารถเห็นผู้คนหาวิธีใช้เวลาพักผ่อนกันได้อย่างน่าสนใจ การสามารถหลับในที่สาธารณะได้โดยไม่ต้องกลัวขโมยก็อาจเป็นภาพที่เราจะเจอในประเทศที่ความปลอดภัยสูงอย่างญี่ปุ่นเท่านั้นก็เป็นได้

12:00 - 13:00 น. : พักรับประทานข้าวกลางวัน

แม้เดี๋ยวนี้บางบริษัทจะกำหนดเวลางานยืดหยุ่นมากขึ้น แต่ทั่วไปเวลาพักกลางวันก็ยังคงเป็นช่วง 12:00 - 13:00 น. ในช่วงเวลานี้หากแถวไหนมีออฟฟิศเยอะๆ เราก็จะได้เห็นพนักงานบริษัทที่ถือแค่สมาร์ทโฟนและกระเป๋าสตางค์ออกมาเดินกันเต็มไปหมด

ร้านอาหารทั่วไปมักจะมีเมนูอาหารกลางวันราคาพิเศษที่ซื้อได้ในด้วยเงินราวๆ 800 - 1,200 เยน หน่วยงานรัฐบาลหรือบริษัทใหญ่ๆ หลายที่ก็มีโรงอาหารเป็นของตัวเองและอาจสามารถซื้ออาหารได้ด้วยงบไม่เกิน 500 เยนเท่านั้น หากใครอยากประหยัดหรือเน้นความเร็วก็อาจจะซื้อขนมปังหรือข้าวปั้นจากร้านสะดวกซื้อ คนที่ทำข้าวกล่องมาเองจากบ้านแล้วที่นั่งทานแถวๆ นั้นก็มีไม่น้อย

ช่วงเวลานี้เป็นเวลาพักผ่อนที่สำคัญมากใน 1 วันยุ่งๆ ของคนญี่ปุ่น บางคนก็อาจจะหาที่หลบไปผ่อนคลายคนเดียว หรือบางคนก็อาจจะนั่งพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน แต่ละคนก็มีวิธีใช้เวลาแตกต่างกันออกไป

เวลางาน

ชาวญี่ปุ่นขึ้นชื่อทั้งในเรื่องปริมาณและคุณภาพของงาน อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการอยู่เป็นกลุ่มมากๆ ถึงขั้นมีวลีเฉพาะทีพูดถึงการ "อ่านบรรยากาศ" เลยทีเดียว แม้งานในส่วนของวันนั้นจะเสร็จแล้ว หลายคนก็จะยังรู้สึกว่าไม่สามารถกลับบ้านได้และอยู่ทำงานล่วงเวลาต่อ แม้ทุกวันนี้คนจะให้ความสนใจกับ Work-Life Balance และเริ่มเลิกงานตรงเวลามากขึ้น แนวคิดแบบเดิมก็ยังคงฝังรากลึกอยู่ในสังคมญี่ปุ่นส่วนใหญ่อยู่ดี

17:30 - 18:30 น. : เลิกงาน

ในปัจจุบันคนเริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น หลายคนจึงเข้าใช้บริการยิมที่อยู่ระหว่างบ้านและที่ทำงานเพื่อออกกำลังกาย ในกลุ่มผู้หญิงจะนิยมกีฬาที่ฝึกสมาธิไปควบคู่กับร่างกายอย่างโยคะและสนุกไปกับการตามแฟชั่นชุดออกกำลังกาย บางคนก็ลงเรียนทำอาหารหรือเรียนสนทนาภาษาอังกฤษก็มี คลาสเรียนต่างๆ ก็จะพากันเปิดในช่วง 18:00 - 22:00 น. เพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านี้นั่นเอง

Klook.com

19:00 - 21:00 น. : เดินทางกลับบ้านและรับประทานอาหารเย็น

หลายคนจะกลับไปรับประทานอาหารเย็นที่บ้าน บ้างก็เข้าครัวทำอาหารเอง แต่ถ้าอาศัยอยู่คนเดียวโดยส่วนมากก็มักจะซื้อข้าวกล่องหรือกับข้าวสำเร็จจากร้านสะดวกซื้อหรือซูเปอร์กลับไปมากกว่า

หรือในกรณีที่รับประทานอาหารนอกบ้าน กลุ่มที่ได้รับความนิยมก็จะเป็นร้านอาหารชุด ร้านข้าวหน้าเนื้อ หรือร้านอาหารครอบครัว ถ้าเป็นร้านสาขาก็มักจะเปิดถึงดึกๆ หรือเปิด 24 ชั่วโมงเลยก็มี บางทีก็สามารถซื้ออาหารอร่อยๆ ได้ในราคาเพียง 300 - 1,000 เยนเท่านั้น ในช่วงนี้ถ้าเราแอบมองเข้าไปในร้านเหล้าสักหน่อยก็จะกลุ่มพนักงานบริษัทหรือกลุ่มสาวๆ ในชุดสูทมาสังสรรค์กันได้ทั่วไป เปิดโอกาสให้แต่ละคนได้พูดคุยกันนอกเหนือจากเรื่องงาน ทำความรู้จักกันมากขึ้น หรือคลายความเครียดเพื่อเตรียมตัวรับมือกับงานในวันถัดๆ ไป

ในสมัยก่อนพนักงานบริษัทมักจะถูกบังคับให้เข้าร่วมหากมีการจัดงานสังสรรค์หลังเลิกงาน แต่เพราะคนเริ่มให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวมากขึ้น รวมถึงมีคนที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มมากขึ้น งานสังสรรค์ในรูปแบบนี้จึงลดลงมากโดยเฉพาะในกลุ่มพนักงานอายุน้อย

21:00 น. เป็นต้นไป : เวลาพักผ่อน

เมื่อกลับถึงบ้านแล้ว หลายคนก็อาจจะใช้เวลากับครอบครัว อ่านหนังสือ เล่นเกม เล่นโซเชียลเน็ตเวิร์คหรือทำงานอดิเรกอื่นๆ อย่างช่วง 21:00 - 23:00 น. อัตราการดูโทรทัศน์จะสูงเป็นพิเศษ ในช่วงนี้จึงมีรายการโทรทัศน์หลากหลายให้รับชม ไม่ว่าจะเป็นรายการวาไรตี้ ละครดัง หรือข่าว แต่ในปัจจุบันคนก็ดูโทรทัศน์ทั่วไปน้อยลงมากและเริ่มหันมาหา Netflix หรือ YouTube เป็นทางเลือก

นอกเหนือจากนั้น ชาวญี่ปุ่นบางคนก็อาจผ่อนคลายโดยการ "อาบน้ำ" ถ้าเป็นในฤดูร้อนผู้คนส่วนใหญ่มักจะเพียงอาบน้ำฝักบัวเฉยๆ แต่ในวันที่ร่างกายล้าหรือในฤดูที่อากาศเย็น การลงแช่น้ำอุ่นๆ ในอ่างก็ช่วยคลายความเหนื่อยล้าได้ไม่เลวเลย 

23:00 - 1:00 น. : เข้านอน

เมื่อก่อนคนญี่ปุ่นจะนอนบนฟูกที่ปูบนเสื่อทาทามิ แต่เดี๋ยวนี้ก็นอนบนเตียงกันเป็นส่วนใหญ่แล้ว ก่อนเข้านอนก็จะตรวจสอบตารางของวันพรุ่งนี้และเตรียมของที่จำเป็นไว้ล่วงหน้า ความเอาจริงเอาจังแม้กระทั่งในช่วงเวลาก่อนนอนเช่นนี้ก็เป็นสิ่งที่ชาวญี่ปุ่นถูกสอนมาตั้งแต่เด็กๆ

ในญี่ปุ่นจะมีความเชื่อว่าการนอนโดยหันศีรษะไปทางทิศเหนือจะเป็นลางไม่ดี สาเหตุก็เพราะพระพุทธเจ้าหันศีรษะไปทางทิศเหนือในยามที่ท่านปรินิพพานนั่นเอง

วันหยุดของชาวญี่ปุ่นก็แบบนี้แหละ

ถ้าวันธรรมดาจะทำงานกันเครียดขนาดนี้ แล้ววันหยุดจะเป็นยังไงล่ะเนี่ย? เราจะพาคุณไปดูอันดับกิจกรรมยามว่างยอดนิยม Leisure Hakusho 2019 ที่จัดทำโดย Japan Productivity Center กัน

อันดับ 5 : ดูภาพยนตร์ (ไม่รวมการดูในโทรทัศน์)

แม้ความแพร่หลายของโทรทัศน์และสมาร์ทโฟนจะทำให้คนดูภาพยนตร์ผ่าน Netflix หรือ YouTube อยู่ที่บ้านกันมากขึ้น แต่ช่วงหลังปี 2012 เป็นต้นมาก็ยังมีการสร้างโรงภาพยนตร์ใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี และการดูภาพยนตร์ในโรงก็ยังเป็นกิจกรรมในวันหยุดที่ได้รับความนิยมอยู่เช่นเดิม

ตัวโรงภาพยนตร์ก็มีทั้งโรงใหญ่ Cinema Complex ที่ฉายภาพยนตร์หลากหลายรูปแบบสำหรับทุกเพศทุกวัยทุกความสนใจ หรือโรงภาพยนตร์ขนาดเล็กสำหรับฉายหนังนอกกระแสให้กับแฟนๆ และยังมีโรงแบบพิเศษต่างๆ อย่าง 4DX ที่จะใช้การขยับที่นั่ง เป่าลม สาดละอองน้ำ และกลิ่นเพื่อให้เรารู้สึกเหมือนเข้าไปอยู่ในเรื่องด้วยตัวเอง หรือโรง IMAX ที่ใช้ลำโพงที่มีความแม่นยำสูงควบคู่กับจอภาพที่ขนาดใหญ่เป็นพิเศษให้เราได้สนุกไปกับภาพยนตร์ได้มากขึ้น ราคาตั๋วเข้าชมสำหรับผู้ใหญ่ทั่วไปจะอยู่ที่ 1,800 เยน แต่ก็จะมีการลดราคาอยู่เป็นช่วงๆ ในวันต่างๆ เช่น First Day (วันแรกของทุกเดือน), Ladies' Day (ลดราคาสำหรับแขกผู้หญิงในวันที่กำหนดไว้ของสัปดาห์) หรือสำหรับผู้เข้าชมที่มีบัตรสมาชิก จึงมีคนไปใช้บริการอยู่เรื่อยๆ ไม่ขาดสาย

อันดับ 4 : ขับรถเล่น

สำหรับคนที่ต้องวางตัวอย่างเหมาะสมต่อคนรอบข้างเสมอ การออกไปขับรถเล่นก็นับเป็นการปลดปล่อยที่ไม่เลวเลย ทั่วประเทศญี่ปุ่นมีถนนหนทางที่เหมาะกับการขับรถเปลี่ยนบรรยากาศอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางสายดอกไม้ที่เบ่งบานตามฤดูกาล เส้นทางบนที่ราบสูงที่มองลงมาเห็นวิวทิวทัศน์แสนวิเศษ หรือเส้นทางชมตะวันตกดินเลียบชายทะเล สามารถใช้เวลาในวันหยุดไปพักผ่อนกับครอบครัว คนรัก หรือเพื่อนๆ ได้ จะใช้เป็นทางอ้อมระหว่างมุ่งหน้าสู่จุดมุ่งหมายอื่นๆ อย่างสถานที่ท่องเที่ยวหรือร้านอาหารก็ได้เช่นกัน

ในปัจจุบัน ด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่ก้าวหน้าและภาระในการเป็นเจ้าของรถ ผู้คนโดยเฉพาะในเมืองหลวงและคนหนุ่มสาวมักหลีกเลี่ยงการซื้อรถส่วนตัวแล้วเลือกใช้รถร่วมกันแทน จึงเป็นเหตุให้คนขับรถเล่นเพื่อผ่อนคลายมากขึ้น

อันดับ 3 : อ่านหนังสือ

แม้เดี๋ยวนี้หนังสืออิเล็กทรอนิกส์จะเริ่มเป็นที่นิยม หลายๆ คนก็ยังให้คุณค่ากับการพลิกหน้ากระดาษอ่านหนังสือเป็นเล่มๆ อยู่ ในช่วงวันหยุดบางคนก็จะนั่งอ่านไปพลางจิบกาแฟไปพลางที่บ้านหรือที่ร้านกาแฟ หลังๆ มาก็เริ่มมี Book Cafe เปิดให้บริการเพื่อจุดประสงค์นี้โดยเฉพาะด้วย โรงแรมบางแห่งก็เริ่มนำหนังสือมาจัดเรียงบนชั้นข้างเตียงเช่นกัน ใครที่เบื่อจะอยู่บ้านก็สามารถเลือกแวะไปเยี่ยมเยียนกันได้ตามสบาย

อันดับ 2 : รับประทานอาหารนอกบ้าน

การรับประทานอาหารนอกบ้านในวันหยุดจะพิเศษกว่าปกติอยู่สักหน่อย โดยส่วนมากมักเป็นกลุ่มเพื่อนๆ ครอบครัว หรือคนรักที่ปกติไม่มีโอกาสได้เจอกันมากนักมารวมตัวกันไปรับประทานของอร่อยๆ นอกเหนือจากอาหารท้องถิ่นแล้ว ในญี่ปุ่นก็มีร้านอาหารนานาชาติมากมาย ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารตะวันตก อาหารจีน อาหารฝรั่งเศส อาหารอิตาเลียน หรืออาหารไทย ในปัจจุบันก็มีเว็บไซต์แนะนำร้านอาหารยอดนิยมและร้านในท้องถิ่นมากมาย การจะหาร้านอร่อยๆ ก็ง่ายขึ้นมาก คนที่เขียนรายชื่อร้านที่สนใจทิ้งไว้แล้วไปตามเก็บในวันหยุดเป็นงานอดิเรกก็มีอยู่ไม่น้อย

อันดับ 1 : ท่องเที่ยวในประเทศ

และอันดับ 1 ของเราก็คือการท่องเที่ยว! ในประเทศอื่นพนักงานบริษัทอาจสามารถหาวันพักได้ยาวถึงเกือบ 1 เดือน แต่ในญี่ปุ่นวันหยุดยาวโดยส่วนมากก็อยู่ที่ประมาณ 5 วันเท่านั้น ต่อให้รวมเสาร์อาทิตย์เข้าไปด้วยก็ยังได้แค่ 7 วัน จุดหมายในการท่องเที่ยวจึงมักอยู่ภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ให้บรรยากาศแตกต่างกันมากในแต่ละฤดูกาลทั้งในเรื่องของทิวทัศน์และอาหาร การท่องเที่ยวในประเทศจึงไม่ใช่อะไรที่น่าเบื่อเลยสักนิด

จุดประสงค์ของแต่ละคนก็แตกต่างกันออกไป บางคนอาจอยากรับประทานอาหารทะเลสดๆ หรือเนื้อคุณภาพดีๆ จากแหล่งวัตถุดิบขึ้นชื่อ บางคนอาจจะไปเพื่อแช่ออนเซ็น บางคนก็ตามล่าหาจุดชมทิวทัศน์สวยๆ แล้วแต่ความชอบ ในเรียวกังหรือโรงแรมแบบญี่ปุ่นก็มักมีการเสิร์ฟอาหารท้องถิ่นให้ภายในห้องพัก หรือมีชุดยูกาตะให้เช่าใส่เดินเล่นในเมืองแห่งออนเซ็นเป็นบริการเสริมให้เราได้สนุกกับการเดินทางมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็มีที่พักอีกหลายรูปแบบผุดเพิ่มขึ้นมาเป็นดอกเห็ด ทั้งที่ดัดแปลงมาจากบ้านของพลเรือนในสมัยก่อน หรือที่ใช้เทคโนโลยีสุดไฮเทคอย่างโรงแรมแคปซูลก็มี การท่องเที่ยวในญี่ปุ่นจึงยิ่งน่าดึงดูดมากขึ้นไปอีกนั่นเอง

Klook.com

อื่นๆ : โรงอาบน้ำสาธารณะแบบพิเศษ

อย่างที่รู้กันดีว่าการแช่น้ำร้อนเพื่อผ่อนคลายเป็นสิ่งหนึ่งที่ฝังลึกอยู่ในวัฒนธรรมญี่ปุ่น โดยทั่วไปแล้วแต่ละบ้านก็จะมีห้องอาบน้ำเป็นของตัวเอง แต่ตามที่ต่างๆ ในเมืองก็มักจะมี "โรงอาบน้ำสาธารณะ" ที่คนท้องถิ่นมักจะไปใช้บริการอยู่ด้วย เหมาะสำหรับคนที่ชอบแช่น้ำในอ่างกว้างๆ และที่ได้รับความนิยมมากขึ้นไปกว่านั้นก็คือ Super Tenso หรือโรงอาบน้ำสาธารณะแบบพิเศษที่จะมีอะไรๆ มากกว่าโรงอาบน้ำทั่วไป ทั้งห้องซาวน่า อ่างจากุชชี่ สปาหินร้อนและเครื่องนวด ไปจนถึงร้านอาหารและเกมเซ็นเตอร์ ในช่วงวันหยุดเราจึงมักจะเห็นครอบครัว เด็กน้อย คู่รัก ไปจนถึงคนรุ่นคุณตาคุณยายแวะเวียนกันมาอยู่เป็นประจำ

โรงอาบน้ำแต่ละแห่งก็มีรูปแบบแตกต่างกันไป บางที่ก็เป็นสไตล์ญี่ปุ่นจ๋าๆ บางที่ก็สามารถหยิบยืมชุดยูกาตะหรือพักค้างคืนได้ ไปๆ มาๆ ก็ดูเหมือนกับสวนสนุกเลยทีเดียว และในช่วงนี้ก็เริ่มเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติแล้วด้วยเช่นกัน นับว่าเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งที่อาจเห็นได้ในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น

ถ้าหากลองสังเกตผู้คนรอบตัวในช่วงเวลาต่างๆ ก็คงจะได้เห็นชาวญี่ปุ่นกำลังใช้ชีวิตตามที่เราบอกอยู่ไม่น้อยเลย หากมีโอกาสได้ไปเยี่ยมเยียนญี่ปุ่นอีกครั้งก็นึกถึงเราสักหน่อยแล้วลองสัมผัสกับวิถีชีวิตแบบญี่ปุ่นๆ ด้วยตัวเองดูสิ

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

รับส่วนลดมากมายในญี่ปุ่น ที่นี่!

เกี่ยวกับนักเขียน

Emiko
Emiko Tanaka
  • แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

ความสนใจที่เกี่ยวข้อง

ค้นหาร้านอาหาร