ทำความรู้จักกับแฟชั่นสุดแนวในญี่ปุ่น : โลลิต้า ร็อกอะบิลลี แกล และอื่นๆ อีกมากมาย!

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมย่อยอยู่มากมาย แต่ไม่ว่ารสนิยมจะเป็นแบบไหนคุณก็สามารถมองหาผู้ที่มีสไตล์คล้ายคลึงกันได้ไม่ยากเพราะคำว่าแฟชั่นนั้นไม่มีคำว่าถูกหรือผิด ซึ่งนอกจากนิวยอร์กหรือมิลาน โตเกียวก็เป็นอีกเมืองหนึ่งที่ขึ้นชื่อในเรื่องแฟชั่น เต็มไปด้วยผู้คนที่มีความคิดสร้างสรรค์และคลั่งไคล้ในการแต่งตัว วันนี้เราจะมานำเสนอแฟชั่นสุดแนวที่ทั้งทันสมัยและโดดเด่นในญี่ปุ่นให้ทุกคนได้รู้จักกัน

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

บทความนี้อาจมีลิงก์พาร์ทเนอร์ หากคุณทำการซื้อผ่านลิงก์พาร์ทเนอร์ เราอาจได้รับค่าคอมมิชชั่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับคุณ

โลลิต้า (Lolita)

โลลิต้า เป็นสไตล์แฟชั่นที่โดดเด่นและมีอิทธิพลที่สุดในบรรดาวัฒนธรรมย่อยของญี่ปุ่น รูปแบบเครื่องแต่งกายเหล่านี้ได้รับอิทธิพลมาจากเสื้อผ้าเด็กในยุควิคตอเรียน (Victorian) และยุคเอ็ดเวอร์เดียน (Edwardian) ที่เน้นความเป็นผู้หญิงจนถึงขีดสุด แฟชั่นนี้เกิดขึ้นในช่วงปี 2000 ต้นๆ โดยพัฒนามาจากการแต่งกายสไตล์กอธิก (Gothic) และการแต่งกายเลียนแบบชนชั้นสูงของแฟชั่นสายวิชวลเค (Visual Kei)

แม้ว่ากระแสหลักในวัฒนธรรมโลลิต้าจะเน้นการแต่งกายแบบผู้หญิงหวานๆ ดู "น่ารัก" และใช้สีโทนพาสเทลและโทนชมพูเป็นหลัก แต่จริงๆ แล้ว ที่นี่ยังมีสไตล์โลลิต้าในแบบต่างๆ แยกย่อยไปอีกมากมาย และหนึ่งในแหล่งช็อปปิ้งสำหรับเครื่องแต่งกายสไตล์โลลิต้าที่ดังที่สุดในปัจจุบัน ก็คือ ศูนย์การค้า Shibuya 109 ที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงโตเกียวนี่เอง

วัฒนธรรมปลีกย่อยของแฟชั่นโลลิต้า

โลลิต้า เป็นแฟชั่นที่เหมือนกรอบใหญ่ๆ ที่สามารถครอบแฟชั่นจากวัฒนธรรมย่อยสายอื่นให้เข้ามาอยู่ในวงของตัวเองได้ วัฒนธรรมย่อยที่เด่นที่สุดในวงแฟชั่นโลลิต้า คือ สไตล์กอธิก, พังค์ (Punk), ชุดกะลาสี (Sailor) และแฟชั่นแนวคันทรี (Country) ที่มีการใส่ความเป็นโลลิต้าลงไป

รูปแบบที่จัดว่าเด่นที่สุดในบรรดาวัฒนธรรมย่อยของโลลิต้านี้ คือ กอธ-โลลิ (Goth-Loli) ที่หมายถึง ดาร์ก โลลิต้า (Dark Lolita) หรือ กอธิก โลลิต้า (Gothic Lolita) มีพื้นฐานสไตล์เสื้อผ้าที่ได้รับอิทธิพลมาจากแฟชั่นในยุควิคตอเรียนเหมือนโลลิต้าทั่วไป แต่จะเพิ่มสีโทนมืดแนวกอธิกเข้าไปด้วย ลองนึกภาพคนที่ใส่เสื้อผ้าสีดำล้วนซ้อนกันหลายๆ ชั้น แต่งหน้าหนักๆ ด้วยโทนสีเข้ม ติดโบว์ หรือพวกที่ใส่เสื้อลายทางโทน ขาว - ดำ ดูสิ 

วิชวลเค (Visual Kei)

ถ้าพูดถึงแฟชั่นที่มีอิทธิพลที่สุดในวัฒนธรรมร่วมสมัยของญี่ปุ่นแล้วล่ะก็ หนึ่งในนั้นจะต้องเป็นแฟชั่น วิชวลเค อย่างไม่ต้องสงสัย แค่ชื่อ "วิชวลเค" ของมันก็ครอบคลุมไปถึงแฟชั่นยิบย่อยต่างๆ อีกมากมายแล้ว และถ้าจะให้อธิบายแบบลงลึกถึงรายละเอียดแล้วล่ะก็ เราคงต้องเปิดบทความใหม่กันอีกบทเลยทีเดียว แต่ถ้าจะให้เล่าคร่าวๆ สไตล์นี้ได้กลายเป็นที่นิยมขึ้นมาในช่วงยุค '80 ซึ่งเป็นผลมาจากความนิยมที่มีต่อวงดนตรีร็อคในญี่ปุ่น อย่าง X-Japan ที่ได้ผสมสานดนตรีแนวเฮฟวีเมทัล (Heavy Metal), แกลมร็อค (Glam Rock) กับแนวคิดวิถีพังค์ (Punk Ideology) เข้าไว้ด้วยกัน

สไตล์ของวิชวลเคสามารถเห็นได้จากการแต่งหน้าที่ประณีตบรรจงและทรงผมที่ล้วนอยู่ในสีโทนมืดแนวกอธิก บางครั้งก็มีลูกเล่นอย่างการแต่งกายสลับเพศด้วย คุณจะมองว่าการเคลื่อนไหวของแฟชั่นสายนี้เป็นการตอบโต้ของวงดนตรีญี่ปุ่น ที่ส่งถึงวงดนตรีแกลมร็อคฝรั่งซึ่งกำลังดังในช่วงเดียวกันกับที่วิชวลเคเกิดขึ้นมาก็ได้

ในช่วงกลางยุค '90 ความนิยมในแฟชั่นสายนี้เริ่มลดลง แต่ในยุคปี 2000 ได้มีการนำวิชวลเคมาปรับใหม่ให้ทันสมัย เกิดเป็นแฟชั่นที่เรียกว่า นีโอ-วิชวลเค (Neo-Visual Kei) ทำให้สไตล์นี้ได้กลับมามีบทบาทอีกครั้งหนึ่ง

ร็อกอะบิลลี (Rockabilly)

ที่จริงแล้ว แฟชั่นสไตล์ร็อกอะบิลลีไม่ได้มีต้นกำเนิดมาจากญี่ปุ่นโดยตรง แต่เกิดจากชาวญี่ปุ่นที่คลั่งไคล้แฟชั่นเป็นผู้รับวัฒนธรรมดังกล่าวเข้ามา หากคุณได้ไปสวนโยโยกิ (Yoyogi Park) แถวๆ ฮาราจูกุ (Harajuku) ในช่วงวันหยุดต่างๆ ของปี คุณจะได้เห็นนักเต้นชาวร็อกอะบิลลีมารวมตัวกันแสดงโชว์ให้เหล่าแฟนๆ และผู้คนที่เดินผ่านไปมาได้ชม พวกเขาแสดงให้คนทั่วไปได้เห็นว่า แฟชั่นไม่ได้เป็นเพียงวิถีการแต่งตัวเท่านั้น แต่มันยังเป็นวิถีชีวิตด้วย 

เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว ร็อกอะบิลลีได้เข้ามาถึงฮาราจูกุซึ่งเป็นย่านชานเมืองสุดฮิต และด้วยเสน่ห์ที่ดูมีความอินเตอร์แฝงความเป็นแบดบอยนิดๆ ก็ทำให้แฟชั่นสายนี้ได้รับความสนใจจากพวกวัยรุ่นชาวเมืองและผู้ที่หลงรักแฟชั่นยีนส์ได้เป็นอย่างดี

แม้ว่าความนิยมของร็อกอะบิลลีจะลดลงในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีผู้คนจำนวนหนึ่งที่พยายามรักษาแฟชั่นสไตล์นี้ให้ยังคงมีอยู่ในย่านฮาราจูกุ ไม่ว่าจะผ่านการเต้นโชว์แถวสวนโยโยกิ หรือการเปิดร้านค้าแนววินเทจ (Vintage) แถวๆ โซนถนนด้านหลังของอุระฮาราจูกุ (Ura-Harajuku หรือที่เรียกสั้นๆ ว่าอุระฮาระ) คุณจะได้เห็นอย่างน้อย 1 คน ที่แต่งตัวสไตล์นี้และกำลังถ่ายทอดวัฒนธรรมร็อกอะบิลลีอยู่อย่างแน่นอน

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

แกล (Gyaru)

หนึ่งในรูปแบบการแต่งตัวที่แหวกแนวและเรียกความสนใจได้มากที่สุดในปัจจุบันคงหนีไม่พ้น แกล มาจากคำว่า "เกียะรุ (Gyaru)" ซึ่งเป็นการออกเสียงของคำว่า "แกล (Gal)" ในภาษาญี่ปุ่นนั่นเอง เป็นการเล่นกับสิ่งที่คนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นวัฒนธรรมสมัยนิยมของวัยรุ่นอเมริกา (American Popular Culture) โดยพวกเขาจะแต่งหน้าให้เว่อร์เกินจริง ติดขนตาปลอม ทำผมสีบลอนด์สว่าง ผิวสีแทน และใส่เครื่องประดับที่มีความวิบวับอลังการกว่าคนทั่วไป (เช่น ติดเล็บปลอมยาวๆ ที่มีกากเพชร) แฟชั่นดังกล่าวได้รับความนิยมมากที่สุดในช่วงปลายยุค '90 และต้น 2000 ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่คนกำลังฮิตเครื่องประดับพลาสติกสีๆ และเป็นช่วงที่เพลงป๊อปจากยุโรปกำลังบูมสุดๆ

ศูนย์กลางของวัฒนธรรมแกลอยู่ในย่านชิบูย่า และเช่นเดียวกับแฟชั่นโลลิต้า คุณสามารถหาซื้อเสื้อผ้าสไตล์แกลได้ที่ห้างสรรพสินค้า Shibuya 109 ห้างที่เต็มไปด้วยเสื้อผ้าและสินค้าแฟชั่นญี่ปุ่น ซึ่งที่นี่มีให้เลือกมากมายหลายร้าน และถึงแม้ว่าปัจจุบัน เราอาจจะพบสาวๆ ที่แต่งตัวในสไตล์แกลได้ยากขึ้น แต่หากคุณมีเวลาเดินช้อปปิ้งในบริเวณชิบูย่านานๆ หน่อย ก็อาจโชคดีได้เจอสาวแกลเข้าสักคนก็ได้

วัฒนธรรมปลีกย่อยของแฟชั่นแกล

ในวงแฟชั่นแกลนี้ ยังมีสไตล์ที่แยกย่อยลงไปอีก ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ กังกุโระ แกล (Ganguro Gal) แม้ว่าจะมีความคล้ายคลึงกับแฟชั่นแกลกระแสหลัก แต่ลักษณะต่างๆ ไม่ว่าจะการทาผิวสีแทน ยีผมให้ฟู แต่งหน้าหนาๆ รวมถึงการแต่งกายทั้งหมด จะไปไกลจนถึงขั้นหลุดโลกเลยทีเดียว ซึ่งเราจะเรียกแฟชั่นสไตล์นี้ว่า บันบะ (Banba), มังบะ (Manba) หรือ ยามังบะ (Yamanba) ทั้งหมดนี้เกิดจากการผสมผสานแฟชั่นแกลเข้ากับแรงบันดาลใจที่ได้มาจากตัวการ์ตูนที่มักจะมีผมสีน่ารักๆ ราวกับสีลูกกวาดนั่นเอง

Klook.com

เกียรุโอะ (Gyaruo)

เรียกว่าเป็นแฟชั่นแกลของฝั่งผู้ชายก็ว่าได้ ซึ่งการแต่งกายในสไตล์เกียรุโอะนั้น มีจุดสำคัญอยู่ที่ผมสีบลอนด์สว่างที่ดูมีขนาดใหญ่เกินจริง เครื่องประดับที่ดูเวอร์วัง และผิวสีน้ำตาลแทน ซึ่งวัฒนธรรมแฟชั่นสไตล์แกลนี้ก็มีความเกี่ยวโยงวัฒนธรรมการสังสรรค์ของญี่ปุ่นอยู่ไม่น้อย หากคุณลองไปที่ถนนคาบุกิโจ (Kabuki-cho) ซึ่งเป็นย่านสถานบันเทิงยามค่ำคืนของชินจูกุ (Shinjuku) แล้วล่ะก็ คุณจะได้พบกับโฆษณาบริการหนุ่มโฮสต์เกียรุโอะ อยู่มากมายเต็มสองข้างทาง ซึ่งพวกเขาก็พร้อมที่จะร่วมดื่มและหว่านเสน่ห์ใส่ลูกค้าสาวๆ จนกว่าลูกค้าจะหมดตัว หรือไม่ก็ถึงเช้ากันเลยทีเดียว

โมริแกล (Mori Gal)

สำหรับสไตล์นี้จะค่อนข้างแตกต่างจากหลายๆ สไตล์ที่เราแนะนำมา โมริแกล เป็นแฟชั่นที่ได้รับความนิยมสูงสุดในช่วงกลาง - ปลายปี 2000 และยังคงได้รับความนิยมต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

คำว่า โมริ (Mori 森) ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า ป่า ดังนั้นแฟชั่นในสไตล์นี้จึงหมายถึงการแต่งกายที่ให้ความรู้สึกกลมกลืนกับธรรมชาติ มีการใช้สีที่สบายตาและออกแบบอย่างเรียบง่ายผสานกลิ่นอายวินเทจ

ถึงแม้ชื่อเรียกจะมีคำว่า เกิร์ล (Girl) ที่แปลว่า เด็กผู้หญิง ก็ตาม แต่แฟชั่นนี้ก็ยังเป็นที่นิยมในหมู่หนุ่มๆ ที่รักในการแต่งตัวเช่นกัน เรียกได้ว่าเป็นแฟชั่นที่มีลักษณะทางเพศเป็นกลาง ดังนั้น ไม่ว่าจะใครก็สามารถมีความสุขไปกับแฟชั่นโมริแกลได้ทั้งนั้น โดยส่วนใหญ่ร้านที่จำหน่ายเสื้อผ้าสไตล์โมริแกลจะตกแต่งให้ดูเก่าๆ เหมือนสไตล์วินเทจซะเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเราสามารถตามหาเสื้อผ้าสไตล์โมริแกลสวยๆ ได้จากร้านวินเทจที่มีอยู่มากมายบริเวณถนนโคเอ็นจิ (Koenji) ถนนชิโมะคิตะซาว่า (Shimokitazawa) หรือถนนคิจิโจจิ (Kichijoji) ของกรุงโตเกียว

ซาลอนบอย (Salon Boys)

☆14sezz

ซาลอนบอย เป็นสไตล์ที่เกิดขึ้นจากถนนสายหนึ่งในย่านฮาราจูกุ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของร้านทำผมที่คึกคักที่สุดในโตเกียว แฟชั่นสายนี้มีการแต่งกายแนวผสมผสานระหว่างเสื้อผ้าแบรนด์เนมที่ออกแบบโดยดีไซน์เนอร์ระดับสูงกับเสื้อผ้าวินเทจที่ตัดอย่างสวยเนี้ยบ ผู้คนที่อยู่ในวงแฟชั่นของซาลอนบอย คือ ช่างทำผมและผู้ช่วยช่างที่มีความใส่ใจในเรื่องเสื้อผ้าหน้าผมในแต่ละวันมากพอๆ กับความใส่ใจในฝีมือการทำผมให้กับลูกค้า 

นอกจากนี้ ซาลอนบอยยังเชี่ยวชาญในการเลือกเครื่องประดับเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเข็มขัดยี่ห้อ Dapper หมวก Porkpie Hat (หมวกปีกลักษณะกลมแบน) หรือแว่นตาเล็กๆ สไตล์ย้อนยุค ซึ่งกระแสดังกล่าวเป็นจุดกำเนิดของนิตยสารแฟชั่นที่ชื่อ โชกิโชกิ (CHOKi CHOKi แปลว่า กริ๊บๆ เป็นเสียงตัดของกรรไกร) ที่เปิดตัวครั้งแรกในปี 2002 ซึ่งใช้ช่างทำผมมืออาชีพเป็นนายแบบในกับนิตยสารเล่มนี้

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

สตรีทเค (Street Kei)

dj.ryuuto_official

สตรีทเค เป็นแฟชั่นที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการแต่งกายสไตล์สตรืทของอเมริกา และเป็นแฟชั่นแนวสตรีทคลาสสิกของญี่ปุ่นที่ได้ความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่ผู้ชาย มีการนำสไตล์การแต่งตัวของนักสเก็ตบอร์ด นักบาสเก็ตบอล และวัฒนธรรมฮิปฮอปเข้ามาผสมกับวัฒนธรรมความเป็นญี่ปุ่น ไอเท็มหลักของกระแสสตรีทเค คือ รองเท้าผ้าใบเก๋ๆ ซึ่งเราสามารถเห็นความคล้ายในการแต่งกายของแฟชั่นสตรีทเคญี่ปุ่นและแฟชั่นไฮป์บีสต์ (Hypebeast) ของอเมริกาได้ คุณสามารถมองหาหนุ่มๆ สตรีทเคได้จากบริเวณหน้าร้าน Supreme หรือ Comme des Garcons ซึ่งพวกเขากำลังต่อคิวเตรียมซื้อสินค้าออกใหม่ล่าสุดกันก็ว่าได้

คิเรอิเมะเค (Kireime Kei)

จุดเด่นของแฟชั่นคิเรอิเมะเค คือ สไตล์ที่มีความเป็นทางการค่อนข้างสูง และมีความอนุรักษ์นิยมมากกว่าจะเป็นเทรนด์แฟชั่นธรรมดา การแต่งกายแบบคิเรอิเมะเคนั้น จะเน้นทุกอย่างให้ดูเรียบร้อย คลาสสิก เสื้อผ้าต้องได้รับการตัดเย็บอย่างปราณีตและมีกลิ่นอายแบบยุคเก่า แฟชั่นกระแสนี้มีความคล้ายคลึงกับแฟชั่นแนวเพรพพี (Preppy) ที่ไม่ได้เน้นเสื้อผ้าจากแบรนด์ใดเป็นพิเศษ แค่เป็นกางเกงยีนส์ที่ใส่สบาย เสื้อเชิ้ตทางการ รองเท้าที่ดูเรียบง่ายแต่ได้รับการตัดเย็บมาเป็นอย่างดี รายละเอียดเหล่านี้ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับแฟชั่นสไตล์คิเรอิเมะเค

แม้จะดูธรรมดา แต่นี่ก็เป็นแนวแฟชั่นที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากและมักพบเห็นได้บ่อยๆ ในนิตยสารแฟชั่นผู้ชายที่โดยส่วนใหญ่จะมีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักธุรกิจนั่นเอง

แฟชั่นญี่ปุ่น : มองภายนอกก็สามารถเห็นจุดเด่นที่ไม่ซ้ำกันได้

สิ่งที่ทำให้ประเทศญี่ปุ่นกลายเป็นแหล่งแฟชั่นที่น่าสนใจก็คือ ความสามารถในการดัดแปลงวัฒนธรรมต่างๆ จากหลากหลายที่มา มาผสมผสานกัน แต่เมื่อใส่ขึ้นมาแล้ว กลับมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งคุณสามารถตามไปดูแฟชั่นหลุดโลกเหล่านี้ได้ในย่านฮาราจูกุ

ทุกวันนี้ การแต่งกายที่ได้รับความนิยมส่วนใหญ่จะเน้นไปในทางที่ดูสะอาด เรียบง่าย และมีประโยชน์ในการใช้สอย ซึ่งเป็นจุดเด่นของแบรนด์เสื้อผ้าอย่าง Uniqlo และ Muji แต่ถ้ามองดีๆ เราก็อาจเห็นผู้คนจำนวนหนึ่ง ที่ยังคงพยายามจะรักษาวัฒนธรรมการแต่งกายตามสไตล์วัฒนธรรมย่อยของตนเองให้ยังคงอยู่และไม่เลือนหายไปกับกาลเวลา

Header image credit: I, Roland/Flickr

 

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !

มนต์เสน่ห์คันโต

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

รับส่วนลดมากมายในญี่ปุ่น ที่นี่!

เกี่ยวกับนักเขียน

Lucy
Lucy Dayman
Lucy เป็นนักเขียนอิสระอยู่ในโตเกียว เป็นคนออสเตรเลีย ชอบเรื่องเพลง เคยเป็นบรรณาธิการของนิตยสารเพลงในเมลเบิร์น แต่ชอบงานใหม่ของเธอที่แบ่งปันมุมที่ไม่ค่อยถูกมองข้าม และมีคนชื่นชมน้อยกว่า ของญี่ปุ่นกับส่วนอื่นๆ ของโลก ปัจจุบันเธอเขียนให้กับสิ่งพิมพ์ต่างๆ มากมาย ทั้งในญี่ปุ่นและทั่วโลก เว็บไซต์: https://www.lucydayman.com/ อินสตาแกรม: https://www.instagram.com/lucy.dayman/
  • แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

ความสนใจที่เกี่ยวข้อง

ค้นหาร้านอาหาร