ปวดหัวตัวร้อนเป็นไข้ก็ไม่ต้องกังวล! แนะนำยาญี่ปุ่นที่นักท่องเที่ยวสามารถหาซื้อได้ด้วยตัวเอง

เที่ยวๆ ญี่ปุ่นอยู่แล้วดันไข้ขึ้น แถมพูดญี่ปุ่นก็ไม่คล่องด้วย จะทำยังไงดีนะ? แต่ไม่ต้องห่วงไป วันนี้เรามีไกด์เล็กๆ น้อยๆ สำหรับคนที่ต้องการหายาบรรเทาอาการป่วยด้วยตัวเองมาฝาก แต่ถ้าลองแล้วยังไม่ดีขึ้นหรือรู้สึกแย่กว่าเดิมก็อย่าลืมว่าการไปปรึกษาเภสัชกรหรือบุคลากรทางการแพทย์เป็นทางออกที่ดีที่สุดนะคะ

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

บทความนี้อาจมีลิงก์พาร์ทเนอร์ หากคุณทำการซื้อผ่านลิงก์พาร์ทเนอร์ เราอาจได้รับค่าคอมมิชชั่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับคุณ

เคยรู้สึกกลัวว่าอยู่ๆ ตัวเองจะป่วยขึ้นมาระหว่างทริปกันไหม?
อุตส่าห์มีโอกาสได้ไปเที่ยวญี่ปุ่นทั้งที แต่ในระหว่างที่กำลังวิ่งถ่ายรูปโตเกียวทาวเวอร์ วัดคินคะคุจิ หรือชายหาดที่โอกินาว่าอยู่ก็รู้สึกเจ็บๆ คันๆ คอขึ้นมาซะอย่างนั้น จะลองเทมปุระสักหน่อยก็กินได้ไม่อร่อยซะแล้ว

ไม่ต้องห่วง ครั้งนี้เราจะมาแนะนำยาต่างๆ ที่มีขายทั่วไปตามร้านขายยาทั่วประเทศญี่ปุ่นให้ได้รู้จักกัน โดยลำดับจะเรียงตามกลุ่มอาการของยา แต่ถ้าลองรับประทานแล้วยังไม่รู้สึกดีขึ้นหรืออาการแย่ลงก็แวะไปโรงพยาบาลสักหน่อยจะปลอดภัยกว่านะ

บอกกันไว้ก่อนว่ายาเหล่านี้มักจะ 'ไม่มีขายที่ร้านสะดวกซื้อ' แต่จะหาได้ตาม 'ร้านขายยาเท่านั้น' แต่ก็ไม่ต้องกังวลเพราะร้านขายยาในญี่ปุ่นก็มีอยู่เยอะพอๆ กับร้านสะดวกซื้อเลยล่ะ แค่ลองมองหาป้ายใหญ่ๆ ที่มีตัวคันจิ 薬 (kusuri) อยู่ก็จะเจอได้ไม่ยาก และเราจะเขียนกำกับไว้ให้สำหรับยาบางตัวที่สามารถหาได้ที่ร้านสะดวกซื้อ

 

มาเริ่มที่ยาแก้ปวดกันเลย

1. Bufferin (バファリン)

Bufferin ใช้สำหรับแก้ปวดหัว เป็นตะคริว ปวดสะโพก ปวดไหล่ ไข้ขึ้นฉับพลันและแก้หวัด ยาตัวนี้ไม่มีผลข้างเคียงอย่างการทำให้ท้องไส้ปั่นป่วน

ยาตัวนี้แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ Bufferin A ซึ่งเป็นแบบปกติ สำหรับอาการปวดทั่วไป, Bufferin Premium สำหรับอาการปวดรุนแรง, Bufferin Luna ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยและตะคริว, และสุดท้ายคือ Bufferin Kaze EX ที่ใช้บรรเทาอาการปวดจากไข้หวัด

 

2. Eve (イブ)

 EVE ยาสำหรับแก้ปวดหัวและตะคริว เม็ดยามีขนาดเล็กและไม่มีรสขมติดลิ้นเหลือหลังจากรับประทาน มีขายทั้งหมด 3 ประเภท คือ Eve A แบบปกติ, Eve A EX สำหรับอาการปวดรุนแรง, และ EVE Quick สำหรับแก้ปวดหัวโดยเฉพาะ 

 

3. Loxonin S (ロキソニンS)

Loxonin S ใช้สำหรับบรรเทาอาการปวดหัว ปวดตะคริว ปวดฟัน ปวดสะโพก ปวดไหล่ ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเส้นประสาท ปวดหู อาการปวดจากรอยฟกช้ำ กระดูกหัก หรืออาการแพลง เป็นยาที่นับว่าค่อนข้างแรงและราคาสูงเมื่อเทียบกับยาแก้ปวดสองชนิดแรก ข้อควรระวังคือ Loxonin S จะมีผลข้างเคียงกับกระเพาะอาหารอยู่บ้าง ถ้าเป็นคนที่กระเพาะไม่ค่อยแข็งแรงก็แนะนำว่ามองหาตัวเลือกอื่นจะดีกว่า

 

ไปต่อกันที่ยาแก้ปวดท้องและอาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกันดีกว่า

4. Ohta Isan (太田胃散)

www.ohta-isan.co.jp/

Ohta Isan ใช้บรรเทาอาการเมาค้าง คลื่นไส้ อาเจียน กรดในกระเพาะอาหาร และอาการไม่สบายท้องต่างๆ ด้วยความที่ยาตัวนี้เป็นยาสมุนไพรแบบผงและมีกลิ่นสมุนไพรค่อนข้างแรง คนที่ไม่คุ้นเคยอาจจะต้องฝืนรับประทานสักหน่อย แต่รับรองว่าได้ผลดีแน่นอน ขายในรูปแบบของกระป๋องหรือแพ็กแยกเล็กๆ

 

5. Seirogan (正露丸)

Seirogan ใช้เมื่อมีอาการอุจจาระเหลว ท้องร่วง อาหารเป็นพิษ น้ำเป็นพิษ อาเจียน และอาการปวดฟัน ลักษณะยาเป็นลูกกลมๆ ขนาดเล็กสีดำที่มีกลิ่นแรง ดังนั้นเวลาจะรับประทานให้คิดถึงคนรอบข้างสักเล็กน้อยก็น่าจะดีกว่า นอกจากนี้ยาชนิดนี้ยังมีรสติดปากที่ค่อนข้างแรง บางท่านอาจจะไม่ชอบก็เป็นได้

 

ต่อไปจะเป็นยาสำหรับเวลาถูกแมลงกัดต่อย

6. Kinkan (キンカン)

uka0310/Flickr

www.kinkan.co.jp/

Kinkan เป็นยาน้ำที่ใช้ทาลงบนผิวโดยตรงเพื่อแก้อาการคัน แมลงกัดต่อย อาการปวดไหล่ ปวดสะโพก อาการฟกช้ำ และอาการแพลง ใช้แก้คันเวลายุงกัดได้ดีทีเดียว

 

7. Muhi (ムヒ)

Muhi ใช้บรรเทาอาการคัน แมลงกัดต่อย ผื่น กลากเกลื้อน ลมพิษ ผดร้อน ความเย็นกัด (ฟรอสไบต์) โรคผิวหนัง และอาการอักเสบ ลักษณะของยาจะเป็นหลอดแบบในรูปด้านบนหรือเป็นแบบขวด สามารถทาลงบนผิวบริเวณที่มีอาการได้ทันที และก็เป็นยาอีกตัวหนึ่งที่ใช้เวลายุงกัดได้ดีเช่นกัน 

 

รายการถัดไปก็จะเป็นยาสำหรับแก้หวัด

8. Pabulon (パブロン)

www.taisho.co.jp/

Pabulon ใช้แก้อาการของไข้หวัดทั่วไปอย่างการไอ ระคายคอ หรือน้ำมูกไหล มีขายในรูปแบบของยาเม็ดสีเหลืองหรือยาผงใส่กล่องขนาดเล็ก

 

9. Lulu Attack EX (ルルアタックEX)

www.daiichisankyo-hc.co.jp/

Lulu Attack EX ใช้สำหรับอาการจากหวัดทั่วไป เช่น เจ็บคอ ไข้ขึ้น หนาวสั่น ปวดหัว คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ จาม มีเสมหะ และปวดข้อปวดกล้ามเนื้อ เป็นยาเม็ดสีขาวที่กลืนได้ง่าย

 

10. Kakkonto (葛根湯)

Kakkonto ใช้สำหรับบรรเทาไข้หวัดในระยะเริ่มแรก ไข้หวัดธรรมดา อาการคัดจมูก ปวดหัว ปวดไหล่ ปวดมือ หรือปวดกล้ามเนื้อ เป็นยาอีกตัวที่ทำจากสมุนไพรและมีกลิ่นเฉพาะตัว มีขายทั้งแบบกล่องใส่ยาผง ขวดยาน้ำ และยาเม็ด

 

ยาสำหรับแก้อาการเมาค้าง

ยาสามชนิดข้างล่างนี้สามารถหาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อทั่วไปและมักไม่ถูกนับเป็นยา แต่เมื่อดื่มแล้วก็จะไปช่วยการทำงานของตับ หรือก็คือช่วยแก้อาการเมาค้าง และใช้ดื่มก่อนล่วงหน้าก่อนดื่มแอลกอฮอล์เพื่อป้องกันอาการเมาค้างได้นั่นเอง

 

11. Ukon No Chikara (ウコンの力)

EFFIE YANG/Flickr

ยาที่ชื่อว่าพลังแห่งขมิ้นนี้เป็นยาสำหรับป้องกันอาการเมาค้าง ขายในรูปแบบของขวดหรือแบบผง รับประทานก่อนการบริโภคแอลกอฮอล์ วางขายในชั้นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและเครื่องดื่มชูกำลังในร้านสะดวกซื้อ

 

12. No Mikata (ノ・ミカタ)

okyakusama.ajinomoto.co.jp/

No Mikata ใช้ป้องกันอาการเมาค้าง มีทั้งแบบเป็นเมล็ดเล็กๆ ในถุงยาว หรือเป็นเครื่องดื่มในขวด สามารถใช้ได้ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังดื่มแอลกอฮอล์ สามารถพบเห็นได้ตามร้านสะดวกซื้อเช่นกัน

 

13. Heparize (ヘパリーゼ)

www.hepa.jp/

Heparize ยาอีกตัวหนึ่งที่ใช้ป้องกันอาการเมาค้าง มาในลักษณะของขวดหรือยาเม็ด รับประทานได้ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังดื่มแอลกอฮอล์

ยานี้มีแบ่งออกเป็นหลายประเภท และบางประเภทจะมีวางที่ร้านขายยาเท่านั้น ซึ่งส่วนผสมและฤทธิ์ยาก็อาจจะต่างกันบ้างเล็กน้อย ส่วนแบบที่วางขายในร้านสะดวกซื้อจะเป็นแบบดื่ม

 

จบกันไปแล้วสำหรับการแนะนำยาที่หาซื้อได้เองในญี่ปุ่น คราวหน้าหากไปเที่ยวแล้วเกิดมีอาการป่วยขึ้นมาก็ไม่ต้องกังวลเพราะคุณจะสามารถเลือกซื้อยาได้ถูกกับอาการแน่นอน 

แต่ในกรณีที่อาการหนักขึ้น ก็ขอแนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์จะปลอดภัยที่สุด โดยส่วนใหญ่แล้วแพทย์ญี่ปุ่นตามคลินิกหรือโรงพยาบาลจะสื่อสารภาษาอังกฤษได้พอสมควร ดังนั้นไม่ต้องเป็นห่วง! 

และอย่าลืมว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการรักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ แม้จะเที่ยวอย่างเต็มที่แต่ก็อย่าหักโหมจนเกินไป ดูแลสุขภาพกันด้วยนะ! 

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

รับส่วนลดมากมายในญี่ปุ่น ที่นี่!

เกี่ยวกับนักเขียน

tsunagu
tsunagu Japan
นี่คือแอ็คเคาท์ทางการของ tsunagu japan
  • แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

ค้นหาร้านอาหาร