【คู่มือการปีนภูเขาไฟฟูจิฉบับสมบูรณ์】หน้าร้อนนี้ใครอยากมาปีนฟูจิต้องไม่พลาด !

"ภูเขาไฟฟูจิ" (富士山) ถือเป็นภูเขาที่มีชื่อเสียงจากความสูงที่ไม่เป็นสองรองใครในญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังมีวิวทิวทัศน์อันตระการตาที่แตกต่างกันไปในแต่ละฤดู เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เหล่านักท่องเที่ยวอยากมาสัมผัสด้วยตาตัวเองสักครั้ง แต่นอกจากการชมวิวจากที่ไกลๆ แล้ว อีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ 'การพิชิตยอดภูเขาไฟฟูจิ' แห่งนี้นั่นเอง ! บทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลทั้งวิธีการเดินทาง เส้นทางการปีน ที่พักบนเขา อาหาร และของฝากขึ้นชื่อมาไว้แล้ว ใครมีแพลนจะปีนภูเขาไฟฟูจิไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง !

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

บทความนี้อาจมีลิงก์พาร์ทเนอร์ หากคุณทำการซื้อผ่านลิงก์พาร์ทเนอร์ เราอาจได้รับค่าคอมมิชชั่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับคุณ

「ภูเขาไฟฟูจิ」คืออะไร ?

ภูเขาไฟฟูจิ (Mt. Fuji, 富士山) คือภูเขาไฟขนาดใหญ่ที่ตั้งคร่อมอยู่ทั้งจังหวัดชิซูโอกะและยามานาชิ ปัจจุบันจัดอยู่ในลักษณะภูเขาไฟที่มีโอกาสปะทุต่ำ ภูเขาไฟฟูจิเป็นที่โด่งดังเพราะเป็นภูเขาที่สูงที่สุดและเป็นเหมือนสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น โดยเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2556 ภูเขาไฟฟูจิได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมในฐานะที่เป็น “สัญลักษณ์ที่ยึดเหนี่ยวความเชื่อและจุดกำเนิดของศิลปะหลากหลายแขนง”

ตลอดระยะเวลาหลายปีภูเขาไฟฟูจิได้เป็นสถานที่ที่ให้ผู้คนจากทั่วทุกสารทิศได้เดินทางมาเยือน โดยเฉพาะเมื่อฤดูร้อนมาถึงจะเป็นสัญญาณถึงการรวมตัวของนักปีนเขาจากทั่วโลก ณ ภูเขาไฟลูกนี้

จุดที่ห้ามพลาด

・พันธุ์พืชและสัตว์แปลกตา

ยอดภูเขาไฟฟูจิ ถือเป็นจุดที่สูงที่สุดของญี่ปุ่นและเป็นสถานที่ที่มีภูมิประเทศแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ทั่วไปในโลก ทำให้คุณสามารถพบเห็นพืชและสัตว์สายพันธ์ุแปลกตาที่พบเห็นได้เฉพาะในภูมิประเทศและระดับความสูงนี้เท่านั้น

ทั้งการกระจายตัวของพืชพันธ์ุแบบแนวตั้งที่พืชต่างชนิดจะจัดตัวตามระดับความสูงให้เหมาะสมกับปัจจัยของสิ่งแวดล้อมและการแก่งแย่งแสง หรือพันธ์ุสัตว์หลากชนิดที่คุณจะพบเห็นได้ในแต่ละระดับความสูง ทั้งเลียงผาญี่ปุ่น (Japanese serow, ニホンカモシカ สัตว์สงวนชนิดหนึ่งของญี่ปุ่น) หรือนกนัตแครกเกอร์ลายจุด (Spotted nutcracker, ホシガラス) ระหว่างเส้นทางตั้งแต่สถานีแวะพักที่ 5 (จุดเริ่มต้นเส้นทางปีน) ไปจนถึงเขตที่เป็นป่าไม้บนเขา คุณจะได้สัมผัสธรรมชาตินานาชนิดที่พบเห็นได้ยากจากเบื้องล่าง ถือเป็นสวรรค์สำหรับคนรักธรรมชาติเลยก็ว่าได้

・แสงแรกของวันจากยอดเขา

หากคุณขึ้นมาถึงยอดเขาแล้ว สิ่งที่ห้ามพลาดเลยก็คือการชมแสงแรกของวันจากจุดสูงสุดของญี่ปุ่นนี้ ภาพท้องฟ้าสีดำสนิทที่ค่อยๆ สว่างขึ้นจากแสงอาทิตย์ที่ลอดผ่านทะเลเมฆหนาเบื้องหน้าเป็นหนึ่งในทัศนียภาพที่สวยงามเกินกว่าจะบรรยายผ่านตัวหนังสือได้

・ไดมอนด์ฟูจิ

ไดมอนด์ฟูจิ (Diamond Fuji, ダイヤモンド富士) คือภาพทิวทัศน์ของภูเขาไฟฟูจิในจังหวะที่ดวงอาทิตย์ขึ้นหรือตกลงมาซ้อนทับกับยอดเขาพอดี แสงที่ส่องเป็นประกายลอดออกมาจากปากปล่องนี้จะส่องประกายระยิบระยับราวกับเพชรที่กำลังสะท้อนแสง วิวนี้เป็นวิวสุดหินที่กว่าจะได้เห็นต้องหาข้อมูลล่วงหน้ามาดีๆ ทั้งจุดชมว่าภูเขาจะต้องอยู่ทิศตะวันตกหรือตะวันออก ขึ้นกับว่าเป็นช่วงที่ดวงอาทิตย์ขึ้นหรือตก เวลา ฤดูกาล รวมถึงสภาพอากาศ แต่รับประกันว่าวิวที่ได้เห็นจะคุ้มค่าต่อการลงแรงอย่างแน่นอน

・ฟูจิสีเพลิง

ฟูจิสีเพลิง หรืออะคะฟูจิ (Akafuji, 赤富士) คือปรากฏการณ์ที่แสงอาทิตย์ยามเย็นหรือยามเช้าส่องกระทบภูเขาไฟฟูจิในช่วงที่หิมะบนภูเขาปกคลุมไม่หนามาก เกิดเป็นภาพภูเขาไฟสีแดงเพลิงน่าเกรงขาม

นอกจากนี้ ในภาษาญี่ปุ่นยังมีคำเรียกปรากฏการณ์เดียวกันนี้ที่เกิดในช่วงฤดูหนาวที่หิมะหนาปกคลุมยอดเขา ซึ่งจะเกิดเป็นทัศนียภาพที่ต่างกันไป คือคำว่า เบนิฟูจิ (Benifuji, 紅富士) อีกด้วย ซึ่งความหมายตามตัวอักษรของทั้งสองคำนี้แปลได้ว่าภูเขาไฟฟูจิสีแดงเพลิงเหมือนกัน ภาพข้างบนนี้เป็นภาพของเบนิฟูจิในช่วงฤดูหนาวนั่นเอง

・เงาภูเขาขนาดยักษ์

เมื่อดวงอาทิตย์ลอยเฉียงออกไป เงาของภูเขาไฟฟูจิที่ทอดไปบนพื้นราบจะทอดยาวและขยายใหญ่ขึ้น หากสภาพอากาศเป็นใจ คุณจะสามารถเห็นเงานี้จากทางเดินขึ้นเขาได้อีกด้วย

・ศาลเจ้าโอคุมิยะ ศาลเจ้าใหญ่บนยอดเขา (Fujisan Hongu Sengen Taisha Shrine Okumiya, 富士山頂上浅間大社奥宮)

ศาลเจ้านี้ตั้งอยู่บนส่วนยอดของเส้นทางฟูจิโนะมิยะ (Fujinomiya Route, 富士宮ルート) โดยในช่วงฤดูกาลปีนเขา (กรกฎาคมถึงกันยายน) จะมีนักบวชจำศีลอยู่และคอยสวดภาวนาให้แก่ความสงบร่มเย็นของประเทศ และความปลอดภัยของเหล่านักปีนเขารวมถึงผู้ศรัทธา นอกจากนี้ คุณยังสามารถขึ้นมาขอพรในเรื่องต่างๆ อาทิ ขอให้คลอดลูกอย่างปลอดภัย ให้แคล้วคลาดจากภยันตราย ให้ปราศจากจากโรคภัยไข้เจ็บ ให้กิจการเจริญรุ่งเรือง ให้ประสบความสำเร็จในการศึกษา สอบผ่านตามตั้งใจ ให้เจอคู่ครองที่เหมาะสม ให้ห่างไกลอัคคีภัย หรือให้ปลอดภัยในการเดินทาง เป็นต้น

โดยคุณสามารถซื้อเครื่องรางและเข้ารับน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์เงิน “กินเมซุย (銀明水)” จากภูเขาไฟฟูจิเพื่อความเป็นสิริมงคลได้อีกด้วย (ค่าใช้จ่าย 500 เยน) หากคุณมีโอกาสขึ้นมาถึงยอด อย่าลืมแวะมาขอพรที่ศาลเจ้าโอคุมิยะแห่งนี้ !

・ศาลเจ้าคุซุชิ (Kusushi Shrine, 久須志神社)

ศาลเจ้านี้ตั้งอยู่ใกล้กับยอดของเส้นทางโยชิดะ (Yoshida Route, 吉田ルート) และเส้นทางสึบาชิริ (Tsubashiri Route, 須走ルート) ถือเป็นหนึ่งในศาลเจ้ารองของศาลเจ้าโอคุมิยะ คุณสามารถซื้อเครื่องรางและรับน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ทอง “คินเมซุย (金明水)” ของภูเขาไฟฟูจิที่นี่ได้ โดยมีค่าใช้จ่าย 500 เยน เช่นกัน

・ที่ทำการไปรษณีย์บนยอดเขา

ที่นี่คือที่ทำการไปรษณีย์ที่ตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟฟูจิ ซึ่งจะเปิดทำการเฉพาะในช่วงฤดูกาลปีนเขา เป็นจุดที่คุณสามารถส่งโปสการ์ดจากจุดสูงสุดในประเทศไปให้คนสำคัญของคุณได้ !

เวลาทำการของที่นี่คือ 6.00 น. ถึง 20.00 น. โดยโปสการ์ดที่ถูกส่งจากที่นี่จะได้รับการประทับตาด้วยตราแบบพิเศษที่มีเฉพาะที่ที่ทำการไปรษณีย์แห่งนี้เท่านั้น นอกจากนี้ที่นี่ยังจำหน่ายแสตมป์แบบลิมิเต็ดเฉพาะที่ภูเขาไฟฟูจิอีกด้วย

โดยปกติแล้ว ช่วงที่ที่ทำการไปรษณีย์แห่งนี้เปิดให้บริการคือตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคมไปจนถึงวันที่ 20 สิงหาคมของทุกปี แต่ช่วงเวลานี้อาจแตกต่างไปตามแต่ละปี เราจึงขอแนะนำให้คุณตรวจสอบข้อมูลอีกครั้งก่อนไป และอีกจุดที่ควรระวังคือที่ทำการไปรษณีย์แห่งนี้ไม่มีตู้ ATM เปิดให้บริการเหมือนที่ทำการไปรษณีย์สาขาปกติอื่นๆ

・เดินชมรอบปากปล่องภูเขาไฟ

หลังชมแสงแรกของวันที่ยอดเขาจนเต็มอิ่มแล้ว อีกหนึ่งกิจกรรมที่นักปีนเขามักทำกันคือการเดินชมรอบปากปล่องภูเขาไฟ ตลอดหนึ่งรอบปากปล่องนี้ คุณจะได้ชมวิวของจุดสำคัญต่างๆ ทั้งจุดพีคของยอดเขา เคนกะมิเนะ (剣ヶ峰) อ่าวสุรุกะ (駿河湾) เทือกเขาแอลป์ญี่ปุ่นทางทิศใต้ รวมไปถึงเขายัตสึกะทาเก (八ヶ岳)

และหากคุณยังมีเวลาเหลือ คุณสามารถเดินไปชมจุดที่น้ำศักดิ์สิทธิ์ ทั้ง “กินเมซุย” และ “คินเมซุย” ผุดขึ้นมา รวมไปถึงที่ทำการไปรษณีย์และศาลเจ้าทั้งสองที่เราแนะนำไปแล้วได้อีกด้วย

・ร้านขายของระหว่างทางและบนยอดเขา

เส้นทางปีนเขาแต่ละเส้นรวมถึงบนยอดเขานั้นต่างก็มีร้านขายอาหารและขนมเปิดให้บริการ ร้านค้าเหล่านี้มีอาหารหลากหลายชนิดที่จะช่วยเยียวยาความเหนื่อยล้าของร่างกาย ทั้งราเมง อุด้งร้อนๆ แกงกะหรี่ ซุปทงจิรุ (ซุปมิโซะหมู) หรือแม้แต่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ! นอกจากนี้ คุณยังสามารถเลือกซื้อของที่ระลึกแบบลิมิเต็ดที่มีขายแค่ที่นี่ ไม้สลักที่ระลึกการเดินทาง ขนมขบเคี้ยว รวมถึงเครื่องดื่มนานาชนิดได้จากร้านค้าเหล่านี้อีกด้วย

・สถานีหมายเลขห้า ฟูจิซูบารุไลน์

สถานีหมายเลขห้า ฟูจิซูบารุไลน์” (富士スバルライン五合目) คือสถานีปากทางเข้าของเส้นทางยอดนิยมอย่างเส้นทางโยชิดะ ที่สถานีนี้มีทั้งร้านค้า ร้านอาหาร และที่พักเปิดให้บริการ ถือเป็นจุดแวะพักสำคัญทั้งก่อนและหลังปีนของบรรดานักปีนเขานั่นเอง

ร้านค้าที่สถานีนี้วางจำหน่ายสินค้ามากมายทั้งขนม ของชำ รวมถึงของที่ระลึกแบบลิมิเต็ดของภูเขาไฟฟูจิ

สภาพอากาศของภูเขาไฟฟูจิ

ด้วยความที่ภูเขาไฟฟูจิเป็นยอดเขาเดี่ยวตั้งตระหง่านที่ความสูงกว่า 3,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล ทำให้บางครั้งเกิดลมพัดกรรโชกแรง หรือมีสภาพอากาศแปรปรวนจากกระแสลมที่ยอดเขาซึ่งค่อนข้างอันตราย นอกจากนี้ ด้วยระดับความสูงที่แตกต่างกันของยอดเขาและตีนเขาหรือที่สถานีหมายเลขห้า ทำให้ความต่างของอุณหภูมิระหว่างทั้งสองจุดสูงตามไปด้วย (ทุกๆ การไต่ระดับความสูง 100 เมตร จากระดับน้ำทะเล อุณหภูมิจะลดลง 0.6 องศา)

ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าฤดูปีนภูเขาไฟฟูจิจะเป็นช่วงฤดูร้อนของญี่ปุ่น แต่ที่ยอดเขา อุณหภูมิจะหนาวเย็นราวกับอยู่ในช่วงกลางฤดูหนาวเลยทีเดียว โดยช่วงเวลาก่อนพระอาทิตย์ขึ้น อุณหภูมิจะตกลงไปถึงเกือบ 0 องศา หากคุณขึ้นไปถึงยอดเขาเร็วและนั่งรอพระอาทิตย์ขึ้นเป็นเวลานานก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติและเป็นอันตรายได้

ดังนั้น คุณจึงต้องเตรียมตัวและเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมสำหรับอากาศที่หนาวเย็นและสภาพอากาศข้างบนที่อาจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ และอย่าลืมตรวจสอบสภาพอากาศก่อนเริ่มปีนเขาด้วย

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

ฤดูปีนเขา

โดยปกติฤดูปีนภูเขาไฟฟูจิจะเป็นช่วงต้นเดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนกันยายน และช่วงเวลาที่เริ่มเปิดให้ปีนได้ของแต่ละเส้นทางก็จะแตกต่างกันไป ดังนั้นก่อนเริ่มวางแผนปีนเขา เราขอแนะนำให้คุณตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์ข้างล่างนี้ก่อน

เมื่อเข้าสู่ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม จำนวนคนที่มาปีนเขาจะเริ่มเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่คนจะเยอะเป็นพิเศษ หากมีผู้คนคับคั่ง ก็อาจจะไม่สามารถปีนเขาในความเร็วด้วยความเร็วที่เราต้องการ หรือหยุดพักระหว่างทางได้ยากขึ้น และอาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับบาดเจ็บหรือมีหินถล่มจากบนภูเขาอีกด้วย เราขอแนะนำให้คุณวางแผนการปีนเขาที่หลีกเลี่ยงวันและช่วงเวลาที่มีผู้คนหนาแน่น เพื่อให้คุณสามารถปีนภูเขาไฟฟูจิได้อย่างปลอดภัยและสบายใจ

นอกจากนี้ หากวันใดมีฝนตกหนัก สภาพอากาศย่ำแย่จนกระทบต่อความปลอดภัยในการปีน ก็อาจมีการปิดเส้นทางปีนเขาบางเส้นทางเป็นกรณีฉุกเฉินได้ คุณสามารถตรวจสอบการปิดเส้นทางฉุกเฉินนี้ได้จากหัวข้อ “Emergency Closure” (ภาษาอังกฤษ) หรือ “緊急時の閉鎖” (ภาษาญี่ปุ่น) ที่บริเวณล่างสุดของหน้าเว็บไซต์ด้านล่างนี้

ภาษาญี่ปุ่น:http://www.fujisan-climb.jp/season.html
ภาษาอังกฤษ:http://www.fujisan-climb.jp/en/season/index.html

Klook.com

วิธีเดินทางไปภูเขาไฟฟูจิ

เส้นทางการปีนภูเขาไฟฟูจิมีทั้งหมด 4 เส้นทาง โดยทุกเส้นทางล้วนมีปากทางเข้าอยู่ใกล้กับสถานีหมายเลขห้า (五合目) โดยคุณสามารถเดินทางจากสถานีหมายเลขห้าไปยังปากทางเข้าของแต่ละเส้นทางได้โดยรถบัส แท็กซี่ หรือรถยนต์*

*10 กรกฎาคมถึง 10 กันยายนของทุกปี เส้นทาง “ฟูจิสุบารุไลน์” (เส้นโยชิดะ, 吉田ルート) “ฟูจิอาซามิไลน์” (เส้นสึบาชิริ, 須走ルート) “ฟูจิซังสกายไลน์” (เส้นฟูจิโนะมิยะ, 富士宮ルート) จะจำกัดการเดินทางไปด้วยรถยนตร์ส่วนตัว ดังนั้นในช่วงดังกล่าวจะสามารถเดินทางไปยังปากทางเข้าด้วยรถยนต์ได้เฉพาะเส้นโกะเท็มบะเท่านั้น


<การเดินทางไปยังแต่ละเส้นทางปีนเขา>

※คุณสามารถเดินทางมายังสถานีที่ใกล้ที่สุดของแต่ละเส้นทาง แล้วนั่งโทซันบัสต่อไปยังสถานีหมายเลขห้าซึ่งเป็นปากทางของแต่ละเส้นทางได้

・ปากทางเส้นทางโยชิดะ: เดินทางไปยัง “สถานีหมายเลขห้า ฟูจิสุบารุไลน์ (Fuji Subaru Line 5th Station, 富士スバルライン五合目)”
 สถานีที่ใกล้ที่สุด: สถานี “คาวากุจิโกะ (Kawaguchiko Station, 河口湖駅)” หรือสถานี “ฟูจิซัง” (Fujisan Station, 富士山駅) บนสายฟูจิคิวโค (Fujikyuko Line, 富士急行線)

・ปากทางเส้นทางสึบาชิริ: เดินทางไปยัง “สถานีหมายเลขห้า สึบาชิริกุจิ (Subashiriguchi 5th Station, 須走口五合目)”
 สถานีที่ใกล้ที่สุด: สถานี “โกะเท็มบะ (Gotemba Station, 御殿場駅)” บนสาย JR โกะเท็มบะ (JR Gotemba Line, JR 御殿場線) หรือสถานี “ชินมัตสึดะ (Shinmatsuda, 新松田)” บนสายโอดะคิว (Odakyu Line, 小田急線)*
 * รถบัสจากสถานีชินมัตสึดะ สายโอดะคิวจะวิ่งให้บริการในบางช่วงเวลาเท่านั้น


・ปากทางเส้นทางโกะเทมบะ: เดินทางไปยัง “สถานีหมายเลขห้า โกะเทมบะกุจิ (Gotembaguchi 5th Station, 御殿場口新五合目)”
 สถานีที่ใกล้ที่สุด: สถานี “โกะเท็มบะ (Gotemba Station, 御殿場駅)” บนสาย JR โกะเท็มบะ (JR Gotemba Line, JR 御殿場線)

・ปากทางเส้นทางฟูจิโนะมิยะ: เดินทางไปยัง “สถานีหมายเลขห้า ฟูจิโนะมิยะกุจิ (Fujinomiyaguchi 5th Station, 富士宮口五合目)”
 สถานีที่ใกล้ที่สุด: สถานี “ชินฟูจิโนะมิยะ (Shinfujinomiya Station, 新富士駅)” หรือสถานี “ฟูจิ (Fuji Station, 富士駅)” บนสาย JR โทไคโดสายหลัก,  สถานี “ฟูจิโนะมิยะ (Fujinomiya Station, 富士宮駅)” บนสาย JR มิโนบุ (JR Minobu Line, JR身延線) หรือสถานี “ชิซูโอกะ (Shizuoka Station, 静岡駅)” บนสายรถไฟชินคันเซ็นโทไคโด (JR Tokaido Shinkansen Line, JR東海道新幹線)*
 * รถบัสจากสถานีชิซูโอกะ สายรถไฟชินคันเซ็นโทไคโดจะวิ่งให้บริการในบางช่วงเวลาเท่านั้น


เว็บไซต์ฟูจิคิวโค (富士急行) รถบัสด่วน (高速バス) และโทซันบัส (登山バス) 
・รถบัสด่วน:บัสไปจังหวัดยามานาชิ(ผ่านสถานีฟูจิคาวากุจิโกะ, สถานีฟูจิซัง, สถานีหมายเลขห้า ฟูจิสุบารุไลน์)
・รถบัสด่วน:บัสไปจังหวัดชิซูโอกะ(ผ่านสถานีโกะเท็มบะ, สถานีชินฟูจิ, สถานีฟูจิ, สถานีฟูจิโนะมิยะ)
・โทซันบัสช่วงฤดูร้อน:วิ่งไปยังสถานีหมายเลขห้าของแต่ละเส้นทาง

ภาษาญี่ปุ่น:http://bus.fujikyu.co.jp/highway/fujisan
    http://bus.fujikyu.co.jp/rosen/fujitozan
ภาษาอังกฤษ:http://bus-en.fujikyu.co.jp/
ภาษาไทย:http://bus-th.fujikyu.co.jp/

・การเดินทางจากโตเกียว/โอซาก้าไปยังเส้นทางปีนเขาหลัก

การเดินทางไปยังแต่ละเส้นทางสามารถทำได้หลายวิธี แต่ในบทความนี้จะแนะนำวิธีเดินทางจากเมืองหลักสองเมืองอย่างโตเกียวและโอซาก้าไปยังเส้นทางยอดนิยมอย่างเส้นโยชิดะและเส้นฟูจิโนะมิยะด้วยบริการขนส่งสาธารณะแบบที่เราเลือกมาให้แล้วว่าไปง่ายไม่เหนื่อยแน่นอน !
 

1)การเดินทางจากโตเกียวไปยังปากทางเส้นทางโยชิดะ “สถานีหมายเลขห้า ฟูจิสุบารุไลน์”

<รถไฟ>
ออกจากสถานี “JR โตเกียว” หรือสถานี “JR ชินจูกุ” นั่งมาลงที่สถานี “โอสึกิ (Otsuki Station, 大月駅)” บนสาย JR ชูโอสายหลัก (JR Chuo Main Line, JR 中央本線) โดยจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง - 1 ชั่วโมง 40 นาที

จากนั้นเปลี่ยนมาขึ้นสายฟูจิคิวโค (Fujikyuko Line, 富士急行線) ไปลงที่สถานี “ฟูจิซัง (Fujisan Station, 富士山駅)” หรือ สถานี “คาวากุจิโกะ (Kawaguchiko Station, 河口湖駅)” ใช้เวลาประมาณ 30 นาที - 1 ชั่วโมง

หลังจากนั้นเปลี่ยนมาขึ้นฟูจิโทซันบัสของฟูจิคิวโคไปยัง “สถานีหมายเลขห้า ฟูจิสุบารุไลน์ (Fuji Subaru Line 5th Station, 富士スバルライン五合目)” ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง

<รถบัสด่วน>
ขึ้นรถบัสด่วนฟูจิคิวโคที่ “บัสเทอร์มินัลชินจูกุ (Shinjuku Expressway Bus Terminal, バスタ新宿)” นั่งไปลงที่ “สถานีหมายเลขห้า ฟูจิสุบารุไลน์ (Fuji Subaru Line 5th Station, 富士スバルライン五合目)” ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง 30 นาที


2)การเดินทางจากโตเกียวไปยังปากทางเส้นทางฟูจิโนะมิยะ “สถานีหมายเลขห้า ฟูจิโนะมิยะกุจิ”

<รถไฟ>

เริ่มเดินทางจากสถานี “JR โตเกียว”ขึ้นรถไฟชินคันเซ็นสาย JR โทไคโดไปลงที่สถานี “ชินฟูจิโนะมิยะ (Shin Fujinomiya Station, 新富士駅)” ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 10 นาที

จากนั้นขึ้นรถบัสด่วนฟูจิคิวโคต่อไปลงที่ “สถานีหมายเลขห้า ฟูจิโนะมิยะกุจิ (Fujinomiya 5th Station, 富士宮口五合目)” ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง

<รถบัสด่วน>

ขึ้นรถบัสด่วน “สายฟูจิ・ฟูจิโนะมิยะ - โตเกียว (Kaguyahime Express・Yakisoba Express)” จากสถานีรถบัสที่ทางออกยาเอะสึทิศใต้ (Yaesu South Exit) ของสถานีโตเกียวมาลงที่สถานี “ชินฟูจิโนะมิยะ (Shin Fujinomiya Station, 新富士駅)” หรือสถานี “ฟูจิโนะมิยะ (Fujinomiya Station, 富士駅)” โดยจะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง 20 นาที

จากนั้นต่อรถฟูจิโทซันบัสของฟูจิคิวโคมาลงที่ “สถานีหมายเลขห้า ฟูจิโนะมิยะกุจิ (Fujinomiya 5th Station, 富士宮口五合目)” ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง



3)การเดินทางจากโอซาก้าไปยังปากทางเส้นทางโยชิดะ “สถานีหมายเลขห้า ฟูจิสุบารุไลน์”

<รถไฟ>

เริ่มเดินทางจากสถานี “JR ชินโอซาก้า (JR Shin Osaka Station, JR 新大阪駅)” ขึ้นรถไฟชินคันเซ็นสาย JR โทไคโดมาลงที่สถานี “ชินโยโกฮาม่า (Shin Yokohama Station, 新横浜駅)” โดยจะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง 20 นาที

จากนั้นเปลี่ยนมาขึ้นสาย JR โยโกฮาม่า (JR Yokohama Line, JR 横浜線) มาลงที่สถานี “ฮะจิโอจิ (Hachioji Station, 八王子駅) ใช้เวลาประมาณ 30 นาที

เปลี่ยนมาขึ้นสายฟูจิคิวโค (Fujikyuko Line, 富士急行線) ไปลงที่สถานี “โอสึกิ (Otsuki Station, 大月駅)” ใช้เวลาประมาณ 50 นาที

จากนั้นเปลี่ยนมาขึ้นรถฟูจิโทซันบัสของฟูจิคิวโค ไปลงที่ “สถานีหมายเลขห้า ฟูจิสุบารุไลน์ (Fuji Subaru Line 5th Station, 富士スバルライン五合目)” ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง

<รถบัสด่วน>

นั่งรถบัสด่วนฟูจิคิวโคสาย “โอซาก้า・เกียวโต - ฟูจิคิวไฮแลนด์・สถานีฟูจิซัง・สถานีคาวาคุจิโกะ (Fujiyama Liner)” ออกจากโอซาก้า* มาลงที่สถานี “ฟูจิซัง (Fujisan Station, 富士山駅)” หรือสถานี “คาวาคุจิโกะ (Kawaguchiko Staion, 河口湖駅)” ใช้เวลาประมาณ 11 ชั่วโมง

จากนั้นขึ้นฟูจิโทซันบัสมาลงที่ “สถานีหมายเลขห้า ฟูจิสุบารุไลน์ (Fuji Subaru Line 5th Station 富士スバルライン五合目)” ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง

*ขึ้นได้ที่ “ทางออกตะวันตก ของสถานีคินเท็ตสึนัมบะ (Kintetsu Namba Staion, 近鉄なんば駅)” หรือ “หน้าสถานีโอซาก้า (Osaka Ekimae, 大阪駅前)”



4)การเดินทางจากโอซาก้าไปยังปากทางเส้นทางฟูจิโนะมิยะ “สถานีหมายเลขห้า ฟูจิโนะมิยะกุจิ”

<รถไฟ>

เริ่มเดินทางจากสถานี “ชินโอซาก้า (Shin Osaka Station, 新大阪駅)” ขึ้นรถไฟชินคันเซ็นสาย JR โทไคโดมาลงที่สถานี “ชินฟูจิ (Shin Fuji Station, 新富士駅)” ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง 40 นาที

จากนั้นขึ้นรถบัสปีนเขาฟูจิคิวโคมาลงที่ “สถานีหมายเลขห้า ฟูจิโนะมิยะกุจิ (Fujinomiya 5th Station 富士宮口五合目)” ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง


<รถบัสด่วน>

ขึ้นรถบัสด่วนฟูจิคิวโคสาย “โอซาก้า・เกียวโต - ชินฟูจิ・นุมาสึ・โกะเท็มบะ・มัตสึดะชะโคะ・โอดะวะระ (Kintaro)” ที่ “ทางออกตะวันตก ของสถานีคินเท็ตสึนัมบะ (Kintetsu Namba Staion, 近鉄なんば駅)*” มาลงที่สถานี “ชินฟูจิโนะมิยะ (Shin Fujinomiya Station, 新富士駅)” ใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมง

หลังจากนั้นนั่งรถฟูจิโทซันบัสของฟูจิคิวโคมาลงที่ “สถานีหมายเลขห้า ฟูจิโนะมิยะกุจิ (Fujinomiya 5th Station 富士宮口五合目)” ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง

*สามารถขึ้นจาก “หน้าสถานีโอซาก้า (Osaka Ekimae, 大阪駅前)” ได้เช่นกัน

 

แนะนำเส้นทางปีนเขา

เส้นทางปีนภูเขาไฟฟูจิหลักๆ มีทั้งหมด 4 เส้นทาง โดยแต่ละเส้นทางจะมีจุดเริ่มต้นหรือปากทางที่แตกต่างกันทำให้ระดับความยากในการปีนของแต่ละเส้นทางแตกต่างกันไป และสามารถเลือกปีนเส้นทางที่เหมาะกับประสบการณ์และสภาพร่างกายของคุณได้

นอกจากนี้ แต่ละเส้นทางจะมี 'สี' เฉพาะที่จะแสดงบนป้ายบอกทางตลอดเส้นทางปีนเขา ซึ่งคุณควรจำสีของเส้นทางที่ตัวเองปีนให้ได้ เพื่อให้ไม่หลงหรือสลับไปปีนเส้นทางอื่นเมื่อพบกับจุดตัดระหว่างสองเส้นทางนั่นเอง

▼ข้อมูลปากทางเข้าและเส้นทางปีนเขา
ภาษาญี่ปุ่น:http://www.fujisan-climb.jp/trails/index.html
ภาษาอังกฤษ:http://www.fujisan-climb.jp/en/trails/index.html


 

・เส้นทางแนะนำสำหรับนักปีนเขามือใหม่: เส้นโยชิดะ

ปากทางเข้า: สถานีหมายเลขห้า ฟูจิสุบารุไลน์

สีประจำเส้นทาง: สีเหลือง

เส้นโยชิดะมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ “สถานีหมายเลขห้า ฟูจิสุบารุไลน์” แล้วจึงขึ้นมาบรรจบกับ “เส้นทางปีนเขาโยชิดะกุจิ (Yoshidaguchi Trail, 吉田口登山道)” ที่สถานีหมายเลขหก เส้นโยชิดะเป็นเส้นทางที่อยู่ทางทิศเหนือของภูเขาไฟฟูจิ หันเข้าจังหวัดยามานาชิ มีลักษณะเฉพาะตรงที่เส้นทางปีนขึ้นและปีนลงจะเป็นคนละเส้นทางกัน โดยเส้นทางขึ้นจะมีกระท่อมให้แวะพักได้อยู่เป็นระยะ ในขณะที่เส้นทางลงจะมีกระท่อมให้แวะพักน้อยถึงไม่มีเลยในบางช่วง แม้ว่าที่เส้นทางนี้จะสามารถชมแสงแรกของวันได้ตั้งแต่ที่สถานีหมายเลขห้าขึ้นไป แต่หากคุณเป็นนักปีนเขามือใหม่ เราแนะนำให้คุณขึ้นไปค้างสักคืนหนึ่งที่บริเวณใกล้สถานีหมายเลขแปดข้างบนเขาก่อน

เส้นทางนี้สามารถเดินทางมาจากตัวเมืองได้อย่างสะดวก และยังเป็นเส้นทางที่เหมาะสำหรับนักปีนเขามือใหม่ ทำให้เส้นทางโยชิดะต้องรองรับจำนวนนักปีนเขาถึงกว่าครึ่งหนึ่งของนักปีนเขาทั้งหมดในทุกๆ ปี ดังนั้น หากคุณจะมาในช่วงฤดูปีนเขาก็สามารถคาดการณ์ปริมาณผู้คนที่คับคั่งไว้ก่อนได้เลย ที่นี่ยังมีแผนที่เส้นทางเตรียมไว้ให้นักเดินทางในหลายภาษา (รวมถึงภาษาไทย) เป็นเส้นทางที่แนะนำสำหรับผู้ที่จะเริ่มปีนเขาครั้งแรก

ระดับความสูงของปากทาง: 2,305 เมตร

ระยะเวลาที่ใช้ในการปีนเขา: ขาขึ้นประมาณ 6 ชั่วโมง ขาลงประมาณ 4 ชั่วโมง (ไม่นับรวมเวลาพัก)

ระยะทาง: ขาขึ้นประมาณ 6.8 กิโลเมตร ขาลง รอการยืนยันข้อมูล

แผนที่เส้นทาง (ภาษาอังกฤษ, ภาษาจีนตัวย่อ, ภาษาเกาหลี, ภาษาไทย)
http://www.fujisan-climb.jp/en/trails/yoshida.html

 

・เส้นทางแนะนำสำหรับนักปีนเขาที่มีประสบการณ์: เส้นสึบาชิริ

ปากทางเข้า: สถานีหมายเลขห้า สึบาชิริกุจิ

สีประจำเส้นทาง: สีแดง

เส้นสึบาชิริมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ “สถานีหมายเลขห้า สึบาชิริกุจิ” โดยเป็นเส้นทางที่อยู่ทางทิศตะวันออกของภูเขาไฟฟูจิ หันหน้าเข้าหาจังหวัดชิซูโอกะ (ด้านเมืองโอยามะ) ลักษณะสำคัญของเส้นทางนี้คือมีป่าไม้ปกคลุมช่วยบังแสงแดดระหว่างปีนไปจนถึงบนเขา

ขาขึ้นและลงของเส้นทางนี้จะใช้เส้นทางที่แตกต่างกัน โดยเส้นทางขาลงจะปกคลุมด้วยก้อนกรวดภูเขาไฟก้อนเล็กๆ ทอดยาวเป็นเส้นตรงจนถึงปากทาง เป็นลักษณะภูมิประเทศขึ้นชื่อของเส้นสึบาชิรินี้ เส้นสึบาชิริจะมาบรรจบกับเส้นโยชิดะที่สถานีหมายเลขแปด โดยจากสถานีหมายเลขแปดไปจนถึงยอดเขา ทั้งสองเส้นทางจะใช้เส้นทางร่วมกัน ทำให้หลังสถานีหมายเลขแปดจะมีผู้ร่วมทางคับคั่งกว่าช่วงก่อนหน้า

ที่ระดับเขตความสูงหลังโผล่พ้นขึ้นมาจากป่าไม้เบื้องล่าง คุณจะสามารถชมแสงแรกของวัน รวมไปถึงเงาของภูเขาไฟฟูจิได้จากทุกจุด อย่างไรก็ตาม ในบริเวณที่ยังไม่พ้นเขตป่าไม้ ทัศนวิสัยจะไม่สู้ดีนัก ควรระมัดระวังไม่ให้หลงป่าหรือออกจากเส้นทาง โดยเฉพาะในช่วงกลางคืนหรือในช่วงที่หมอกลงหนาแน่น

ระดับความสูงของปากทาง: 1,975 เมตร

ระยะเวลาที่ใช้ในการปีนเขา: ขาขึ้นประมาณ 6 ชั่วโมง ขาลงประมาณ 3 ชั่วโมง (ไม่นับรวมเวลาพัก)

ระยะทาง: ขาขึ้นประมาณ 6.9 กิโลเมตร ขาลง 6.2 กิโลเมตร

 

・เส้นทางแนะนำสำหรับนักปีนเขามากประสบการณ์: เส้นโกะเท็มบะ

ปากทางเข้า: สถานีหมายเลขห้า โกะเท็มบะกุจิ

สีประจำเส้นทาง: สีเขียว

เส้นโกะเท็มบะมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ “สถานีหมายเลขห้า โกะเท็มบะกุจิ” โดยเป็นเส้นทางที่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของภูเขาไฟฟูจิ หันหน้าเข้าหาจังหวัดชิซูโอกะ (ด้านเมืองโกะเท็มบะ) ลักษณะสำคัญของเส้นทางนี้คือ มีจุดเริ่มต้นที่ระดับความสูงต่ำกว่าเส้นทางอื่นๆ และทางขึ้นที่ค่อยๆ ไต่ระดับความชันทีละน้อย ทำให้ระดับความสูงระหว่างปากทางและยอดเขาต่างกันมาก และระยะทางถึงจุดยอดก็ยาวไกลกว่าเส้นทางอื่นๆ จึงเหมาะสำหรับนักปีนเขาที่มีสภาพร่างกายสมบูรณ์ (สามารถแบกของหนักและเดินทางไกลได้) เท่านั้น 

นอกจากนี้ ทางลงยังเป็นพื้นที่ปกคลุมด้วยก้อนกรวดภูเขาไฟที่ทั้งหนาและมีระยะทางยาวกว่าเส้นสึบาชิริอีกด้วย เส้นทางนี้คุณจะสามารถชมแสงแรกของวันได้จากบริเวณที่สูงประมาณหนึ่งเท่านั้น

ในบรรดา 4 เส้นทางหลัก เส้นโกะเท็มบะเป็นเส้นที่มีจำนวนนักปีนเขาน้อยที่สุด คุณจึงสามารถปีนเขาอย่างสงบเงียบได้ อย่างไรก็ตาม เส้นทางนี้มีป้ายหรือจุดให้สังเกตอยู่ไม่มาก ทำให้อาจพลัดหลงออกนอกเส้นทางได้ง่ายในช่วงค่ำหรือช่วงที่หมอกลงหนา

นอกจากนี้ เส้นโกะเท็มบะยังมีจำนวนกระท่อมให้แวะพักและห้องน้ำน้อยกว่าเส้นทางอื่นๆ รวมถึงไม่มีเจ้าหน้าที่หรือสถานที่ที่สามารถติดต่อหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินได้ หากคุณมีประสบการณ์ปีนเขาน้อยหรือเป็นนักปีนเขามือใหม่ เราแนะนำให้เริ่มจากการปีนเส้นทางอื่นๆ ก่อนจะดีกว่า

ระดับความสูงของปากทาง: 1,440 เมตร

ระยะเวลาที่ใช้ในการปีนเขา: ขาขึ้นประมาณ 7 ชั่วโมง ขาลงประมาณ 3 ชั่วโมง (ไม่นับรวมเวลาพัก)

ระยะทาง: ขาขึ้นประมาณ 10.5 กิโลเมตร ขาลง 8.4 กิโลเมตร

 

・เส้นทางแนะนำสำหรับนักปีนเขามือใหม่: เส้นฟูจิโนะมิยะ

ปากทางเข้า: สถานีหมายเลขห้า ฟูจิโนะมิยะกุจิ

สีประจำเส้นทาง: สีฟ้า

เส้นฟูจิโนะมิยะมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ “สถานีหมายเลขห้า ฟูจิโนะมิยะกุจิ” โดยเป็นเส้นทางที่อยู่ทางทิศใต้ของภูเขาไฟฟูจิ หันหน้าเข้าหาจังหวัดชิซูโอกะ (ด้านเมืองฟูจิโนะมิยะ) ลักษณะสำคัญของเส้นทางนี้คือมีจุดเริ่มต้นที่ระดับความสูงมากที่สุดเมื่อเทียบกับเส้นทางอื่นๆ ระยะทางจากจุดเริ่มต้นไปถึงยอดเขาจึงสั้นกว่าเส้นทางอื่นๆ นั่นเอง ด้วยเหตุนี้ เส้นฟูจิโนะมิยะจึงเป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่ได้รับความนิยมรองลงมาจากเส้นโยชิดะ

โดยภาพรวมเส้นทางนี้ค่อนข้างชัน ทั้งยังมีหินและกรวดอยู่เยอะตลอดเส้นทาง สำหรับนักปีนเขามือใหม่ เราแนะนำว่าให้พักหนึ่งคืนที่ที่พักใกล้สถานีหมายเลขแปด ที่เส้นทางนี้ คุณจะมองเห็นแสงแรกโผล่ขึ้นมาจากแนวสันภูเขาไฟฟูจิด้วยมุมที่แตกต่างกันขึ้นกับตำแหน่งที่คุณอยู่ และหากสภาพอากาศเป็นใจ คุณจะมองเห็นอ่าวสุรุกะ (駿河湾) จากยอดเขานี้ได้อีกด้วย

ขาขึ้นและขาลงของเส้นฟูจิโนะมิยะใช้เส้นทางเดียวกันทำให้มีโอกาสไปผิดเส้นทางหรือหลงออกนอกเส้นทางน้อย อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผู้คนคับคั่ง คุณอาจจะต้องชะลอความเร็วหรือหลบหลีกให้กับเพื่อนนักเดินทางที่ขึ้นหรือลงเขาสวนกันอยู่บ่อยๆ และด้วยความที่ปากทางตั้งอยู่ค่อนข้างสูง และเส้นทางปีนมีความสูงชันทำให้ร่างกายคุณต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงความสูงและความกดอากาศที่รวดเร็ว จึงต้องระมัดระวังและเตรียมตัวหากเกิดอาการคลื่นไส้และวิงเวียนจากอาการแพ้ความสูง (altitude sickness) ไว้ล่วงหน้า

ระดับความสูงของปากทาง: 2,380 เมตร

ระยะเวลาที่ใช้ในการปีนเขา: ขาขึ้นประมาณ 5 ชั่วโมง ขาลงประมาณ 3 ชั่วโมง (ไม่นับรวมเวลาพัก)

ระยะทาง: ขาขึ้นประมาณ 4.3 กิโลเมตร ขาลง 4.3 กิโลเมตร

▼แผนที่เส้นทาง (ภาษาอังกฤษ)
http://www.fujisan-climb.jp/en/trails/fujinomiya.html


* เวลาที่ใช้ในการปีนทั้งขาขึ้นและขาลงเป็นเพียงการประมาณการ ในสถานการณ์จริงอาจมีปัจจัยเรื่องความเร็วในการเดิน ความเหน็ดเหนื่อย สภาพอากาศหรืออุณหภูมิที่ส่งผลให้ระยะเวลาที่ใช้แตกต่างไปได้

เสื้อผ้า・ของที่ควรพกไป

・เสื้อผ้า

เสื้อกันหนาว เสื้อขนแกะ, ขนเป็ด, สเวตเตอร์ และอื่นๆ ควรมีน้ำหนักเบาและกระชับ

เสื้อ

ควรเป็นเสื้อแขนยาวที่ทำจากวัสดุที่ดูดความชื้นและแห้งไว หลีกเลี่ยงผ้าฝ้ายที่แห้งช้า และควรสวมใส่ทับหลายชั้นเพื่อช่วยในการปรับอุณหภูมิ
กางเกงปีนเขา กางเกงขายาวที่ไม่ใช่ผ้าฝ้าย หากยืดหยุ่นดีจะช่วยให้เดินได้ง่ายขึ้น
ชุดชั้นใน เลือกใช้ผ้าที่แห้งไว หลีกเลี่ยงผ้าฝ้าย
หมวกหรือหมวกไหมพรม

หมวกที่ป้องกันแสงแดด ฝน และไม่หลุดปลิวหากลมแรง
ช่วงเช้าและค่ำ รวมถึงบริเวณยอดเขาอุณหภูมิอาจต่ำเป็นพิเศษ ควรพกหมวกไหมพรมที่กันความเย็นได้

ปอกสวมคอ (neck warmer) เน้นที่ป้องกันความหนาว หากบางควรป้องกันแดดและผงฝุ่นได้
ถุงมือ ควรเลือกถุงมือกันแดด กันความหนาว และช่วยป้องกันมือหากหกล้ม
ถุงเท้า เลือกแบบที่ดูดซับเหงื่อ หนาปานกลางและกระชับ

 

 

・ของที่ควรพกไป

รองเท้าปีนเขา (หุ้มข้อและกันน้ำ) น้ำดื่ม (อย่างน้อย 1 ลิตร)
กระเป๋าเป้ (ขนาดบรรจุประมาณ 30 ลิตร) อาหารพลังงานสูง (อาหารที่มีน้ำตาลสูงจะช่วยฟื้นฟูความอ่อนล้าได้ดี)
ที่คลุมกระเป๋าเป้ (กันฝน) กระดาษทิชชู่ (แบบที่ไม่มีแกนก็ได้) 
ไฟฉายคาดหัว (แบบที่เปิดได้ทั้งสองด้าน) ทิชชู่เปียก
เสื้อกันน้ำ (มีลมพัดจึงไม่ควรใช้ร่มหรือเสื้อคลุมกันฝน) ถุงพลาสติก (สำหรับใส่เสื้อผ้าหรือขยะ)
ผ้าขนหนู (เช็ดเหงื่อ กันแดดและฝุ่นผง) แผนที่ ไกด์บุ๊ค
ยา อุปกรณ์ปฐมพยาบาล (ชุดทำแผล, ยาแก้ท้องเสีย และอื่นๆ) บัตรประกันสุขภาพหรือสำเนา (กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน)
เหรียญ (โดยเฉพาะเหรียญ 100 เยน สำหรับใช้เข้าห้องน้ำ)  

 

 

・อุปกรณ์เสริมอื่นๆ

ไม้เท้าปีนเขา(สำหรับลดภาระที่ขา) แผ่นไคโรใช้แล้วทิ้ง (สำหรับกันหนาว)
ที่หุ้มแข้ง(สำหรับกันทรายและน้ำตอนลงเขา) แผ่นคลุมกันหนาว(สำหรับกันหนาว)
สนับเข่า (ลดการลงน้ำหนักที่เท้า) ที่อุดหู (หากพักบนกระท่อมที่พักบนเขา) 
แว่นกันแดด (ป้องกันแดดและฝุ่นผง) ยาสีฟัน (หากพักบนกระท่อมที่พักบนเขา)
ครีมกันแดด (บนที่สูงจะมีรังสียูวีค่อนข้างแรง) เทปกาว (เผื่อเกิดกรณีกระเป๋าหรือรองเท้าขาด)
แก๊สออกซิเจนพกพา (ป้องกันอาการแพ้ความสูง)  

 

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

แนะนำที่พักบนเขา

คุณสามารถพบกระท่อมที่พักบนเขาในชั้นที่สูงกว่าสถานีหมายเลขห้าของแต่ละเส้นทาง โดยจะเปิดให้บริการเฉพาะในช่วงที่เปิดเส้นทางให้ปีนเขาได้ กระท่อมเหล่านี้เป็นเพียงที่ให้เหล่านักปีนเขาได้มาแวะนอนหลับเอาแรงสักตื่น จึงให้บริการแค่สิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นเท่านั้น

ค่าที่พักสำหรับหนึ่งคืนพร้อมอาหารสองมื้ออยู่ที่ราวๆ 8,500 เยน หากเข้าพักโดยไม่รวมอาหารจะอยู่ที่ราวๆ 6,000 เยนต่อคืน โดยหากเข้าพักในช่วงสุดสัปดาห์จะมีการบวกราคาเพิ่ม 500-2,000 เยน และในช่วงที่นักปีนเขาหนาแน่นอาจมีช่วงที่ที่พักเต็ม รวมถึงที่พักส่วนใหญ่เป็นห้องรวมชายหญิง จึงมีความเป็นไปได้ที่อาจจะเหลือที่พักว่างให้เข้าใช้ได้เพียงที่เดียว จึงควรทำการจองก่อนเดินทางมาเสมอ

นอกจากจะเป็นที่พักค้างคืนสำหรับนักปีนเขาที่เหน็ดเหนื่อยแล้ว กระท่อมที่พักเหล่านี้ยังเป็นที่สำหรับนั่งพักชั่วคราวให้หายเหนื่อย หรือแวะซื้อมื้ออาหารง่ายๆ อย่างกล่องข้าว อาหารประเภทเส้น หรือข้าวหน้าต่างๆ รวมถึงเครื่องดื่มอย่างเหล้าหวาน (甘酒) หรือกาแฟได้อีกด้วย นอกจากนี้ ห้องน้ำก็มีให้บริการเช่นกัน อย่างไรก็ตาม บนภูเขาสูงเช่นนี้น้ำถือเป็นสิ่งที่มีค่ามาก ที่นี่จึงไม่มีน้ำสำหรับล้างมือหรืออาบน้ำ แต่คุณสามารถซื้อน้ำขวดเพื่อดื่มแก้กระหายได้

สำหรับการจ่ายเงิน ที่นี่รับเพียงเงินสดเท่านั้น ไม่สามารถจ่ายด้วยบัตรเครดิตได้ และที่นี่ไม่มีที่สำหรับทิ้งขยะ คุณจึงต้องเก็บขยะต่างๆ ที่เหลือจากการกินดื่มกลับลงเขาไปด้วยตัวเอง

แนะนำอาหาร (ภูเขาไฟฟูจิและบริเวณโดยรอบ)

สำหรับมื้ออาหารที่ภูเขาไฟฟูจิ คุณสามารถเข้าใช้บริการที่ร้านอาหารที่ปากทางเข้าก่อนและหลังเริ่มปีน หรือที่กระท่อมที่พักบนเขาได้ โดยที่กระท่อมบนเขา การขนส่งวัตถุดิบต่างๆ ขึ้นไปถือเป็นเรื่องยากลำบาก จึงมักจะมีเพียงอาหารง่ายๆ ที่ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายเท่านั้น นอกจากนี้ ราคาอาหารข้างบนก็จะสูงกว่าปกติอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม คุณสามารถเพลิดเพลินไปกับอาหารที่หาทานได้แค่ที่ภูเขาไฟฟูจิทั้งตอนก่อนปีนและหลังลงเขามาแล้วได้ !

・โยชิดะอุด้ง (吉田うどん)

“โยชิดะอุด้ง” คืออาหารท้องถิ่นของเมืองฟูจิโยชิดะในจังหวัดยามานาชิ ที่ตั้งอยู่ติดกับภูเขาไฟฟูจิไปทางด้านทิศเหนือ เอกลักษณ์ของอุด้งชนิดนี้คือน้ำซุปที่ทำจากส่วนผสมระหว่างโชยุและมิโซะ เส้นอุด้งที่ใหญ่และแข็งกว่าปกติ เนื้อม้าที่ตุ๋นและปรุงให้ออกรสเผ็ดหวาน ออนท็อปด้วยกะหล่ำปลีหรือเต้าหู้ทอด

・โฮโท (ほうとう)

“โฮโท” คืออีกหนึ่งเมนูอาหารท้องถิ่นของจังหวัดยามานาชิที่ชาวเมืองภาคภูมิใจ หม้อไฟนาเบะที่ตุ๋นรวมผักนานาชนิดเข้ากับเส้นแบบพิเศษขนาดใหญ่กว่าอุด้งในน้ำซุปมิโซะหม้อนี้จะเป็นหนึ่งในความประทับใจในการมาเยือนภูเขาไฟฟูจิของคุณอย่างแน่นอน

・ฟูจิโนะมิยะยากิโซบะ (富士宮やきそば)

"ฟูจิโนะมิยะยากิโซบะ" เป็นอาหารขึ้นชื่อของเมืองฟูจิโนะมิยะในจังหวัดชิซูโอกะที่ตั้งอยู่ติดกับภูเขาไฟฟูจิไปทางทิศใต้ จุดเด่นของเมนูจานนี้คือเส้นที่เหนียวนุ่ม รวมถึงการใช้น้ำมันจากเนื้อสัตว์ในการผัด และผงปลาซาร์ดีนแห้งที่ช่วยทำให้รสชาติของอาหารกลมกล่อมอย่างไม่น่าเชื่อ ว่ากันว่ายากิโซบะชนิดนี้ถือเป็นเมนูระดับแถวหน้าของอาหารพื้นเมืองในภูมิภาคเลยทีเดียว

ของฝาก

ที่แต่ละกระท่อมที่พักทั้งตรงปากทางและบนยอดเขาจะมีของกินและของฝากแบบออริจินัลของภูเขาไฟฟูจิให้คุณได้เลือกซื้อ ทั้งโปสการ์ดลายภูเขาไฟฟูจิสุดน่ารัก หรือน้ำไซเดอร์ “ฟูจิไซเดอร์” ที่ทำมาจากน้ำแร่ธรรมชาติขึ้นชื่อของภูเขาฟูจิอย่าง “น้ำหมื่นปีฟูจิมังเน็นซุย” และด้วยคุณสมบัติธรรมชาติของน้ำแร่ที่ช่วยลดความหวาน เกิดเป็นไซเดอร์รสชาติกลมกล่อมในแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของที่นี่เท่านั้น

ขนมของฝากที่ซื้อจากที่นี่ทุกชิ้นจะมีแพ็กเกจที่มีลวดลายวิวทิวทัศน์อันยิ่งใหญ่ของภูเขาไฟฟูจิ ถือเป็นของฝากที่ยืนยันความออริจินัลของภูเขาไฟแห่งนี้ นอกจากนี้ยังมี “คงโกซึเอะ (金剛棒)” ไม้เท้าสำหรับปีนเขาที่สามารถปั๊มตราที่ระลึกของที่นี่ เครื่องรางเพื่อความเป็นสิริมงคลที่สามารถซื้อได้ที่ศาลเจ้าโอคุมิยะบนเขา และของที่ระลึกน่าซื้ออีกมากมาย

ของฝากเหล่านี้จะเป็นเหมือนหนึ่งในความทรงจำแห่งความภาคภูมิใจของคุณว่าครั้งหนึ่งคุณเคยพิชิตยอดเขาที่สูงที่สุดในประเทศญี่ปุ่นมาแล้ว !

กฎและมารยาทในการปีนภูเขาไฟฟูจิ

พื้นที่ส่วนใหญ่ของภูเขาไฟฟูจิรวมไปถึงบริเวณตีนเขาล้วนถูกขึ้นทะเบียนขึ้นเป็นอุทยานแห่งชาติฟูจิ-ฮาโกเนะ-อิซึ (富士箱根伊豆国立公園), มรดกโลกทางวัฒนธรรม, สถานที่ทรงคุณค่าทางทัศนียภาพ รวมถึงสถานที่เชิงประวัติศาสตร์ของประเทศ

นอกจากนี้ที่นี่ยังเต็มไปด้วยสัตว์และพืชพันธุ์อนุรักษ์ และสถานที่รวมถึงวัตถุสำคัญทางประวัติศาสตร์จำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับความสูงตั้งแต่สถานีหมายเลขห้าขึ้นมาถูกแต่งตั้งเป็น “อุทยานแห่งชาติพื้นที่คุ้มครองพิเศษ (国立公園特別保護地区)” โดยมีการวางมาตรการอย่างเคร่งครัดในการอนุรักษ์และดูแลพันธ์ุพืชและสัตว์ ด้วยเหตุนี้ คุณจึงควรใช้พื้นที่และปีนเขาด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ

ความสวยงามของวิวทิวทัศน์ของภูเขาไฟฟูจิจะคงอยู่ได้ก็ด้วยความร่วมมือจากนักปีนเขาทุกท่าน ทุกคนจึงต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติและมารยาทข้างล่างนี้ เพื่อให้การปีนเขาไม่เบียดเบียนระบบนิเวศ และรักษาความปลอดภัยทั้งของตนเองและผู้คนรอบตัว

 

・ห้ามเก็บสัตว์ พรรณพืช และขีดเขียนบนก้อนหิน
・ห้ามตั้งเต็นท์และก่อกองไฟ
・ห้ามเดินในบริเวณเส้นทางนอกเหนือจากเส้นทางปีนเขา
・ให้ความสำคัญกับคนปีนขึ้นก่อน
・ไม่เดินเข้าไปในเขตหวงห้าม
・ระวังไม่ทำให้หินถล่ม
 (หากพลาดทำไปแล้วให้ส่งเสียงบอกคนรอบข้างโดยเร็ว)
・เมื่อเข้าเขตที่พักให้งดใช้เสียง
・ไม่ปล่อยสัตว์เลี้ยงให้เดินอย่างอิสระ
・เก็บขยะลงเขามาด้วย

 

Klook.com

เงินบริจาคเพื่อการอนุรักษ์ภูเขาไฟฟูจิ

ตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา เริ่มมีการเปิดรับ “เงินบริจาคเพื่อการอนุรักษ์ภูเขาไฟฟูจิ (富士山保全協力金)” โดยจะถูกนำไปใช้ในการ “สนับสนุนการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของภูเขาไฟฟูจิและวางมาตรการเพื่อความปลอดภัยของนักปีนเขา” หากคุณมีกำลังพอและเห็นด้วยกับการสนับสนุนมาตรการเหล่านี้ คุณสามารถเข้าร่วมบริจาคได้ตามรายละเอียดข้างล่างนี้

ผู้ที่ร่วมบริจาคได้
นักปีนเขาที่เดินทางมา โดยนับรวมตั้งแต่สถานีหมายเลขห้าจนถึงยอดเขาในช่วงที่แต่ละเส้นทางเปิดให้ปีน

■ค่าร่วมสมทบทุน
1,000 เยน

■วิธีการบริจาคและสถานที่รับบริจาค
ระยะเวลาเปิดรับบริจาค:จังหวัดยามานาชิ วันที่ 1 กรกฎาคม  - วันที่ 10 กันยายน/ จังหวัดชิซูโอกะ วันที่ 10 กรกฎาคม - วันที่ 10 กันยายน
จังหวัดยามานาชิ:สถานีหมายเลขห้าฟูจิสุบารุไลน์・สถานีหมายเลขหกของเส้นทางโยชิดะ・ที่จอดรถบริเวณตีนเขาด้านทิศเหนือฟูจิโฮกุโรกุ (Fuji Hokuroku Parking Lot)
จังหวัดชิซูโอกะ:สถานีหมายเลขห้าฟูจิโนะมิยะกุจิ・สถานีหมายเลขห้าโกะเท็มบะกุจิ・สถานีหมายเลขห้าสึบาชิริกุจิ・ที่จอดรถมิซึกะสึกะ (Mizugatsuka Parking Lot)
*รับบริจาคเป็นเงินสดเท่านั้น

■ตัวอย่างสาธารณะประโยชน์จากเงินบริจาค
・การดูแลอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ
・ห้องน้ำ Bio toilet ในกระท่อมที่พักบนเขา
・หมวกนิรภัยและแว่นตากันฝุ่นกรณีเกิดเหตุการณ์ภูเขาไฟปะทุ
・สื่อที่นำเสนอคำแนะนำเพื่อความปลอดภัยในการปีนเขา
・สถานปฐมพยาบาล
・บริการสนับสนุนนักปีนเขาชาวต่างชาติ (บริการช่วยแปลภาษา เป็นต้น)
・ป้ายแนะนำกฎและมารยาทในการปีนเขา

การรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน

・ห้องน้ำ

ตามกระท่อมที่พักบนภูเขาแต่ละที่มักจะมีห้องน้ำจัดเตรียมไว้ให้ อย่างไรก็ตาม ในบางเส้นทางกระท่อมที่พักแรกอาจอยู่ห่างจากปากทางเข้าเป็นระยะทางไกล หรือบางที่ก็ไม่สามารถใช้ห้องน้ำได้ในช่วงเวลากลางคืน จึงควรวางแผนการเข้าห้องน้ำให้ดีและรีบเข้าไว้ก่อนเมื่อมีโอกาส บางครั้งคุณอาจต้องต่อคิวเป็นเวลานานในช่วงเวลาที่มีนักปีนเขาหนาแน่น

การเตรียมสุขาพกพาขนาดเล็กไปก็เป็นไอเดียที่ดี อนึ่ง ห้องน้ำแต่ละที่จะมีมาตรการในการทำความสะอาดที่แตกต่างกัน จึงควรให้ความร่วมมือและช่วยกันรักษาความสะอาดหลังใช้ห้องน้ำเสร็จด้วย นอกจากนี้ การเข้าใช้ห้องน้ำตามกระท่อมที่พักต่างๆ มักมีการเก็บค่าบำรุงรักษา 100 - 300 เยน เราจึงอยากแนะนำให้คุณพกเหรียญ 100 จำนวนมากขึ้นไปด้วย

・อาการแพ้ความสูง (altitude sickness)

ที่ยอดภูเขาไฟฟูจิ ปริมาณออกซิเจนในร่างกายของเรา (ปริมาณออกซิเจนในเส้นเลือดแดงใหญ่) จะลดลงเหลือเพียงประมาณครึ่งหนึ่งของเมื่อตอนที่เราอยู่ข้างล่าง เมื่อความหนาแน่นของออกซิเจนในเลือดลดลงมาก อาจส่งผลให้เกิดความไม่สบายตัวและเกิดอาการแพ้ความสูงได้ในบางคน อาการหลักๆ ของการแพ้ความสูงคือรู้สึกเหน็ดเหนื่อยหมดเรี่ยวแรง วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ กินอาหารไม่ลง รู้สึกอยากอาเจียนอยู่ตลอดเวลา ในกรณีร้ายแรงอาจทำให้เกิดโรคสมองบวม ปอดบวมน้ำ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตได้

วิธีป้องกันอาการแพ้ความสูง อย่างแรกคือเมื่อคุณไปถึงปากทางบริเวณสถานีหมายเลขห้า ควรพักที่นี่ 1-2 ชั่วโมงก่อนเริ่มปีนเขา พร้อมทำการยืดเหยียดกล้ามเนื้อและหายใจเข้าลึกๆ ไปพลาง เพื่อให้ร่างกายปรับตัวให้ชินกับระดับความสูงและปริมาณออกซิเจนที่เปลี่ยนแปลงไป หลังเริ่มปีนเขาไปแล้ว ให้พักดื่มน้ำเป็นประจำ สูดหายใจลึกๆ ให้ทั่วท้อง และเดินด้วยความเร็วที่เหมาะสม เพื่อป้องกันอาการขาดน้ำที่จะทำให้ระบบไหลเวียนเลือดในร่างกายขาดประสิทธิภาพ

แต่แม้ว่าจะทำทุกสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ก็ยังมีโอกาสที่จะเกิดอาการแพ้ความสูงได้ หากคุณรู้สึกมีอาการดังกล่าว ให้รีบทำร่างกายให้อบอุ่นและนั่งพักจนอาการทุเลาลง แต่หากอาการไม่ทุเลาลง กรุณาไปที่สถานปฐมพยาบาลเพื่อรับการดูแลอย่างถูกต้อง และหากอาการคุณแย่ลงเรื่อยๆ ตลอดการปีน การตัดสินใจลงเขาเพื่อลดระดับความสูงร่างกายเป็นแนวทางที่ดีที่สุด

การปีนภูเขาไฟฟูจิซึ่งมีระดับความสูงเกินกว่า 3,000 เมตร จากระดับน้ำทะเลนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เราแนะนำว่าการไปเริ่มฝึกปีนจากภูเขาที่มีระดับความสูงต่ำกว่าก่อนเพื่อให้ร่างกายคุ้นชินก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางการฝึกที่ดีเพื่อให้คุณสามารถพิชิตยอดภูเขาไฟฟูจิได้สำเร็จ นอกจากนี้ หากคุณอดนอนหรือมีสภาพร่างกายไม่พร้อม โอกาสที่จะเกิดอาการแพ้ความสูงก็จะสูงขึ้นด้วย จึงควรพักผ่อนและนอนหลับให้เพียงพอในวันก่อนเดินทางมาปีนภูเขาไฟฟูจิ

・การรับบริการจากสถานปฐมพยาบาล

ที่สถานีหมายเลขเจ็ดของเส้นโยชิดะ และสถานีหมายเลขแปดของเส้นฟูจิโนะมิยะจะมีสถานปฐมพยาบาลที่มีแพทย์เข้าประจำการในช่วงฤดูปีนเขา หากคุณรู้สึกว่าสภาพร่างกายคุณไม่สามารถปีนเขาต่อได้ คุณสามารถติดต่อกระท่อมที่พักที่ใกล้ที่สุด หรือหากคุณอยู่ระหว่างทาง คุณสามารถติดต่อไปโดยบอกหมายเลขป้ายบอกทางที่อยู่ใกล้ๆ คุณได้

・สภาพอากาศแปรปรวน

ที่ภูเขาไฟฟูจิในฤดูร้อนมักมีเมฆฝนฟ้าคะนองก่อตัวขึ้นเป็นประจำ เนื่องจากบริเวณโดยรอบอาจไม่มีที่ให้หลบ หากคุณได้ยินเสียงฟ้าร้องขณะปีนเขาให้รีบไปยังที่ที่ปลอดภัยโดยเร็ว นอกจากนี้ หากมีการประกาศเตือนภัยให้หยุดการปีนเขาและลงเขาโดยทันที สภาพอากาศถือเป็นเรื่องสำคัญที่คุณควรทำการตรวจสอบทุกครั้งก่อนเริ่มออกปีนหรือออกจากกระท่อมที่พักบนเขา

เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ทางการแนะนำการปีนภูเขาไฟฟูจิ
ภาษาญี่ปุ่น:http://www.fujisan-climb.jp/index.html
ภาษาอังกฤษ:http://www.fujisan-climb.jp/en/index.html

▼ เว็บไซต์แนะนำการท่องเที่ยวแหล่งมรดกโลกภูเขาไฟฟูจิ
ภาษาญี่ปุ่น:http://www.fujisan223.com/
ภาษาอังกฤษ:http://www.fujisan223.com/en/
 

ภูเขาไฟฟูจิ ถือเป็นภูเขาอันโด่งดังที่เป็นที่หมายปองของนักปีนเขาจากทั่วโลก ความสวยงามของวิวทิวทัศน์จากบนยอดภูเขาไฟฟูจินั้นงดงามเสียจนคุณต้องมาสัมผัสด้วยตัวเอง หากมีโอกาสก็เตรียมร่างกายให้พร้อม แล้วพกรองเท้าผ้าใบพร้อมใจถึงๆ มาพิชิตจ้าวภูเขาแห่งแดนอาทิตย์อุทัยกันเถอะ !

หากคุณมีความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา รวมถึงไอเดียใหม่ๆ หรือคำถามเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่น ก็สามารถทักทายเข้ามาได้ที่ FacebookTwitter, หรือ Instagram ได้เลย ! 

มนต์เสน่ห์ชูบุ

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

รับส่วนลดมากมายในญี่ปุ่น ที่นี่!

เกี่ยวกับนักเขียน

Chisa
Chisa Nishimura
เป็นคนเกียวโต ชอบดูหนัง อ่านหนังสือ ไปพิพิธภัณฑ์ศิลปะ และการวิ่ง
  • แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

ค้นหาร้านอาหาร