คู่มือการใช้ห้องน้ำญี่ปุ่นแบบละเอียดยิบ! พร้อมคำอธิบายปุ่มกด อ่านไว้จะได้ไม่งง!?

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ใส่ใจเรื่องสุขอนามัยเป็นอย่างมาก แถมยังมีเทคโนโลยีสาธารณะสุขที่ล้ำหน้าและสะดวกสบายแม้แต่ในห้องน้ำ อย่างอ่างล้างมือที่ใช้ระบบอัตโนมัติทั้งหมดเพื่อป้องกันเชื้อโรค หรือโถชักโครกที่มีระบบอัตโนมัติแทนการใช้สายฉีดเพื่อสุขอนามัยที่ดี แต่บางที การที่มันล้ำเกินไปก็อาจจะกลายเป็นใช้ยากและทำให้นักท่องเที่ยวอย่างเรามึนงงได้ วันนี้ทาง tsunagu Japan จึงขอแนะนำการใช้ปุ่มและอุปกรณ์ต่างๆ ในห้องน้ำมาให้รู้จักกัน พร้อมคู่มือคำศัพท์ปุ่มต่างๆ บนโถชักโครกและตำแหน่งปุ่มกดชักโครกที่บางครั้งคุณก็หาไม่เจอ!

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

บทความนี้อาจมีลิงก์พาร์ทเนอร์ หากคุณทำการซื้อผ่านลิงก์พาร์ทเนอร์ เราอาจได้รับค่าคอมมิชชั่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับคุณ

ห้องน้ำญี่ปุ่นมีสิ่งอำนวยความสะดวกอะไรบ้าง?

บอกเลยว่าห้องน้ำญี่ปุ่นน่ะ ทั้งสะดวกสบายและครบเครื่องมากๆ เพราะถูกออกแบบมาให้รองรับการใช้งานของผู้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานภาพ ทุกสถานการณ์ แถมยังรักษ์โลกอีกต่างหาก! อยากรู้กันแล้วใช่ไหมล่ะ? งั้นไปดูกันเลยดีกว่า ว่าในห้องน้ำญี่ปุ่นมีสิ่งอำนวยความสะดวกอะไรบ้าง

ที่วางของ

หนึ่งในข้อดีของห้องน้ำญี่ปุ่นส่วนใหญ่เลย คือ มักจะมีที่วางของอยู่ในห้องสุขา โดยส่วนมากจะอยู่เหนือบริเวณโถชักโครกซึ่งเราสามารถใช้พื้นที่ตรงนี้วางของได้อย่างสะดวกสบาย และไม่ต้องพยายามแขวนกระเป๋า เสื้อกันหนาว ถุงช็อปปิ้งต่างๆ อยู่บนที่แขวนอันเดียวอีกต่อไป
 

เก้าอี้เด็ก

มีไว้อำนวยความสะดวกให้กับเหล่าคุณแม่ เก้าอี้เด็กส่วนใหญ่จะถูกออกแบบมาให้รองรับเด็กเล็กอายุประมาณ 5 เดือน ถึง 2 ขวบครึ่ง และมีน้ำหนักไม่เกิน 30 กิโลกรัม นอกจากนี้ บางที่ยังมีการทำห้องสุขาที่มีโถชักโครกสำหรับเด็กและผู้ใหญ่อยู่ในห้องเดียวกัน เพื่อให้คุณแม่สามารถดูแลลูกๆ ได้อย่างใกล้ชิดอีกด้วย
 

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

พื้นยืนเปลี่ยนเสื้อผ้าแบบพับได้

พื้นยืนเปลี่ยนเสื้อผ้าแบบพับได้ เป็นอุปกรณ์อำนวยความสะดวกอีกหนึ่งอย่างที่ทำให้การเปลี่ยนเสื้อผ้านอกบ้านเป็นเรื่องที่สะดวกและสะอาด แม้จะต้องถอดถุงเท้ารองเท้าก็ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องเหยียบพื้นห้องน้ำให้สกปรกหรือเลอะเทอะเลย 
 

เมื่อดึงออกมาจะเป็นที่ให้ขึ้นไปยืนเปลี่ยนเสื้อผ้า อย่าลืมถอดรองเท้าก่อนขึ้นไปยืนด้วยนะ จะได้ไม่ทำให้พื้นด้านบนสกปรก

Klook.com

ห้องสุขาขนาดใหญ่พิเศษ

โดยทั่วไปมักจะมีอยู่ 1 - 2 ห้องต่อห้องน้ำหนึ่งที่ ถูกออกแบบมาให้มีพื้นที่กว้างกว่าห้องน้ำปกติเพื่อรองรับการใช้งานของคนที่นั่งรถเข็น ผู้สูงอายุ (มักจะมีราวจับสำหรับพยุงตัว) และผู้ที่มีสัมภาระชิ้นใหญ่อย่างกระเป๋าเดินทาง และในห้องน้ำบางที่ก็อาจจะมีที่เปลี่ยนผ้าอ้อมเด็กอยู่ด้านในห้องสุขาขนาดพิเศษเพื่อความสบายใจของคุณแม่อีกด้วย ดีกับผู้ใช้ขนาดนี้ กดไลก์ให้รัวๆ เลย
 

แถมด้านในยังมีที่แขวนไม้เท้าสำหรับผู้สูงอายุอีกด้วยนะ ทำให้ไม่ต้องกังวลว่าไม้เท้าจะล้มจนต้องก้มเก็บให้เมื่อยเอว

เครื่องเป่าลมหลังล้างมือ

ห้องน้ำญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะไม่มีกระดาษทิชชู่ให้เช็ดหลังล้างมือ แต่จะใช้เครื่องเป่าลมแทน วิธีนี้จะทำให้มือแห้งเร็ว แถมยังลดการใช้ทรัพยากรไปได้อีกมากเลยล่ะ
 

ชักโครกสุดไฮเทค

ชักโครกสุดไฮเทค พร้อมฟังก์ชันการใช้งานที่หลากหลายและสะดวกสบาย! นี่ถือเป็นไฮไลท์เด็ดของห้องน้ำญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ นวัตกรรมโถชักโครกที่มีระบบทำความสะอาดแบบอัตโนมัติหลายอย่าง สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวที่มาใช้งานได้เป็นอย่างดี

โถชักโครกญี่ปุ่นนี้ ส่วนใหญ่มักจะมาพร้อมกับสัญลักษณ์ที่สื่อถึงฟังก์ชันการใช้งานพื้นฐานอยู่ แต่ในบางครั้ง นักท่องเที่ยวอย่างเราก็ยังงงได้อยู่ดี ดังนั้น อันดับต่อไปเราจะมาพูดถึงการใช้งานปุ่มกดต่างๆ บนโถชักโครกญี่ปุ่นกัน

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

การใช้งานปุ่มกดพื้นฐานบนชักโครก

ปุ่มพื้นฐานที่สามารถพบเห็นได้บ่อยที่สุดมีอยู่ทั้งหมด 6 ปุ่ม มีฟังก์ชันการใช้งานที่แตกต่างกัน และหากจะให้เราอธิบายตามลำดับการใช้แล้วล่ะก็ จะมีดังนี้

音姫   อ่านว่า โอ-โตะ-ฮิ-เมะ ทำนองเพลงหรือเสียงน้ำที่เล่นเพื่อปกปิดเสียงขับถ่าย

おしり  อ่านว่า โอ-ชิ-ริ      หัวฉีดทำความสะอาดบริเวณด้านหลัง

ビデ   อ่านว่า บิ-เดะ     หัวฉีดทำความสะอาดด้านหน้า

水勢   อ่านว่า ซุย-เซ    ระดับความแรงน้ำ (บางที่สามารถปรับด้วยการกดเครื่องหมาย + หรือ - )

止    อ่านว่า โทะ     หยุด

流す   อ่านว่า นา-งา-สุ    ปุ่มกดชักโครกหลังการขับถ่าย 
 

สำหรับการกดชักโครกหลังการขับถ่ายนี้ บางครั้งเราก็ต้องเลือกระดับความแรงของน้ำอีกว่าจะเป็นการกดชักโครกสำหรับถ่ายหนักหรือถ่ายเบา ซึ่งจะมีอักษรภาษาญี่ปุ่นกำกับอยู่ 2 ตัว
 

ตัวอักษรทั้ง 2 ตัว มีความหมายดังนี้

小  กดหลังการถ่ายเบา (ปัสสาวะ)

大  กดหลังการถ่ายหนัก (อุจจาระ หรือใช้ในกรณีที่น้ำระดับเบา 小 แรงไม่พอ)
 

ปุ่มจิปาถะ (ด้านขวาของแผงปุ่มใช้งาน)

นอกจากปุ่มการใช้งานพื้นฐานแล้ว บางครั้งคุณก็อาจจะเจอฟังก์ชันการใช้งานเพิ่มเติม เพื่อสุขอนามัยที่ดีขึ้นและเพื่อความเหมาะสมกับสภาพอากาศ ตัวอย่างเช่น

ノズルクリーン  อ่านว่า โน-โซ-รุ-คุ-ลีน  ฟังก์ชันการทำความสะอาดหัวฉีด

脱臭       อ่านว่า ดัช-ชู       ฟังก์ชันการกำจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์

便座       อ่านว่า เบ็น-สะ     ฟังก์ชันที่ทำให้ฝารองนั่งชักโครกอุ่น (ใช้ในฤดูหนาว)

温水       อ่านว่า อน-ซุย     ฟังก์ชันน้ำอุ่นสำหรับหัวฉีด (ใช้ในฤดูหนาว)
 

นอกจากนี้ ยังมีปุ่มที่ทุกคนควรรู้จักอีก 1 ปุ่ม นั่นก็คือ “ปุ่มฉุกเฉิน” นั่นเอง
 

ปุ่มฉุกเฉิน

ปุ่มฉุกเฉิน นี้มีไว้สำหรับกรณีที่ต้องการขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ โดยทั่วไปมักเป็นปุ่มสีแดง มีตัวอักษรภาษาญี่ปุ่นเขียนไว้ว่า 非常 (อ่านว่า ฮิ-โจ) ซึ่งแปลว่า “ฉุกเฉิน” นั่นเอง 

นักท่องเที่ยวมักจะเผลอกดปุ่มนี้โดยไม่ได้ตั้งใจ ส่วนใหญ่เพราะเข้าใจผิดว่าปุ่มนี้เป็นปุ่มกดชักโครกซึ่งอาจก่อให้เกิดความโกลาหลหรือทำให้เจ้าหน้าที่และผู้คนแตกตื่นตกใจได้ ดังนั้นจึงควรระวังไว้ และหากไม่จำเป็นก็ไม่ควรกดโดยเด็ดขาด 
 

ตำแหน่งปุ่มกดชักโครกหลังทำธุระเสร็จ

พูดถึงเรื่อง “หาปุ่มกดชักโครกไม่เจอ” นี่ก็นับเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของนักท่องเที่ยวเวลาใช้ห้องน้ำที่ญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ เราจึงขอยกตัวอย่างตำแหน่งติดตั้งปุ่มกดชักโครกที่พบเห็นได้บ่อยมาให้คุณดูเพื่อเป็นไกด์ไลน์ในการมองหา ปุ่มกดชักโครกมักจะถูกติดตั้งอยู่ใน 5 ตำแหน่ง ดังนี้
 

1. บนผนังด้านหลังโถชักโครก

2. บนผนังด้านข้างโถชักโครก 

3. อยู่ด้านบนแผงคอนโทรลที่ติดตั้งบนผนัง

4. กล่องเซนเซอร์ด้านหลังโถชักโครก

5. ติดอยู่กับตัวโถชักโครก มักจะมาในลักษณะลูกบิด เลือกบิดตามความแรงของน้ำที่ต้องการ มีทั้งแบบให้บิดไปทางซ้าย - ขวา และ บิดขึ้น - ลง ซึ่งก็บิดตามทิศทางลูกศรได้เลย (มักพบในที่พักแบบโฮสเทล เกสต์เฮาส์ หรือตามร้านอาหารและร้านค้าที่ไม่ได้อยู่ในห้างสรรพสินค้า)

Klook.com

การใช้ปุ่มกดน้ำระบบเซนเซอร์

หากคุณเจอสัญลักษณ์รูปมือติดอยู่ที่ปุ่มกด หรือพบว่าตัวปุ่มไม่นูนขึ้นมาทำให้กดไม่ได้ ก็มีความเป็นไปได้ว่าห้องสุขานั้นใช้ระบบเซนเซอร์ในการกดชักโครก

วิธีการใช้ก็ไม่ยาก เพียงแบมือและยื่นเข้าไปใกล้ๆ ช่องสีดำ (ตามภาพประกอบด้านบน) ค้างไว้ประมาณ 3 - 5 วินาที โถชักโครกก็จะถูกกดลงไปเองโดยอัตโนมัติแล้ว

มารยาทในการใช้ห้องน้ำญี่ปุ่น

“เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม” เราไปที่ไหนก็ควรปฏิบัติตัวให้เหมาะสมกับสถานที่ที่เราไป ในห้องน้ำญี่ปุ่นก็เช่นกัน เรามีคำแนะนำเกี่ยวกับมารยาทการใช้ห้องน้ำญี่ปุ่นมาให้ออเจ้าชาวไทยได้รู้เอาไว้ จะได้ไม่โดน ’เหล่’ กันนะจ๊ะ

  1. ควรเข้าแถวให้เป็นระเบียบโดยไม่ยืนขวางทางเดินเข้า - ออกของห้องน้ำ และไม่ควรต่อคิวขวางหน้าประตูห้องสุขาด้านใน

2. ไม่ควรสะบัดน้ำลงพื้นหลังล้างมือเสร็จ หากในห้องน้ำไม่มีเครื่องเป่าแห้งหรือกระดาษเช็ดมือ ให้สะบัดน้ำลงในอ่างล้างมือแทน

3. หลังใช้กระดาษทิชชู่เสร็จแล้ว ให้ทิ้งลงในโถชักโครกเลยเพราะกระดาษทิชชู่ญี่ปุ่นเป็นแบบละลายน้ำได้อยู่แล้ว ไม่ทำให้อุดตันแน่นอน

4. ห้องน้ำญี่ปุ่นมักจะมีพื้นที่จำกัด ในกรณีที่ไปเที่ยวเป็นกลุ่มหรือครอบครัว ควรมีจุดนัดพบบริเวณหน้าห้องน้ำแทนการยืนรอกันบริเวณอ่างล้างมือ
 

ข้อควรรู้ในการใช้ห้องน้ำหญิง

1. ถังขยะที่ตั้งอยู่ในห้องสุขา มีไว้สำหรับทิ้งผ้าอนามัยเท่านั้น ไม่ควรทิ้งกระดาษทิชชู่ใช้แล้ว แก้วน้ำ หรือขยะอื่นๆ ลงไป

สำหรับห้องน้ำบางที่ อาจใช้ถังทิ้งผ้าอนามัยที่มีระบบเซนเซอร์ (เปิดทิ้งเองไม่ได้) หากต้องการใช้งานก็ต้องแบมือค้างไว้เหนือช่องสี่เหลี่ยมสีดำ ส่วนมากมักอยู่บริเวณมุมซ้ายบน (ตามภาพประกอบด้านล่าง) ค้างไว้สักพัก ตัวถังก็จะเปิดออกแล้วค่อยทิ้งผ้าอนามัยลงไป
 

2. ห้องน้ำบางแห่งอาจมีพื้นที่สำหรับแต่งหน้าแต่งตัวที่แยกจากอ่างล้างมือ หากไม่มีความจำเป็นต้องใช้น้ำก็ควรไปแต่งตัวในพื้นที่ที่จัดเอาไว้ให้ เพื่อให้ผู้อื่นสามารถเข้าไปใช้อ่างล้างมือได้สะดวก
 

โถชักโครกแบบหลุม (和式トイレ・Squat Toilet)

แม้ว่าห้องน้ำญี่ปุ่นในหลายๆ ที่จะเปลี่ยนไปใช้โถชักโครกแบบตะวันตก (จะเขียนกำกับหน้าห้องน้ำว่า 洋式 อ่านว่าโยชิกิ) แล้ว แต่ในบางครั้ง คุณก็อาจจะเจอกับโถชักโครกแบบนั่งยองๆ (เขียนกำกับว่า 和式 อ่านว่าวะชิกิ) ได้เหมือนกัน ผู้เขียนชอบเรียกโถชักโครกแบบนี้ว่า “โถรองเท้าแตะ” ล่ะ เพราะหน้าตามันเหมือนกับรองเท้าแตะสุดๆ เลย
 

ในเรื่องของการใช้งานเจ้าโถรองเท้าแตะนี้ก็ไม่ยาก เพียงยืนคร่อบโถโดยหันหน้าเข้าหาฝั่งที่มีส่วนโค้งครอบไว้  ย่อตัวลงแล้วทำธุระได้ทันที หากใครกลัวจะจำวิธีใช้ไม่ได้ ก็มีทริคง่ายๆ ในการจำคือ ‘หันทิศเดียวกับเวลาใส่รองเท้าแตะ’ นั่นเอง

คำแนะนำ : ควรกะระยะตัวให้อยู่ประมาณกลางๆ หรือค่อนไปทางปลายโถฝั่งแบนราบนะคะ เพราะหากใกล้เกินไปน้ำปัสสะวะอาจกระเด็นมาเปื้อนตัวได้

เช่นเดียวกับการใช้ห้องน้ำญี่ปุ่นทั่วไป หากคุณใช้กระดาษทิชชู่หลังทำธุระเสร็จก็สามารถทิ้งลงไปในโถรองเท้าแตะได้เลย
 

อย่าลืมช่วยกันรักษาความสะอาดด้วยนะ!

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขอนามัยเป็นอย่างมาก มีการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ร่วมกับการออกแบบห้องน้ำที่คำนึงถึงการใช้งานของผู้บริโภคเป็นหลัก ทำให้ได้ออกมาเป็นห้องน้ำที่สะดวกสบายและสามารถรองรับการใช้งานของผู้คนได้ทุกเพศทุกวัย ในฐานะนักท่องเที่ยว สิ่งตอบแทนเล็กๆ น้อยๆ ที่เราสามารถทำได้ง่ายๆ เลย คือ ช่วยกันรักษาความสะอาด เพื่อให้สะดวกต่อผู้ใช้งานคนต่อไป

ทาง tsunagu Japan หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้คุณใช้งานห้องน้ำญี่ปุ่นได้อย่างเต็มที่และมีสุขอนามัยที่ดีไปตลอดทั้งทริป!
 

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

รับส่วนลดมากมายในญี่ปุ่น ที่นี่!

เกี่ยวกับนักเขียน

dream.chayanis
dream.chayanis
  • แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

ค้นหาร้านอาหาร