เที่ยว "สนามม้าโออิ" แบบเช้าจรดเย็น สนุกกับวัฒนธรรมเชิงลึกที่แม้แต่มือใหม่ก็เพลิดเพลินได้!

ฉันเป็นคนหนึ่งที่หลงใหลในวัฒนธรรมย่อยของญี่ปุ่นมากๆ และในปัจจุบันก็อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นมา 7 ปีแล้ว เมื่อมีเวลาว่าง ฉันมักจะแวะไปที่ร้านโปรดในย่านอิเคะบุคุโระอยู่เสมอ ปกติฉันเป็นคนประเภทที่จะทุ่มเทให้กับเรื่องที่ชอบแบบสุดตัว แต่ในบางครั้ง ก็จะลองมองหาประสบการณ์ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความสนุกให้กับชีวิตประจำวันบ้าง ดังนั้นในบทความนี้ ฉันจึงอยากมาแบ่งปันเรื่องราวตอนที่ไปเที่ยว "สนามแข่งม้าโออิ" กับเพื่อนชาวญี่ปุ่นครั้งแรกให้คุณฟัง เป็นประสบการณ์อันล้ำค่าที่ฉันได้เห็นม้าสุดน่ารักออกมาวิ่งแข่งกันอย่างเต็มกำลัง แถมยังได้ลองเสี่ยงโชคไปนิดหน่อยด้วย ถ้าพร้อมแล้วก็ตามไปดูกันเลย!

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

บทความนี้อาจมีลิงก์พาร์ทเนอร์ หากคุณทำการซื้อผ่านลิงก์พาร์ทเนอร์ เราอาจได้รับค่าคอมมิชชั่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับคุณ

*บทความนี้จัดทำขึ้นโดยได้รับความร่วมมือจาก TOKYO CITY KEIBA (สนามม้าโออิ)

"การพนัน" เป็นเรื่องถูกกฎหมายในญี่ปุ่นจริงหรือ?

เมื่อพูดถึงการแข่งม้า หลายๆ คนก็อาจจะมีคำถามว่า "การพนันเป็นเรื่องถูกกฎหมายในญี่ปุ่นจริงหรือ?

คำตอบคือ พฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพนันในญี่ปุ่นนั้นถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และเป็นการละเมิดความสงบเรียบร้อยของสังคมและหลักศีลธรรมของประชาชนชาวญี่ปุ่น

แต่อย่างไรก็ตาม การแข่งขันต่างๆ ที่ดำเนินการโดยภาครัฐ (เช่น การแข่งม้า, แข่งเรือ, แข่งจักรยาน, แข่งมอเตอร์ไซค์หรือรถยนต์ขนาดเล็ก) และสลากกินแบ่งต่างๆ ที่เรียกว่า โตโต้, ล็อตโต้, ลอตเตอรี่ทาคาระคุจิ (toto, ロト, 宝くじ) จะได้รับการอนุญาตด้วยกฎหมายฉบับพิเศษของรัฐบาลกลางและหน่วยงานในท้องถิ่น ด้วยเหตุนี้ การพนันที่เกิดขึ้นในสนามม้าทั่วไปจึงถือเป็นกิจกรรมเพื่อความบันเทิงที่ถูกต้องและชอบธรรมโดยกฎหมาย

สถานการณ์การแข่งม้าของญี่ปุ่นในปัจจุบัน

การแข่งม้าในญี่ปุ่นแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ การแข่งขันระดับประเทศและระดับภูมิภาค โดยแบบแรกจะเป็นงานของ Japan Racing Association (JRA) ซึ่งจัดขึ้นในสนามแข่งม้าทั่วประเทศญี่ปุ่น และจะมีเฉพาะช่วงวันเสาร์ - อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์เท่านั้น รวมถึงไม่มีการแข่งขันรอบกลางคืน ซึ่งต่างจากการแข่งม้าในระดับภูมิภาคที่ดำเนินการโดยหน่วยงานในท้องถิ่น

นอกจากนี้ การแข่งขันทั้ง 2 ประเภทก็ยังมีความแตกต่างในด้านอื่นๆ ด้วย เช่น มีหญ้าในสนามแข่งหรือไม่, เงินรางวัลเท่าไร, คุณสมบัติและใบรับรองการเป็นจ๊อกกี้ (ผู้ขี่) และคนฝึกม้าเป็นอย่างไร ฯลฯ แต่เนื่องจากวันนี้ ฉันอยากจะเพลิดเพลินกับการเก็บเกี่ยวประสบการณ์แบบสบายๆ เลยไม่ได้ใส่ใจรายละเอียดพวกนี้เท่าไร

และแล้ว ฉันก็เดินทางไปยัง "สนามม้าโออิ" และอยู่ยาวจนถึงการแข่งรอบดึกเลย

มุ่งหน้าสู่สนามม้าโออิ (大井競馬場)

"สนามม้าโออิ" ที่เราไปกันในครั้งนี้ ตั้งอยู่ในเขตชินากาว่า กรุงโตเกียว เป็นสนามที่ดำเนินการโดยสมาคมการแข่งม้าแห่งกรุงโตเกียว (Tokyo Metropolitan Racing Association) และมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า TOKYO CITY KEIBA (TCK) 

เหตุผลที่ฉันเลือกสนามแห่งนี้เป็นที่เปิดประสบการณ์โลกแห่งการแข่งม้า ก็เพราะเดินทางง่าย ดูเป็นที่ที่สามารถอยู่ได้ทั้งวัน และมีการแข่งขันหลายรอบจนถึงช่วงกลางคืน

การเดินทาง

【รถไฟ】

  • โตเกียวโมโนเรล (Tokyo Monorail): จากสถานี Oikeibajo-Mae เดินตรงไปประมาณ 2 นาที จะเจอประตูฝั่งทิศเหนือ จากจุดนี้ให้เดินตรงไปอีกเล็กน้อยจะถึงสี่แยกขนาดใหญ่ เลี้ยวซ้ายแล้วเดินต่อไปจนถึงประตูหลัก
  • รถไฟเคคิวสายหลัก (Keikyu Main Line): จากสถานี Tachiaigawa เดินประมาณ 12 นาทีจะถึงประตูหลัก

*จุดที่ดีที่สุดสำหรับชมการแข่งม้าในสนามแห่งนี้ คือ ชมจากที่นั่งแบบจอง (Reserved Seat) ซึ่งคุณสามารถจองได้ที่เคานท์เตอร์หน้าประตูหลัก หรือเคานท์เตอร์สำรองที่นั่ง G-FRONT

【รถบัสรับ - ส่งฟรี】

  • สถานี Oimachi ⇔ TCK (Tokyu Bus): ออกจากสถานี JR Oimachi เดินไปทางฝั่งตะวันออกของทางออก Central Exit แล้วขึ้นรถบัสที่ป้ายหมายเลข 7

ค่าเข้าชม

ค่าเข้าชมของสนามแข่งม้าโออิสำหรับคนทั่วไปจะอยู่ที่ 100 เยน และเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่หากคุณซื้อบัตรสำรองที่นั่งแล้วก็ไม่จำเป็นต้องเสียค่าเข้าชมอีก

*ไม่อนุญาตให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีเข้าชม หากไม่มีผู้ปกครองมาด้วย

แผนที่
1.คอกม้าสำหรับการเตรียมตัว 
2.เคานท์เตอร์บริการทั่วไป 
3.รูปปั้นทองสัมฤทธิ์ "อุมาตาเสะ" ! (うまたせ)
4.รูปปั้นม้า "ไฮเซโก" (ハイセイコ)
5.หน้าจอแสดงการแข่งม้าแบบเรียลไทม์
6.เวทีทวิงเกิล (Twinkle Stage)
7.แท่นวางถ้วยรางวัล

คอร์สการแข่งขันในสนามม้าโออิ

สนามแข่งม้าโออิเป็นสนามดินเรียบซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะใช้แข่งม้าแบบวิ่งตามเข็มนาฬิกา อย่างไรก็ตาม การแข่งรอบสุดท้ายของสนามแห่งนี้จะเป็นการวิ่งทวนเข็มนาฬิกา โดยระยะทางการแข่งขันจะมีดังต่อไปนี้

 

วิ่งตามเข็มนาฬิกา (ขวา)

วงใน: 1500 เมตร, 1600 เมตร

วงนอก: 1000 เมตร, 1200 เมตร, 1400 เมตร, 1700 เมตร, 1800 เมตร, 2000 เมตร, 2400 เมตร, 2600 เมตร

 

วิ่งทวนเข็มนาฬิกา (ซ้าย)

วงนอก: 1650 เมตร

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

วิธีซื้อตั๋วแทงม้า (馬券)

คำถามคือ หากคุณไม่มีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับการแข่งม้ามาก่อน (เหมือนฉัน) เราจะเลือกแทงม้ากันยังไงดี? 

วิธีแรกนั้นค่อนข้างง่าย คือ คุณสามารถดูจากหน้าจอมอนิเตอร์ที่จุดขายตั๋วแทงม้าได้เลย เพราะมันจะบอกคุณได้ว่าม้าตัวไหนกำลังเป็นที่นิยมที่สุดในการแข่งขันรอบต่อไป แล้วคุณก็สามารถนำไปเป็นข้อมูลในการตัดสินใจได้ ส่วนอีกวิธีหนึ่ง คือ ไปดูที่คอกม้านอกสนามซึ่งใช้สำหรับเตรียมม้าในการแข่งขันรอบถัดไป ซึ่งคุณจะสามารถเข้าไปสังเกตสภาพม้า ท่าทางการเดิน และอารมณ์ของม้าเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการประเมินสถานการณ์ก่อนแทงม้าได้ วิธีนี้มีคนใช้เยอะมากทีเดียว และในบางครั้ง เราก็จะได้เห็นเจ้าหน้าที่จัดคิวเดินจูงม้ามาในระยะประชิดด้วย บอกได้คำเดียวว่าน่ารักมาก

ฉันขอสารภาพจากใจจริงว่าในฐานะที่เป็นมือใหม่ ฉันไม่สามารถประเมินอะไรได้เลย เพราะไม่ว่าม้าตัวไหนก็ดูขนสวยกล้ามเนื้อแน่นกันทั้งนั้น สุดท้ายฉันเลยเลือกแทงม้าตัวที่คิดว่าสวยที่สุด กับตัวที่มีชื่อน่ารักๆ ไป (หัวเราะ) แต่เพื่อนชาวญี่ปุ่นของฉันบอกว่ามีคนที่แทงม้าเป็นเบอร์ที่ตรงกับเลขวันเกิดหรือเลขนำโชคของตัวเองอยู่เหมือนกัน

ในช่วงแรกๆ ที่คุณมาเล่น ฉันคิดว่าเรามาโฟกัสที่ความสนุกเหมือนเวลาเล่นลอตเตอรี่ แล้วก็ไม่ต้องใส่ใจเรื่องความได้เปรียบเสียเปรียบกันมากนักจะดีกว่า

Klook.com

รูปแบบการเดิมพัน

เมื่อคุณเลือกม้าที่ถูกใจได้แล้ว ก็กรอกข้อมูลลงไปในบัตรได้เลย บัตรมีทั้งหมด 4 ประเภท ซึ่งของฉันเป็นใบสีน้ำเงินเข้มที่อยู่ด้านซ้ายบน จากนั้นเราก็จะนำบัตรนี้ไปซื้อตั๋วแทงม้าซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 9 แบบ คือ Win (単勝), Place (複勝), Bracket Quinella (枠連), Quinella (馬複), Quinella Place (ワイド), Bracket Exacta (枠単), Exacta (馬単), Trio (3連複), Tierce (3連単) 

 

สำหรับมือใหม่ เรามีคำอธิบายสั้นๆ กัน ดังนี้:

 

Win: แทงว่าม้าที่คุณเลือกไว้จะเข้าเส้นชัยเป็นตัวแรก

Place: แทงว่าม้าที่คุณเลือกไว้จะเข้าเส้นชัยใน 3 อันดับแรก (*ในกรณีที่มีม้า 7 ตัว ม้าที่คุณเลือกจะต้องอยู่ใน 2 อันดับแรก)

Quinella: แทงว่าม้า 2 ตัวที่คุณเลือกไว้จะต้องเข้าเส้นชัยเป็นคู่แรก โดยไม่จำกัดลำดับว่าตัวไหนจะเข้าก่อน

Exacta: แทงว่าม้า 2 ตัวที่คุณเลือกไว้จะต้องเข้าเส้นชัยเป็นคู่แรก โดยลำดับจะต้องตรงกับที่คุณระบุไว้

วิธีกรอกบัตรขั้นพื้นฐาน

1. เลือกคำว่า "โออิ" (大井) ในคอลัมน์ "ชื่อสถานที่" (場名) โดยฝนช่องสี่เหลี่ยมที่อยู่ด้านล่างให้เต็ม

2. ในส่วนของ "หมายเลขการแข่งขัน" (レース番号) ให้ฝนหมายเลขรอบการแข่งที่คุณต้องการจะแทงม้า ตรงนี้ขอให้ระมัดระวังจะได้ไม่ฝนผิดด้วย

3. ในส่วนของช่อง "รูปแบบ" (式別) ให้คุณเลือกรูปแบบการแทงม้าที่คุณต้องการ โดยคุณสามารถเลือกได้ 1 รูปแบบต่อ 1 ด้าน ดังนั้น หากคุณต้องการแทงม้า 2 รูปแบบในครั้งเดียวกันก็สามารถใช้ด้านฝั่งตรงข้ามได้เลย

4. ในช่อง "อันดับ 1・ม้าตัวที่ 1"  (1着・1頭目) ให้คุณฝนหมายเลขของม้าที่คิดว่าจะเข้าเส้นชัยเป็นตัวแรก คุณสามารถเลือกได้ 1 ตัวต่อ 1 แถว โดยบัตรสีน้ำเงินเข้มจะสามารถเลือกได้มากที่สุดด้านละ 4 ตัว

5. ถัดมา ในช่อง "จำนวนเงิน" (金額) และ "หน่วย" (単位) ให้คุณใส่จำนวนเงินที่ต้องการเดิมพัน โดยมีขั้นต่ำอยู่ที่ 100 เยน ดังนั้น หากคุณต้องการลงเงิน 100 เยน ก็ให้ฝนลงไปในช่องหมายเลข "1" ใน 金額 และช่อง "百円" ใน 単位

 

ตัวอย่างเช่น หากคุณต้องการแทงม้าหมายเลข 2 และ 11 ว่าทั้งคู่จะชนะการแข่งขันในรอบที่ 11 ของสนามแข่งม้าโออิ ก็จะได้ตามภาพด้านล่างนี้:

เมื่อกรอกบัตรเสร็จแล้ว ก็ไปที่เครื่องขายตั๋ว จากนั้นก็ทำตามขั้นตอนต่อไปนี้:

1. ใส่เงินเข้าไป

2. ใส่บัตรที่ฝนไว้เข้าไป (หลังจากตรวจสอบว่าข้อมูลถูกต้องแล้ว)

หลังจากนั้นก็เพียงเก็บตั๋วไว้ให้ดีจนถึงตอนประกาศผลการแข่งขัน เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเราก็คือ เราต้องได้เงินคืน ดังนั้น ถึงแม้ว่าเราจะแทงถูก แต่หากไม่มีตั๋วก็จบเห่!

ในการแทงม้า ยิ่งเงื่อนไขในการเดิมพันซับซ้อนและยากขึ้นเท่าไร เงินที่ได้คืนก็จะสูงขึ้นเท่านั้น (เช่น แบบ Trio ที่คุณจะต้องคาดการณ์ว่าม้าตัวไหนจะเข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่ 1, 2, 3) แต่หากคุณเลือกเงื่อนไขที่ไม่ซับซ้อนเลยก็จะได้เงินคืนน้อยกว่า 

สำหรับฉัน ฉันแค่ต้องการแทงม้าเพื่อความสนุกเท่านั้นจึงแทงแบบ Win และ Place เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งฉันก็อยากแนะนำให้คนที่เป็นมือใหม่เล่นแบบนี้ด้วย เพราะถึงจะได้เงินน้อย แต่แค่แทงถูก เราก็ดีใจและสนุกกันมากๆ แล้ว

อัฒจันทร์

นอกจากที่นั่งกลางแจ้งที่คนทั่วไปสามารถเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแล้ว สนามแข่งม้าโออิก็ยังมีที่นั่งในร่มที่อยู่ในอาคารอีก 3 แห่งด้วย นั่นคือ อาคาร G-FRONT (ตึกซ้าย) อาคาร L-WING (ตึกขวา) และ อาคาร Number 4 Grandstand (*ขายที่นั่งทุกรูปแบบ ยกเว้น Diamond Turn)

ที่นั่งในอาคารเหล่านี้ต้องมีการจองล่วงหน้าผ่านช่องทางออนไลน์หรือไม่ก็ต้องไปซื้อที่เคานท์เตอร์สำรองที่นั่งของสนามแข่งม้าโออิกันในเช้าวันนั้น และจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมด้วย โดยราคาจะอยู่ที่ประมาณ 1,000 - 6,000 เยน คุณจะได้ที่นั่งแบบมีหน้าจอมอนิเตอร์ (บางจอต้องแชร์กับที่นั่งข้างๆ) ทำให้สามารถใช้เวลาผ่อนคลายในที่นั่งของสนามโออิได้ทั้งวัน นอกจากนี้ หากคุณต้องการความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ก็สามารถจองที่นั่งแบบ Prime Box และ Prime Room ที่ราคาแพงกว่าได้ด้วยเหมือนกัน

ข้อดีของการชมการแข่งม้าในร่ม คือ คุณจะไม่ต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่แปรปรวน แต่ในทางกลับกัน ที่นั่งกลางแจ้งก็จะทำให้คุณได้สัมผัสกับสายลมอันแสนสบายและพลังจากเสียงเชียร์อันกึกก้องของผู้ชม บางคนถึงกับแบกกล้องพร้อมเลนส์ระยะไกลมาถ่ายภาพการแข่งม้าสุดองอาจกันอย่างจริงจังด้วย ดังนั้น ฉันจึงบอกได้เลยว่าถึงแม้คุณจะมาชมการแข่งม้าอย่างเดียวโดยไม่ได้เล่นเดิมพันอะไร ก็จะสามารถดื่มด่ำบรรยากาศและสนุกกับประสบการณ์สุดเจ๋งนี้ได้อย่างเต็มที่แน่นอน

วันที่ฉันกับเพื่อนไปสนามแข่งม้าเป็นวันที่ไม่สามารถคาดการณ์สภาพอากาศอะไรได้เลย เราจึงตัดสินใจซื้อที่นั่งในร่มกันไป แต่เนื่องจากการแข่งขันหลักในวันนั้นเป็นแมตช์ที่มีรางวัลใหญ่ที่เรียกว่า "คุโรชิโอะ-ไฮ" (黒潮盃) จึงมีผู้ชมค่อนข้างมาก และที่นั่งแบบจองก็เกือบจะขายหมดแล้วตอนที่เราไปถึง แต่โชคยังดีที่สุดท้าย เราก็ซื้อบัตร G-FRONT ที่นั่ง Prime Seat ที่เหลืออยู่ทัน (ราคา 3,000 เยนต่อคน) ที่นั่งของเราอยู่บนชั้น 3 ทำให้สามารถมองลงไปเห็นสนามแข่งได้ทั้งหมด นอกจากนี้ ที่นั่งแบบ Prime Seat แต่ละที่ก็ยังมาพร้อมกับจุดซื้อตั๋วแทงม้าแบบส่วนตัวที่คุณสามารถแทงม้าแบบไม่ใช้เงินสดได้ แถมยังสามารถชมการแข่งขันบนหน้าจอและบนสนามไปพร้อมๆ กันได้, ตรวจสอบสถิติของม้าแต่ละตัวได้ และวางเดิมพันจากในที่นั่งอันแสนสบายได้โดยไม่ต้องเสียเวลากรอกบัตรอะไรให้วุ่นวายด้วย

อย่างไรก็ตาม ระบบอันแสนสะดวกสบายนี้เป็นภาษาญี่ปุ่นทั้งหมด ดังนั้น หากคุณไม่เก่งภาษาญี่ปุ่นก็อาจจะทำให้ใช้งานได้ไม่เต็มที่ ดังนั้น ก่อนจะซื้อบัตรที่นั่งแบบจอง เราจึงขอแนะนำว่าให้ซื้อแบบ Star Seat ที่อยู่บนชั้น 3 หรือ Sky Seat ที่อยู่บนชั้น 4 ของอาคาร L-WING เพราะเป็นที่นั่งอันยอดเยี่ยมที่คุณสามารถมองเห็นเส้นชัยได้

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

ฉันแทงม้าถูก! ตามไปดูวิธีรับเงินรางวัลกันเลย!

ในการแข่งขันรอบที่ 3 ฉันแทงม้าแบบ Place ไป 100 เยน โดยเลือกม้าหมายเลข 2 และ 8 ไว้ และหมายเลข 8 ก็เข้าเส้นชัยไปเป็นอันดับ 2! ดังนั้น เมื่อข้อมูลบนหน้าจอขึ้นมาบอกว่าฉันแทงม้าถูก ฉันก็เดินไปที่เครื่องขายตั๋ว เอาตั๋วแทงม้าใส่เข้าไป จากนั้นระบบก็จะคำนวณเงินให้ฉันแบบอัตโนมัติ

เมื่อฉันตรวจสอบข้อมูลเรียบร้อยและกดปุ่ม "จ่ายเงิน" (精算) ก็ได้เงินคืนมา 150 เยน!

 

*ตั๋วที่แทงถูกจะมีอายุ 60 วัน สำหรับการรับเงินคืน

นี่คือบันทึกการแทงม้าของฉันในวันนี้:

ฉันเดิมพันไปทั้งหมด 9 ครั้ง รวมต้นทุน 900 เยน และฉันก็ชนะไปทั้งหมด 5 ครั้งและได้เงินคืนมาทั้งหมด 1,280 เยน ถึงจะฟังดูไม่เยอะ แต่ฉันก็สนุกมาก และที่สำคัญคือฉันก็ไม่ได้เสียเงินเข้าเนื้อตัวเองด้วย

ข้อมูลจากวงใน: อาหารในสนามแข่งม้าโออิ

สนามแข่งม้าโออิไม่อนุญาตให้นำอาหารและเครื่องดื่มจากภายนอกเข้ามา แต่คุณก็ไม่ต้องกังวลเพราะด้านในก็มีร้านอาหารอยู่มากมายเต็มไปหมด! นอกจากจะมีเมนูพื้นฐานอย่างไก่ทอดคาราอาเกะ อาหารทอดเสียบไม้ และทาโกะยากิแล้ว ที่นี่ยังมีข้าวหน้าแกงกะหรี่ บะหมี่อุด้ง น้ำแข็งไส และของหวานอีกมากมายจนเลือกไม่ถูกกันไปเลย

วันที่เราไปนั้นอากาศร้อนมากๆ เราจึงทานฮอทดอกสูตรพิเศษ และ "ไคเซนด้ง" (海鮮丼 ข้าวหน้าปลาดิบ) ระหว่างที่ชมการแข่งม้าจากที่นั่งแบบจองกันอย่างเพลิดเพลิน ถึงแม้ว่าทุกคนจะเชียร์เสียงดังกันไม่ได้เนื่องจากสถานการณ์ไวรัสโคโรน่า แต่เราก็ยังได้ยินเสียงอันตื่นเต้นของผู้คนเมื่อมีคนชนะ และเสียงถอนหายใจเบาๆ จากความผิดหวังได้ เป็นประสบการณ์ที่พิเศษมากจริงๆ

บอกตรงๆ ว่าก่อนที่ฉันจะไปสนามแข่งม้าโออิ ฉันรู้สึกกังวลนิดหน่อย เพราะตัวเองไม่มีความรู้เกี่ยวกับการแข่งขันของรัฐบาลของญี่ปุ่นเลย แต่สุดท้ายก็ได้ค้นพบว่าตัวเองคิดมากเกินไป สนามแห่งนี้ทั้งสะอาดและได้รับการดูแลอย่างดี กฎกติกาก็เข้าใจง่าย ฉันจึงสนุกกับมันได้ไม่ยาก ดังนั้น หากเราระลึกไว้เสมอว่า "การพนันเล็กน้อยอาจจะดีต่อหัวใจ แต่พนันมากเกินไปก็ทำลายชีวิตได้เหมือนกัน" และคอยระวังไม่ให้ตัวเองถลำลึกเกินไป เราก็จะสามารถสนุกกับประสบการณ์วัฒนธรรมเชิงลึกนี้ และสร้างความทรงจำอันแสนพิเศษกันได้ไม่ยากเลย

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !

มนต์เสน่ห์คันโต

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

รับส่วนลดมากมายในญี่ปุ่น ที่นี่!

เกี่ยวกับนักเขียน

Ying
Ying Lu
เป็นคนไต้หวัน ปัจจุบันอาศัยอยู่ในญี่ปุ่น ชอบซับคัลเจอร์อย่างวัฒนธรรม 2D และการชมดนตรีสด เดินทางไปอิเคะบุคุโระอยู่บ่อยครั้ง
  • แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

ค้นหาร้านอาหาร