เมืองแห่งการหมัก: สาเก มิโซะ เบียร์ และสารพัดของหมักในนุตตาริ!

นุตตาริ (Nuttari) ตั้งอยู่ในเขตกลางเมืองนีงาตะ ในอดีตเคยรุ่งเรืองในฐานะศูนย์กลางการค้าขายอาหารหมักดองอย่างสาเก มิโซะ และโชยุ แม้ว่าจะซบเซาลงแล้วเมื่อเทียบกับแต่ก่อน แต่ร่องรอยของอารยธรรมเหล่านั้นก็ยังคงหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ถนนอันเงียบสงบแห่งนี้ยังคงดึงดูดนักท่องเที่ยวที่หลงรักวัฒนธรรมนอกกระแสของญี่ปุ่นได้เรื่อยมา ทั้งโรงสาเกเก่าแก่อย่างอิมาโยะ สึคาสะ หรือหน้าใหม่ๆ อย่างนุตตาริเบียร์ รับรองว่าการไปเยือนนุตตาริจะมอบความตื่นเต้นเร้าใจให้กับคุณได้อย่างแน่นอน!

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

บทความนี้อาจมีลิงก์พาร์ทเนอร์ หากคุณทำการซื้อผ่านลิงก์พาร์ทเนอร์ เราอาจได้รับค่าคอมมิชชั่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับคุณ

นุตตาริอยู่ที่ไหน?

นุตตาริตั้งอยู่บริเวณใจกลางเมืองนีงาตะ ล้อมรอบด้วยแม่น้ำที่ยาวที่สุดในญี่ปุ่นหรือแม่น้ำชินาโนะที่ฝั่งหนึ่ง และแม่น้ำอากาโนะที่ยาวเป็นอันดับ 10 ที่อีกฝั่งหนึ่ง หากเดินออกจากสถานีนีงาตะไปทางตะวันออกเฉียงเหนือจะสามารถไปถึงได้ใน 20 นาที แม้ระบบขนส่งสาธารณะจะไม่เพียบพร้อมนัก แต่สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจในนุตตาริก็ค่อนข้างกระจุกอยู่ที่เดียวกันอยู่แล้ว จึงเป็นถนนเงียบๆ แห่งหนึ่งที่เหมาะจะไปเดินเล่นสุดๆ

ประวัติศาสตร์โบราณของนุตตาริ

ทุกวันนี้นุตตาริเป็นละแวกที่เงียบสงบบริเวณชานเมืองนีงาตะ ทว่าแต่เดิมที่นี่เคยเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยน ค้าขาย และการผลิตอันรุ่งเรืองมาก่อน เรียกว่าเป็นเมืองหลวงของจังหวัดนีงาตะในอดีตเลยก็ว่าได้

ประวัติศาสตร์เก่าแก่ที่สุดของนุตตาริปรากฎในหนังสือ Nihon Shoki บันทึกที่เก่าแก่เป็นอันดับ 2 ของประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นคลาสสิค โดยได้รับการบันทึกถึงไว้ในชื่อนุทาริโนกิ (Nutarinoki) และคาดว่าเป็นป้อมปราการของชาวเอมิชิซึ่งอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของญี่ปุ่น และต่อต้านการปกครองของจักรพรรดิญี่ปุ่นมาหลายศตวรรษ อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งที่แม่นยำของนุทาริโนกิยังคงไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดและเป็นที่ถกเถียงในแวดวงการศึกษาวิจัย

ข้ามเวลาไปยังสมัยเอโดะ (ปี 1603 - 1868) นุตตาริซึ่งมีทำเลตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำชินาโนะ แม่น้ำอากาโนะ และแม่น้ำเทียมคุริโนกิก็ค่อยๆ กลายเป็นสถานที่ในการทำการค้า และเกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังเริ่มพัฒนาเป็นแหล่งของหมักดองด้วยเนื่องจากสามารถหาวัตถุดิบจากแม่น้ำและนาข้าวที่อยู่ใกล้เคียงได้ง่าย จึงมีชุมชนของผู้ผลิตสาเก มิโซะ และโชยุเรียงตัวกันเป็นแถวตามแม่น้ำคุริโนกิ ว่ากันว่าในยุคที่รุ่งเรืองที่สุด (ยุคกลางเมจิ) นุตตาริมีโรงหมักสาเกอยู่ประมาณ 8 แห่ง และโรงหมักมิโซะอีก 40 แห่ง เป็นที่มาของชื่อเรียกเมืองแห่งการหมักดอง

ในปี 1897 สถานีนุตตาริเปิดทำการเป็นสถานีปลายทางของรถไฟ Hokuetsu Railway ซึ่งเป็นสายรถไฟแรกของนีงาตะ และเป็นขนส่งสาธารณะที่สำคัญมากของภูมิภาค แสดงให้เห็นว่านุตตาริกลายเป็นเมืองที่สำคัญมากเพียงใด

เมืองแห่งนี้เริ่มซบเซาลงเมื่อนุตตาริเสียคิตะมาเอะบุเนะ (Kitamaebune) เส้นทางการค้าที่เชื่อมต่อระหว่างฮอกไกโดและโอซาก้าให้กับเมืองนีงาตะที่อยู่ใกล้กัน ในทางกลับกัน เมืองนีงาตะพัฒนาอย่างรวดเร็วในเมืองนีงาตะ แต่เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับท่าเรือของนัททาริและบรรลุการพัฒนาต่อไป ทั้งสองฝ่ายตัดสินใจว่าควรรวมเมืองนีงาตะและเมืองนุตตาริเข้าด้วยกัน และกลายเป็นเมืองนีงาตะแห่งใหม่

ต่อมาในปี 1964 หลังจากเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในนีงาตะ แม่น้ำคุริโนกิซึ่งเป็นหัวใจของนุตตาริมาหลายยุคสมัยก็ถูกเวนคืนไปเพื่อทำทางเลี่ยงคุริโนกิ ทางหลวงขนาดใหญ่ที่เชื่อมระหว่างเมืองบันไดที่กำลังเติบโตและชานเมืองนีงาตะแทน ตะปูตัวสุดท้ายที่ตอกฝาโลงโดยสมบูรณ์ก็คือการปิดสถานีนุตตาริไม่ให้บุคคลทั่วไปใช้ ในปี 1958 การให้บริการผู้โดยสารของสถานีนัททาริถูกยกเลิก และขยายบริการไปยังสถานีนีงาตะซึ่งเปิดในปี 1904 สถานีนีงาตะจึงได้รับมอบเป็นสถานีปลายทางไปยังสถานีนีงาตะ หลังจากนั้น สถานีนีงาตะก็เชื่อมต่อกับโตเกียวโดยโจเอ็ตสึ ชินคันเซ็นในปี 1982 และพัฒนาให้เป็นประตูสู่เมืองใหญ่บนชายฝั่งทะเลญี่ปุ่น สถานีนัททารียังคงเป็นสถานีขนส่งสินค้า แต่ปิดตัวลงอย่างสมบูรณ์ในปี 2010 สิ้นสุดประวัติศาสตร์กว่า 100 ปี ด้วยเหตุนี้ แม่น้ำคุริโนกิที่คึกคักจึงกลายเป็นความทรงจำของคนรุ่นเก่า

นุตตาริในวันนี้

แม้จะมีวันวานที่รุ่งโรจน์ แต่ความย้อนยุคและเรียบง่ายก็เป็นอีกเสน่ห์หนึ่งของสู่นุตตาริ ท้องถนนเต็มไปด้วยบ้านเรือนไม้ที่ถูกทอดทิ้งและปล่อยให้ผุพังอย่างน่าเสียดาย ให้บรรยากาศชวนขนลุกและชวนให้นึกถึงอดีตไปพร้อมๆ กัน เมื่อมารวมกับทางรถไฟ Hokuetsu ที่ถูกทิ้งร้างก็ยิ่งช่วยให้เห็นภาพของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น

ในปัจจุบัน ผู้คนที่มีใจรักในท้องถิ่นกำลังพยายามผลักดันยุคทองยุคใหม่ของนุตตาริขึ้นมาโดยใช้นวัตกรรมผสมผสานไปกับการอนุรักษ์ของเดิมอย่างสมดุล ในจำนวนนั้นมีสถานที่ท่องเที่ยว 4 แห่งที่ยืนหยัดในฐานะสัญลักษณ์ของนุตตาริยุคใหม่ คอยดึงดูดผู้คนกลับไปสู่แหล่งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักแห่งนี้

โรงหมักสาเกอิมาโยะ สึคาสะ: ผสมผสานอดีตและปัจจุบัน

ท่ามกลางคอนกรีตของทางเลี่ยงคุริโนกิ เราจะพบกับโรงหมักสาเกอิมาโยะ สึคาสะ (Imayo Tsukasa Sake Brewery) อัญมณีที่เก่าแก่ที่สุดและโดดเด่นที่สุดของนุตตาริ อิมาโยะ สึคาสะเป็นเสาหลักของนุตตาริมากว่า 250 ปี โดยเริ่มต้นจากการเป็นผู้ขายส่งสาเกในปี 1767 ก่อนจะผันตัวไปเป็นโรงหมักในสมัยเมจิ (ปี 1868 - 1912) ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่ข้างแม่น้ำคุริโนกิ อิมาโยะ สึคาสะก็เติบโตจนกลายเป็นหนึ่งในโรงหมักที่มีชื่อเสียงที่สุดของนีงาตะ และเป็นตัวเลือกแรกๆ ของร้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในท้องถิ่นด้วยทางโรงหมักไม่มีการเติมน้ำเจือจางสาเกเพื่อเพิ่มปริมาณอย่างที่หลายเจ้าทำในสมัยนั้น

ดีไซน์ขวดบรรจุสุดเท่ โรงหมักสุดเก๋ และการตกแต่งใหม่ๆ เป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มความตื่นตาตื่นใจและดึงดูดผู้คนรุ่นใหม่ให้กลับมาสนใจเครื่องดื่มอันทรงเกียรติของบรรพบุรุษอีกครั้ง

แต่ถึงแม้จะปรับตัวเข้ากับยุคสมัยได้อย่างดีเยี่ยม อิมาโยะ สึคาสะก็ทุ่มเทให้กับประเพณีดั้งเดิมไม่แพ้กัน โดยให้ความใส่ใจกับการฝึกฝนการหมักแบบเก่า ไม่ว่าจะเป็นการหมักในถังซีดาร์ (cedar barrel brewing) ซึ่งเป็นศิลปะการหมักแบบดั้งเดิมที่ถูกแทนที่ด้วยการหมักในถังเหล็กที่สะดวกสบายกว่า หรือการหมักจุนไมหรือการหมักข้าวบริสุทธิ์ (Junmai brewing) ที่หลีกเลี่ยงการใช้แอลกอฮอล์หมักเพื่อดึงรสชาติที่แท้จริงของข้าวออกมามากขึ้น

ด้วยเป็นโรงหมักสาเกที่อยู่ใกล้กับสถานีนีงาตะมากที่สุด อิมาโยะ สึคาสะจึงเหมือนเป็นประตูสู่โลกของสาเกนีงาตะ ซึ่งนีงาตะนั้นนอกจากจะมีโรงหมักสาเกมากที่สุดในญี่ปุ่นแล้ว ยังมีอัตราการบริโภคสาเกสูงที่สุด และเป็นผู้ผลิตข้าวที่ใหญ่ที่สุดด้วย เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในหัวใจหลักของสาเกญี่ปุ่นเลยทีเดียว

ทางอิมาโยะ สึคาสะเองก็ตระหนักถึงจุดนี้เป็นอย่างดี จึงมีความตั้งใจที่จะลบภาพเก่าคร่ำครึเข้าถึงยากของสาเกด้วยวิธีต่างๆ เช่นเปิดคอร์สชิมสาเกที่หลากหลาย ผลิตเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์อย่างอามะสาเก รวมถึงการทำเกมกาชาสาเกด้วย!

สาเกของอิมาโยะ สึคาสะจะใช้ข้าวจากนีงาตะ 100% ทั้งหมด ยกเว้นเพียงสาเกชนิดเดียวเท่านั้น โดยจะใช้หมักร่วมกับน้ำแร่ธรรมชาติจากภูเขาสึงานะดาเกะที่อยู่ใกล้เคียง สาเกแต่ละขวดๆ จึงมีของดีจากนีงาตะอัดแน่นอยู่อย่างเต็มเปี่ยม

ยิ่งไปกว่านั้น อิมาโยะ สึคาสะยังจัดทัวร์เพื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับการหมักสาเก การทำสาเก และละแวกโดยรอบอีกด้วย ในขณะที่ด้านหน้าของโรงหมักและร้านรวงค่อนข้างใหม่ บริเวณด้านในกลับมีบรรยากาศที่อึมครึมกว่า อบอวลไปด้วยกลิ่นอายของความพยายามและความทุ่มเท

ทัวร์นี้สามารถเข้าร่วมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายและจัดขึ้นหลายรอบต่อวัน โดยมีรอบทัวร์ภาษาอังกฤษในเวลา 14:00 น.ของวันธรรมดา (ดูตารางโดยละเอียดได้ที่ด้านล่าง) หลังจากทัวร์จบลง คุณจะสามารถชิมสาเกตามฤดูกาล 1 ชนิด และอามะสาเก 2 ชนิดได้ฟรี หรือถ้าใครยังไม่จุใจก็สามารถจ่ายเพิ่มอีก 1,000 เยน (รวมภาษีแล้ว) เพื่อเข้าร่วม Premium Tasting Course และลองลิ้มรสสาเกอีกนับ 10 ชนิด อิมาโยะ สึคาสะจึงไม่ใช่เพียงก้าวแรกสู่นุตตาริเท่านั้น แต่ยังเป็นประตูที่จะพาคุณไปสู่โลกสาเกอันน่าตื่นตาตื่นใจด้วย!

โรงหมักมิเนมุระ: สืบสานตำนานเมืองแห่งการหมักดอง

เมื่อเดินต่อจากโรงหมักสาเกอิมาโยะ สึคาสะมาประมาณ 5 นาที คุณก็จะพบกับโรงหมักมิเนมุระ (Minemura Brewery) อีกหนึ่งมรดกตกทอดจากวัฒนธรรมการหมักของนุตตาริที่อีกฝั่งของทางเลี่ยงคุริโนกิ

โรงหมักมิเนมุระตั้งขึ้นในปี 1905 เป็นโรงหมักมิโซะแบบดั้งเดิมที่ทำเฉพาะเอจิโกะมิโซะ (Echigo miso) มิโซะแบบนีงาตะมาตลอดเวลากว่า 100 ปี เช่นเดียวกับอิมาโยะ สึคาสะ แต่เดิมมิเนมุระก็ตั้งอยู่ข้างแม่น้ำคุริโนกิ การขนส่งวัตถุดิบที่จำเป็นอย่างข้าว เกลือ และถั่วเหลืองจึงเป็นไปได้ง่าย ในปัจจุบันร้านของโรงหมักจะตั้งอยู่ด้านหน้าโรงหมัก โดยรีโนเวทมาจากโกดังโบราณคุระ และเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญของประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมมิโซะ

นอกจากมิโซะซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักแล้ว โรงหมักมิเนมุระยังอาศัยความเชี่ยวชาญในการหมักในการพัฒนาอาหารหมักดองอื่นๆ อย่างกว้างขวาง โดยมีจุดหมายเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมการหมักของนุตตาริและฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่น หนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่โด่งดังที่สุดก็คือมิโซะสึเกะ (Misozuke) ซึ่งเป็นการใส่ผักเล็กๆ และผักดองลงในมิโซะ มิเนมุระเริ่มทำมิโซะสึเกะมาตั้งแต่ปี 1920 แต่เริ่มเปิดตัวอย่างจริงจังหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อมีการส่งถังไม้มิโซะที่ฝังหัวไชเท้า Daikon ไว้หัวหนึ่งไปตามรถไฟสินค้าทั่วญี่ปุ่นเพื่อแจกจ่ายให้กับลูกค้าฟรีๆ โดยหัวไชเท้าจะดูดซับมิโซะและกลายเป็นหัวไชเท้าดองเมื่อไปถึงที่หมาย เป็นที่มาของชื่อเสียงที่ทำให้โรงหมักมิเนมุระยังคงยืนหยัดผ่านกาลเวลาได้มาจนถึงทุกวันนี้

ทุกวันนี้โรงหมักมิเนมุระใช้เทคโนโลยีในการหมักและองค์ความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มาเสริมรายการสินค้าของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นสต็อคน้ำซุปดาชิ อาหารแช่แข็งอย่างสตูว์หรือแฮมเบิร์ก ไปจนขนมหวานผสมมิโซะอย่างชีสเค้กหรือบามคุเฮง หากคุณแวะไปที่ร้านของโรงงาน คุณก็จะได้พบกับสตาฟฟ์น่ารักๆ ที่พร้อมจะแนะนำสินค้าให้กับผู้มาเยือนเสมอ และที่จะพลาดไม่ได้เลยก็คือไอศกรีมซอฟท์เสิร์ฟรสมิโซะชื่อดัง!

การแพ็คมิโซะ (Miso packing) ที่เป็นเอกลักษณ์ของมิเนมุระก็เป็นที่เลื่องลืออยู่ไม่น้อย โดยผู้มาเยี่ยมชมจะสามารถแพ็คเก็บมิโซะจำนวนหนึ่งกลับบ้านไปหมักต่อได้ (ต้องจองล่วงหน้า) ด้วยรสชาติของมิโซะนั้นละเอียดอ่อนและตอบสนองตามสภาพแวดล้อม มิโซะที่ถูกแพ็คกลับไปก็จะมีรสชาติเฉพาะที่ไม่สามารถหาได้จากที่ไหนได้อีกนอกจากที่บ้านของคุณนั่นเอง

นุตตาริเบียร์: โรงหมักหน้าใหม่

ในปี 2016 ตำนานใหม่ของดินแดนแห่งการหมักดองแห่งนี้เริ่มต้นขึ้นพร้อมกับนุตตาริเบียร์ (Nuttari Beer) ที่นี่แฝงตัวอยู่ท่ามกลางภาพบ้านเรือนโบราณของนุตตาริ สามารถเดินจากสถานีนีงาตะมาได้ใน 15 นาที เป็นโรงเบียร์ขนาดเล็กและผับที่เสิร์ฟคราฟท์เบียร์ร่วมกับกับแกล้มทั่วไปอย่างชีสและไส้กรอก

นุตตาริเบียร์เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดที่จะสร้างคราฟท์เบียร์คุณภาพสูงที่ทำด้วยมือในสเกลเล็กๆ โดยมีเป้าหมายแฝงเพื่อให้ผู้คนในท้องถิ่นตระหนักและภูมิใจในการเป็นส่วนหนึ่งของเมืองแห่งการหมักดองด้วย

ต่างจากอิมาโยะ สึคาสะและมิเนมุระที่ตกแต่งภายในแบบโมเดิร์น  นุตตาริเบียร์จัดร้านอยู่ในบ้านแบบดั้งเดิมอายุ 50 ปีที่ยังคงกลิ่นไม้และกลิ่นอายของชนบทไว้ มีกระทั่งห้องเสื่อญี่ปุ่นอันหรูหราที่จะพาคุณย้อนเวลาไปสู่ยุครุ่งเรืองของนุตตาริ แม้ว่าจะเป็นผู้ผลิตที่อายุน้อยที่สุด แต่ก็กลมกลืนไปกับภาพเมืองเก่าได้อย่างแนบเนียนทีเดียว

นุตตาริเบียร์ยังคงยึดถือในความเป็นท้องถิ่นและการผลิตในสเกลเล็กๆ อยู่ หากเป็นนอกนุตตาริและนีงาตะจึงจะหาเครื่องดื่มของที่นี่ได้จากร้านเพียงไม่กี่ร้านเท่านั้น ถ้าหากมีโอกาสได้แวะไปก็ขอแนะนำว่าให้ลองทานที่สถานที่จริงเลยจะดีกว่า

ผับของที่นี่เสิร์ฟดราฟท์เบียร์และเบียร์สดที่เหมาะกับหลากหลายรสนิยม รวมถึงเบียร์คลาสสิคอย่าง IPA, Weizen, Stouts และอื่นๆ ซึ่งล้วนแต่ทำขึ้นด้วยวัตถุดิบที่ถูกคัดสรรมาอย่างดี แม้กระทั่งลวดลายที่อยู่บนขวดยังเป็นภาพวาดแบบญี่ปุ่นที่ศิลปินท้องถิ่นออกแบบขึ้นอย่างประณีต โดยมีสัญลักษณ์ของภูมิภาคอย่างแม่น้ำชินาโนะและนุตตาริเทอร์เรซประกอบอยู่ด้วย สามารถเก็บเป็นของสะสมได้เลย

จังหวัดนีงาตะมีประวัติผูกพันกับเบียร์อย่างลึกซึ้ง เอจิโกะเบียร์ (Echigo beer) ของเมืองนีงาตะที่ถูกผลิตขึ้นในปี 1994 นับว่าเป็นคราฟท์เบียร์ชนิดแรกของญี่ปุ่นและทำให้การหมักเบียร์ในท้องถิ่นก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ในปัจจุบันก็มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่ไปเยือนนีงาตะเพื่อไปทัวร์โรงหมักขนาดเล็กต่างๆ ที่ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด ซึ่งส่วนใหญ่ก็หมักสาเกขึ้นจากวัตถุดิบท้องถิ่นของนีงาตะเอง

นุตตาริเองก็ผสมวัตถุดิบต่างๆ จากนีงาตะเข้าไปในเบียร์เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นแพร์ Le Lectier จากเมืองนีงาตะ ชา Bancha ที่เก็บเกี่ยวจากเกาะโซโด โช๊คเบอร์รี่ที่ปลูกในโกะเซน และข้าวโคชิฮิคาริ ของดีประจำนีงาตะที่นับเป็นข้าวพันธุ์ที่ดีที่สุดในญี่ปุ่นด้วย

นุตตาริเทอร์เรซสตรีท: ฟื้นคืนหัวใจของนุตตาริ

ใกล้ๆ กับนุตตาริเบียร์เราจะพบกับนุตตาริเทอร์เรซสตรีท (Nuttari Terrace Street) ถนนที่รายล้อมด้วยตึกแถวแบบโบราณซึ่งได้รับการรีโนเวทมาเป็นร้านรวง คาเฟ่ เวิร์คช็อป และอื่นๆ อีกมากมาย เกิดเป็นทิวทัศน์อันสวยงามแปลกตาที่ผสมผสานหน้าร้านแบบเก่าๆ ไว้กับความคึกคักของถนนคนเดิน แตกต่างกับถนนช็อปปิ้งแบบยุคใหม่อื่นๆ ในนีงาตะและญี่ปุ่นโดยสิ้นเชิง

หน้าร้านเด่นๆ ที่น่าไปถ่ายรูปก็ได้แก่ร้านผลิตเฟอร์นิเจอร์ ISANA, ร้านหนังสือมือสอง FISH ON และเวิร์คช็อปทำแก้ว Taruhi Glass Works นอกจากนี้ก็ยังมีร้านอาหารให้ไปลิ้มลองมากมาย ตั้งแต่ร้านเฉพาะทางอาหารนีงาตะที่ดำเนินกิจการมากว่า 50 ปี Osado Tamura ไปจนถึงคาเฟ่หรูอย่าง Tsumugu Coffee

แต่เดิมถนนแห่งนี้มีชื่อว่านุตตาริมาร์เก็ทโร้ด (Nuttari Market Road) เป็นคูน้ำที่ถูกเวนคืนเพื่อสร้างตลาดที่คึกคักไปด้วยธุรกิจและความบันเทิงต่างๆ ทว่าเมื่อผู้อยู่อาศัยเริ่มอายุมากขึ้นและเมืองพัฒนาขึ้น ร้านรวงเล็กๆ ก็หายไปและถูกแทนที่ด้วยห้างสรรพสินค้าและการซิ้อของออนไลน์แทน ตลาดแห่งนี้จึงค่อยๆ ถูกทิ้งร้างไป

ในปี 2010 เมื่อร้านอาหาร Ruruck Kitchen เปิดตัวขึ้น ละแวกนี้ก็เริ่มดึงดูดสายตาของผู้ประกอบการได้อีกครั้งและกลายเป็นที่พบปะสังสรรรค์สำหรับคนในท้องถิ่น จนปี 2014 มีการจัดตั้ง Terrace Office ขึ้นและรวบรวมกิจการต่างๆ บนถนนไว้ภายใต้ชื่อเดียวกันเพื่อทำให้การฟื้นฟูย่านเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การเกิดใหม่ของนุตตาริเทอร์เรซเป็นหลักฐานชั้นดีว่าตลาดแบบดั้งเดิมยังคงสามารถดำเนินต่อไปได้ในยุคปัจจุบัน และเป็นแบบอย่างในการฟื้นฟูละแวกที่กำลังซบเซาโดยไม่ทำลายเอกลักษณ์ของมัน

สำหรับคนที่ตั้งใจจะไปนุตตาริเทอร์เรซสตรีท เราก็ขอแนะนำให้แวะไปในช่วงตลาดเช้าอันคึกคักที่จะจัดขึ้นในวันอาทิตย์แรกของทุกเดือน

เมื่อเดินไปตามนุตตาริเทอร์เรซสตรีทเรื่อยๆ คุณจะได้พบกับทางรถไฟ Hokuetsu ที่ถูกทิ้งร้าง ซึ่งเป็นร่องรอยจากอดีตที่ทรงพลังที่สุดของนุตตาริ เหมาะจะเป็นที่สำหรับปิดม่านทริปของคุณในนุตตาริอย่างที่สุด ถนนโดยรอบเป็นตรอกแคบๆ ตัดกันไปมา ในขณะที่ฝั่งตรงข้ามเทอร์เรซยังคงถูกทิ้งไว้ให้ผุพัง เผยให้เห็นรูปลักษณ์ดั้งเดิมของพื้นที่ และแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่ทุ่มเทให้กับการปรับปรุงละแวกนี้เป็นอย่างดี 

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

กลิ่นอายอันเรียบง่ายและชวนคิดถึงของนุตตาริ

หลังจากการเวนคืนแม่น้ำและการปิดตัวของสถานีรถไฟ นุตตาริก็คล้ายกับถูกกำหนดให้กลายเป็นเพียงย่านที่อยู่อาศัยจืดชืดแห่งหนึ่งในชานเมืองนีงาตะ ทว่าละแวกนี้ก็สามารถฟื้นตัวกลับมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของนีงาตะได้อย่างภาคภูมิด้วยความสร้างสรรค์ ความบากบั่น และความตั้งใจของผู้คนในท้องถิ่น หน้าเก่าโรงหมักสาเกอิมาโยะ สิคาสะและโรงหมักมิเนมุระช่วยกันนำพาวัฒนธรรมการหมักดองของนุตตาริมาสู่ยุคปัจจุบัน ในขณะที่หน้าใหม่อย่างนุตตาริเบียร์และนุตตาริเทอร์เรซสตรีทช่วยกันพากิจการที่น่าตื่นตาตื่นใจเข้ามาเสริมทัพ ครั้งหน้าที่คุณไปเยือนนีงาตะ ก็ลองข้ามทางเลี่ยงคุริโนกิ มุ่งหน้าสู่นุตตาริ แล้วลิ้มรสชาติของญี่ปุ่นโบราณดูสิ!

Thumbnail: นุตตาริเทอร์เรซสตรีทและนุตตาริเบียร์ จาก PIXTA

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !

มนต์เสน่ห์ชูบุ

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

รับส่วนลดมากมายในญี่ปุ่น ที่นี่!

เกี่ยวกับนักเขียน

Steve
Steve Csorgo
เกิดและโตในเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ปัจจุบันอาศัยอยู่ในเมืองนีงาตะ มีงานอดิเรกเป็นการอ่านหนังสือ ท่องเที่ยวภายในญี่ปุ่น และหาสาเกท้องถิ่นใหม่ๆ สิ่งที่ชอบในญี่ปุ่นคือออนเซ็น โบราณสถาน และธรรมชาติที่ไม่ถูกสัมผัสโดยฝีมือมนุษย์ ชอบเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับงานฝีมือดั้งเดิม บ้านเมืองที่มีเสน่ห์ไม่เหมือนใคร เรื่องน่าสนใจตามท้องถิ่น
  • แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

ค้นหาร้านอาหาร