ของฝากจากวัดญี่ปุ่น!? คู่มือเกี่ยวกับการรับ "ตราประทับโกะชูอิน" จากวัดญี่ปุ่นฉบับสมบูรณ์

"โกะชูอิน" คือตราประทับที่คุณสามารถสะสมได้จากแทบทุกวัดและศาลเจ้าในญี่ปุ่น และการสะสมจนเต็มสมุดก็เป็นอีกอย่างที่จะทำให้ทริปของคุณน่าสนใจมากยิ่งขึ้น การเก็บสะสมโกะชูอินเริ่มเป็นงานอดิเรกที่ได้รับความสนใจในญี่ปุ่น และยิ่งสะสมได้มากเท่าไหร่ คุณก็จะสามารถชื่นชมลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละวัดได้มากเท่านั้น แต่อาจจะดูคุกคามไปสักหน่อยหากคุณเข้าไปขอตราประทับเหล่านี้อย่างไม่รู้วิธี ดังนั้น ในบทความนี้จึงได้รวบรวมทุกอย่างที่คุณควรรู้เพื่อเริ่มเก็บสะสมโกะชูอินของตนเองเอาไว้ให้คุณแล้ว

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

บทความนี้อาจมีลิงก์พาร์ทเนอร์ หากคุณทำการซื้อผ่านลิงก์พาร์ทเนอร์ เราอาจได้รับค่าคอมมิชชั่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับคุณ

โกะชูอินคืออะไร

โกะชูอิน (Goshuin) แปลว่า "ตราประทับสีแดง" เป็นตราสำหรับประดับตกแต่งที่ทางวัดและศาลเจ้าจะมอบให้แก่ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชม ปกติแล้วจะเป็นการผสมผสานกันระหว่างตราประทับสีแดงกับการเขียนหมึกด้วยพู่กันที่จะระบุชื่อวัด วันที่คุณมา และบางครั้งก็จะมีตราประทับสำหรับตกแต่ง ภาพวาดหรือการเขียนพู่กันที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของวัดหรือศาลเจ้าด้วย

บางครั้งคุณจะได้ตราประทับแบบพิเศษสำหรับฉลองเทศาล วันหยุดหรือในโอกาสอื่นๆ และเนื่องจากตราประทับของศาลเจ้าและวัดแต่ละแห่งนั้นมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง จึงทำให้มีการออกแบบที่หลากหลายมากซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดทั้งปี

ไม่กี่ปีมานี้ การสะสมโกะชูอินได้กลายเป็นงานอดิเรกที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ คุณอาจจะได้เจอกับ "สาวโกะชูอิน" ทั้งหลายที่มาต่อแถวเพื่อรอรับตราประทับแบบพิเศษและโพสต์ลงบนอินสตาแกรมในญี่ปุ่น ความนิยมที่เพิ่มขึ้นยังคงหมายถึงการมีสมุดสะสมตราโกะชูอินน่ารักๆ มากมายหลายแบบและของประดับตกแต่งอย่างหน้าปกและสายรัดสมุดให้คุณหาซื้อได้ตามร้านเครื่องเขียนทั่วญี่ปุ่นอีกด้วย ซึ่งจะยิ่งทำให้การสะสมนั้นสนุกขึ้นไปอีก

ตราประทับส่วนใหญ่จะถูกเก็บสะสมอยู่ในสมุดโน้ตที่เรียกว่าโกะชูอินโจ (Goshuin-cho) สมุดเหล่านี้จะทำมาจากกระดาษญี่ปุ่นคุณภาพสูงที่สามารถซึมซับน้ำหมึกได้เป็นอย่างดี ไม่ติดหรือเยิ้มพับทบกันไปมา

คุณสามารถหาสมุดเหล่านี้ได้จากที่วัดหรือศาลเจ้า โดยปกติแล้วราคาจะอยู่ที่ประมาณ 1,500 เยน แต่ถ้าลองมองหาดีๆ คุณจะได้เจอกับหน้าปกที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์สวยงาม และอย่างที่เราได้พูดถึงไปแล้ว คุณยังสามารถหาซื้อโกะชูอินโจที่ดูทันสมัยและมีสไตล์ได้ตามร้านเครื่องเขียนหรือร้านหนังสืออีกด้วย แต่ถ้าคุณไปซื้อจากร้านดังกล่าว ต้องดูให้แน่ใจว่าสมุดเป็นไซส์มาตรฐานนะคะ สำหรับผู้ที่จะซื้อโกะชูอินโจเป็นครั้งแรก เราขอแนะนำให้เลือกซื้อจากศาลเจ้าหรือวัดดีกว่า มันจะมีความหมายมากกว่านิดหน่อยแถมคุณยังจะได้ขนาดสมุดที่ถูกต้องด้วย

สำหรับเส้นทางวัด บางครั้งคุณจะได้พบกับกระดาน ฉากกั้นหรือม้วนคัมภีร์ที่ออกแบบมาเพื่อเก็บสะสมชุดตราประทับพิเศษที่ทำออกมาขายด้วย สำหรับตัวอย่างของเส้นทางประเภทนี้ คุณสามารถตามนักเขียนของเราไปเก็บสะสมโกะชูอินที่เส้นทางแสวงบุญมิยาโกะ เจ็ดเทพเจ้าโชคลาภในจังหวัดเกียวโตได้ที่บทความด้านล่างนี้เลย เส้นทางแสวงบุญนี้ประกอบไปด้วยวัดเพียงแค่เจ็ดแห่ง ไม่ว่าใครก็สามารถตามรอยพวกเขาในเกียวโตได้

วิธีการเก็บสะสมตราประทับโกะชูอิน

ที่วัดและศาลเจ้าส่วนใหญ่ที่คุณไป คุณจะเห็นสัญลักษณ์บอกจุดที่คุณสามารถไปขอรับโกะชูอินได้ คำว่าโกะชูอิน เขียนเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า "御朱印" ลองกวาดสายตาหาตัวหนังสือเหล่านี้ดู เช่นเดียวกับการมองหาสมุดสะสมโกะชูอินหรือป้ายที่แสดงตราประทับที่วัดมีให้ ถ้าคุณไปที่วัดดังๆ คุณอาจจะได้เห็นคนที่เข้าแถวรออยู่พร้อมกับสมุดโกะชูอินในมือด้วยก็ได้

วัดที่มีขนาดใหญ่ว่าจะมีโต๊ะสำหรับโกะชูอินแยกออกมาต่างหาก ในขณะที่วัดที่มีขนาดเล็กกว่าอาจจะมีจุดรับโกะชูอินอยู่ในบริเวณเดียวกับจุดที่ขายเครื่องรางหรือสิ่งของอื่นๆ ไม่ต้องแปลกใจที่คนที่ทำงานอยู่ที่วัดและศาลเจ้าจะใจดีมากและยินดีช่วยเหลือถ้าคุณไม่แน่ใจว่าจะต้องไปทางไหน แม้ว่าคุณจะแทบไม่รู้ภาษาญี่ปุ่นเลยก็ตาม

เมื่อคุณเจอจุดรับตราประทับแล้ว ให้ยื่นสมุดโดยเปิดหน้าที่อยากให้ประทับตราลงไป

ในกรณีที่มีโกะชูอินให้เลือกมากกว่าหนึ่งแบบ คนของทางวัดจะชี้ไปยังป้ายที่มีตัวเลือกและถามว่าคุณอยากได้แบบไหน ถ้าคุณอ่านภาษาญี่ปุ่นไม่ออก ก็แค่ชี้บอกไปยังเลขที่คุณต้องการก็ได้ ปกติแล้วการขอตราประทับจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 300 เยน แต่ตราประทับที่ใหญ่กว่าและมีรายละเอียดซับซ้อนกว่าก็สามารถมีราคาสูงถึง 2,000 เยนเลยทีเดียว ปกติแล้วราคาจะติดอยู่บนป้าย ตอนเลือกตราประทับที่ถูกใจก็อย่าลืมนึกถึงเรื่องราคากันด้วยนะคะ

เรื่องควรรู้อีกอย่างคือปกติแล้วระบบการสะสมตราประทับจะมีด้วยกันสองแบบ บางที่จะรับสมุดของคุณไปและประทับตราให้ตรงนั้นเลย ส่วนบางที่ที่มีคนเยอะกว่าจะรับสมุดของคุณไปและให้บัตรคิวกลับมา เมื่อได้บัตรคิวแล้ว ก็ให้รอยังจุดที่จะไม่ขวางทางคนอื่นจนกว่าจะเรียกคิวของคุณ

เมื่อได้รับตราประทับกลับมาแล้ว คุณจะพบว่าทางวัดสอดกระดาษข้อมูลใส่ในสมุดกลับมาให้ด้วย ปกติแล้วจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับวัดหรือความหมายของตราประทับ แต่ถึงคุณจะอ่านไม่ออก ก็ขอให้ทิ้งกระดาษไว้แบบนั้นสักพักเพราะมันจะช่วยกันไม่ให้หมึกไปเปื้อนหน้ากระดาษอีกฝั่งระหว่างที่รอให้หมึกแห้งได้

ขนบธรรมเนียมและมารยาทของการรับโกะชูอิน

แม้ว่าการสะสมโกะชูอินจะเป็นงานอดิเรกที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แต่คุณก็ควรระลึกไว้อยู่เสมอว่าคุณกำลังเข้ามายังศาสนสถาน ไม่ใช่ร้านค้า คุณควรที่จะสุภาพและเคารพกฎทั่วไปในการเยี่ยมชมศาลเจ้าที่คุณไป อย่างเช่นรักษาความสงบและไม่กินอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มระหว่างที่รอ

และให้พึงระลึกเอาไว้ว่าตราประทับนั้นเขียนมือขึ้นมาจากคนที่มาทำงานในวันนั้น อย่าเรียกร้องให้เขาวาดตามที่คุณต้องการหรือให้คัดลอกตราประทับที่คุณเห็นในอินเตอร์เน็ตหรือในสมุดของคนอื่น โกะชูอินแต่ละชิ้นนั้นมีความพิเศษแตกต่างกันไป เพราะฉะนั้น อย่าลืมให้เกียรติคนที่เขียนตราประทับให้คุณด้วยนะคะ

เรื่องสำคัญที่สุดที่ควรจดจำไว้คือโกะชูอินเป็นหลักฐานว่าคุณได้มาสักการะที่ศาลเจ้า ดังนั้น อย่าตรงเข้าไปขอรับตราประทับเลย แต่ให้หยุดเพื่อขอพรก่อน นักท่องเที่ยวต่างชาติบางคนจะกังวลว่าการขอพรทั้งที่ไม่ได้มีความเชื่อนั้นเป็นเรื่องไม่เหมาะสม แต่ที่ญี่ปุ่น คุณสามารถมองว่ามันเป็นการแสดงความเคารพง่ายๆ อย่างหนึ่งได้ คุณสามารถดูวิธีการขอพรที่ศาลเจ้าและวัดได้จากในบทความด้านล่างนี้

มารยาทที่ดีของจ่ายเงินเพื่อรับตราประทับคือการเตรียมเงินไว้ให้พอดี ค่าธรรมเนียมนี้ถือเป็นการบริจาคให้กับวัด ทางวัดจึงไม่รับบัตรเครดิตหรือมีเงินทอนจำนวนเยอะๆ ให้ ปกติแล้วที่โต๊ะส่วนใหญ่จะมีราคาเขียนติดอยู่ โดยเฉพาะถ้าเป็นราคาพิเศษที่ไม่ใช่ 300 เยน เพราะฉะนั้น พยายามเตรียมไปให้พร้อม โดยเฉพาะเวลาที่มีคนเข้าแถวต่อจากคุณอีกเป็นจำนวนมาก

การขอให้ประทับตราลงบนเศษกระดาษหรือสมุดโน้ตทั่วไปเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม เพราะฉะนั้น ดูให้แน่ใจว่าคุณซื้อโกะชูอินโจสำหรับเรื่องนี้โดยเฉพาะ ถ้าคุณไม่มีสมุดอยู่กับตัว ศาลเจ้าและวัดบางแห่งมีโกะชูอินบนกระดาษที่แยกออกมาต่างหากให้คุณสามารถเอาไปติดลงเล่มได้ในภายหลัง คุณสามารถลองสอบถามดูได้ว่าทางวัดมีหรือเปล่า ปกติแล้วจะเป็นตราประทับที่ออกแบบไว้อย่างซับซ้อนและใช้เวลาเขียนนานกว่าก็เลยจะมีที่ทำเตรียมไว้ล่วงหน้าอยู่ก่อนแล้ว และอาจจะแพงขึ้นอีกนิดหน่อย เรียกว่า "คากิโอกิโกะชูอิน" (書き置き御朱印) สามารถดูได้จากรูปด้านบน

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

เคล็ดลับและเทคนิคการสะสมโกะชูอิน

ถ้าคุณอ่านข้อความที่เขียนอยู่บนตราประทับไม่ออก ก็อาจจะทำให้ลืมได้ง่ายๆ ว่าอันไหนมาจากวัดไหน เราขอเสนอวิธีบันทึกให้คุณสองวิธี หนึ่งคือพกกระดาษโน้ตที่สามารถติดแผ่นข้อมูลที่วัดให้มาไว้กับตราประทับได้ (ตามภาพด้านบน) หรือสองคือาการทำสารบัญ หลังจากจบทริปยุ่งๆ แล้ว การจะจำป้ายทั้งหมดได้นั้นไม่ใช่เรื่องยากเลยแม้แต่นิด ถ้าคุณจดบันทึกเกี่ยวกับวัดที่คุณไปมาไว้ คุณจะต้องปลื้มใจเมื่อกลับมาเปิดสมุดดูในภายหลังอีกครั้งอย่างแน่นอน

คุณอาจจะใช้ความพยายามอย่างมากในการเก็บสะสมโกะชูอิน แต่การแบกสมุดไปมาในกระเป๋าทุกวันก็อาจทำให้สมุดชำรุดหรือฉีกขาดได้ คุณควรหาซื้อปกพลาสติกหรือกระดาษหุ้มปกสมุดโกะชูอินที่ร้านเครื่องเขียนหรือร้านค้าต่างๆ อย่าง Tokyu Hands เพื่อรักษาสมุดให้ดูใหม่อยู่เสมอ หรือถ้าไม่อยากเสียเงินเยอะก็สามารถเลือกใช้ถุงซิปล็อกที่ดูเรียบๆ แต่มีน้ำหนักเบาได้ เป็นตัวเลือกที่เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวแถมยังช่วยปกป้องสมุดทั้งเล่มจากหายนะอย่างการมีของหกเลอะเทอะในกระเป๋าได้ด้วย

อย่างที่ได้เคยพูดถึงไปแล้ว ถ้าคุณได้รับคากิโอกิโกะชูอินที่เป็นกระดาษแยกเป็นแผ่นๆ มา คุณสามารถนำมาติดลงสมุดภายหลังได้ บางคนอาจนึกสงสัยว่าจะการเล็มขอบตราประทับเพื่อให้มันพอดีกับสมุดนั้นจะดีเหรอ แต่มันสามารถทำได้จริงๆ เคล็ดลับในการติดคากิโอกิโกะชูอินคือการใช้กระดาษกาวสองหน้าไร้กรดแปะเป็นแนวทะแยงตามรูปด้านบน เพราะกระดาษของญี่ปุ่นนั้นละเอียดอ่อน ความชื้นจากกาวทั่วไปสามารถทำให้กระดาษพองหรือติดกันระหว่างรอแห้งได้ ถ้าคุณติดกระดาษกาวตามเฉียงและค่อยๆ ลอกออกทีละจุดก็จะสามารถติดได้อย่างสะอาดสะอ้านเรียบร้อย

Klook.com

มาเริ่มสะสมโกะชูอินกันเถอะ!

การเริ่มสะสมโกะชูอินนั้นง่ายมาก แค่เลือกสมุดสะสมตราประทับ เตรียมเงิน และเข้าไปแวะชมวัดและศาลเจ้าเท่านั้น ถ้าคุณคอยมองหาวัดและศาลเจ้าระหว่างท่องเที่ยวอยู่ในญี่ปุ่น ใช้เวลาไม่นานก็จะสามารถเก็บได้เต็มเล่มแล้ว เป็นอะไรที่จะเป็นสมบัติชั่วชีวิตของคุณเลยล่ะ

การสะสมโกะชูอินยังเป็นกิจกรรมที่ดีตอนคุณออกไปเที่ยวกับเด็กๆ ที่อาจเหนื่อยล้าจากการเดินดูสถานที่ทางประวัติศาสตร์มาทั้งวันแล้ว ไม่ว่าคุณจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ความรู้สึกเหมือนการได้ออกล่าสมบัติเวลาเก็บสะสมตราประทับใหม่ๆ นั้นเป็นอะไรที่ติดงอมแงมเลยทีเดียวล่ะ อย่าพลาดโอกาสที่จะได้ลองตามเก็บโกะชูอินดูเมื่อคุณมาญี่ปุ่นในครั้งถัดไปนะคะ

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

รับส่วนลดมากมายในญี่ปุ่น ที่นี่!

เกี่ยวกับนักเขียน

Rebecca
Rebecca
นักเขียนและนักแปลชาวออสเตรเลียที่ปัจจุบันอาศัยอยู่ในเกียวโต มีงานอดิเรกเป็นการเดินทางโดยรถไฟ ร้องคาราโอเกะ และดูหนังสยองขวัญ
  • แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

ความสนใจที่เกี่ยวข้อง

ค้นหาร้านอาหาร