รู้ไหมที่ญี่ปุ่นดื่มเหล้าได้ตั้งแต่อายุเท่าไหร่? 8 กฏหมายและระเบียบควรรู้ก่อนมาญี่ปุ่น!

เช่นเดียวกับเมืองไทย ที่ญี่ปุ่นผู้บรรลุนิติภาวะคือผู้มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปตามบทบัญญัติทางกฏหมาย กฎข้อบังคับบางอย่างก็เหมือนประเทศไทย แต่ก็มีที่แตกต่างไปเช่นกัน ไหนๆ ก็มีโอกาสได้มาเที่ยวต่างประเทศทั้งที คุณก็คงไม่อยากจะละเมิดกฏหมายโดยไม่รู้ตัวจริงไหม? เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหล่านั้นขึ้น วันนี้เราจึงจะมาแนะนำกฏหมายและระเบียบ 8 ข้อที่คุณควรรู้ก่อนเดินทางมาญี่ปุ่น!

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

บทความนี้อาจมีลิงก์พาร์ทเนอร์ หากคุณทำการซื้อผ่านลิงก์พาร์ทเนอร์ เราอาจได้รับค่าคอมมิชชั่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับคุณ

1. ที่ญี่ปุ่นจำหน่ายสุราให้บุคคลอายุ 20 ปีขึ้นไป และสามารถดื่มสุราบนรถไฟหรือรถยนต์ได้?

ที่ญี่ปุ่นมีกฏหมายที่ชื่อว่า "พระราชบัญญัติการงดเว้นการบริโภคและจัดจำหน่ายให้แก่เยาวชน" ซึ่งระบุห้ามบุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปีดื่มสุราหรือซื้อสุราจากร้านค้า ในส่วนของผู้ที่เดินทางมาเที่ยวญี่ปุ่นและคาดหวังจะได้ดื่มสาเกญี่ปุ่น เหล้าโชจู หรือเหล้าชูไฮ นั้นคงมีไม่น้อยเลยทีเดียว แต่ควรระมัดระวังการละเมิดกฏหมายข้อนี้หากคุณอายุยังไม่ถึง 20 ปี

แน่นอนว่าหากคุณอายุเกิน 20 ปีก็จะไม่ผิดกฏหมาย แต่ก็ควรพกเอกสารแสดงตนติดตัวเอาไว้เสมอด้วย ยิ่งภายนอกดูเด็กมากเท่าไหร่ยิ่งมีโอกาสที่ทางร้านหรือทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะขอตรวจเอกสารแสดงตนมากขึ้นนั่นเอง

ตามร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ต ต่างก็มีสินค้าสุราวางจำหน่ายเป็นเรื่องปกติ นอกจากเรื่องอายุแล้วแทบไม่มีข้อห้ามที่เข้มงวดสำหรับการซื้อสุราอีกเลย ยิ่งร้านอิซากายะ (บาร์แบบญี่ปุ่น) หรือบาร์ทั่วไปก็เป็นเรื่องปกติมาก ส่วนที่ภัตตาคารทั่วไปหรือตามร้านฟาสต์ฟู้ดก็สามารถดื่มแอลกอฮอล์ได้เป็นปกติ เรียกได้ว่าหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไหนก็ได้ จนแทบทำให้รู้สึกว่าข้อกฏหมายเกี่ยวกับเครื่องดื่มมึนเมาที่ญี่ปุ่นนั้นดูหละหลวมไปเลยทีเดียว

สำหรับสถานที่ดื่มแอลกอฮอล์นั้นก็ไม่ได้มีตัวกฏหมายที่เข้มงวดอะไรนัก จะดื่มที่หน้าร้านสะดวกซื้อหรือจะดื่มในภัตตาคาร จะดื่มในสวนสาธารณะ ในรถไฟ นอกอาคารหรือพื้นที่สาธารณะ ก็อาจจะต้องคำนึงถึงมารยาทบ้างแต่โดยพื้นฐานแล้วไม่ได้จำกัดพื้นที่ห้ามดื่มแต่อย่างใด นักท่องเที่ยวบางท่านอาจจะเคยเห็นเหล่ามนุษย์เงินเดือนที่เมาปลิ้นคอพับนั่งอยู่ในรถไฟหรือในสถานี ไม่ก็นอนอยู่ตามข้างทางกันบ้างก็มี

นอกจากนี้ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรถยนต์นั้นก็ไม่ผิดกฏหมายแต่อย่างใด เว้นแต่ในกรณีที่ตัวผู้ขับขี่รถยนต์เป็นผู้ดื่มเสียเอง ซึ่งก็ถือเป็นกฏหมายที่มีลักษณะพิเศษในญี่ปุ่นอีกข้อหนึ่งด้วย
ในกรณีที่ผู้ขับขี่มีพฤติกรรมดื่มแล้วขับนั้น จะถือว่าเป็นการละเมิด "พระราชบัญญัติจราจรทางหลวง" ว่าด้วย "ข้อห้ามการขับขี่รถยนต์โดยมีการดื่มเครื่องดื่มมึนเมา" ซึ่งมีบทลงโทษ "จำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 1 ล้านเยน" ส่วนผู้โดยสารหรือผู้หยิบยื่นสุราให้ดื่มนั้นจะได้รับบทลงโทษเดียวกันในฐานะที่มีการยินยอมให้ผู้ขับขี่ดื่มสุรา การดื่มเครื่องดื่มมึนเมานั้นขอให้ดื่มแต่พอดี รักษากฏหมายเพื่อการท่องเที่ยวที่สนุกสนานในญี่ปุ่นกันเถอะ

2. ผู้ที่สูบบุหรี่ได้จำเป็นต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป ห้ามสูบบนทางเท้า และโดยหลักๆ แล้วไม่อนุญาตให้สูบตามคาเฟ่และภัตตาคาร

ในทางกฏหมายของญี่ปุ่นนั้นไม่อนุญาตให้สูบและจัดจำหน่ายบุหรี่แก่บุคคลที่มีอายุไม่ถึง 20 ปี โดยกฏหมายนั้นมีชื่อว่า "พระราชบัญญัติการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชน" ในบางประเทศการสูบบุหรี่เมื่ออายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปเป็นเรื่องถูกกฏหมาย หรือบางประเทศอาจจะอนุญาติให้สูบได้ก่อนอายุ 18 ปีก็จริง แต่ในญี่ปุ่นนั้นถือเป็นพฤติกรรมที่ผิดกฏหมาย

สำหรับที่ญี่ปุ่นนั้นการซื้อบุหรี่สามารถซื้อได้จากทั้งร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ต โดยสินค้านั้นจะจัดเรียงอยู่บนชั้นอย่างเป็นระเบียบและมีหมายเลขกำกับชัดเจน หากสื่อสารกับพนักงานทางร้านไม่รู้เรื่องขอแค่ชี้ไปบนชั้นแล้วบอกเลขเป็นภาษาอังกฤษ พนักงานร้านก็สามารถหยิบยี่ห้อที่ถูกต้องให้คุณได้อย่างแน่นอน

บางแห่งก็เป็นตู้กดอัตโนมัติ แต่หากจะซื้อจากตู้ล่ะก็คุณต้องมีบัตร IC การ์ดที่ชื่อว่า "TASPO" เพื่อยืนยันว่าตัวเองเป็นผู้บรรลุนิติภาวะ ซึ่งบัตรนี้จะมีการแจกจ่ายให้กับผู้บรรลุนิติภาวะในญี่ปุ่นเท่านั้น สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาชั่วคราวจะไม่สามารถใช้ตู้กดอัตโนมัติได้ อาจจะดูยุ่งยากไปบ้างแต่หากจะซื้อบุหรี่ไปซื้อที่ตามร้านจะดีกว่า

สำหรับบุหรี่ 1 ซองมีมวนบุหรี่บรรจุทั้งหมด 20 มวน โดยราคาตลาดในปี 2019 อยู่ที่ราวๆ 500 เยน (รวมภาษี) ยี่ห้อที่เป็นที่คุ้นเคยในต่างประเทศอย่าง "มาร์ลโบโร่ (Marlboro)" ก็มีราคา 500 เยน (รวมภาษี)

สำหรับที่ญี่ปุ่นนั้นวัฒนธรรมการแยกพื้นที่สูบบุหรี่มีการพัฒนาไปมาก ในส่วนของคาเฟ่ ภัตตาคารและพื้นที่สาธารณะต่างๆ หากไม่นับบริเวณที่มีการอนุญาตให้สูบบุหรี่ โดยพื้นฐานแล้วถือว่าเป็นพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่ทั้งหมด ในส่วนของส่วนพื้นที่ภายนอกอาคารก็เช่นเดียวกัน หากไม่ใช่พื้นที่ที่กำหนดไว้ว่าสามารถสูบบุหรี่ได้ จะก็ถือว่าเป็นพื้นที่ห้ามสูบทั้งหมด นอกจากนี้ การเดินสูบบุหรี่ถือเป็นพฤติกรรมผิดกฏหมาย และจะต้องเสียค่าปรับ จึงขอแนะนำให้รักษากฏการสูบบุหรี่อย่างเข้มงวด

3. การพนันถูกกฏหมายก็เมื่อคุณอายุ 20 ปี โดยเฉพาะ "Pachinko / Pachi-Slot"

แม้ว่าในญี่ปุ่นจะไม่มีคาสิโนเปิดให้บริการอยู่ แต่ก็มีสถานบันเทิงที่เรียกว่า "Pachinko" หรือ "Pachi-Slot" เป็นหัวเรือใหญ่ สำหรับ "ความบันเทิง" ที่ว่านี้คุณจะสามารถเข้าใช้บริการได้ก็ต่อเมื่ออายุ 20 ปีขึ้นไปเท่านั้น ในทางนิตินัยแล้วไม่ถือว่าการละเล่นนี้เป็นการพนันแต่อย่างใด แต่หากมองในทางพฤตินัยแล้วมันคือการพนันอยู่ดี เนื่องจากมีสถานการณ์อันซับซ้อนมากมายจึงต้องขออธิบายไปทางลำดับดังนี้

หากพูดถึง Pachinko ล่ะก็ ต้องนึกถึง "เกมตู้พินบอลที่มีหน้าจอ LED" วิธีเล่นก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไรนัก แค่เพียงหมุนด้ามจับที่ติดอยู่กับเครื่องและดีดลูกเหล็กที่เรียกว่าลูก Pachinko ออกไป ซึ่งเมื่อลูกเหล็กนั้นตกเข้าไปในรูที่อยู่บริเวณกลางแผงดีดลูกเหล็กที่เรียกว่า "Checker" ตัวเลข 3 ช่องบนหน้าจอ LED จะเริ่มหมุน ซึ่งหากคุณเคยไปคาสิโนละก็คงคุ้นเคยกันดีกับตู้สล็อตซึ่งทำงานคล้ายๆ กัน หากตัวเลขทั้ง 3 ช่องหยุดตรงกัน คุณจะได้ "Jackpot" ซึ่งแผงดีดลูกเหล็กด้านล่างจะเปิดช่องที่เรียกว่า "Attacker" ที่เมื่อยิงลูกเหล็กเข้าไปแล้วคุณจะได้รับลูกเหล็กคืนมามากกว่าจำนวนที่ยิงออกไป

โดยตัวลูกเหล็ก Pachinko นั้นจริงๆ แล้ว "มีมูลค่าเปลี่ยนเป็นเงิน" ได้ ถึงแม้จะเป็นอย่างนั้นก็มีข้อห้ามนำลูกเหล็ก Pachinko ส่วนตัวมาใช้ในร้านอีกด้วย โดยลูกเหล็ก 1 ลูกมีมูลค่า 4 เยนก่อนเริ่มเล่น หรือให้เช่าลูกเหล็กในราคา 1 เยนต่อลูก การซื้อขายลูกเหล็กเป็นไปตามเรทที่กำหนดซึ่งสามารถนำไปแลกเป็นเงินได้ ตัวอย่างเช่น คุณเช่าลูก Pachinko มา 250 ลูกในราคา 1,000 เยน (1 ลูก 4 เยน) แล้วได้รับ Jackpot เพิ่มเป็น 1,000 ลูก เมื่อนำไปแลกอาจจะเสียค่าธรรมเนียมอยู่บ้าง แต่คำนวณคร่าวๆ แล้วจะได้เงินที่แลกกลับมาอยู่ประมาณ 3,600 - 3,800 เยน หากคิดเสียว่าเงินลงทุนคือ 1,000 เยนก็เท่ากับว่าได้กำไรมา 2,800 เยนนั่นเอง

ไม่ว่าใครเห็นก็คงเข้าใจว่าเป็นการพนันแน่ๆ แต่ญี่ปุ่นกลับไม่ยินยอมให้จัดอยู่ในหมวดหมู่ของการพนัน โดยใช้คำเรียกหมวดหมู่ว่า "การละเล่น" มาโดยตลอด จึงทำให้ธุรกิจร้าน Pachinko หรืออุตสาหกรรม Pachinko นั้นเป็นธุรกิจ "สีเทา" อย่างชัดเจน แต่ถึงอย่างนั้นการละเล่นที่ว่าก็กลายเป็นที่ชื่นชอบและความบันเทิงที่อยู่คู่กันมายาวนานในสังคมของชาวญี่ปุ่น

คนที่ใช้ Pachinko เป็นแหล่งทำมาหากินก็มีไม่น้อย โดยเฉพาะที่ได้รับความนิยมอย่างสูงคือ Pachi-Slot ซึ่ง Pachi-Slot นั้นหมายถึงเครื่องเล่นที่ใช้สล็อตเหมือนคาสิโนเป็นหลัก และไม่ได้ใช้ลูกเหล็กแต่ใช้เหรียญเฉพาะหยอดตู้แทน เหรียญที่ว่ามีราคา 20 เยนต่อเหรียญ หรือบางทีก็ 5 เยนต่อเหรียญ ส่วนที่แตกต่างกับเครื่องเล่นสล็อตก็คือ การได้รับ Jackpot นั้นถูกควบคุมโดย "Function 4 steps setup / 6 steps setup" ซึ่งยิ่งเซ็ตค่าให้สูงเท่าไหร่ ยิ่งมีโอกาสได้ Jackpot มากเท่านั้น ทำให้มีโอกาสที่จะชนะสูงขึ้นอีกด้วย

จึงทำให้หลายคนไปเข้าแถวรอที่หน้าร้าน Pachinko กันตั้งแต่เช้าเพื่อจะได้เลือกเครื่องที่มีมูลค่าสูงๆ ก่อน หากเป็นร้านใหญ่ๆ ที่มีการประกาศอีเวนต์ล่ะก็ บางครั้งก็มีเหล่านักเล่นไปรอกันตั้งแต่เช้ากว่า 500 - 1,000 คนเลยทีเดียว สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาญี่ปุ่นอาจจะเห็นว่าเป็นบรรยากาศแปลกประหลาดก็เป็นได้

ปัจจุบันได้มีการเข้มงวดด้านกฏระเบียบควบคุม Pachinko และ Pachi-Slo เพื่อวางมาตรการป้องกันการติดพนันให้เข้มข้นขึ้น แม้จะเป็นความบันเทิงสาธารณะแต่ก็เป็น "การละเล่น" ที่กำลังเริ่มจะล้ำเส้นออกไปทุกที หากต้องการลองเล่น Pachinko ที่ญี่ปุ่นดูล่ะก็ ไปเล่นแค่พอหอมปากหอมคอสัมผัสวัฒนธรรมต่างแดนก็เพียงพอแล้ว

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

4. เหล่าเยาวชนควรระวังการเข้าร้านคาราโอเกะหลัง 18.00 น.!

แม้จะมีบทบัญญัติแตกต่างกันไปในแต่ละจังหวัดแต่ละอำเภอ คาราโอเกะส่วนใหญ่ของญี่ปุ่นนั้นก็มีข้อกำหนดในการรับลูกค้าอยู่ ยกตัวอย่างเช่น ตั้งแต่เวลา 18.00 น.เป็นต้นไปห้ามบุคคลอายุต่ำกว่า 16 ปีเข้าใช้บริการ เวลา 22.00 - 23.00 น. เป็นต้นไปห้ามบุคคลอายุต่ำกว่า 18 ปีเข้าใช้บริการ เป็นต้น

ซึ่งกฏข้อนี้ถูกบังคับใช้แม้จะมีผู้ปกครองอยู่ด้วย ในกรณีที่อายุไม่ถึงเกณฑ์ ทางร้านมีสิทธิ์ปฏิเสธการเข้าใช้บริการหรือเชิญออกจากร้านได้ในหากทราบภายหลัง นอกจากนี้ ร้านคาราโอเกะส่วนใหญ่ของญี่ปุ่นนั้นเปิดบริการ 24 ชั่วโมง ทั้งยังมีการจำหน่ายเครื่องดื่มมึนเมา ผู้ปกครองต้องทำความเข้าใจกฏหมายญี่ปุ่นให้ดี และป้องกันไม่ให้ผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะดื่มของมึนเมาโดยเด็ดขาด

Klook.com

5. Game Center มีข้อกำหนดการเข้าใช้บริการกลางดึก! ตู้ถ่ายรูปสติ๊กเกอร์ก็มีข้อกำหนดสำหรับท่านสุภาพบุรุษอีกด้วย!

Game Center ในญี่ปุ่นเองก็มีข้อกำหนดการเข้าใช้บริการเหมือนๆ กับร้านคาราโอเกะ โดยอาจจะมีข้อแตกต่างกันไปในแต่ละสถานที่ แต่หลักๆ คือ ตั้งแต่เวลา 18.00 น.เป็นต้นไปห้ามบุคคลอายุต่ำกว่า 16 ปีเข้าใช้บริการ เวลา 22.00 - 23.00 น.เป็นต้นไปห้ามบุคคลอายุต่ำกว่า 18 ปีเข้าใช้บริการ ซึ่งข้อแตกต่างกับคาราโอเกะหลักๆ ก็คือ ร้าน Game Center ส่วนใหญ่ไม่ได้เปิดให้บริการกลางดึก ส่วนมากมักจะเปิดบริการตอน 10.00 น. และปิดให้บริการตอน 23.00 น. ซึ่งหลักๆ แล้วในด้านของเวลาให้บริการนั้น จะเป็นเมืองใหญ่หรือชานเมืองก็ไม่ได้แตกต่างกันนัก

และหากพูดถึง Game Center ของญี่ปุ่นแล้ว สิ่งที่โด่งดังไปทั่วโลกและเป็นที่รู้จักอย่างมากก็คือ "การถ่ายรูปสติ๊กเกอร์" หรือพูริคุระ เพียงแต่กฏระเบียบบางส่วนนั้นชาวต่างชาติที่มาท่องเที่ยวอาจจะไม่ทราบ นั่นก็คือ ตู้ถ่ายสติกเกอร์ในญี่ปุ่นไม่อนุญาตให้สุภาพบุรุษเข้าใช้บริการ เว้นแต่จะมีสุภาพสตรีอยู่ในกลุ่มด้วย สาเหตุเนื่องมาจากในอดีตเกิดเหตุการณ์ที่มีคดีการแอบถ่าย หรือการล่วงละเมิดทางเพศสุภาพสตรีขณะกำลังถ่ายสติกเกอร์กันอยู่ ทำให้มีการกำหนดกฏระเบียบข้อนี้ขึ้นในปี 2014 นั่นเอง

6. ร้านดนตรีสด Live House ในญี่ปุ่นไม่ได้กำหนดอายุผู้เข้าชม! เนื่องจากถือเป็นการประกอบธุรกิจร้านอาหาร!

สำหรับประเทศญี่ปุ่นการเข้าชมดนตรีสดตามร้านนั้นไม่ได้มีกฏหมายกำหนดอายุผู้ชมเอาไว้ ผู้คนทุกเพศทุกวัยสามารถเข้าชมได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งกฏหมายข้อนี้เป็นกฏหมายที่มีเฉพาะในญี่ปุ่น

โดยหลักๆ แล้ว Live House ในญี่ปุ่นนั้นประกอบธุรกิจร้านอาหารเป็นหลัก โดยผู้เข้าชมจะต้องเสียค่าเครื่องดื่ม 1 รายการ (ราคา 500 เยน หรือ 600 เยน รวมค่าเข้าสถานที่แล้ว) แม้กฏหมายญี่ปุ่นจะมีบทบัญญัติเกี่ยวกับสถานบันเทิง (โรงภาพยนตร์ โรงละคร โรงคอนเสิร์ต สนามกีฬา และสถานที่จัดแสดงอื่นๆ) เอาไว้ในฐานะ "พระราชบัญญัติสถานบันเทิง" แต่การบริหารจัดการสถานบันเทิงนั้นจะต้องได้รับใบอนุญาตที่มีคุณลักษณะหลากหลายประการ ทั้งยังมีความยุ่งยากที่ต้องบริหารจัดการธุรกิจโดยรักษากฏระเบียบต่างๆ มากมาย ภายในสถานการณ์เช่นนี้จึงทำให้การยื่นประกอบธุรกิจร้านอาหารนั้นสามารถขอใบอนุญาตได้ง่ายกว่า และสามารถบริหารจัดการได้คล่องตัวกว่า จึงเป็นที่มาของการที่ Live House ส่วนใหญ่ประกอบกิจการในฐานะร้านอาหารนั่นเอง

นอกจากนี้ การเข้าชมดนตรีสดนอกประเทศญี่ปุ่นยังมีการกำหนดอายุ เช่น ไม่ต่ำกว่า 21 ปี หรือไม่ต่ำกว่า 18 ปี เป็นต้น ในกรณีของญี่ปุ่น ในเมื่อประกอบธุรกิจร้านอาหารจึงไม่จำเป็นจะต้องบังคับใช้กฏระเบียบข้อนี้ภายในร้าน

ยิ่งกว่านั้นการเปิดให้บริการในช่วงกลางคืนจะต้องมีการยื่น "ประกอบธุรกิจสถานบันเทิงและร้านอาหารยามกลางคืน" ซึ่งหากไม่จดทะเบียนขออนุญาตข้อนี้จะไม่สามารถประกอบธุรกิจนี้ได้ตามกฏหมาย จึงทำให้มีการหลีกเลี่ยงโดยการหยุดเล่นดนตรีสดในช่วง 22.00 - 23.00 น. และเคลียร์ลูกค้าออกจากร้านให้เสร็จภายในเวลาเที่ยงคืนเสียเป็นส่วนใหญ่ หลายที่ยังมีการคำนึงถึงการก่อความรำคาญให้แก่ผู้อยู่อาศัยรอบข้างโดยการกำหนดเวลาการแสดงให้จบตั้งแต่ 22.00 น.อีกด้วย

ดังนั้น หากจะเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้ว Live House ที่ญี่ปุ่นการแสดงสดจะเริ่มเร็วและจบเร็ว หรือก็คือ Live House ที่ญี่ปุ่นนั้นปฏิบัติตามข้อกฏหมายทุกอย่างเพื่อให้บริการเหล่าลูกค้าอย่างมีแบบแผนและขั้นตอนตามธรรมเนียมปฏิบัติแบบ Live House ญี่ปุ่นนั่นเอง

7. ที่ญี่ปุ่นมีกฏระเบียบการกำหนดอายุผู้เข้าชมภาพยนต์ด้วยเช่นกัน

สำหรับการกำหนดอายุผู้ชมในญี่ปุ่นนั้นเรียกได้ว่ามีมาตรฐานการตรวจสอบที่เข้มงวดสุดๆ โดยองค์กรผู้ตรวจสอบและระบุอายุผู้ชมนั้นก็คือ "องค์กรจรรยาบรรณภาพยนต์"

ยกตัวอย่างเช่น ซีรีย์ชื่อดังระดับโลกอย่าง "Resident Evil" ซึ่งประเทศส่วนใหญ่จะตั้งเรทที่ R15+ หรือไม่ก็ R18+ แต่สำหรับญี่ปุ่นนั้นตั้งไว้ที่เรท PG12 ซึ่งดูจากตรงนี้แล้วดูเหมือนจะไม่ต่างจากทั่วโลกเท่าไหร่ก็จริง แต่การที่บอกว่าแตกต่างจากที่อื่นก็คือฉากความรุนแรงหรือฉากที่เกี่ยวกับเรื่องทางเพศนั้นมีการตัดต่อจากเวอร์ชันต้นแบบออกไป ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงภาพยนต์เท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงอนิเมชั่นและวีดีโอเกมในประเทศญี่ปุ่นเองด้วย

ภาพยนต์ชื่อดังอย่าง "Back to the Future" ก็ถูกตั้งเรทในญี่ปุ่นให้อยู่ที่ PG12 ซึ่งให้เหตุผลไว้ว่ามีฉากที่ผู้ยังไม่บรรลุนิติภาวะดื่มของมึนเมาและสูบบุหรี่อันเป็นตัวอย่างไม่ดีแก่เยาวชนได้

สรุปคือ สำหรับภาพยนต์ที่ชาวต่างประเทศสามารถดูได้ตามเรทอายุที่จัดไว้นั้นอาจจะไม่สามารถดูได้ในประเทศญี่ปุ่น ยิ่งกว่านั้นถึงแม้ได้ดูก็อาจจะไม่ได้พบกับฉากออริจินัลซึ่งทางญี่ปุ่นได้ตัดต่อออกไปก่อนเข้าฉายในโรงภาพยนต์อีกด้วย

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

8. สามารถเรียนขับรถเพื่อขอใบขับขี่รถยนต์ได้ตั้งแต่อายุ 18 ปี

ที่ญี่ปุ่นนั้นสามารถขอใบขับขี่ได้ตั้งแต่อายุ 18 ปี โดยการขอใบขับขี่รถยนต์นั้นแล้วแต่ตัวบุคคลว่าจะเริ่มเรียนขับรถตอนไหน สำหรับคนที่เริ่มเรียนเร็วนั้นจะเริ่มเข้าเรียนขับรถยนต์ตั้งแต่อายุ 17 ปีตั้งแต่อยู่ชั้นมัธยมปลายปี 3 เมื่ออายุได้ 18 ปีก็เรียนจบกันจนเป็นเรื่องปกติ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ในประเทศตัวเองจะอนุญาตให้มีใบขับขี่สากลแล้ว แต่ถ้าหากอยู่ในประเทศญี่ปุ่นและอายุไม่ถึง 18 ปี แม้ว่าจะมีใบขับขี่สากลจะถือว่าเป็นการขับขี่ที่ผิดกฏหมาย จึงควรระมัดระวังให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจเช่ารถยนต์

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !

มนต์เสน่ห์คันโต

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

รับส่วนลดมากมายในญี่ปุ่น ที่นี่!

เกี่ยวกับนักเขียน

Keisuke
Keisuke Tsunekawa
เป็นคนญี่ปุ่นที่ชอบหลีกหนีจากชีวิตในเมืองโตเกียวเป็นครั้งคราว เพื่อค้นพบเส้นทางใหม่ๆ รวมถึงท่องเที่ยวในประเทศอื่นๆ ซึ่งทำให้รู้สึกว่าได้สนุกกับการเชื่อมโยงกับสิ่งที่แตกต่างไปจากที่เคยทำเคยเห็นในชีวิตประจำวัน
  • แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

ค้นหาร้านอาหาร