รวมฮิตอาหารท้องถิ่นประจำ 47 จังหวัดทั่วญี่ปุ่น ไปที่ไหนต้องกินอะไรมาดูกันเลย!

ซูชิ เทมปุระ ชาบูชาบู สุกียากี้ ราเมง ... ที่ญี่ปุ่นนั้นเต็มไปด้วยอาหารชื่อดังมากมาย ในแต่ละพื้นที่ของญี่ปุ่นก็ยังมีเมนูท้องถิ่นอยู่อีกมากมายที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกัน ในบทความนี้เราจะพาคุณไปพบกับ 47 เมนูท้องถิ่นประจำจังหวัดทั่วญี่ปุ่น หากมีโอกาสได้มาท่องเที่ยวที่ต่างๆ ก็ขอแนะนำให้ลิ้มลองอาหารท้องถิ่นของพื้นที่นั้นๆ ดูสักครั้ง รับรองได้ว่าทริปของคุณจะน่าจดจำขึ้นมากอย่างแน่นอน

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

บทความนี้อาจมีลิงก์พาร์ทเนอร์ หากคุณทำการซื้อผ่านลิงก์พาร์ทเนอร์ เราอาจได้รับค่าคอมมิชชั่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับคุณ

1. เจงกิสข่าน (ฮอกไกโด)

เจงกิสข่าน (ジンギスカン) อาหารพื้นเมืองที่นำเนื้อแกะกับผักจำนวนมากไปย่างด้วยกันบนกระทะทรงกลมที่มีเนินตรงกลาง เดิมทีฮอกไกโดเป็นสถานที่ที่เลี้ยงแกะเพื่อนำไปใช้ในการทำผลิตภัณฑ์ทางการทหาร แต่เมื่อสงครามจบลงจึงถูกนำมาเป็นอาหาร และกลายมาเป็นเมนูที่เป็นที่รักของผู้คนจำนวนมาก เนื้อที่ใช้นั้นมีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ เนื้อลูกแกะอายุไม่ถึง 1 ปีที่จะมีกลิ่นไม่ค่อยแรง และเนื้อแกะโตซึ่งมีอายุเกิน 2 ปี เนื้อจะมีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ นอกจากนี้ ในแต่ละร้านก็จะมีการปรุงรสและวิธีการรับประทานที่แตกต่างกันออกไปอีกด้วย

2. โทวาดะบาระยากิ (อาโอโมริ)

โทวาดะบาระยากิ (十和田バラ焼き) เมนูย่างที่นำเนื้อวัวส่วนซี่โครงมาปรุงรสด้วยซอสโชยุกับหอมใหญ่จำนวนมาก แล้วนำไปย่างบนกระทะเหล็กจนหอมใหญ่กลายเป็นสีเหลืองอำพัน เมนูนี้เป็นเมนูที่เกิดขึ้นที่บริเวณฐานทัพอเมริกาในเมืองมิซาวะเมื่อประมาณปี 1950 ก่อนจะเผยแพร่ไปยังเมืองโทวาดะที่อยู่ข้างๆ และได้ฝังรากลึกจนในปัจจุบัน แค่เมืองโทวาดะเมืองเดียวก็มีร้านบาระยากิอยู่กว่า 80 ร้านแล้ว รสชาติออกหวานๆ ของมันนั้น เข้ากับเบียร์ได้เป็นอย่างดี

3. โมริโอกะเรเมง (อิวาเตะ)

โมริโอกะเรเมง (盛岡冷麺) 1 ใน 3 เมนูเส้นของโมริโกอะเช่นเดียวกับวังโกะโซบะ (わんこそば) และจาจาเมง (じゃじゃ麺) เป็นเมนูเส้นเหนียวนุ่มโปะหน้าด้วยกิมจิ แตงกวา ไข่ต้ม และผลไม้ ราดด้วยน้ำซุปเย็นๆ ทำจากเนื้อวัวหรือกระดูกไก่ กล่าวกันว่าเมนูนี้คิดค้นโดยเชฟอาหารเส้นชาวเกาหลีที่ในช่วงหลังสงครามเกิดคิดถึงรสชาติอาหารบ้านเกิดของตัวเองขึ้นมา โมริโอกะเรเมงมีจุดเด่นเป็นเส้นกึ่งใสที่ทำขึ้นจากแป้งสาลี ซึ่งต่างจากเรเมงเกาหลีที่ใช้แป้งโซบะในการทำเส้น

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

4. ลิ้นวัวย่าง (มิยากิ)

ลิ้นวัวย่าง หรือ กิวทังยากิ (牛タン焼き) เป็นเมนูที่นำลิ้นวัวไปปรุงรสด้วยเกลือหรือซอสแล้วนำไปย่าง ถูกคิดค้นขึ้นในช่วงหลังสงครามซึ่งวัฒนธรรมการกินเนื้อวัวเริ่มแพร่หลาย ในช่วงแรก ลิ้นวัวย่างเป็นอาหารแปลกที่สามารถหารับประทานได้ในเขตเมืองเซนไดเท่านั้น แต่เนื่องจากมีรสชาติที่ดี ทั้งยังดีต่อสุขภาพเนื่องจากมีไขมันต่ำและโปรตีนสูง ทำให้มันกลายเป็นที่ชื่นชอบและแพร่หลายไปทั่วญี่ปุ่น ปัจจุบันมีร้านอาหารหลายแห่งทั่วญี่ปุ่นที่เสิร์ฟ "กิวทังเทโชคุ (牛タン定食)" หรือ เซ็ตอาหารลิ้นวัว ที่เสิร์ฟลิ้นวัวย่างชิ้นหนาๆ คู่กับซุปหางวัว

Klook.com

5. คิริทันโปะ (อาคิตะ)

คิริทันโปะ (きりたんぽ) เป็นอาหารที่นำข้าวหุงสุกไปพันเข้ากับไม้เสียบที่ทำจากไม้สนญี่ปุ่น จากนั้นจึงนำไปย่างด้วยไฟจากเตาถ่าน กล่าวกันว่าอาหารชนิดนี้มีต้นกำเนิดมาจากการที่คนตัดไม้ในละแวกโอดาเตะและโฮคุโรคุนำข้าวที่กินเหลือมาแปะเข้ากับไม้ยาวๆ ทาด้วยมิโสะ แล้วนำไปย่างรับประทาน เมื่อนำคิริทันโปะไปต้มในซุปโครงไก่พร้อมกับเครื่องต่างๆ อย่าง ไก่จิโดริ (ไก่สายพันธุ์ท้องถิ่นของญี่ปุ่น) เห็ดไมทาเกะ ต้นหอมญี่ปุ่น รากไม้โกโบ และผักชีญี่ปุ่น ก็จะเกิดเป็นเมนูที่ชื่อว่า คิริทันโปะนาเบะ (きりたんぽ鍋) เป็นเมนูที่เข้ากับฤดูหนาวที่หนาวเย็นของอาคิตะได้เป็นอย่างดี

6. อิโมะนิ (ยามากาตะ)

อิโมะนิ (芋煮) หรือ ต้มเผือก เมนูหม้อไฟที่ใส่เผือกลงไปต้มกับคอนยัคกุ (こんにゃく บุกญี่ปุ่น) ต้นหอม เห็ด รากโกโบ และเนื้อสัตว์ แม้แต่ในจังหวัดยามากาตะเองก็ยังมีการใส่เครื่องและวิธีปรุงรสที่แตกต่างกัน พื้นที่ใดที่ไม่ติดกับทะเลจะนิยมใช้เนื้อวัวและน้ำซุปแบบโชยุ ในขณะพื้นที่ใกล้ทะเลญี่ปุ่นแถวๆ เขตโจไนจะนิยมใช้เนื้อหมูและน้ำซุปแบบมิโซะ

ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวเผือกจะมีการใช้หินก่อเป็นเตาที่บริเวณริมแม่น้ำ และจับกลุ่มต้มเผือกรับประทานกัน ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่เรียกว่า "อิโมะนิไค (芋煮会)" หรือปาร์ตี้ต้มเผือก ซึ่งเป็นเหมือนกับสัญลักษณ์ประจำฤดูใบ้ไม้ร่วงของจังหวัดยามากาตะ

7. คิตะคาตะราเมง (ฟุคุชิมะ)

คิตะคาตะราเมง (喜多方ラーメン) เป็นราเมงที่มีจุดเด่นเป็นเส้นหยักแบนและค่อนข้างหนา แต่ละร้านจะใส่วัตถุดิบที่แตกต่างกันออกไป แต่ในส่วนของน้ำซุปนั้น ส่วนใหญ่จะใช้เป็นน้ำซุปรสโชยุที่ทานง่ายลื่นคอ กล่าวกันว่าราเมงชนิดนี้มีต้นกำเนิดมาจาก "ชินะโซบะ (支那そば)" หรือโซบะจีน ซึ่งมักจะขายโดยเด็กหนุ่มชาวจีนที่ลากรถแผงลอยไปมาในช่วงประมาณปี 1920 เมืองคิตะคาตะเป็นเมืองที่รุ่งเรืองด้านธุรกิจการกลั่นมาตั้งแต่ในอดีต ทั้งการกลั่นโชยุ มิโซะ หรือสาเกญี่ปุ่น ทำให้ที่นี่มีโรงกลั่นอยู่เยอะและมีนักท่องเที่ยวมากมายเดินทางมาเพื่อถ่ายภาพโรงกลั่นดังกล่าว เป็นผลให้ความอร่อยของคิตะคาตะราเมงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ในปัจจุบัน เมืองที่มีประชากรอยู่ไม่ค่อยมากนี้ ได้กลายมาเป็นเมืองที่มีร้านราเมงเยอะเป็นอันดับ 1 ของญี่ปุ่น นอกจากนี้ ร้านราเมงจำนวนมากยังเปิดให้บริการกันตั้งแต่ 7 โมงเช้าอีกด้วย เป็นโอกาสดีที่จะได้มาสัมผัสกับวัฒนธรรมการกินราเมงแต่เช้าที่หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

8. มิโตะนัตโตะ (อิบารากิ)

นัตโตะ (納豆) อาหารหมักอันเลื่องชื่อของญี่ปุ่น เนื่องจากเมืองมิโตะของจังหวัดอิบารากิเป็นแหล่งผลิตถั่วเหลืองเม็ดเล็ก จึงทำให้เฟื่องฟูไปด้วยธุรกิจการทำนัตโตะ ในปัจจุบัน นัตโตะที่วางจำหน่ายอยู่ตามท้องตลาดทั่วไปในญี่ปุ่นก็เป็นสินค้าที่ผลิตขึ้นที่จังหวัดอิบารากิไปมากกว่าครึ่ง มิโตะนัตโตะ (水戸納豆) เริ่มเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศตั้งแต่ปี 1889 ซึ่งเป็นปีที่ธุรกิจรางรถไฟเริ่มเปิดให้บริการ ในช่วงเวลานั้นได้มีการวางจำหน่ายมิโตะนัตโตะที่บริเวณลานกว้างหน้าสถานีมิโตะ จากนั้นก็ได้เลื่อนขั้นเป็นของฝากที่วางจำหน่ายอยู่บนชานชาลา จนในที่สุดก็ได้กลายมาเป็นสินค้าชื่อดังขนาดที่ผู้โดยสารแทบจะยื่นมือออกมาจากหน้าต่างรถไฟเพื่อแย่งกันซื้อเลยทีเดียว

9. อุตสึโนะมิยะเกี๊ยวซ่า (โทชิกิ)

ในช่วงสงคราม เหล่าทหารที่ประจำการอยู่ในเมืองอุตสึโนะมิยะได้ถูกส่งตัวไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ภายหลังเมื่อกลับมาญี่ปุ่นแล้ว ทหารดังกล่าวก็ได้เปิดร้านเกี๊ยวซ่าที่ทำเป็นรสชาติเดียวกับที่ตนเคยรับประทานเมื่ออยู่ที่จีน รสอร่อยของมันเป็นที่ชื่นชอบอย่างกว้างขวางในหมู่ชาวเมือง จนทำให้อุตสึโนะมิยะถูกเรียกว่าเป็น "เมืองแห่งเกี๊ยวซ่า" ปัจจุบันมีร้านเกี๊ยวซ่ากว่า 200 ร้านอยู่ในเมืองนี้ และมีปริมาณการซื้อเกี๊ยวซ่าตลอดชั่วอายุคนอยู่ในอันดับต้นๆ ของญี่ปุ่น เมื่อเทียบกับเกี๊ยวซ่าทั่วไปที่มักจะอัดแน่นไปด้วยเนื้อสัตว์และกระเทียม อุตสึโนะมิยะเกี๊ยวซ่า (宇都宮餃子) จะเน้นไส้ผักเป็นหลัก นิยมรับประทานโดยจิ้มกับน้ำส้มสายชูและน้ำมันพริก

10. มิซึซาวะอูด้ง (กุนมะ)

มิซึซาวะอูด้ง (水沢うどん) มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 400 ปี ถือเป็นหนึ่งในอูด้งชื่อดังของญี่ปุ่นเคียงคู่ไปกับซานูกิอูด้งของจังหวัดคากาวะ อินานิวะอูด้งของจังหวัดอาคิตะ โกโทอูด้งของจังหวัดนางาซากิ และฮิมิอูด้งของจังหวัดโทยามะ อุด้งชนิดนี้มีต้นกำเนิดจากอูด้งทำมือในละแวกวัดมิซึซาวะของเมืองอิกาโฮะ ที่ทำขึ้นเพื่อจำหน่ายให้กับผู้ที่มาสักการะวัดแห่งนี้ ปัจจุบันมีร้านมิซึซาวะอูด้งกว่า 13 ร้านเรียงรายอยู่บนย่านที่เรียกว่า มิซึซาวะอูด้งไคโด (水沢うどん街道) เส้นที่ทำจากส่วนผสมที่มีเพียงแป้งสาลี เกลือ และน้ำจากเมืองมิซึซาวะนี้ มีจุดเด่นตรงขนาดที่ค่อนข้างอ้วนและให้รสสัมผัสที่เหนียวนุ่ม นิยมเสิร์ฟลงบนซารุ (ざる, ตะกร้าไม้ไผ่) และรับประทานโดยนำไปจิ้มกับน้ำจิ้มสูตรงาหรือน้ำจิ้มสูตรโชยุ

11. ฮิยาชิรุอูด้ง (ไซตามะ)

ฮิยาชิรุอูด้ง (冷汁うどん) เมนูแบบบ้านๆ ที่นิยมทำรับประทานกันในช่วงหน้าร้อนในละแวกโอมิยะ คาวาโกเอะ และคาโซะ จังหวัดไซตามะ เมนูนี้ทำขึ้นโดยการบดงา มิโซะ และน้ำตาล ใส่น้ำเย็นหรือน้ำสต๊อก จากนั้นจึงนำอุด้งมาจุ่มรับประทาน ในบางกรณีก็จะรับประทานคู่กับผักเครื่องเคียงอย่างขิง ขิงญี่ปุ่น และแตงกวา

Klook.com

12. นาเมะโร (ชิบะ)

นาเมะโร (なめろう) เมนูพื้นเมืองในบริเวณคาบสมุทรโบโซ ทำโดยนำปลาอาจิ ปลาซันมะ หรือปลาอิวาชิมาเลาะก้างออก สับเป็นชิ้นเล็กๆ ผสมเข้ากับมิโซะ ต้นหอม ใบจิโสะเขียว และขิง จากนั้นจึงใช้มีดทุบจนมีลักษณะเหนียว กล่าวกันว่ามีจุดเริ่มต้นจากการที่ชาวประมงที่ยุ่งอยู่กับการหาปลา จนไม่มีเวลาเลาะก้างออกจากเนื้อปลาเวลารับประทาน จึงต้องนำปลาที่จับได้สดๆ มาทุบทั้งก้างให้ละเอียดด้วยสันมีดเพื่อทำเป็นอาหารว่าง ที่มาของชื่อนาเมะโรก็คือ "อร่อยเสียจนต้องเลีย (นาเมะรุ) จาน" นั่นเอง

13. มอนจายากิ (โตเกียว)

มอนจายากิ (もんじゃ焼き) เมนูดั้งเดิมของโตเกียว ทำขึ้นโดยการนำแป้งสาลีไปละลายน้ำ ผสมเข้ากับเครื่องต่างๆ อย่างผักและอาหารทะเล และนำไปย่างบนกระทะเหล็ก โดยมีวิธีการย่างคือ ผสมแป้งและเครื่องต่างๆ ให้เข้ากันดี แล้วตักเฉพาะเครื่องออกมาผัดก่อน พอเริ่มสุกก็จัดพื้นที่ให้เป็นแอ่งรูปโดนัท จากนั้นจึงเทแป้งลงไปตรงกลาง พอแป้งเริ่มเดือดก็เกลี่ยเครื่องที่อยู่รอบๆ ลงมาผสม หลังจากที่สุกแล้วมีวิธีการรับประทานโดยใช้ไม้พายเล็กๆ ค่อยๆ ตักจากขอบเข้ามา เป็นอาหารขึ้นชื่อของสึคิชิมะ ย่านชานเมืองของโตเกียวที่เรียกว่า มอนจาสตรีท (もんじゃストリート) ในสึคิชิมะนั้นเรียงรายไปด้วยร้านมอนจายากิกว่า 70 ร้าน

14. ชิราสุด้ง (คานากาว่า)

ละแวกโชนันของจังหวัดคานากาว่าเป็นหนึ่งในแหล่งจับปลาชิราสุขึ้นชื่อ การเที่ยวชมสถานที่ยอดนิยมที่อยู่ใกล้ๆ อย่างเอโนะชิมะและคามาคุระ พลางลิ้มรสปลาชิราสุสดใหม่ เป็นหนึ่งในแผนการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชิราสุด้ง (しらす丼) หรือข้าวหน้าปลาชิราสุ ที่ใช้ชิราสุสดๆ ที่เพิ่งจับได้ในวันนั้นมาทำ ถือเป็นเมนูที่หรูหราอย่างยิ่ง! ชิราสุด้งมีให้เลือก 2 แบบ คือ แบบต้มแล้วกับแบบกินดิบ อย่างไรก็ตาม ช่วงเดือนมกราคม - เดือนมีนาคมของทุกปีจะเป็นช่วงห้ามจับปลาชิราสุ จึงไม่สามารถหาปลาชิราสุดิบๆ รับประทานได้ในช่วงนี้

15. เฮกิโซบะ (นีงาตะ)

เฮกิโซบะ (へぎそば) โซบะเย็นม้วนเป็นก้อนๆ ขนาดพอดีคำ เสิร์ฟลงบน เฮกิ (へぎ) ภาชนะทรงสี่เหลี่ยมที่ทำขึ้นจากแผ่นไม้ที่ลอกเปลือกแล้ว มีจุดเด่นคือการผสมสาหร่ายฟุโนริ (布海苔) ลงไปในขั้นตอนการตีเส้นเพื่อให้เส้นที่ออกมามีความเหนียวนุ่มเป็นพิเศษ เนื่องจากในอดีต ละแวกอุโอนูมะที่เป็นแหล่งกำเนิดของเมนูนี้ยังไม่สามารถปลูกวาซาบิซึ่งมักถูกใช้เป็นเครื่องเคียงของโซบะได้ ธรรมเนียมการรับประทานคู่กับต้นหอมซอยและคาราชิ (からし, มัสตาร์ดญี่ปุ่น) จึงยังหลงเหลือมาให้เห็นอยู่จนทุกวันนี้

16. โทยามะแบล็คราเมง (โทยามะ)

โทยามะแบล็คราเมง (富山ブラックラーメン) เป็นราเมงที่โรยด้วยพริกไทยดำ และมีน้ำซุปโชยุสีดำข้นสมชื่อ ราเมงชนิดนี้ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อให้แร่ธาตุเกลือกับคนงานที่เสียเหงื่อไปกับการฟื้นฟูเมืองโทยามะหลังถูกทิ้งระเบิดครั้งใหญ่เมื่อปี 1945 และเพื่อให้เข้ากับข้าวสวยร้อนๆ เครื่องของราเมงนี้จึงเป็นหมูชาชูชิ้นหนาและหน่อไม้ดองรสเค็ม ความเค็มที่นุ่มลึกของราเมงนี้ แอบแฝงไปด้วยรสอูมามิที่จะทำให้ผู้รับประทานติดใจ

17. เมนูปลาโนโดกุโระ (อิชิกาว่า)

โนโดกุโระ (のどぐろ) เป็นปลาเนื้อขาวชนิดหนึ่งทีมีลักษณะเด่นคือภายในปากที่มีสีดำ (โนโดคุโระ แปลตรงตัวว่า คอดำ) จับได้แถวๆ อ่าวของจังหวัดอิชิกาว่า รสชาติที่ดีและคุณค่าทางโภชนาการที่สูงทำให้โนโดกุโระเป็นที่รู้จักในฐานะปลาชั้นหรูไม่แพ้ปลาไทหรือปลาฮิราเมะ ไม่ว่าจะนำไปทำซาชิมิ ย่างเกลือ หรือต้มโชยุก็อร่อยทั้งนั้น และหากนำไปตากแห้ง ก็จะทำให้รสอูมามิยิ่งเข้มข้นขึ้นไปอีก เหมาะแก่การนำไปเป็นของฝากอย่างมาก ฤดูที่ปลาชนิดนี้จะอร่อยที่สุดอยู่ที่ช่วงประมาณเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม

18. ซาบะซูชิ (ฟุคุอิ)

ซาบะซูชิ (鯖寿司) เป็นซูชิที่ทำขึ้นโดยการวางซาบะหมักเกลือลงบนข้าวซูชิทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า จัดให้เข้ารูปด้วยผ้าหรือแผ่นม้วนซูชิ คลุมทั้งหมดด้วยสาหร่ายคอมบุ จากนั้นจึงนำไปห่อด้วยกาบไม้ไผ่ เมืองโอบามะของจังหวัดฟุคุอิเป็นจุดเริ่มต้นของ "ซาบะไคโด (鯖街道)" เส้นทางที่ใช้ขนปลาจากทะเลญี่ปุ่นไปยังเกียวโต และยังเปรียบได้กับสถานที่ที่เป็นบ้านเกิดของซาบะซูชิด้วย ซาบะซูชิมีรสชาติหลากหลายให้เลือก เช่น ซาบะซูมิหมักน้ำส้มสายชู หรือซาบะซูชิย่าง เป็นต้น

19. โฮโท (ยามานาชิ)

โฮโท (ほうとう) เป็นเมนูหม้อไฟที่ทำโดยการนำเส้นที่ทำจากแป้งสาลีมีลักษณะแบนและกว้าง ไปเคี่ยวในน้ำซุปรสมิโซะพร้อมกับผักต่างๆ อย่างฟักทอง ต้นหอม และเห็ดชิตาเกะ เมนูนี้เคยเป็นอาหารที่ ทาเคดะ ชินเก็น (武将・武田) แม่ทัพในยุคเซ็นโกคุ เลือกใช้เป็นอาหารสำหรับกองทัพ ภายหลังได้กลายมาเป็นอาหารหลักของชาวไร่ และเนื่องจากสามารถรับประทานแทนข้าวได้ด้วย อาหารชนิดนี้จึงได้ฝังรากลึกจนกลายเป็นอาหารพื้นเมืองของจังหวัดยามานาชิไปในที่สุด

20. ชินชูโซบะ (นากาโน่)

ชินชูโซบะ (信州そば) เป็นชื่อที่ใช้เรียกโซบะที่ทำขึ้นในนากาโน่ จังหวัดที่รุ่งเรืองด้านการเพาะปลูกต้นโซบะมาตั้งแต่โบราณ เนื่องจากโซบะเป็นธัญพืชที่เหมาะกับพื้นที่ที่มีอากาศเย็น ชินชูโซบะมีจุดเริ่มต้นจากการที่เหล่านักบวชฝึกหัดพกเมล็ดโซบะติดตัวมาเพื่อเป็นอาหารสำรอง แรกเริ่มยังนิยมรับประทานโซบะกันในรูปของ "โซบะกาคิ (そばがき)" หรือการนำแป้งโซบะไปนวดจนแข็งตัวแล้วนำไปต้ม หลังจากนั้นไม่นานก็เริ่มมีการตัดโซบะกาคิให้เป็นชิ้นเล็กๆ จนกลายมาเป็นเส้นโซบะที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน ในญี่ปุ่นมีธรรมเนียมที่จะเสิร์ฟโซบะให้กับญาติและคนสนิทในวันมงคล อัตราส่วนของแป้งโซบะ วิธีการจัดวางบนภาชนะ และวิธีการทานโซบะก็มีอยู่อย่างหลากหลายขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน

21. สเต็กเนื้อฮิดะ (กิฟุ)

เนื้อฮิดะ หรือ ฮิดะกิว (飛騨牛) เป็นเนื้อที่มาจากวัวที่เติบโตในธรรมชาติของจังหวัดกิฟุ ซึ่งมีพื้นดินกว้างใหญ่ น้ำใสสะอาด อุณหภูมิที่แตกต่างกันในแต่ละฤดู และอากาศที่แตกต่างกันในช่วงกลางวันและกลางคืน ถือเป็นเแบรนด์เนื้อวัวญี่ปุ่นที่ต้องผ่านมาตรฐานอันเข้มงวดจึงจะถูกเรียกว่าเนื้อฮิดะ หากต้องการที่จะดื่มด่ำกับกลิ่นอันนุ่มลึกไปพร้อมๆ กับคุณภาพเนื้อที่อ่อนนุ่มและละเอียดอ่อนของมันแล้วล่ะก็ เมนูเสต็กคงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด ซึ่งก็สามารถหารับประทานได้ตามร้านอาหารในแต่ละย่านของจังหวัดกิฟุ เช่นภายในเมืองทาคายาม่า เป็นต้น

22. คาคิอาเกะจากซากุระเอบิ (ชิซูโอกะ)

ซากุระเอบิ (桜えび) กุ้งสายพันธุ์หายากของญี่ปุ่นที่สามารถจับได้ที่อ่าวซุรูงะของจังหวัดชิซูโอกะเท่านั้น ท่าเรือยุอิของอ่าวนี้เป็นที่รู้จักในฐานะท่าเรือที่จับซากุระเอบิได้มากที่สุด เมื่อนำซากุระเอบิไปคลุกกับแป้งเทมปุระและทอดเป็นเมนู "คาคิอาเกะ (かき揚げ)" จะกลายเป็นอาหารชั้นเลิศที่มีรสสัมผัสกรุบกรอบ และเต็มไปด้วยกลิ่นอันหอมหวนของซากุระเอบิ เป็นเมนูยอดนิยมถึงขนาดที่ดึงดูดให้ผู้คนจากต่างถิ่นเดินทางมายังจังหวัดกิฟุ หากคุณเดินทางมาในช่วงฤดูกาลของซากุระเอบิ ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม - ต้นเดือนพฤษภาคม และปลายเดือนตุลาคม - ปลายเดือนธันวาคม รับรองได้ว่าคุณจะพบกับแถวยาวเหยียดของผู้คนที่ต่อคิวเพื่อรอซื้อเมนูนี้กัน

23. ฮิตสึมาบูชิ (ไอจิ)

ฮิตสึมาบูชิ (ひつまぶし) เมนูขึ้นชื่อของนาโกย่าที่นำปลาไหลคาบายากิ (ปลาไหลย่างซอสหวาน) ที่ย่างโดยไม่ต้มก่อนไปหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ และโปะลงบนข้าวที่ใส่ไว้ในฮิตสึ (ถังข้าว) ใบเล็กๆ มีวิธีการรับประทานแบบดั้งเดิมคือต้องตักแยกออกมารับประทานในถ้วยข้าว ในถ้วยใบแรกรับประทานแบบข้าวหน้าปลาไหลปกติ ใบที่ 2 รับประทานโดยใส่ผักเครื่องเคียงอย่างวาซาบิ สาหร่าย และใบมิตสึบะ ส่วนใบที่ 3 รับประทานโดยราดด้วยชาเซนฉะหรือน้ำซุปดาชิลงไป

24. สุกี้ยากี้เนื้อมัตสึซากะ (มิเอะ)

เนื้อมัตสึซากะ หรือมัตสึซากะกิว (松坂牛) เป็น 1 ใน 3 เนื้อวากิวชื่อดังของญี่ปุ่น หากต้องการที่จะสัมผัสกลิ่นหอมและรสอูมามิที่เข้มข้นของมันอย่างเต็มที่แล้วล่ะก็ เราขอแนะนำเมนูสุกี้ยากี้ ย่างเนื้อมัตสึซากะสไลด์บนเตาเหล็กที่อุ่นร้อนแต่พอดี เติมน้ำตาล ซอสทามาริ (たまり, โชยุเข้มข้น) และน้ำซุปดาชิเพื่อดึงเอาความอร่อยที่อยู่ภายในเนื้อออกมา หลังจากที่ดื่มด่ำไปกับเนื้อที่แทบจะละลายในปากแล้ว ก็ไม่ควรพลาดที่จะลิ้มรสผักที่ซึมซับรสอูมามิจากมันวัวไว้อย่างเต็มที่ด้วย

25. เมนูจากเนื้อโอมิ (ชิกะ)

เนื้อโอมิ หรือโอมิกิว (近江牛) คือเนื้อจาก "วัวสายพันธุ์คุโรเกะวากิวที่เลี้ยงขึ้นโดยใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดชิกะ สถานที่ซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยธรรมชาติและแหล่งน้ำคุณภาพดี" ถือเป็นแบรนด์เนื้อวากิวที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 400 ปี แม้ว่าจะมีคุณภาพที่ไม่เป็นรองเนื้อวัวมัตสึซากะหรือเนื้อวัวโกเบ แต่กลับมีราคาที่ค่อนข้างย่อมเยากว่า จึงทำให้แม้แต่นักท่องเที่ยวก็สามารถลิ้มรสเมนูจากเนื้อโอมิไม่ว่าจะเป็นสเต็กหรือสุกี้ยากี้ได้โดยไม่ยากเย็นนัก

26. ยุโดฟุ (เกียวโต)

ยุโดฟุ (湯豆腐) เป็นเมนูหม้อไฟที่ทำโดยการใส่เต้าหู้ลงในน้ำซุปดาชิร้อนๆ ที่ผสมจากสาหร่ายคอมบุ นิยมรับประทานโดยการนำไปจิ้มกับโชยุ พอนสึ (ポン酢, ซอสถั่วเหลืองรสเปรี้ยว) หรือผักเครื่องเคียงต่างๆ กล่าวกันว่ามีจุดเริ่มต้นมาจากอาหารสำหรับพระสงฆ์ของวัดนันเซนจิ ปัจจุบันบริเวณของวัดนันเซนจิเป็นที่ตั้งของร้านขายยุโดฟุที่เก่าแก่ที่สุด และยังเรียงรายไปด้วยร้านยุโดฟุอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก แม้ว่าจะเป็นเมนูง่ายๆ แต่ด้วยเต้าหู้ที่มีคุณภาพสูง จึงทำให้มันกลายมาเป็นของขึ้นชื่อที่ไม่มีใครเหมือนของเกียวโต

27. ทาโกะยากิ (โอซาก้า)

ทาโกะยากิ (たこ焼き) เมนูฟาสต์ฟู้ดที่มีต้นกำเนิดจากโอซาก้า ทำโดยการใส่ปลาหมึกและผักลงไปในเนื้อแป้งที่ทำจากแป้งสาลีและดาชิ จากนั้นจึงนำไปย่างเป็นก้อนกลมๆ ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 - 5 ซม. ทาหน้าด้วยวูสเตอร์ซอสที่เหนียวข้น ท็อปปิ้งด้วยคัตสึโอะบุชิ (かつお節, ผงปลาแห้ง) และสาหร่ายอาโอโนริ คุณสามารถหาร้านทาโกะยากิได้ในทุกซอกมุมของโอซาก้า ภาพของพนักงานที่ค่อยๆ แซะหลุมบนกระทะเหล็ก และกลิ้งไปกลิ้งมาจนเป็นทาโกะยากินั้น ก็เป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ที่ไม่ควรพลาดชมเช่นกัน

28. สเต็กเนื้อโกเบ (เฮียวโกะ)

เนื้อโกเบ (神戸牛) แบรนด์เนื้อวัวญี่ปุ่นที่โด่งดังระดับโลก ไร้ที่ติไปด้วยความเข้ากันดีของเนื้อสีแดงที่มีความหวานละเอียดอ่อน กับเส้นไขมันที่ละลายได้แม้เพียงสัมผัสกับผิวหนังของมนุษย์ เนื่องจากเกณฑ์ที่ใช้วัดเนื้อโกเบนั้นเข้มงวดเป็นอย่างยิ่ง ทำให้มันเป็นวัตถุดิบหายากที่มีจำนวนเพียงแค่ 0.16% ของปริมาณเนื้อวัวที่ผลิตในญี่ปุ่น ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้เนื้อโกเบมีราคาสูง หากต้องการที่จะลิ้มรสเนื้อโกเบไปพร้อมๆ กับสัมผัสบรรยากาศของเมืองโกเบ สถานที่ที่รุ่งเรืองมาตั้งแต่อดีตในฐานะเมืองท่าแลกเปลี่ยนสินค้าแล้วล่ะก็ เราขอแนะนำเมนูเสต็กสุดหรูหรานี้ รับประกันว่าคุณจะไม่รู้สึกเสียดายเงินค่าอาหารที่จ่ายไปอย่างแน่นอน

29. คากิโนะฮะซูชิ (นารา)

คากิโนะฮะซูชิ (柿の葉寿司) เป็นซูชิที่ทำขึ้นโดยการวางเนื้อปลาซาบะหรือแซลมอนลงบนข้าวซูชิ แล้วนำไปห่อด้วยใบพลับญี่ปุ่นซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของนาราที่ใช้ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เมื่อประมาณศตวรรษที่ 18 ชาวประมงจากวาคายาม่าที่อยู่ติดกันได้นำปลาซาบะที่จับได้ในทะเลเปิดคุมาโนะไปหมักเกลือ และนำไปจำหน่ายในนาราซึ่งไม่มีพื้นที่ติดทะเล ชาวนาราที่กำลังมีเทศกาลกันอยู่รู้สึกชื่นชอบเป็นอย่างมาก นับแต่นั้นมามันจึงกลายเป็นเมนูที่นิยมรับประทานกันในเทศกาลฤดูร้อนไปจนถึงเทศกาลฤดูใบไม้ร่วงในพื้นที่ดังกล่าว

30. วาคายาม่าราเมง (วาคายาม่า)

วาคายาม่าราเมง (和歌山ラーメン) แบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้แก่ แบบซุปสไตล์โชยุธรรมดา และซุปสไตล์ทงคตสึโชยุ ทั้ง 2 แบบมีเส้นที่ตรงและค่อนข้างเล็กเหมือนกัน มีเครื่องเป็นหมูชาชู คามาโบโกะ (かまぼこ ลูกชิ้นปลาญี่ปุ่น) หน่อไม้ดอง และต้นหอม มีรสชาติที่เรียบง่าย ตอนสั่งสามารถเลือกความแข็งของเส้นตามที่ต้องการได้ พักหลังนี้ได้มีวาคายาม่าราเมงแบบอื่นๆ นอกเหนือจาก 2 แบบข้างต้นเพิ่มขึ้นมาให้เห็น เหมาะที่จะลองไปรับประทานเพื่อเปรียบเทียบดูอย่างยิ่ง

31. เมนูจากปูมัตสึบะ (ทตโตริ)

"ปูมัตสึบะ (松葉がに)" เป็นคำที่ใช้เรียกปูหิมะเพศผู้ที่โตเต็มวัยแล้ว โดยการจับปูมัตสึบะจะทำขึ้นที่ทะเลญี่ปุ่นในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน - เดือนมีนาคม ซึ่งเป็นช่วงที่มีอากาศหนาวเย็นและมีคลื่นสูง ทำให้รสชาติของปูมัตสึบะนี้ถูกเปรียบเทียบว่าเป็นรสชาติประจำฤดูหนาวของทตโตริ เนื้อที่อัดแน่นอยู่ภายใต้เปลือกใหญ่ๆ นี้ ให้รสสัมผัสที่เต็มปากเต็มคำ ไม่ว่าจะต้มหรือย่างก็รู้สึกอิ่มท้องได้ทั้งนั้น! มันปูที่อยู่ข้างในก็เหมาะที่จะลองรับประทานคู่กับสาเกหรือข้าวสวยร้อนๆ ด้วยเช่นกัน

32. อิซูโมะโซบะ (ชิมาเนะ)

หากเทียบกับโซบะทั่วไปแล้ว อิซุโมะโซบะ (出雲そば) จะมีจุดเด่นเป็นสีที่ออกดำกว่าเล็กน้อย เพราะโซบะชนิดนี้ทำขึ้นโดยการนำเมล็ดโซบะที่ยังมีเปลือกติดอยู่ไปบดให้เป็นผง ทำให้โซบะมีกลิ่นหอมและให้คุณค่าทางโภชนาการที่สูง ทั้งยังมีรสชาติและรสสัมผัสที่พอดิบพอดี อิซุโมะโซบะมีอยู่ 2 แบบ คือ แบบเย็นที่เรียกว่า "วาริโกะโซบะ (割子そば)" และแบบร้อนที่เรียกว่า "คามะอาเกะโซบะ (釜揚げそば)" แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็จะรับประทานโดยราดน้ำซุปลงด้านบนเหมือนกัน มีร้านอิซุโมะโซบะหลายแห่งเรียงรายอยู่ในเมืองอิซุโมะ และรวมถึงรอบๆ บริเวณศาลเจ้าอิซุโมะไทชะด้วย

33. สึยามะโฮรุมงอูด้ง (โอคายาม่า)

เมืองสึยามะที่ตั้งอยู่บนส่วนเหนือของจังหวัดโอคายาม่านั้น มีความรุ่งเรืองในฐานะจุดซื้อขายม้าและวัวมาตั้งแต่สมัยโบราณ จึงเป็นพื้นที่ที่สามารถหาซื้อเนื้อคุณภาพดีได้ในราคาถูก แต่เดิมสึยามะโฮรุมงอูด้ง (津山ホルモンうどん) เป็นเมนูที่ผู้คนในท้องถิ่นจะใส่อูด้งลงไปผสมกับเมนูกระทะเหล็กที่ชื่อว่า "โฮรุมงยากิ (ホルモン焼き)" หรือผัดเครื่องใน เพื่อรับประทานเป็นอาหารปิดท้ายการดื่มเหล้าสาเก ภายหลังได้ถูกประชาสัมพันธ์ไปพร้อมกับการแผนการฟื้นฟูเมืองสึยามะ จึงได้เป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศในที่สุด

34. หอยนางรม (ฮิโรชิม่า)

จังหวัดฮิโรชิม่าเป็นจังหวัดที่ผลิตหอยนางรมได้มากเป็นอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น โดยสภาพแวดล้อมที่ดีของฮิโรม่า ตั้งแต่กระแสน้ำและคลื่นลมที่เงียบสงบ แร่ธาตุเกลือในระดับที่พอดี ไปจนถึงแพลงก์ตอนที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ ทำให้หอยนางรมฮิโรชิม่าได้รับการยอมรับว่ามีคุณภาพดี ฤดูกาลจับหอยนางรมอยู่ที่ประมาณช่วงเดือนมกราคม ถึงกุมภาพันธ์ อย่างไรก็ตาม ในพักหลังเริ่มมีหอยนางรมฤดูร้อนเพิ่มขึ้นมาให้เห็นด้วย จึงกลายมาเป็นอาหารที่สามารถหารับประทานได้ตลอดทั้งปี ในตัวจังหวัดฮิโรชิม่ามีร้านอาหารที่เสิร์ฟหอยนางรมอยู่มากมายจนลายตา หากคุณต้องการที่จะเพลิดเพลินไปกับรสชาติแบบหอยนางรมแท้ๆ แล้วล่ะก็ ต้องห้ามพลาดเมนูหอยนางรมสดและหอยนางรมย่างโดยเด็ดขาด

35. เมนูปลาปักเป้า (ยามากุจิ)

เมืองชิโมะโนะเซกิเป็นแหล่งจับปลาปักเป้ามาตั้งแต่สมัยโบราณ ในขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่แห่งแรกที่มีการประกาศห้ามรับประทานปลาปักเป้าด้วยเช่นกัน ภายหลังการประกาศยกเลิกคำสั่งห้ามในปี 1888 เทคนิคการจัดวางซาชิมิชิ้นบางๆ ให้ดูสวยงามบนจาน และเทคนิคการถอดพิษปลาปักเป้าก็ได้พัฒนาขึ้น จนทำให้ชิโมะโนะเซกิเป็นที่รู้จักในฐานะแดนสวรรค์ของปลาปักเป้า พื้นที่แห่งนี้มีเสน่ห์เป็นเมนูอาหารที่ทำจากปลาปักเป้า ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะปลาชั้นสูง ให้ลองรับประทานได้อย่างหลากหลาย เช่น ซาชิมิและเมนูหม้อไฟ เป็นต้น

36. โทคุชิมะราเมง (โทคุชิมะ)

โทคุชิมะราเมง (徳島ラーメン) เป็นเมนูราเมงท้องถิ่นของโทคุชิมะ สีของน้ำซุปแบ่งออกเป็น 3 โทนหลักได้แก่ โทนสีชา โทนสีเหลือง และโทนสีขาว ผู้คนในท้องที่นิยมเรียกเมนูนี้กันว่า "จูกะโซบะ (中華そば)" หมายถึง โซบะจีน หรืออาจเรียกแค่ "โซบะ" เฉยๆ ราเมงชนิดนี้มีจุดเด่นตรงเส้นเรียวเล็กที่ไม่ค่อยหยักและอัดแน่นไปด้วยเครื่องต่างๆ เช่น หมูสไลด์ ถั่วงอก และไข่ดิบ โดยมากนิยมรับประทานคู่กับข้าวสวย ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ปริมาณต่อชามค่อนข้างน้อย และเหมาะอย่างยิ่งสำหรับนักเดินทางที่อยากลองรับประทานหลายๆ ร้านเพื่อเปรียบเทียบรสชาติ

37. ซานูกิอูด้ง (คากาวะ)

จังหวัดคากาวะ เป็นจังหวัดที่มีปริมาณการบริโภคอูด้งมากเป็นอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น ที่นี่เต็มไปด้วยร้านอุด้งราคาสบายกระเป๋าอยู่มากมายทุกแห่งหน ซานูกิอูด้ง (讃岐うどん) เป็นอูด้งที่มีจุดเด่นตรงเส้นอันเหนียวนุ่มที่ทำขึ้นโดยใช้เท้านวดแป้ง ในส่วนของน้ำซุปนั้นมีรสหวานและเข้มข้นจากน้ำซุปดาชิจากปลาซาร์ดีนตากแห้ง จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของซานูกิอุด้ง คือการที่มีวิธีการรับประทานที่หลากหลาย ไม่ว่าจะนำไปทำเป็นคาเคะอูด้ง (เสิร์ฟในน้ำซุปร้อนๆ) บุคคาเคะอูด้ง (เสิร์ฟในน้ำซุปร้อนๆ พร้อมเครื่องปรุงหลากชนิด) ซารุอูด้ง (เสิร์ฟเย็น) หรือคามาอาเกะอูด้ง (เสิร์ฟชามไม้สไตล์ญี่ปุ่น)

38. ไทเมชิ (เอฮิเมะ)

จังหวัดเอฮิเมะเป็นจังหวัดที่เฟื่องฟูในด้านการเพาะพันธุ์ปลาไท ในบรรดาเมนูจากปลาไทมากมาย ไทเมชิ (鯛めし) เป็นเมนูที่เด่นที่สุด ไทเมชิที่ใส่ปลาไททั้งตัวลงไปในหม้อดินหรือหม้อโลหะนั้น เป็นที่รู้จักในฐานะเมนูพื้นเมืองของมัตสึยามะและอิมาบาริ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นไทเมชิเหมือนกันแต่ก็จะมีลักษณะที่ต่างกันไปตามพื้นที่ ไทเมชิของเมืองอุวาจิมะที่อยู่ทิศใต้ของจังหวัดเอฮิเมะนั้น เป็นเมนูของชาวประมงที่นำซาชิมิปลาไทไปหมักในซอสสูตรพิเศษ ผสมกับผักเครื่องเคียง และวางบนข้าวสวยร้อนๆ

39. คัตสึโอะโนะทาทากิ (โคจิ)

คัตสึโอะโนะทาทากิ (カツオのたたき) เป็นซูชิประเภทหนึ่งที่ทำจากปลาคัตสึโอะ ทำขึ้นโดยการนำปลาคัตสึโอะสดใหม่ไปถอดเกล็ด หั่นแยกเป็น 5 ส่วน ย่างส่วนหนังด้วยไฟอ่อนๆ จากนั้นจึงสไลด์เป็นชิ้นเล็กๆ และรับประทานคู่กับผักเครื่องเคียงจำนวนมากอย่างกระเทียม ขิง และต้นหอม ถือเป็นเมนูของชาวประมงอันน่าทึ่ง กลิ่นหอมของหนังปลากับรสสัมผัสที่แทบจะละลายในปากของเนื้อปลาผสมผสานกันได้ดีเป็นอย่างยิ่ง และเนื่องจากบ้านเกิดขอวเมนูนี้อยู่ที่เมืองโทซะในจังหวัดโคจิ จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "โทซะสึคุริ (土佐造り)"

40. มตสึนาเบะ (ฟุกุโอกะ)

มตสึนาเบะ (もつ鍋) เป็นเมนูหม้อไฟที่มีส่วนผสมหลักเป็นเครื่องใน (モツ, มตสึ) ของหมูหรือวัว มีต้นกำเนิดจากการที่ชาวเกาหลีที่ทำงานเป็นคนงานเหมืองในช่วงหลังสงครามนำเครื่องในกับกุยช่ายไปต้มในหม้ออลูมิเนียมและปรุงรสด้วยโชยุ ในเมืองฟุคุโอกะมีร้านมตสึนาเบะรวมตัวกันอยู่มากมาย โดยฮากาตะเป็นละแวกที่มีการแข่งขันกันสูงเป็นพิเศษ หากได้ไปแล้วก็ไม่ควรพลาดที่จะลองเมนูหม้อที่ดีต่อสุขภาพและเต็มไปด้วยคอลลาเจนนี้ดูสักครั้ง

41. เมนูหมึกของเมืองโยบุโกะ (ซากะ)

เมืองโยบุโกะตั้งอยู่สุดขอบทางเหนือของคาบสมุทรฮิกาชิมัตสึอุระ ที่ยื่นตัวเข้าไปในทะเลเปิดเกนไค เป็นเมืองที่รุ่งเรืองในด้านการจับหมึก สำหรับหมึกที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมินั้น ความสดถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และที่โยบุโกะนี้ หมึกจะถูกขนส่งจากเรือหาหมึกมายังร้านอาหารแบบเป็นๆ คุณจึงสามารถรับประทานอิเคะสึคุริ (活け造り, ซาชิมิที่คงรูปร่างเดิมของวัตถุดิบ) ที่สดใหม่ 100% ได้ หมึกตัวใสๆ ของโยบุโกะที่ดิ้นอยู่บนจานนั้น เป็นประสบการณ์ที่ควรลองให้ได้สักครั้ง

42. นางาซากิชัมปง (นางาซากิ)

ชัมปง (ちゃんぽん) เมนูเส้นที่มีเครื่องเป็นผักกับเนื้อหมูหรืออาหารทะเล กล่าวกันว่ามีต้นกำเนิดจากชาวจีนที่ทำงานอยู่ในร้านอาหารจีนของนางาซากิ เขาคิดเมนูนี้ขึ้นเพื่อให้ชาวจีนด้วยกันได้รับประทานอาหารที่มีราคาถูกแต่คุณค่าทางโภชนาการสูง โดยอ้างอิงมาจากเมนูของมณฑลฝูเจี้ยนในจีน ตัวซุปเป็นซุปจากกระดูกหมูและโครงไก่ โดยสามารถเลือกใส่น้ำส้มสายชูหรือวูสเตอร์ซอสลงไปเพื่อเปลี่ยนรสชาติได้

43. บาซาชิ (คุมาโมโตะ)

บาซาชิ (馬刺し) หรือซูชิเนื้อม้า ของขึ้นชื่อของจังหวัดคุมาโมโตะ ทำขึ้นโดยนำเนื้อม้าไปหั่นเป็นชิ้นบางๆ และรับประทานโดยไม่ผ่านการปรุงใดๆ เมนูนี้มีจุดเริ่มต้นอยู่ในช่วงสงครามอิมจิน (สงครามบุกเกาหลีของญี่ปุ่น) เมื่อประมาณ 400 ปีก่อน เหล่าทหารได้พากันรับประทานเนื้อม้าเพื่อเลี่ยงการขาดแคลนอาหาร ปัจจุบันคุมาโมโตะมีปริมาณการผลิตและบริโภคเนื้อม้าสูงเป็นอันดับ 1 ของญี่ปุ่น เมื่อเทียบกับเนื้ออื่นๆ แล้ว เนื้อม้าจะค่อนข้างดีต่อสุขภาพเนื่องจากมีไขมันน้อย ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้มันกลายเป็นที่นิยมไปทั่วญี่ปุ่น

44. โทริเท็น (โออิตะ)

โทริเท็น (とり天) เป็นเมนูยอดนิยมของจังหวัดโออิตะ จังหวัดที่มีปริมาณการบริโภคเนื้อไก่สูงเป็นอันดับ 1 ของญี่ปุ่น โทริเท็นเป็นเมนูเทมปุระชนิดหนึ่งที่ทำโดยการเลาะกระดูกออกจากเนื้อไก่ หั่นให้มีขนาดพอดีคำ นำไปชุบด้วยแป้งสาลีผสมน้ำและไข่ จากนั้นจึงนำไปทอด นิยมรับประทานคู่กับกะหล่ำปลีซอย ตัวน้ำจิ้มอาจเป็นได้ทั้งพอนสึ (ซอสถั่วเหลืองรสเปรี้ยว) เสริมด้วยคาราชิ โชยุผสมน้ำส้มสายชู หรือเทนสึยุ (天つゆ, น้ำจิ้มเทมปุระ)

45. มิยาซากิจิทกโกะ (มิยาซากิ)

"มิยาซากิจิทกโกะ (みやざき地頭鶏)" เป็นแบรนด์ไก่พื้นเมืองที่พัฒนามาจากไก่สายพันธุ์ "จิทกโกะ (地頭鶏)" ซึ่งเป็นไก่ที่เลี้ยงกันในบริเวณจังหวัดมิยาซากิและบางส่วนของจังหวัดคาโกชิม่ามาแต่โบราณ และได้รับการระบุให้เป็นสัตว์คุ้มครองของญี่ปุ่นเมื่อปี 1943 เนื่องจากถูกเลี้ยงขึ้นมาในพื้นที่ที่กว้างขวาง เนื้อไก่สายพันธุ์นี้จึงมีจุดเด่นเป็นเนื้อที่แน่นเต็มปากเต็มคำ ให้รสอูมามิทุกครั้งที่กัดลงไป และหากปรุงด้วยการย่างบนเตาถ่านแล้วล่ะก็ จะสามารถดึงรสความอร่อยของมันได้อย่างเต็มที่ทีเดียว

46. เมนูจากคุโรบุตะ (คาโกชิม่า)

หมูคุโรบุตะ (黒豚) มีบรรพบุรุษเป็นหมูที่นำเข้ามาจากริวกิว (โอกินาว่าในปัจจุบัน) เมื่อประมาณ 400 ปีก่อน ภายหลังได้ถูกนำมาผสมข้ามสายพันธุ์กับหมูเบิร์กเชียร์จากประเทศอังกฤษเพื่อให้มีรสชาติที่อร่อยยิ่งขึ้น ชาบูชาบูเป็นเมนูที่เหมาะที่สุดสำหรับลิ้มรสคุณภาพของเนื้อที่อัดแน่นและรสอูมามิแสนสดชื่นของมัน

47. โซกิโซบะ (โอกินาว่า)

โอกินาว่าโซบะ (沖縄そば) เป็นเมนูโซบะที่ใช้เส้นทำขึ้นจากแป้งสาลีล้วน ไม่มีแป้งโซบะเป็นส่วนผสม และรับประทานโดยราดด้วยซุปทงคตสึผสมโชยุ โซกิ (ソーキ) หมายถึง เนื้อติดซี่โครงหมูในภาษาโอกินาว่า โซกิโซบะ (ソーキそば) จึงหมายถึง โอกินาว่าโซบะที่มีโซกิวางอยู่ด้านบน กล่าวกันว่ามีจุดเริ่มต้นจากการที่มีคนนำเอาโซกิที่วางขายอยู่ที่อื่นมาวางบนโอกินาว่าโซบะและเสิร์ฟให้กับลูกค้า พอเห็นว่าได้รับความนิยมจึงกลายเป็นเมนูประจำไปในที่สุด

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

รับส่วนลดมากมายในญี่ปุ่น ที่นี่!

เกี่ยวกับนักเขียน

Chisa
Chisa Nishimura
เป็นคนเกียวโต ชอบดูหนัง อ่านหนังสือ ไปพิพิธภัณฑ์ศิลปะ และการวิ่ง
  • แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

ค้นหาร้านอาหาร