ยูกาตะ vs กิโมโน : ความลับของเครื่องแต่งกายประจำชาติญี่ปุ่น

"กิโมโน" เป็นเครื่องแต่งกายประจำชาติญี่ปุ่นที่ทำให้นักท่องเที่ยวหลงใหลด้วยความสง่างาม ความหมายทางวัฒนธรรมที่ลึกซึ้ง และประวัติศาสตร์อันยาวนาน คนมาเที่ยวญี่ปุ่นต่างก็ใฝ่ฝันจะได้สวมชุดนี้ แต่กลับมีเพียงไม่กี่คนที่รู้เรื่องราวเกี่ยวกับชุดกิโมโน บทความนี้จะมาอธิบายว่ากิโมโนคืออะไร ต่างจากชุดยูกาตะอย่างไร มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอย่างไรบ้าง รวมถึงบอกสถานการณ์ความนิยมในญี่ปุ่นยุคปัจจุบันด้วย

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

บทความนี้อาจมีลิงก์พาร์ทเนอร์ หากคุณทำการซื้อผ่านลิงก์พาร์ทเนอร์ เราอาจได้รับค่าคอมมิชชั่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับคุณ

สารบัญ

"กิโมโน" เครื่องแต่งกายที่เป็นสัญลักษณ์ของญี่ปุ่น

  1. ประวัติศาสตร์ของกิโมโน: วัฒนธรรมที่ยาวนานกว่า 1,700 ปี
  2. ประเภทของกิโมโนสำหรับผู้หญิง: กิโมโนสำหรับแต่ละโอกาส ตั้งแต่ทางการไปจนถึงไม่เป็นทางการ
  3. กิโมโนสำหรับผู้ชาย: 5 จุดที่ต่างไปจากกิโมโนสำหรับผู้หญิง
  4. เครื่องประดับชุดกิโมโน

"ยูกาตะ"คืออะไร?

ยูกาตะ vs กิโมโน: ชุดทั้งสองต่างกันอย่างไร?

ยูกาตะและกิโมโนในยุคโมเดิร์น: สถานการณ์ปัจจุบันของชุดประจำชาติญี่ปุ่น

  1. คนญี่ปุ่นยังสวมกิโมโนกันอยู่ไหม?
  2. สถานที่ซื้อกิโมโนหรือยูกาตะในญี่ปุ่น
  3. สถานที่เช่ากิโมโนหรือยูกาตะในญี่ปุ่น
  4. ชาวต่างชาติสวมกิโมโนจะเหมาะสมหรือไม่?

กิโมโน: สวมใส่วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อายุกว่า 1,700 ปี

"กิโมโน" เครื่องแต่งกายที่เป็นสัญลักษณ์ของญี่ปุ่น

กิโมโน (Kimono) เป็นเครื่องแต่งกายโบราณและชุดประจำชาติของญี่ปุ่น การสวมกิโมโนมักถูกใช้เป็นเครื่องบอกอายุและเพศ ความเป็นทางการของงานที่เข้าร่วม และสถานภาพการสมรสของผู้สวม (ในบางกรณี) เรื่องเหล่านี้ครอบคลุมถึงวิธีการตกแต่ง วิธีการสวมใส่ และเครื่องประดับด้วย

คำว่า "กิโมโน" หากแปลตรงตัวจะมีความหมายว่า "ของสำหรับสวมใส่" ซึ่งสามารถช่วยให้เราเข้าใจได้ว่ากิโมโนเป็นเครื่องแต่งกายในชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่นสมัยโบราณ ซึ่งสามารถช่วยให้เราเข้าใจถึงแฟชั่นพื้นบ้านในแต่ละยุค รวมถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในยุคนั้นๆ ด้วย หากมองในแง่นี้ เราจะสามารถกล่าวได้ว่ากิโมโนถือเป็นตัวแทนอัตลักษณ์พื้นฐานของญี่ปุ่นเลยทีเดียว

ประวัติศาสตร์ของกิโมโน: วัฒนธรรมที่ยาวนานกว่า 1,700 ปี

ต้นแบบแรกเริ่มที่ต่อมาได้กลายมาเป็นชุดกิโมโนนั้นถูกนำเข้ามาจากจีนในสมัยยุคโคฟุง (ค.ศ. 300 - 538)

ต่อมาในยุคเฮอัน (ค.ศ. 794 - 1185) องค์ประกอบหลายๆ อย่าง เช่น การนุ่งห่มกิโมโนหลายชั้นสำหรับผู้หญิง สีที่ใช้บอกตำแหน่งในวังหลวงสำหรับผู้ชาย (ยิ่งสีเข้มยิ่งตำแหน่งสูง) และการจับคู่ของโทนสีต่างๆ ที่เป็นตัวแทนของฤดูกาลและพรรณไม้ก็กลับมาปรากฏให้เห็นอีกครั้ง

เมื่อมาถึงยุคเอโดะ (ค.ศ. 1603 - 1868) แขนเสื้อของกิโมโนได้ถูกทำให้ยาวขึ้น และมีการพัฒนา "โอบิ" (สายคาดเอว) จากปมที่ซ่อนอยู่ในชุดให้กลายเป็นสายคาดด้านนอกซึ่งมีขนาดกว้างขึ้น ยาวขึ้น และจำเป็นต้องใช้เครื่องประดับเฉพาะในการยึดให้ติดอยู่กับที่ และจากจุดนี้ถึงปัจจุบัน รูปทรงพื้นฐานของกิโมโนก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอีกเลย

ในยุคเดียวกันนี้ การสวมกิโมโนผ้าไหมราคาแพงอย่าง "ชิโบริ" (ผ้ามัดย้อม) และ "ชิชุ" (ผ้าถัก) ของชนชั้นพ่อค้าซึ่งเป็นเศรษฐีใหม่ถูกมองว่าเป็นอันตรายต่อสถานะของชนชั้นสูง รัฐบาลจึงออกกฏเกี่ยวกับการสวมใส่เสื้อผ้า ทำให้กิโมโนผ้าไหมชิโบริและชิชุกลายเป็นของต้องห้ามสำหรับพ่อค้า การออกคำสั่งนี้ทำให้เกิดเทคนิคการย้อมแบบใหม่ที่เรียกว่า "ยูเซ็น" (ทำให้ด่าง) ซึ่งสามารถสร้างลวดลายที่มีชีวิตชีวากว่าขึ้นมา และทำให้ผ้าฝ้ายกลายเป็นผ้าที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวาง

ในยุคเมจิ (ค.ศ. 1868 - 1912) ญี่ปุ่นได้เปิดประเทศให้กับตะวันตกหลังจากที่ปิดมานานนับร้อยปี ผู้คนที่ทำงานให้กับรัฐบาลเริ่มใส่เสื้อผ้าตะวันตกในเวลาทำงานขณะที่ยังคงสวมกิโมโนในชีวิตส่วนตัวอยู่เช่นเดิม ส่วนนี้ไม่ค่อยส่งผลกระทบให้กับผู้หญิงสักเท่าไรนัก ความเปลี่ยนแปลงเดียวที่สังเกตเห็นได้คือการเพิ่มเครื่องประดับแบบตะวันตกอย่างถุงมือ รองเท้าบูท และผ้าพันคอเข้าไปขณะที่สวมกิโมโน

ในยุคไทโช (ค.ศ. 1912 - 1926) การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้เกิดขึ้นกับวงการกิโมโนอีกครั้ง คือเริ่มมีการนำ "เมเซน" (ผ้าไหมย้อมแบบด่างที่มีราคาถูกและทนทานกว่า) มาใช้ในการผลิตกิโมโน เมเซนมีจุดเด่นอยู่ที่ดีไซน์อันสดใสและฉูดฉาดแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของชุดกิโมโน สามารถตอบสนองความต้องการของชุดกิโมโนสีสันสดใสราคาถูกในช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจได้เช่นเดียวกับกางเกงยีนส์ที่มีบทบาทในประเทศฝั่งตะวันตก

การสวมชุดกิโมโนในชีวิตประจำวันเริ่มน้อยลงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากมันถูกมองเป็นการไม่รักชาติเพราะใช้ผ้ามากเกินไป กิโมโนจึงถูกเก็บเข้าตู้หรือไม่ก็นำไปแลกเป็นอาหารกันแทน ผู้หญิงญี่ปุ่นเริ่มเลี้ยงลูกด้วยเสื้อผ้าแบบตะวันตก ส่งผลให้เกิดชาวญี่ปุ่นที่ไม่ได้โตมาพร้อมกับการสวมใส่กิโมโนในชีวิตประจำวันเป็นรุ่นแรก

ประเภทของกิโมโนสำหรับผู้หญิง: กิโมโนสำหรับแต่ละโอกาส ตั้งแต่ทางการไปจนถึงไม่เป็นทางการ

・ฟุริโซเดะ (Furisode)

ฟุริโซเดะเป็นกิโมโนที่เป็นทางการที่สุดสำหรับหญิงสาวที่ยังไม่แต่งงาน มีแขนเสื้อที่ยาวมาก (ประมาณ 100 - 110 ซม.) และประดับด้วยลวดลายสีสันใสอยู่ทั่วชุด ฟุริโซเดะนิยมใส่ในงาน "เซจินชิกิ" (งานฉลองการเข้าสู่วัยผู้ใหญ่) หรืองานแต่งงาน โดยจะสวมทั้งตัวเจ้าสาวเองและญาติวัยสาวที่ยังไม่ได้แต่งงาน

・คุโรโตเมะโซเดะ (Kurotomesode)

คุโรโตเมะโซเดะเป็นกิโมโมที่เป็นทางการที่สุดสำหรับผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว กิโมโนเหล่านี้มีพื้นสีดำ มีลวดลายอยู่ตามชายผ้า และมีตราประมาณ 3 - 5 ดวง คุโรโตเมะโซเดะมักจะสวมในงานที่เป็นทางการ เช่น งานแต่งงาน โดยญาติของทางฝ่ายเจ้าสาวจะเป็นคนสวม

・โฮมงกิ (Homongi)

โฮมงกิเป็นชุดกิโมโนกึ่งทางการที่โดดเด่นด้วยตำแหน่งของลวดลายที่จะพาดผ่านจากตรงด้านหลังของไหล่ขวา และแขนเสื้อ ด้านหน้าของไหล่ซ้ายและแขนเสื้อ แล้วพาดข้ามส่วนริมผ้าโดยด้านซ้ายจะอยู่สูงกว่าด้านขวา ตามปกติแล้วเพื่อนเจ้าสาวจะสวมโฮมงกิไปงานแต่งงาน อีกทั้งยังสามารถใช้ในงานเลี้ยงที่เป็นทางการได้อีกด้วย

・โคมง (Komon)

โคมงเป็นกิโมโนแบบไม่เป็นทางการที่มีลวดลายซ้ำๆ กันทั้งชุด เหมาะสำหรับการใส่ทำธุระในชีวิตประจำวัน เดินเล่นในเมือง หรือไปงานสังสรรค์เล็กๆ น้อยๆ

กิโมโนสำหรับผู้ชาย: 5 จุดที่ต่างไปจากกิโมโนสำหรับผู้หญิง

1. มีความเรียบง่ายกว่ากิโมโนผู้หญิง

2. แขนเสื้อกิโมโนผู้ชายจะติดอยู่กับส่วนลำตัวเกือบทั้งหมด เว้นช่องไว้เพียงไม่กี่นิ้วตรงส่วนรักแร้ ซึ่งจะต่างจากแขนเสื้อกิโมโนผู้หญิงที่ลึกมากและส่วนใหญ่จะไม่ติดกับส่วนลำตัวของกิโมโน

3. ข้อแตกต่างที่เด่นชัดอีกอย่างหนึ่ง คือ ผ้าและสีที่ใช้ กิโมโนทั่วไปสำหรับผู้ชายมักมีสีเข้มที่ดูไม่ค่อยโดดเด่นเท่าไร เช่น ดำ น้ำเงินเข้ม เขียวเข้ม หรือน้ำตาล อีกทั้งผ้าที่ใช้ก็มักจะเป็นผ้าเนื้อด้าน แต่อย่างไรก็ตาม หากเป็นกิโมโนที่ไม่เป็นทางการก็อาจมาในสีที่สว่างขึ้นเล็กน้อย เช่น ม่วงอ่อน เขียวอ่อน และฟ้าอ่อน กิโมโนแบบเป็นทางการที่สุดสำหรับผู้ชายคือสีดำล้วน มีตราประดับ และมักจะสวมพร้อมกับ "ฮาโอริ" (เสื้อคลุมกิโมโน) และ "ฮากามะ" (กางเกงกระโปรง)

4. โอบิ (สายคาด) เป็นสายที่ค่อนข้างเล็กและแคบ ใช้ผูกเอว มักมีสีสันที่ไม่โดดเด่น

5. "เกตะ" และ "โซริ" (รองเท้าแตะญี่ปุ่นโบราณ) สำหรับผู้ชายจะเรียบง่าย ไม่มีการตกแต่ง เป็นสีพื้นๆ

เครื่องประดับชุดกิโมโน

・โอบิ (Obi)

โอบิ คือ สายคาดกิโมโนที่ทำหน้าที่เหมือนเป็นเครื่องประดับมากกว่าการใช้รัดกิโมโนให้แน่น โอบิแบบไม่เป็นทางการจะมีลักษณะสั้นและแคบ ส่วนแบบเป็นทางการจะยาว กว้าง และมีการตกแต่งอย่างหรูหรา โอบิมีวิธีการผูกที่แตกต่างกันไปตามโอกาสและความเป็นทางการของงานที่เข้าร่วม

・ฮากามะ (Hakama)

ฮากามะ คือ กางเกงกระโปรงแบบญี่ปุ่นโบราณที่ใช้ใส่คู่กับกิโมโน ฮากามะของผู้ชายจะทำจากผ้าลายทาง ในขณะที่ฮากามะของผู้หญิงจะมีสีพื้นหรือไม่ก็ย้อมแบบไล่สี ปัจจุบันยังคงมีการใช้ฮากามะในโอกาสต่างๆ เช่น พิธีจบการศึกษาสำหรับผู้หญิง (ซตสึเกียวชิกิ), ชุดแต่งงานสำหรับผู้ชาย, ชุดที่ใส่ทั่วไปในการเล่นกีฬาญี่ปุ่นอย่าง คิวโด (ยิงธนู) ไอคิโด (ศิลปะป้องกันตัว) และเคนโด (ฟันดาบ) นอกจากนี้ ฮากามะยังเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแต่งกายของคนที่ทำงานในศาลเจ้า โดยเฉพาะชุดของมิโกะ (หญิงรับใช้ศาลเจ้า) ที่จะประกอบไปด้วยกิโมโนสีขาวและฮากามะสีแดงสด

・ฮาโอริ (Haori)

ฮาโอริ คือ เสื้อคลุมกิโมโนหรือแจ็กเก็ต ใช้สวมทับลงบนกิโมโน หรือใช้คลุมแล้วผูกให้กระชับด้วยเชือกที่ต่อกับบริเวณคอเสื้อ โดยปกติฮาโอริจะยาวพอๆ กับเสื้อแจ็กเก็ต แต่ก็มีแบบที่ยาวเต็มตัวอยู่เช่นกัน ในฤดูหนาว ฮาโอริถือเป็นส่วนประกอบที่ขาดไม่ได้สำหรับชุดกิโมโน ส่วนในเดือนที่มีอากาศอบอุ่นนั้น ผู้คนมักจะสวมฮาโอริผืนบางๆ หรือไม่สวมเลยก็มี

・เกตะ (Geta) และ โซริ (Zori)

เกตะและโซริ คือ รองเท้าแตะญี่ปุ่นโบราณ 2 แบบ โดยเกตะจะเป็นรองเท้าแตะที่ทำจากไม้ พื้นยกสูง และยึดกับเท้าด้วยสายผ้า ส่วนโซริเป็นรองเท้าแตะหนีบที่มีพื้นต่ำ อาจทำจากฟางข้าว ไม้เคลือบแลคเกอร์ หนัง ยาง หรือวัสดุสังเคราะห์อื่นๆ

 

・ทาบิ (Tabi)

ทาบิ คือ ถุงเท้าญี่ปุ่นที่ใส่คู่กับโซริโดยจะแยกนิ้วโป้งออกจากนิ้วอื่น ทั่วไปจะมีสีขาวซึ่งเป็นสีที่เหมาะกับงานทางการ ส่วนทาบิสีอื่นๆ หรือทาบีที่มีลวดลายนั้นจะเหมาะกับการใส่แบบไม่เป็นทางการมากกว่า

"ยูกาตะ" คืออะไร?

ยูกาตะ (Yukata) สามารถแปลตรงตัวได้ว่า "ชุดอาบน้ำ" ทว่าการใช้งานจริงๆ ของมันก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การเป็นชุดอาบน้ำเพียงอย่างเดียว ยูกาตะเป็นเครื่องแต่งกายโบราณแบบไม่มีซับในที่สามารถพบเห็นได้บ่อยที่สุด โดยทั่วไปจะทำจากผ้าฝ้าย ผ้าลินิน หรือเส้นใยกัญชงสำหรับการใช้งานในฤดูร้อน ผู้คนสามารถสวมใส่ได้ทุกเพศทุกวัย ในทุกโอกาสที่ไม่ใช่งานทางการ

ถึงแม้ว่าชุดยูกาตะจะได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในญี่ปุ่นยุคปัจจุบัน แต่ประวัติศาสตร์ของมันจะค่อนข้างใหม่เมื่อเทียบกับกิโมโน เครื่องแต่งกายทั้ง 2 นี้มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ก็ไม่ได้ถึงกับเหมือนกันเป๊ะ ลองมาสำรวจประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจของยูกาตะและสิ่งที่ทำให้มันแตกต่างจากชุดกิโมโน เพื่อทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมเบื้องหลังเครื่องแต่งกายนี้กันดีกว่า!

ประวัติศาสตร์ของยูกาตะ: ข้ามเวลาไปยังยุคเอโดะ

ชุดยูกาตะเริ่มได้รับความนิยมในยุคเอโดะจาก 2 สาเหตุหลัก อย่างแรกคือเกิดจากพฤติกรรมการอาบน้ำที่เปลี่ยนแปลงไป ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งมีความเกี่ยวข้องกับกฏหมายควบคุมความฟุ่มเฟือยที่เราได้กล่าวถึงไปในช่วง "ประวัติศาสตร์ของกิโมโน"

ยูกาตะที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ได้ถูกพัฒนามาจากกิโมโนผ้าไหมชั้นเดียวที่ชนชั้นสูงใช้สวมเวลาอาบน้ำ ประมาณช่วง ค.ศ. 1800 นักบวชเริ่มแช่น้ำเพื่อเป็นการชำระล้างสิ่งสกปรก และซามูไรกับคนในชนชั้นขุนนางเองก็เลียนแบบการปฏิบัติดังกล่าวด้วย แต่เนื่องจากผ้าไหมไม่เหมาะกับการเปียกน้ำ ผู้คนจึงเริ่มสวมผ้าฝ้ายและผ้าลินินแทน สุดท้ายเมื่อธรรมเนียมปฏิบัตินี้กระจายไปถึงชนชั้นกลางและชนชั้นล่าง ก็เริ่มมีโรงอาบน้ำสาธารณะเปิดให้บริการในโตเกียว ผู้คนที่จำเป็นต้องเดินจากบ้านไปโรงอาบน้ำเริ่มต้องการยูกาตะที่มีลูกเล่นสวยๆ มากขึ้นสำหรับสวมในที่สาธารณะ ทำให้ยูกาตะแบบในยุคปัจจุบันถือกำเนิดขึ้น

ยูกาตะ vs กิโมโน: ชุดทั้งสองต่างกันอย่างไร?

・วัสดุ

กิโมโนมักทำจากผ้าไหมชนิดต่างๆ ในขณะที่ยูกาตะทั่วไปจะทำด้วยผ้าฝ้ายหรือเส้นใยสังเคราะห์ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ากิโมโนจะดูหรูหราและเป็นทางการกว่าในภาพรวม ในขณะที่ยูกาตะจะราคาถูกและเป็นกันเองมากกว่า นอกจากนี้ ยังทำขึ้นเพื่อให้สวมใส่แล้วรู้สึกเย็นสบายกว่าเนื่องจากเป็นชุดที่ใช้ในช่วงฤดูร้อน

 

・องค์ประกอบ

โดยทั่วไปกิโมโนจะมีซับในอยู่ใต้ชั้นผ้าไหมที่มีลวดลาย แต่ชุดยูกาตะจะไม่มี เนื่องจากทำมาสวมใส่ในช่วงฤดูร้อนเท่านั้น

・แขนเสื้อ

แขนเสื้อของชุดกิโมโนจะแตกต่างกันไปตามหลายๆ ปัจจัย ตั้งแต่อายุของผู้ใส่ไปจนถึงระดับความเป็นทางการของโอกาสที่สวมใส่ ตัวอย่างเช่น ในกรณีของฟุริโซเดะ กิโมโนประเภทนี้สามารถมีแขนเสื้อยาวลงไปถึงพื้นเลยก็ได้! ซึ่งในทางตรงกันข้าม แขนเสื้อของชุดยูกาตะจะสั้นกว่าและมีความยาวไม่เกิน 50 ซม.

 

・ฤดูกาล

ชุดยูกาตะจะมีความเกี่ยวข้องกับฤดูร้อนและกิจกรรมฤดูร้อน ส่วนในฤดูอื่นๆ ก็จะมีการใส่ยูกาตะในเรียวกัง (โรงพักแรมสไตล์ญี่ปุ่น) และออนเซ็น (บ่อน้ำพุร้อน) ที่จะมีเตรียมไว้ให้แขกที่เข้าพักเสมอ อย่างไรก็ตาม ชุดนี้จะไม่นิยมใส่ออกนอกอาคารในฤดูที่มีอากาศหนาวเย็น

ส่วนชุดกิโมโน เนื่องจากมีหลายชั้นและมาพร้อมกับเครื่องประดับมากมายจึงสามารถสวมได้ทุกฤดูกาล ตัวอย่างเช่น ผ้าคลุมไหล่ขนสัตว์สามารถใช้เป็นเครื่องประดับให้กับกิโมโนฤดูหนาวได้ นอกจากนี้ก็ยังมีกิโมโนฤดูร้อนที่เรียกว่า "ฮิโตเอะ" (กิโมโนชั้นเดียว) ซึ่งไม่มีซับในและสวมพร้อมกับชั้นในสำหรับกิโมโนฤดูร้อนได้

・วาระสำหรับการสวมใส่

ผู้คนมักจะสวมชุดยูกาตะในเรียวกังหรือออนเซ็นไปร่วมงานมัตสึริ (งานเทศกาลญี่ปุ่น) อย่างเทศกาลดอกไม้ไฟ กิจกรรมฤดูร้อนอื่นๆ หรือจะใส่เดินเล่นเฉยๆ ก็ได้ แต่ในส่วนของกิโมโน ส่วนใหญ่จะนิยมใส่ในโอกาสที่เป็นทางการมากกว่า เช่น พิธีกรรมตามวัดและศาลเจ้า งานแต่งงาน หรือพิธีจบการศึกษา นอกจากนี้ก็ยังมีคนใส่กิโมโนแบบไม่เป็นทางการเวลาออกไปทำธุระประจำวันในเมืองอยู่เช่นกัน แม้ในปัจจุบันจะไม่ค่อยมีให้เห็นแล้วก็ตาม

・เครื่องประดับ

ยูกาตะสวมง่ายกว่าเพราะไม่จำเป็นต้องมีเครื่องประดับมากมายเหมือนกิโมโน คุณไม่จำเป็นต้องใส่ชั้นในแบบพิเศษ เพียงแค่ใช้สายคาด 1 - 2 เส้นในการผูกชุดไว้กับตัวก็พอ ในขณะที่กิโมโนต้องใช้ถึง 3 - 4 เส้น ยูกาตะจะสวมพร้อมโอบิแบบไม่เป็นทางการที่ผูกง่ายกว่า (เนื่องจากการเล่นกับโอบิแบบไม่เป็นทางการนั้นเป็นที่ยอมรับกันมากกว่า) หญิงสาวชาวญี่ปุ่นจึงมักจะคิดและผูกในสไตล์ของตัวเอง ส่วนกิโมโนจะสวมคู่กับโอบิที่เป็นทางการหรือกึ่งทางการขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และสุดท้าย ยูกาตะจะสวมกับเกตะและเท้าเปล่า ในขณะที่กิโมโนจะต้องสวมคู่กับโซริและทาบิ

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

ยูกาตะและกิโมโนในยุคโมเดิร์น: สถานการณ์ปัจจุบันของชุดประจำชาติญี่ปุ่น

Klook.com

คนญี่ปุ่นยังสวมกิโมโนกันอยู่ไหม?

ในยุคหลังสงคราม กิโมโนได้เริ่มหายไปจากชีวิตประจำวันของผู้คน และค่อยๆ ถูกจำกัดบทบาทให้เป็นชุดทางการสำหรับพิธีกรรมและโลกศิลปะของญี่ปุ่น อย่างพิธีชงชาหรือโรงละครเท่านั้น เนื่องจากคนรุ่นใหม่ไม่ได้มีโอกาสใส่กิโมโนกันอีกแล้ว ร้านค้าจึงเริ่มกลยุทธ์การขายด้วยการเปิดคอร์สแต่งชุดกิโมโนขึ้น คอร์สเหล่านี้ได้พัฒนาขึ้นเป็นโรงเรียนกิโมโนที่เข้มงวดกับการแต่งชุดกิโมโนมาก ส่งผลให้กิโมโนกลายเป็นสิ่งที่ห่างไกลจากชีวิตประจำวันยิ่งขึ้นไปอีก

อย่างไรก็ตาม กิโมโนที่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่นมากว่า 1,700 ปีก็ไม่ได้เลือนหายไปง่ายๆ ในช่วง ค.ศ. 1990 ชุดนี้ก็ได้กลับมาเป็นที่จับตามองอีกครั้งเนื่องจากความสนใจจากทั่วโลกที่มีต่อแฟชั่นในแถบเอเชีย นำไปสู่ยุคทองของกิโมโนในญี่ปุ่น ปรากฏการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเป็นอันดับแรก คือ กระแสฮิตยูกาตะใน ค.ศ. 2000 ตามมาด้วยร้านกิโมโนมือสองที่ผุดขึ้นมา และในท้ายที่สุด ความสะดวกของเครื่องมือสื่อสารใหม่ๆ เช่น นิตยสารกิโมโน ร้านค้าออนไลน์ บล็อก และยูทูป ก็ทำให้กิโมโนกลับมาเป็นสิ่งที่คนหนุ่มสาวสามารถเข้าถึงได้ง่ายอีกครั้ง

ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมกิโมโนกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะผู้สวมกิโมโนจำนวนมากกำลังหันหลังให้กับช่องทางการซื้อกิโมโนแบบเดิมๆ ถึงแม้มันจะทำให้ร้านกิโมโนเก่าแก่ต้องพบกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่โมเดลธุรกิจใหม่ๆ ก็กำลังเฟื่องฟูขึ้นด้วยเช่นกัน

สถานที่ซื้อกิโมโนหรือยูกาตะในญี่ปุ่น

หากคุณกำลังคิดอยากซื้อกิโมโนหรือยูกาตะ เราขอแนะนำให้ลองเช็กตามสถานที่เหล่านี้ดู

จุดแรกคือตามศูนย์การค้าใหญ่ๆ ในญี่ปุ่น ศูนย์การค้าเหล่านี้มักมีร้านขายกิโมโนและยูกาตะโดยเฉพาะทางอยู่อย่างน้อยหนึ่งแห่ง หรือไม่ก็มีการจัดงานลดราคายูกาตะในช่วงฤดูร้อน พวกเขานิยมขายชุดกิโมโนหรือยูกาตะแบบเป็นเซ็ตพร้อมเครื่องประดับซึ่งจะทำให้ขั้นตอนการเลือกซื้อของคุณง่ายขึ้น แถมยังช่วยให้คุณไม่ลืมซื้อเครื่องประดับที่จำเป็นด้วย เซ็ตเหล่านี้มักมีราคาเริ่มต้นที่ประมาณ 7,000 เยน

หากคุณต้องการเลือกซื้อกิโมโนหรือยูกาตะและเครื่องประดับต่างๆ ด้วยตัวเอง เราขอแนะนำให้ไปที่ร้านกิโมโนมือสอง ร้านเหล่านี้มีสินค้าสไตล์วินเทจให้คุณเลือกหลายร้อยชิ้น และชุดกิโมโนกับยูกาตะส่วนใหญ่ก็มักจะอยู่ในสภาพที่ดีมาก แถมยังมีหลากหลายดีไซน์ และราคาถูกมากด้วย โดยสามารถลงไปได้ถึงชิ้นละ 1,000 เยนเลยทีเดียว แม้กระทั่งสินค้าที่ดูหรูหราหน่อยก็จะมีราคาแพงขึ้นอีกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เครื่องประดับต่างๆ ก็มักจำหน่ายในราคาที่พอๆ กัน คุณสามารถประหยัดเงินได้อย่างเหลือเชื่อจากการขุดหาขุมทรัพย์ตามร้านเหล่านี้! ย่านที่เราขอแนะนำเป็นพิเศษสำหรับการช้อปกิโมโนมือสอง คือ ตลาดผ้านิปโปริ (Nippori Textile Town) และ ย่านเซ็นโซจิ (Sensoji) ที่อยู่รอบโตเกียว กับบริเวณรอบๆ สถานีชิโจ (Shijo) และสถานีฮิกาชิยามะ (Higashiyama) ในเกียวโต

ตลาดขายของเก่าก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ดีในการหาซื้อชุดยูกาตะและกิโมโนมือสอง โดยสถานที่ที่ควรแวะไปดูให้ได้คือ ตลาดของเก่าโอเอโดะ (Oedo Antique Market) และตลาดโบโรอิจิ (Boroichi Market) ในโตเกียว หรือไม่ก็ตลาดโคโบะ (Kobo Market) และตลาดเทนจินซัง (Tenjin-san Market) ในเกียวโต

ช่องทางสุดท้าย คือ คุณสามารถลองซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ดูได้ แม้จะไม่ได้ลองกับตัวแต่ก็สะดวกกว่าและเป็นวิธีที่ทันสมัยกว่า นอกจากนี้ ร้านค้าออนไลน์บางแห่งอย่างเว็บไซต์ BECOS ก็มีบริการจัดส่งข้ามประเทศให้ด้วย ดังนั้น ถึงแม้ว่าคุณจะไม่ได้อยู่ญี่ปุ่น ก็ยังสามารถหาซื้อกิโมโนหรือยูกาตะของแท้ที่ผลิตในญี่ปุ่นได้อย่างง่ายดาย

สถานที่เช่ากิโมโนหรือยูกาตะในญี่ปุ่น

หากคุณไม่ได้วางแผนจะซื้อกิโมโนหรือยูกาตะ แต่ยังอยากลองสวมดูสักครั้งระหว่างที่อยู่ในญี่ปุ่น ร้านเช่ากิโมโนก็เป็นตัวเลือกที่ดีมาก! ร้านเหล่านี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากแม้แต่ในหมู่คนญี่ปุ่นเอง สามารถพบเห็นได้ง่ายๆ ตามย่านท่องเที่ยวในตัวเมือง เช่น ย่านอาซากุสะหรือยานากะในโตเกียว และย่านฮิกาชิยามะหรืออาราชิยามะในเกียวโต โดยทั่วไป ร้านเหล่านี้จะคิดค่าเช่ากิโมโนเป็นแบบเหมา 1 วัน และยังมีบริการช่วยสวมกิโมโนและจัดแต่งทรงผมโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมด้วย

* ในกรณีที่คุณวางแผนจะเช่ากิโมโน อย่าลืมจองล่วงหน้าไว้ก่อนด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่คึกคักอย่างฤดูชมดอกซากุระ

* ปกติแล้วพนักงานในร้านเช่ากิโมโนจะสามารถพูดภาษาอังกฤษได้

ชาวต่างชาติสวมกิโมโนจะเหมาะสมหรือไม่?

ทุกวันนี้ โซเชียลมีเดียและอินเทอร์เน็ตทำให้มีนักสะสมและผู้คลั่งไคล้กิโมโนเพิ่มขึ้นทั่วโลก ในช่วงปีหลังๆ มานี้ แม้แต่โรงเรียนสอนแต่งกิโมโนก็มีชาวต่างชาติสมัครเข้าเรียนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย คนเหล่านี้ไม่ได้สนใจแค่คอร์สแต่งกิโมโนทั่วไป แต่ยังต้องการได้รับใบประกาศรับรองการเป็นอาจารย์และนักออกแบบกิโมโนด้วย

ในฐานะชาวต่างชาติที่สนใจเกี่ยวกับการแต่งชุดกิโมโน ผู้เขียนได้มีโอกาสพบคนญี่ปุ่นมากมายที่เกี่ยวข้องกับวงการกิโมโน และส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว ต่างก็รู้สึกภูมิใจที่ได้เห็นชาวต่างชาติสนใจในเครื่องแต่งกายประจำชาติของญี่ปุ่นอย่างแท้จริง คนญี่ปุ่นมีความกระตือรือร้นที่จะแบ่งปันกิโมโนให้กับคนทั่วโลก ตราบใดที่มันได้รับการส่วมใส่ด้วยความเคารพ ซึ่งนี่จะทำให้วัฒนธรรมกิโมโนสามารถอยู่รอดและพัฒนาต่อไปได้!

Klook.com

กิโมโน: สวมใส่วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อายุกว่า 1,700 ปี

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่อยู่เบื้องหลังชุดกิโมโนและยูกาตะ ถึงเวลาที่จะเติมเต็มความฝันของคุณด้วยการลองสวมจริงๆ ดูแล้ว! ไม่ว่าจะเช่าหรือซื้อ การสวมชุดประจำชาตินี้ก็จะช่วยให้ทริปเที่ยวญี่ปุ่นของคุณดูสง่างามขึ้นอย่างแน่นอน

 

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

รับส่วนลดมากมายในญี่ปุ่น ที่นี่!

เกี่ยวกับนักเขียน

Stefania
Stefania Sabia
เกิดและโตในอิตาลี ช่วง 10 ขวบได้ใช้ชีวิตอยู่ในไอร์แลนด์ ปัจจุบันอาศัยอยู่ในโตเกียว ชอบการสำรวจสถานที่ลับๆ หรือสถานที่ที่มีความเป็นญี่ปุ่น รวมถึงสิ่งที่สัมผัสได้ถึงความงามแบบย้อนยุค เนื่องจากชอบวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาตั้งแต่วัยเด็ก หลังจากย้ายมาอยู่ญี่ปุ่นจึงออกสำรวจญี่ปุ่น และตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเผยแพร่ความสวยงามเหล่านั้นผ่านทางอินสตาแกรม
  • แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

ค้นหาร้านอาหาร