25 เครื่องปรุงญี่ปุ่น มีติดครัวไว้ก็อร่อยกับอาหารญี่ปุ่นได้ง่ายๆ

แค่คุณคลิกเข้ามาอ่านบทความนี้ เราก็รู้แล้วว่าคุณเป็นคนหนึ่งที่หลงรักอาหารญี่ปุ่นและคุณก็น่าจะรู้อยู่แล้วว่ารสชาติกลมกล่อมอร่อยลิ้นกับกลิ่นหอมอันมีเอกลักษณ์ที่อยู่ในอาหารนั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากซอสและเครื่องปรุง ในบทความนี้ เราจะพาคุณไปรู้จักกับเครื่องปรุงญี่ปุ่นที่อาจมีหลากหลายกว่าที่คุณคิด!

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

บทความนี้อาจมีลิงก์พาร์ทเนอร์ หากคุณทำการซื้อผ่านลิงก์พาร์ทเนอร์ เราอาจได้รับค่าคอมมิชชั่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับคุณ

อาหารญี่ปุ่น เป็นอาหารที่ได้รับความนิยมจากผู้คนทั่วโลก มีจุดเด่นอยู่ที่วิธีการปรุงที่ดูเรียบง่ายแต่แฝงไว้ด้วยความละเอียดพิถีพิถันและรสอูมามิ (旨味) ซึ่งเป็นความอร่อยกลมกล่อมที่ได้มาจากกลูตาเมตที่มีอยู่ในน้ำซุปดาชิและสาหร่ายคอมบุของญี่ปุ่น รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารหมักแบบต่างๆ รสอูมามิในอาหารญี่ปุ่นเป็นรสชาติที่ไม่มีใครเหมือนจนหาคำนิยามในภาษาอื่นได้ยากทีเดียวค่ะ
 

แต่ถึงจะหาคำนิยามได้ยาก การทำอาหารให้มีรสชาติแบบญี่ปุ่นจะไม่ยากเลย หากคุณมีเครื่องปรุงอาหารญี่ปุ่นอยู่ในมือ! ทุกวันนี้มีเครื่องปรุงญี่ปุ่นที่นำเข้าไปขายในประเทศไทยมากมายอยู่แล้ว โดยแบรนด์เครื่องปรุงที่คุณอาจเคยได้ยินอยู่บ้างก็มีทั้ง คิคโคแมน (Kikkoman), มิตสึกัน (Mizkan), มารุโคเมะ (Marukome) ฯลฯ
 

ซึ่งในความคุ้นเคยของคนไทย แบรนด์คิคโคแมนจะเด่นในเรื่องซอสถั่วเหลืองญี่ปุ่น, มิตสึกันเด่นเรื่องน้ำส้มสายชูญี่ปุ่น และมารุโคเมะจะเห็นอยู่ประปรายตามโซนขายซุปมิโซะ น้ำสลัด หรือเครื่องปรุงญี่ปุ่นแบบอื่นๆ แต่หากคุณมาเที่ยวในประเทศญี่ปุ่น คุณจะพบว่าแบรนด์เหล่านี้มีผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกมากมายเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งราคาถูกกว่าและน่าสนใจ จนคุณสามารถซื้อติดมือกลับไปเป็นของฝาก หรือไว้ทำอาหารกินเองที่ไทยได้ด้วย แต่ในปัจจุบันเนื่องจากยังไม่สามารถมาเที่ยวญี่ปุ่นได้ เราจึงต้องหาซื้อเครื่องปรุงออนไลน์ได้ง่ายๆ กันแทน ที่นี่ เลย

เครื่องปรุงพื้นฐานในอาหารญี่ปุ่น

ในส่วนนี้ เราขอแบ่งเป็น 4 หมวดย่อย คือ เครื่องปรุงเด่นๆ ของญี่ปุ่น, เครื่องปรุงที่มีแอลกอฮอล์, เครื่องปรุงแห้ง และ น้ำมัน แน่นอนว่าทั้งหมดนี้เป็นเครื่องปรุงพื้นฐานที่คนญี่ปุ่นมีติดครัวไว้ทุกบ้าน และสามารถนำมาผสมกันเป็นรสชาติแบบญี่ปุ่นๆ ได้มากมาย!

เอาล่ะ ถ้าพร้อมแล้วก็ไปดูกันเลย!
 

หมวดที่ 1 : เครื่องปรุงเด่นๆ ในการทำอาหารญี่ปุ่น

โชยุ (醬油) คือ ซอสถั่วเหลืองญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในเครื่องปรุงหลักในการทำอาหารญี่ปุ่น นอกจากจะใช้จิ้มซูชิ, ซาชิมิ, ปลาย่าง หรือ ไข่หวาน อย่างที่เรารู้กันแล้ว โชยุยังใช้เป็นเบสในการทำน้ำจิ้ม, น้ำสลัดญี่ปุ่น และใช้ปรุงอาหารอื่นๆ ได้อีกหลายเมนู คิคโคแมน (Kikkoman) ก็เป็นยี่ห้อหนึ่งที่คนญี่ปุ่นนิยมใช้กัน

หากคุณมาซื้อโชยุในประเทศญี่ปุ่นก็จะมีให้เลือกได้หลายสูตร ตั้งแต่สูตรที่มีสีอ่อนมากจนถึงเข้ม แบบรสอมหวาน, รสเค็มเข้มข้น, หรือแบบที่เน้นกลิ่นหอม แล้วยังมีสูตรที่ลดปริมาณเกลือลงด้วย นอกจากนี้ หากคุณได้ไปเที่ยวในภูมิภาคต่างๆ ของญี่ปุ่น ก็จะเห็นว่าหลายๆ ที่มักจะมีโรงหมักโชยุประจำท้องถิ่น ซึ่งร้านเหล่านั้นก็มักจะขายโชยุที่มีกลิ่นและรสชาติเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอีกด้วย

มิโซะ (味噌) หรือ เต้าเจี้ยวญี่ปุ่น ทำจากถั่วเหลือง เกลือและโคจิ (Koji เชื้อหมักประเภทหนึ่ง ใช้หมักถั่วเหลือง, ข้าว, สาเก) มิโซะเป็นเครื่องปรุงที่คนไทยคุ้นชื่อกันดีเพราะมักจะถูกนำมาใช้ทำซุปใส่เต้าหู้และสาหร่ายในร้านอาหารญี่ปุ่น แต่นอกจากทำน้ำซุปแล้ว มิโซะยังสามารถนำมาทำซอสหรือปรุงรสอาหารอื่นๆ ได้อีกหลายอย่าง แม้แต่ซอสสปาเก็ตตี้ หรือ นำมาทาข้าวปั้นแล้วนำไปย่าง แค่มิโซะอย่างเดียวก็ทำอาหารอร่อยๆ ได้อย่างแล้วล่ะ 
 

หากคุณมาซื้อมิโซะในประเทศญี่ปุ่นก็จะมีรูปแบบที่หลากหลายกว่าที่ไทย โดยเฉพาะในเรื่องสี เพราะที่นี่มีทั้ง มิโซะขาว (白味噌) มิโซะแดง (赤味噌) และมิโซะสีน้ำตาลอมทองแบบทั่วไป ซึ่งมิโซะขาวจะใช้ในกรณีที่ไม่อยากให้อาหารมีสีที่เข้มเกินไปจนดูไม่สวย 
 

นอกจากนี้ หากคุณมาซื้อที่ญี่ปุ่นก็มีให้เลือกทั้งแบบข้นๆ ใส่กล่อง, แบบเข้มข้นบรรจุขวด และหากเป็นมิโซะสำหรับทำซุปก็จะมีแบบซองด้วย นอกจากจะกินมิโซะคู่กับเต้าหู้ ฟองเต้าหู้และสาหร่ายได้แล้ว คุณยังสามารถใส่หอยชิจิมิ (シジミ หอยฝาดำขนาดเล็ก) หอยอาซาริ (アサリ หอยลายญี่ปุ่น) หรือใส่ผัก เช่น แครอท, กะหล่ำปลี, หอมหัวใหญ่ ฯลฯ เพื่อเพิ่มความหวานได้ด้วย
 

ซุ (酢) น้ำส้มสายชูจากข้าวหมัก เป็นที่มาของรสเปรี้ยวเข้มข้นที่ช่วยเสริมรสชาติในอาหารญี่ปุ่น มีความเป็นกรดสูง ยี่ห้อที่คนญี่ปุ่นนิยม คือ มิตสึกัน (Mizkan) ซึ่งสามารถหาซื้อได้ในไทย โดยขวดฉลากเขียวที่มีเขียนว่า 穀物酢 (โคคุโมโนะซุ) เป็นน้ำส้มที่หมักจากธัญพืช ส่วน 米酢 (โยเนะซุ / โคเมะซุ) ฉลากสีทองนั้นหมักมาจากข้าวค่ะ
 

หากคุณนำน้ำส้มสายชูมิตสึกันฉลากเขียว 4 ช้อนโต๊ะ มาผสมกับน้ำตาล 4 - 5 ช้อนโต๊ะและเกลือ 2 ช้อนชา ก็จะได้น้ำสำหรับทำข้าวปั้นซูชิอย่างง่ายๆ และหากอยากเพิ่มความอูมามิ เราก็ขอแนะนำให้ลองนำสาหร่ายคอมบุที่แช่น้ำจนพองตัวแล้วลงไปแช่ในน้ำซอสประมาณ 10 นาที
 

ดาชิ (だし) น้ำซุปหรือน้ำสต๊อกที่ได้จากการต้มฝอยปลาคัตสึโอะแห้งและสาหร่ายคอมบุ เป็นซุปที่มีความอูมามิสูงมากและยังมีกลิ่นหอมอีกด้วย คนญี่ปุ่นนิยมใช้ซุปนี้เป็นเบสในการทำซอสหรือน้ำซุปชนิดอื่นๆ เช่น เมนสึยุ (めんつゆ) ซอสเหลวที่ใช้รับประทานกับโซบะ หรือ ซุปสำหรับอุด้งและโซบะร้อน นอกจากนี้ คุณยังใช้ดาชิทำเมนูไข่ตุ๋นแบบญี่ปุ่นได้อย่างง่ายดาย โดยสำหรับเมนูนี้ เราแนะนำให้ใช้ดาชิสีอ่อนที่เรียกว่า ชิโระดาชิ (白だし) เพื่อให้สีไข่ตุ๋นอ่อนสวย ดูน่ารับประทาน
 

เมนสึยุ (めんつゆ) หรือที่มีอีกชื่อหนึ่งว่า “ดาชิโชยุ” คือ โชยุที่นำมาผสมกับซุปดาชิ รสเค็มๆ หวานๆ หอมกลิ่นปลาคัตสึโอะ เป็นเครื่องปรุงที่นิยมใช้เป็นเบสน้ำซุปในเมนูเส้นต่างๆ ของญี่ปุ่น เช่น โซบะ และ อุด้ง 

ชิโอะโคจิ (塩麹) อันนี้นะ เราแนะนำให้ลองมากๆ โดยเฉพาะสำหรับคนที่ชอบปลาย่างเกลือญี่ปุ่น ชิโอะโคจิเป็นข้าวที่หมักกับเกลือและโคจิ หมักเป็นปีๆ จนได้เนื้อที่มีลักษณะข้นเหมือนข้าวต้ม เป็นเครื่องปรุงที่เหมาะสำหรับหมักเนื้อ ปลา หรือแม้แต่ใส่ผักดองบางชนิดเพื่อเพิ่มความเค็ม ซึ่งความเค็มที่ได้จากชิโอะโคจินี่เราคิดว่าเป็นความเค็มแบบฟ้าประทานมากๆ เพราะมันเค็มที่ละมุนลิ้นสุด กลมกล่อม แถมยังช่วยให้เนื้อที่หมักนุ่มขึ้นด้วย
 

พอนสึ (ポン酢) หรือ ซอสเปรี้ยวญี่ปุ่น เป็นน้ำจิ้มที่มีอยู่ในร้านปิ้งย่างและชาบูชาบูญี่ปุ่นแทบทุกร้าน พอนสึทำได้ด้วยการนำน้ำส้มสายชูหรือน้ำผลไม้รสเปรี้ยวชนิดต่างๆ ผสมกับโชยุและส่วนผสมอื่นๆ สามารถกินกับอาหารได้หลายเมนู ร้านอาหารบางแห่งยังมีการนำมาใช้จิ้มซาชิมิหรือทานคู่กับปลาย่างด้วย 
 

หากคุณมาหาซื้อพอนสึในประเทศญี่ปุ่น ก็จะมีพอนสึที่ผสมน้ำผลไม้หลายประเภทให้ได้เลือกซื้อกัน แต่ละอันก็จะมีกลิ่นหอมที่แตกต่างกันไป เช่น พอนสึกลิ่นยูสุ, แอปเปิ้ล, เลม่อน, ส้มเขียวญี่ปุ่น ฯลฯ พอนสึยังสามารถนำมาใช้แทนน้ำจิ้มเกี๊ยวซ่าหรือใช้ทำเครื่องเคียงต่างๆ อย่าง ยำสาหร่าย ได้ด้วย

หมวดที่ 2 : เครื่องปรุงที่มีแอลกอฮอล์

สาเก (酒) และ เรียวริชู (料理酒) เหล้าหมักของญี่ปุ่นที่ทำจากข้าว มีจุดเด่นในด้านการกำจัดกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์และปลา ช่วยให้เนื้อนุ่มขึ้นและหากนำไปทำเมนูต้มๆ ก็จะช่วยเพิ่มความหวานกลมกล่อมแบบธรรมชาติให้กับน้ำซุป ตัวเรียวริชูจะมีรสกลมกล่อมน้อยกว่าสาเกแต่ก็มีความนุ่มอยู่ในตัวและเหมาะสำหรับการทำอาหาร
 

มิริน (みりん) หรือ เหล้าหวานญี่ปุ่น เป็นเครื่องปรุงที่ใช้เพิ่มความหวาน ลดกลิ่นสาบฉุนหรือกลิ่นคาวในอาหาร ทำให้อาหารขึ้นเงาดูเป็นประกายและยังช่วยให้วัตถุดิบดูดซับรสชาติของอาหารได้ดีขึ้นด้วย มิรินเป็นส่วนผสมอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในการทำ “ซอสเทริยากิ” เจ้านี่เองที่ทำให้น้ำซอสดูมันเงาเป็นประกายสมกับคำว่า เทริ (照り) ที่แปลว่า เคลือบเงา
 

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

หมวดที่ 3 : เครื่องปรุงแห้ง

คัตสึโอะบุชิ (鰹節) ปลาคัตสึโอะหรือปลาโอแห้งแบบฝอย ตัวมันเองจะไม่ค่อยมีรสชาติ โดยทั่วไปจึงมักจะนำมาใช้ในการต้มน้ำซุปคู่กับสาหร่ายคอมบุเพื่อให้ได้น้ำซุปที่มีกลิ่นหอมและมีความอูมามิ นอกจากนี้ ยังใช้โรยหน้าอาหารที่ทำจากแป้งทอด อย่างโอโคโนมิยากิและทาโกะยากิ หรือโรยหน้าโอฉะสึเกะ (お茶漬け หรือข้าวราดน้ำชา) ได้ด้วย
 

แกงกะหรี่ก้อน (カレー) แกงกะหรี่ญี่ปุ่นนับว่าเป็นเมนูหนึ่งที่มีเอกลักษณ์และเป็นที่รักของผู้คนทุกเพศทุกวัย เนื่องจากมีกลิ่นเครื่องเทศที่ไม่แรงจนเกินไปแต่ก็ยังมีรสชาติที่เข้มข้น ทานได้เพลินๆ เครื่องแกงกะหรี่มักจะทำขายเป็นก้อน ยี่ห้อที่ได้รับความนิยม คือ Vermont Curry (バーモントカレー) เป็นยี่ห้อที่สามารถหาซื้อได้ในไทยและได้รับความนิยมเช่นกัน สามารถเลือกระดับความเผ็ดได้ 3 ระดับ คือ กล่องสีแดง (甘口) จะเป็นรสไม่เผ็ด, สีเขียว (中辛) รสเผ็ดกลาง, สีน้ำเงิน (辛口) เป็นรสเผ็ด
 

คอมบุ (コンブ) หรือสาหร่ายญี่ปุ่น เป็นส่วนผสมที่สำคัญในการทำเบสน้ำซุปในเมนูอาหารญี่ปุ่น คอมบุส่วนใหญ่จะถูกนำไปตากแห้งเพื่อให้เก็บรักษาได้นาน และเมื่อนำมาต้มก็จะพองตัวขึ้น เนื้อกรุบๆ ลื่นๆ เคี้ยวอร่อย
 

Klook.com

หมวดที่ 4 : น้ำมัน

โกมะ อาบุระ (ごま油) หรือ น้ำมันงา ช่วยเพิ่มกลิ่นหอมให้กับอาหารและช่วยให้เนื้อนุ่ม เราเคยไปทานอาหารในร้าน โทริคิโซคุ (Torikizoku ร้านอิซากายะในญี่ปุ่นที่เน้นเสิร์ฟเมนูไก่ยากิโทริ) ทางร้านได้นำน้ำมันงามาให้ใช้จิ้มตับไก่ย่างรสเค็มๆ ทำให้รู้สึกว่าหอมและได้รสชาติเต็มปากเต็มคำมากขึ้นเลยค่ะ นอกจากนี้ คนญี่ปุ่นยังนิยมนำมาใช้เป็นวัตถุดิบทำเบเกอรี่ด้วย
 

น้ำมันพริก (ラー油) น้ำมันพริกขวดน้อยที่มักจะพบในร้านราเมงหรือร้านอาหารที่ขายเกี๊ยวซ่า แม้ว่ารสชาติจะไม่เผ็ด แต่ก็ช่วยทำให้อาหารสีสวยน่ารับประทานและมีกลิ่นหอม
 

ซอสในอาหารญี่ปุ่น

มายองเนส (マヨネーズ) เครื่องปรุงที่ทำจากไข่ น้ำมันและน้ำส้มสายชูเป็นหลัก มายองเนสแบบมาตรฐานของญี่ปุ่นจะเป็นแบบไม่ผสมน้ำตาล ไม่หวานเหมือนน้ำสลัดไทย รสจะออกเปรี้ยวและมีรสสัมผัสที่นวลลิ้น 
 

ใครที่ไม่เคยทานอาจรู้สึกว่าเปรี้ยวแหลมไปหน่อย แต่หากทานจนชินแล้วก็จะติดใจจนเลิกไม่ได้เลยล่ะ คนญี่ปุ่นมักจะใช้มายองเนสในการเพิ่มความนัวให้กับอาหาร เช่น ใช้ทำเมนูไข่หวาน รวมถึงขนมหวานบางประเภท เช่น แพนเค้ก ยี่ห้อที่ได้รับความนิยมในญี่ปุ่น คือ คิวพี (Kewpie ภาพซ้าย) ซึ่งก็เป็นยี่ห้อที่มีขายในประเทศไทย (แบบมาตรฐานฝาสีแดง) และยี่ห้ออายิโนะโมะโต๊ะ (Ajinomoto ภาพขวา) แอบกระซิบว่าตัวนี้ติดอันดับ 1 ในบทความแนะนำมายองเนสของบรรดาบล็อกเกอร์ชาวญี่ปุ่นอยู่มากพอสมควรเลยค่ะ
 

ทาเระ (タレ) เป็นคำที่ใช้เรียกซอสราดหรือน้ำจิ้มที่ใช้กับเมนูเนื้อและปลาต่างๆ มักมีลักษณะเป็นซอสถั่วเหลืองข้นๆ ทำจากโชยุกับน้ำตาลเป็นหลัก สามารถนำไปผสมกับวัตถุดิบต่างๆ เพื่อให้มีรสชาติที่แตกต่างกันและเหมาะกับอาหารแต่ละประเภท เช่น หากผสมกับมิรินและสาเกก็จะกลายเป็นทาเระสำหรับข้าวหน้าปลาไหลอุนางิ

หากเป็นสูตรที่ผสม งา ขิงหรือกระเทียม และน้ำแอปเปิ้ล ลงไปก็จะเป็นทาเระที่เหมาะกับการหมัก ราดหรือจิ้มเนื้อย่างที่เรียกว่า “ยากินิคุ โนะ ทาเระ” (焼肉のたれ ภาพซ้าย) น้ำจิ้มอีกอย่างหนึ่งที่คนไทยชอบกันมากๆ คือ โกมะดาเระ (ごまだれ ภาพขวา) หรือน้ำจิ้มงาสีน้ำตาลที่มีกลิ่นหอม อร่อยกลมกล่อม
 

ซอสเทริยากิ (照り焼き) เป็นชื่อเมนูอาหารที่ปรุงด้วยการนำเนื้อหรือปลามาปรุงสุกแล้วราดด้วยซอสรสหวานๆ เค็มๆ คำว่า เทริ (照り) แปลว่า มันเงาเป็นประกาายซึ่งสื่อถึงจุดเด่นของซอสชนิดนี้ที่ทำให้อาหารดูมันเงาและสวยงาม ซอสเทริยากิมีส่วนประกอบหลักเป็นโชยุ มิริน สาเกและน้ำตาล 

ซอสทงคัตสึ (とんかつソース) เป็นซอสที่จัดว่าหวานเข้มข้นที่สุดในบรรดาซอสพื้นฐานของญี่ปุ่น รสเค็มปานกลางและมีความเปรี้ยวที่ช่วยตัดเลี่ยนและกระตุ้นความอยากอาหารได้ดี นอกจากใช้ทานคู่กับหมูทอดทงคัตสึแล้ว ยังนิยมนำมาใช้เป็นน้ำจิ้มในเมนูอาหารทอดอื่นๆ อีกมากมาย

ซอสทาโกะยากิ (たこ焼きソース) และ ซอสโอโคโนมิยากิ (お好みソース) เป็นซอสที่มีรสชาติใกล้เคียงกันมากจนบางครั้งก็สามารถใช้แทนกันได้ มีจุดเด่นอยู่ที่รสหวานๆ เค็มๆ มักใช้รับประทานคู่กับโอโคโนมิยากิ ทาโกะยากิ โดยราดคู่กับมายองเนส โรยหน้าด้วยปลาแห้งและผงสาหร่าย

เครื่องปรุงเสริม : เพิ่มประโยชน์ ดับคาว เปลี่ยนรสชาติ

วาซาบิ (わさび) ทำจากรากของผักที่เรียกว่า ฮอสแรดิชญี่ปุ่น (Japanese Horseradish) โดยนำมาฝนละเอียดด้วยที่ขูดที่ทำจากเหงือกปลาฉลาม มีรสเผ็ดซ่าที่จี๊ดตั้งแต่จมูกไปถึงสมอง นิยมทานคู่กับซูชิหรือซาชิมิเพื่อดับกลิ่นคาวและฆ่าพยาธิ และในบางครั้งก็นำมากินกับอาหารเมนูอื่นๆ เพื่อเติมกลิ่นและเปลี่ยนรสชาติระหว่างรับประทาน
 

คาราชิ (からし) หรือ มัสตาร์ดญี่ปุ่น เนื้อข้นสีเหลือง มีรสเผ็ดแต่ไม่เปรี้ยวเหมือนมัสตาร์ดดองประเทศอื่นเพราะไม่ได้ใส่น้ำส้มสายชูลงไป คาราชิมักจะขายในรูปแบบหลอด ใช้ทานคู่กับราเม็ง โอเด้ง เกี๊ยวซ่า โซบะ และ นัตโตะ (納豆 ถั่วหมักญี่ปุ่น)
 

ยูซุโคโช (柚子胡椒) เป็นเครื่องปรุงที่ทำจากเปลือกส้มยูสุ ผสมกับเกลือและพริกไทย สีเขียว มักมีรสเค็มปนเผ็ดร้อน ติดเปรี้ยวนิดๆ และมีกลิ่นหอมแบบส้มยูซุ คนญี่ปุ่นนิยมใส่ในซุปราเม็งหรือโอเด้งเพื่อเพิ่มความสดชื่นและเปลี่ยนรสชาติ ที่ไทยอาจหาซื้อยากสักหน่อยแต่ที่ญี่ปุ่นหาซื้อได้แทบทุกที่แม้แต่ในร้านสะดวกซื้ออย่างเซเว่น! เพราะฉะนั้นหากคุณมีโอกาสได้มาญี่ปุ่นก็ลองหาโอกาสชิมกันให้ได้นะ
 

ชิจิมิ ทงการาชิ (七味唐辛子) เป็นพริกป่นสไตล์ญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมอย่างท่วมท้น มีจุดเด่นอยู่ที่ความกลมกล่อมทั้งในเรื่องของกลิ่นและรสชาติซึ่งได้จากเครื่องเทศ 7 ชนิด ได้แก่ พริก, ชินปิ (ちんぴ ส้มยูซุหรือผลไม้ซีทรัสชนิดต่างๆ), งาขาวหรืองาดำ, สาหร่าย, ขิง, เมล็ดป่าน และพริกไทยญี่ปุ่นที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว นิยมใช้ทานกับเมนูเส้นอย่างอุด้งและโซบะ ซุป และอาหารจานเนื้อของญี่ปุ่น รสชาติออกเผ็ดปานกลางและว่ากันว่าเป็นเครื่องปรุงที่มีสรรพคุณทางยาซึ่งดีต่อร่างกายด้วยนะ 

ฟุริคาเคะ (ふりかけ) หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ "ผงโรยข้าวญี่ปุ่น" แสนอร่อยนี้ก็เป็นเครื่องปรุงที่ไม่ควรพลาดเช่นกัน ชาวญี่ปุ่นจะชอบนำไปโรยบนข้าวสวยร้อนๆ หรือคลุกกับข้าวปั้นที่ปั้นเสร็จแล้วเพื่อเพิ่มรสชาติให้กับมื้ออาหารแบบง่ายๆ เพราะรู้ว่ายังไงก็อร่อยแน่นอน แถมยังช่วยเพิ่มความเจริญอาหารให้เด็กๆ ได้ดี และบางครั้งก็มีการผสมสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายเข้าไปด้วย ผงโรยข้าวมีหลายรสชาติ ตั้งแต่รสธรรมดาอย่างไข่ ปลา หรือเนื้อ ไปจนถึงรสข้าวหน้าปลาไหล, ปลาแห้งวาซาบิ, บ๊วยผสมงาขาว ฯลฯ ใครชอบความอร่อยที่มาพร้อมกับความสะดวกก็ลองหาทานกันดูนะคะ

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

เครื่องปรุงญี่ปุ่น มีติดครัวไว้อร่อยได้แน่นอน!

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบอาหารญี่ปุ่นและรู้สึกว่าอยากลองทำเองดูบ้าง เครื่องปรุงทั้ง 22 อย่างนี้ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจและควรมีติดครัวไว้ โดยเฉพาะเครื่องปรุงพื้นฐานที่เราได้แนะนำไป เพราะสามารถนำไปผสมกันเป็นซอส น้ำซุปหรือนำไปปรุงรสอาหารต่างๆ ได้อีกหลายเมนู และหากคุณมาเที่ยวประเทศญี่ปุ่นบ่อยๆ จนเริ่มเบื่อกับการช็อปปิ้งเครื่องสำอางค์และสินค้าแฟชั่นแล้ว ลองหาเวลาแวะไปดูโซนอาหารและเครื่องปรุง เพื่อหารสชาติที่คุณสนใจกลับไปทำทานเองที่บ้านดูนะ!

สำหรับวันนี้ บทความแนะนำเครื่องปรุงของ tsunagu Japan ก็ได้จบลงแล้ว อย่าลืมติดตามบทความต่อไปของเรา ที่จะทำให้คุณได้รู้จักกับประเทศญี่ปุ่นมากยิ่งขึ้น แล้วพบกันใหม่ค่ะ :)
 

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

รับส่วนลดมากมายในญี่ปุ่น ที่นี่!

เกี่ยวกับนักเขียน

dream.chayanis
dream.chayanis
  • แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

ค้นหาร้านอาหาร