พิพิธภัณฑ์เรือนจำอะบาชิริ : คุกที่แน่นหนาและโด่งดังที่สุดของญี่ปุ่น

"พิพิธภัณฑ์เรือนจำอะบาชิริ" ในอดีตเคยเป็นคุกที่โด่งดังที่สุดของญี่ปุ่น มีไว้ขังเหล่าอาชญากรรายใหญ่ รวมถึงราชาแห่งการแหกคุกของญี่ปุ่นด้วย ในปัจจุบันได้กลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงประวัติศาสตร์ของเรือนจำแห่งนี้ให้ทั่วโลกได้รับรู้ หากคุณรู้สึกสงสัยว่าทำไมถึงมีการสร้างเรือนจำขึ้นที่ชายฝั่งเหนือสุดของฮอกไกโด หรืออยากรู้เรื่องราวของเหล่านักโทษที่เคยถูกคุมขังอยู่ที่นี่ นี่เป็นบทความที่คุณไม่ควรพลาด!

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

บทความนี้อาจมีลิงก์พาร์ทเนอร์ หากคุณทำการซื้อผ่านลิงก์พาร์ทเนอร์ เราอาจได้รับค่าคอมมิชชั่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับคุณ

ช่วงเวลาที่ไม่มั่นคงของยุคเมจิ (ปี 1868 - 1912)

ประวัติศาสตร์ของ เรือนจำอะบาชิริ เริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณ 150 ปีก่อน ช่วงต้นยุคเมจิของญี่ปุ่น ในเวลานั้นญี่ปุ่นมีสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่มั่นคง การประท้วงหลายต่อหลายครั้งทำให้จำนวนของนักโทษการเมืองเพิ่มมากขึ้น

หากเป็นยุคสมัยก่อนเมจิ ฆาตรกรที่มีโทษหนักจะถูกตัดสินให้รับโทษประหารชีวิตต่อหน้าสาธารณชน แต่การประหารด้วยวิธีตัดหัวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากประเทศตะวันตก โทษประหารชีวิตจึงค่อยๆ ลดน้อยลงไป จนถูกยกเลิกไปในที่สุดในปีที่ 15 ของยุคเมจิ (ค.ศ.1882)

การยกเลิกโทษประหารย่อมนำมาสู่ปัญหาใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เกิดเป็นคำถามตามว่า จะจัดการกับนักโทษที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างไร? หรือพูดง่ายๆ คือ จะนำนักโทษเหล่านี้ไปขังไว้ที่ไหนดี? หากดูตามข้อมูลแล้ว จะพบว่าในปีที่ 18 ของยุคเมจิ (ค.ศ.1885) มีนักโทษมากถึง 89,000 คนเลยทีเดียว แน่นอนว่าทางการไม่สามารถปล่อยให้นักโทษเหล่านี้เป็นอิสระได้ จึงเกิดปัญหาการขาดแคลนเรือนจำอย่างหนัก ทำให้จำเป็นต้องสร้างเรือนจำใหม่ขึ้นเพื่อรองรับนักโทษ และฮอกไกโดก็ได้รับเลือกให้เป็นที่ตั้งของเรือนจำดังกล่าว

ทำไมถึงสร้างเรือนจำที่ฮอกไกโด?

ในสมัยนั้น ฮอกไกโด (หรือที่ในขณะนั้นมีชื่อว่า เอมิชิ) ยังคงเป็นพื้นที่รกร้างปราศจากการพัฒนา อย่างไรก็ตามฮอกไกโดไม่เพียงแต่มีพื้นที่กว้างขวางที่อุดมไปด้วยทรัพยากรแร่เท่านั้น แต่ยังตั้งอยู่ติดกับชายแดนรัสเซียอีกด้วย

ในแง่ของการป้องกันประเทศ ตำแหน่งที่ตั้งของฮอกไกโดถือว่ามียุทธศาสตร์ดีเยี่ยม และมีความได้เปรียบที่หาที่อื่นมาแทนได้ยาก จึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาโดยเร็วที่สุด แต่การจะบุกเบิกดินแดนที่กว้างขวางขนาดนี้ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

รัฐบาลเมจิจึงเกิดไอเดียแบบยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวขึ้น โดยการสร้างเรือนจำขึ้นที่เอมิชิ (ฮอกไกโด) และให้นักโทษรับโทษโดยการพัฒนาพื้นที่ที่กว้างขวางนั้น การทำเช่นนี้สามารถช่วยประหยัดงบประมาณได้เป็นจำนวนมาก ทั้งยังหวังว่าเหล่านักโทษจะเลือกอาศัยอยู่ในเอมิชิภายหลังจากที่ได้รับการปล่อยตัว เพื่อเป็นการเพิ่มจำนวนประชากรไปในตัว ด้วยเหตุนี้เองเรือนจำบาราโตะ โซราจิ และคุชิโระจึงถูกสร้างขึ้นที่ฮอกไกโด

ในปีเมจิที่ 23 (ค.ศ.1890) เรือนจำอะบาชิริได้ถูกสร้างขึ้นในฐานะสาขาย่อยของเรือนจำคุชิโระ ในเมืองเล็กๆ ชื่อ "อะบาชิริ" ที่มีประชากรอยู่เพียง 630 คน นักโทษรับโทษตลอดชีวิตที่เรือนจำแห่งนี้ด้วยการใช้แรงงานหนักอย่างไม่มีที่สิ้นสุดเพื่อพัฒนาพื้นที่ของเอมิชิ

การบุกเบิกฮอกไกโด ความโหดร้ายที่ทารุณเกินคาด

งานแรกที่เหล่านักโทษได้รับมอบหมายให้ทำ คือ การสร้างถนนยาว 228 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างเมืองคิตามิกับอะบาชิริ นักโทษจะได้นอนเพียง 4-5 ชั่วโมงต่อวัน และได้รับอาหารที่ไม่เพียงพอ ทางเรือนจำยังใช้โซ่ล่ามนักโทษ 2 คนไว้ด้วยกัน เพื่อป้องกันไม่ให้พวกเขาหลบหนีอีกด้วย

หากดูจากบันทึกทางประวัติศาสตร์แล้ว จะพบว่ามีนักโทษกว่า 200 คนเสียชีวิตด้วยสาเหตุต่างๆ นานา เช่น ขาดสารอาหาร ถูกโจมตีโดยหมีสีน้ำตาล หมาป่า และสัตว์ป่าอื่นๆ รวมถึงประสบอุบัติเหตุระหว่างการก่อสร้าง หากมีนักโทษที่ไม่สามารถทนความยากลำบากได้และพยายามหลบหนี ก็จะถูกผู้คุมเรือนจำตัดหัวทันทีที่จับได้

ท้ายที่สุด เรื่องสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายและไร้มนุษยธรรมนี้ก็ได้รู้ไปถึงหูรัฐบาลเมจิ และทางรัฐบาลได้จัดการกับปัญหานี้อย่างรวดเร็วโดยการสั่งยกเลิกแผนการนี้ในปีเมจิที่ 27 (ค.ศ.1894)

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

เคยเป็นบ้านของราชาแห่งการแหกคุกของญี่ปุ่น

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เรือนจำอะบาชิริโด่งดัง คือ ครั้งหนึ่งมันเคยเป็นที่คุมขังของ ชิระโทริ โยชิเอะ (Shiratori Yoshie) ผู้ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น "ราชาแห่งการแหกคุกของญี่ปุ่น" เนื่องจากโยชิเอะเติบโตมาอย่างยากลำบาก เขาจึงไม่ได้รับการศึกษาที่เหมาะสม และเริ่มเข้าสู่วงการการพนันตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น เขาถูกส่งเข้าคุกในข้อหาฆาตกรรมตอนอายุ 26 ปี แต่ก็ได้ทำการแหกคุกถึง 4 ครั้งภายในระยะเวลา 11 ปี ซึ่งรวมถึงที่เรือนจำอะบาชิริด้วย ภายหลังโยชิเอะในวัยกลางคนได้รับการปล่อยตัวในฐานะนักโทษตัวอย่าง หลังออกมาจากเรือนจำแล้วเขาก็ได้ตีพิมพ์หนังสือของตัวเองด้วย โยชิเอะเสียชีวิตลงที่โตเกียวในวัย 72 ปี เป็นการปิดฉากอย่างเรียบง่ายของชีวิตที่เป็นดั่งตำนานของราชาแห่งการแหกคุกของญี่ปุ่น

Klook.com

ย้อนรอยประวัติศาสตร์ แวะชมพิพิธภัณฑ์เรือนจำอะบาชิริ

ในปีเมจิที่ 42 (ค.ศ.1906) เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่เกิดขึ้นที่เรือนจำอะบาชิริ ทำให้โครงสร้างทั้งหมดพังทลายลง มีห้องขังเพียงหนึ่งห้องเท่านั้นที่เหลือรอดมาได้ และเรือนจำก็ได้รับการสร้างใหม่ในปีเมจิที่ 45 (ค.ศ.1909) จนมีรูปแบบดังที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน

ภายในพิพิธภัณฑ์มีหุ่นขนาดเท่าตัวจริงที่ใช้จำลองภาพสถานการณ์ภายในเรือนจำในสมัยก่อนให้เราได้ชม หากสนใจ คุณยังสามารถลองรับประทานเมนูที่เสิร์ฟให้กับนักโทษในสมัยนั้นได้ที่เรือนจำอะบาชิริแห่งใหม่ ซึ่งอยู่ห่างจากพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ประมาณ 3 กิโลเมตรด้วย

ในฐานะทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่สำคัญของฮอกไกโด พิพิธภัณฑ์เรือนจำอะบาชิริได้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการใช้แรงงานอันโหดร้าย ชีวิตที่ยากลำบากของเหล่านักโทษ และคุณูปการที่พวกเขามีต่อการพัฒนาฮอกไกโดให้เข้าสู่ยุคใหม่ ข้อมูลเกี่ยวกับการประหารทั้งหมดได้ถูกบันทึกไว้ที่พิพิธภัณฑ์เรือนจำอะบาชิริแห่งนี้ และจะทำให้คุณได้เข้าใจว่านักโทษรับโทษทัณฑ์อันยาวนานของพวกเขากันอย่างไร ภายใต้ความหนาวเหน็บของฮอกไกโดเมื่อครั้งอดีต

 

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !

 

(ที่มาของภาพขนาดย่อ: Osaze Cuomo/Shutterstock.com)

มนต์เสน่ห์ฮอกไกโด
เช่ารถได้ในราคาที่คุณต้องการ รถเช่า หากคุณต้องการเช่ารถในญี่ปุ่น ต้องที่นี่เลย! ดูข้อมูลเพิ่มเติม

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

รับส่วนลดมากมายในญี่ปุ่น ที่นี่!

เกี่ยวกับนักเขียน

Lily
Lily
  • แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

ค้นหาร้านอาหาร